เรียนรู้กลุ่มดาว กลุ่มดาววัว (Taurus)
ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์
ฉบับ 167 ปีที่ 14 เดือนมกราคม 2542
ภาพถ่ายบริเวณกลุ่มดาววัวจากท้องฟ้าจริงกับภาพจินตนาการ จากภาพจะเห็นสัญลักษณ์ตัว V บริเวณมุมด้านบนซ้ายของภาพซึ่งเป็นบริเวณหน้าวัว ดาวสีส้มตรงปลายข้างหนึ่งของตัว V คือดาวอัลเดบา มุมบนด้านซ้ายของภาพคือกระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades) บริเวณมุมขวาล่างของภาพคือกลุ่มดาวนายพราน (Orion) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 เป็นต้นมา นักดาราศาสตร์ได้ตกลงที่จะแบ่งพื้นที่บนท้องฟ้าออกเป็น 88 ส่วน โดยแต่ละส่วนก็คืออาณาบริเวณของกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มในแผนที่ดาว เส้นแบ่งอาณาเขตของกลุ่มดาวจะเขียนเป็นเส้นปะในแนวเหนือ – ใต้ ตะวันออก – ตะวันตก มองดูคล้ายกับเส้นแบ่งแยกรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกาการแบ่งท้องฟ้าออกเป็นอาณาบริเวณที่ชัดเจนนั้นมีประโยชน์ในการอ้างอิงชื่อและตำแหน่งของวัตถุต่าง ๆ เพราะวัตถุบนท้องฟ้าจะมีตำแหน่งที่มันปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวเดียวเสมอ แต่สำหรับนักดูดาวทั่วไปการเรียนรู้กลุ่มดาวมักจะใช้วิธีจดจำเส้นสายที่เชื่อมต่อดวงดาวดวงหลัก ๆ หรือจินตนาการกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มให้เห็นเป็นรูปร่างหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อง่ายแก่การจดจำ
ในบรรดากลุ่มดาว 88 กลุ่มนั้น มีกลุ่มดาวเก่าแก่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาเป็นพัน ๆ ปีมาแล้วอยู่ 48 กลุ่ม เท่าที่มีการบันทึกกันมา กลุ่มดาวเก่าแก่ที่สุดเริ่มต้นในยุคเมโสโปเตเมีย ซึ่งก็คือแถวตะวันออกกลางในปัจจุบัน เมื่อกว่า 5,000 ปีมาแล้ว กลุ่มดาวบางกลุ่มยังถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ไบเบิลด้วย ผู้ที่บันทึกและรักษากลุ่มดาวเก่าแก่นี้ไว้ให้อยู่มาถึงปัจจุบันนี้คือ คลอดิอัส ปโตเลมี (Claudius Ptoleme) ชาวอเล็กซานเดรีย ในศตวรรษที่ 2 หลังจากวันนั้นก็ไม่มีการคิดค้นกลุ่มดาวใหม่ ๆ อีกเลยจนกระทั่งถึงยุคเรอเนสซองช์ นักดาราศาสตร์ชื่อ โจฮันน์ เบเยอร์ (Johann Bayer) ได้สร้างแผนที่ดวงดาวขึ้นมีชื่อว่า Uranometria และเริ่มรวบรวมกลุ่มดาวกลุ่มใหม่ ๆ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เข้ามาไว้ในแผนที่ดาว รวมทั้งคิดค้นวิธีการตั้งชื่อดาวโดยใช้ภาษากรีกเป็นคนแรก
กลุ่มดาววัว หรือ ทอรัส (Taurus) เป็นกลุ่มดาวที่เก่าแก่มากกลุ่มหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ 4,000 ปีก่อนคริสตกาลแล้ว กลุ่มดาววัวเป็นกลุ่มดาวสำคัญเนื่องจากมันคือหนึ่งในกลุ่มดาวจักรราศี (Zodiac) ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 12 กลุ่ม กลุ่มดาววัวก็คือราศีพฤษภ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับเดือนพฤษภาคม ในสมัยนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนที่จากท้องฟ้าด้านเหนือ และตัดผ่านเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้าหรือตำแหน่ง Vernal Equinox ในกลุ่มดาววัว (ปัจจุบัน Vernal Equinox อยู่ในกลุ่มดาวปลาหรือราศีมีน) กลุ่มดาววัวจึงถือเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นฤดูกาลเพราะปลูกของคนสมัยโบราณ ในสมัยอียิปต์โบราณเราจะเห็นรูปสลักวัวอยู่ในวิหารและที่ฝังพระศพของฟาโรห์อยู่เสมอ ๆ เช่นที่เมืองเดนเดราห์ (Denderah) หลุมฝังพระศพฟาโรห์เซติที่ 1 เป็นต้น หรือแม้กระทั้งสมบัติชิ้นหนึ่งในสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamen) มีเก้าอี้ไม้แกะสลักอยู่ตัวหนึ่งตรงกลางเป็นรูปเทพเจ้าองค์หนึ่งส่วนด้านข้างเป็นรูปแกะสลักวัวสองตัวอยู่เคียงข้าง วัวจึงมีความสำคัญกับอียิปตืโบราณมากเนื่องจากมันเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าที่มีตัวเป็นคนหัวเป็นวัว ชื่อว่าเทพเจ้า Apis
ในยุคสมัยของชาวกรีกโบราณ วันก็คือเทพเจ้าซีอุส (Zeus) ซึ่งเกิดหลงรักเทพธิดายูโรปา (Europa) จึงหาทางเข้าใกล้โดยการแปลงร่างเป็นวัวสีขาวสะอาดประดุจหิมะ และปะปนเข้าไปในฝูงวัวของพระบิดาของยูโรปา อยู่มาวันหนึ่งยูโรปาออกมาเดินเล่นแถวชายหาดและเห็นวัวที่งดงามจึงสนพระทัยมาก เมื่อยูโรปาเห็นวัวตัวนั้นเป็นมิตรจึงขึ้นขี่หลังทันใดนั้นวันก็กระโจนลงทะเล แล้วว่ายน้ำพายูโรปาไปยังเกราะครีต (Crete) เมื่อไปถึงมันก็แปลงร่างกลับมาเป็นเทพซีอุส ในที่สุดก็ได้นางยูโรปาเป็นภรรยา นิยายกลุ่มดาววัวของชาวโรมันก็มีเรื่องคล้ายกันเทพเจ้าซีอุสก็คือเทพจูปิเตอร์ของชาวโรมัน ซึ่งจูปิเตอร์ก็คือดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ (ดาวพฤหัสบดี) และดวงจันดวงหนึ่งของดาวพฤหัสบดีมีชื่อว่ายูโรปา (Europa)
การสังเกตกลุ่มดาววัว
กลุ่มดาววัว (Taurus) เป็นกลุ่มดาวที่จำง่าย เพราะจุดเด่นที่สุดของกลุ่มดาวนี้คือคือสัญลักษณ์คล้ายกับตัวอักษร V และมีดาวฤกษ์สว่างมากสีส้ม – แดงดวงหนึ่งอยู่ปลายข้างหนึ่งของตัว V มันคือดาวฤกษ์ชือ อัลเบาแรน (Aldebaran) อักษรรูปตัว V นั้นคือบริเวณส่วนที่เป็นหน้าของวัวโดยมีดาวฤกษ์อัลเตบาแรนอยู่ในตำแหน่งตาข้างขวาของวัวพอดี สำหรับเขาของวัวนั้นข้างหนึ่งทอดยาวไปถึงกลุ่มดาวอีกกลุ่มหนึ่งชื่อ กลุ่มดาวสารถี (Auriga) ส่วนอีกข้างหนึ่งจะอยู่เหนือกลุ่มดาวนายพราน เขาทั้งสองข้างอยู่ห่างจากบริเวณตัว V ประมาณ 15 องศา รูปร่างของวัวในจินตนาการจะมีเพียงครึ่งตัวเท่านั้นคือ ส่วนหน้า เขา บ่า และขาหน้า ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อว่ายน้ำข้ามทะเลพายูโรปาไปยังเกราะครีตนั้น ครึ่งท้ายของวัวจะจมอยู่ในทะเล มองไม่เห็น สำหรับคนไทยจะเรียกบริเวณอักษรตัว V ว่า กลุ่มดาวธง เพราะมีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมคล้ายธงในสมัยก่อน
กลุ่มดาววัวจัดเป็นกลุ่มดาวฤดูหนาวเนื่องจากจะมองเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มดาววัวจะอยู่ในแนวที่ลากจากทิสเหนือไปยังทิศใต้ผ่านจุดกึ่งกลางศรีษะหรือแนวเส้นเมอริเดียนในเวลา 20 นาฬิกาในต้นเดือนกุมภาพันธ์และ 19 นาฬิกาในตอนกลางเดือน
เวลาที่กลุ่มดาววัวปรากฏอยู่ในแนวเส้นเมอริเดียน
เดือน | |||
---|---|---|---|
กันยายน | |||
15 ก.ย. = 5 นาที | |||
ตุลาคม | |||
1 ต.ค. = 5 นาที | 15 ต.ค. = 3 นาที | ||
พฤศจิกายน | |||
1 พ.ย. = 2 นาที | 15 พ.ย. = 1 นาที | ||
ธันวาคม | |||
1 ธ.ค. = 24 นาที | 15 ธ.ค. = 23 นาที | ||
มกราคม | |||
1 ม.ค.= 22 นาที | 15 ม.ค.= 21 นาที | ||
กุมภาพันธ์ | |||
1 ก.พ. = 20 นาที | 15 ก.พ.= 19 นาที |
สำหรับตำแหน่งในประเทศไทยนั้นเมื่อกลุ่มดาววัวปรากฏอยู่ในแนวเส้นเมอริเดียน มันจะอยู่ตำแหน่งกลางศรีษะของเราพอดี ดังนั้นหากเราออกไปดูกลุ่มดาววัวในวันและเวลาข้างต้น เราจะเห็นสัญลักษณ์ตัว V ได้อย่างง่ายดายเพียงแต่มองไปที่ตำแหน่งกลางศรีษะเท่านั้น ที่จริงแล้วเราสามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาววัวได้เกือบตลอดทั้งปี เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ได้อยู่ในแนวเส้นเมอริเดียน เช่นเราจะสังเกตุเห็นกลุ่มดาววัวอยู่ใกล้ขอบฟ้าทางทิศตะวันออกในเวลาตีห้าของเดือนกรกฎาคม และมันจะอยู่ใกล้เส้นขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลาหนึ่งทุ่มในต้นเดือนพฤษภาคม หากมีแผนที่ดูดาวแบบแผ่นวงกลมหมุนได้ เราสามารถใช้แผนที่นั้นหาตำแหน่งของกลุ่มดาววัวในวันและเวลาอื่นได้
จุดเด่นของกลุ่มดาววัว ดาวอัลเดบาแรน (Alderbaran)
ดาวฤกษ์อัลเดบาแรน (Alderbaran) หรือดาวอัลฟา ทอรี (Alpha Tauri) เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาววัว และสว่างเป็นอันดับที่ 14 บนท้องฟ้า มีชื่อมาจากภาษาอารบิกว่า Al Dabaran แปลว่าผู้ติดตาม “The Follower” เนื่องจากดาวดวงนี้จะเคลื่อนที่ติดตามกระจุกดาวลูกไก่ไปทั่วท้องฟ้า หากมองไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือของดาวดวงนี้ เราจะเห็นกระจุกดาวสว่างกระจุกหนึ่งนั่นคือกระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades) ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณกลุ่มดาววัวเช่นกัน ดาวอัลเดบาแรน เกี่ยวพันกับอารยธรรมโบราณอยู่หลายแห่ง ในสมัยเปอร์เซียโบราณดาวดวงนี้เป็นหนึ่งในดาวฤกษ์ที่เกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์ ในบางอารยธรรมดาวดวงนี้คือเทพเจ้าแห่งสายฝนและความอุดมสมบูรณ์ สำหรับชาวฮินดู ดาวดวงนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ โรหิณี หรือ The red one ตามสีสันของมันที่ปรากฏให้เห็น โรหิณีนั้นเป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในเนปาล
อัลเดบาแรน เป็นดาวยักษ์แดง (Red Giant) มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์มากมีเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง 40 เท่า และสว่างกว่า 125 เท่า แต่เป็นดาวที่มีความหนาแน่นต่ำและมีอุณหภูมิที่ผิวดาวเพียง 3,400 องศาเซลเซียสเท่านั้น มันอยู่ไกลจากโลกเรา 68 ปีแสง มีความสว่างปรากฏที่มองเห็นได้จากโลก (Apparent Magnitude) 0.85 แมกติจูด อัลเดบาแรนนับเป็นดาวที่สว่างระดับ แมกติจูด เพียงไม่กี่ดวงบนท้องฟ้าที่ถูกดวงจันทร์เคลื่อนที่บดบังบ่อยครั้งเนื่องจากมันอยู่ใกล้กับแนวเส้นสุริยวิถี (Ecliptic) หรือแนวที่เราเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้า
กระจุกดาวเปิดไฮอาเดส (Hyades)
ดาวฤกษ์หลายดวงที่เรียงกันเป็นรูปตัว V บริเวณหน้าวัวนั้น ไม่ได้เป็นดาวฤกษ์ที่บังเอิญมาอยู่ในแนวสายตาเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วดาวบริเวณนี้อยู่ใกล้กันจริง ๆ ในอวกาศ เคลื่อนที่ไปด้วยกันและอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เรียกว่ากระจุกดาวเปิด (Open Cluster) กระจุกดาวไฮอาเดสเป็นกระจุกดาวที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดรองจากกระจุกดาว Ursa Major Moving Group เท่านั้น โดยมันอยู่ห่างออกไป 130 ปีแสง กระจุกดาวนี้มีขนาดใหญ่ประมาณ 8 ปีแสง ด้วยความที่มันอยู่ใกล้เราจึงเห็นมันมีขนาดใหญ่เกือบ 5 องศาบนท้องฟ้า ทำให้ดูไม่เหมือนกระจุกดาวนัก กล้องส่องตาดูจะเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะที่สุดที่จะสังเกตุไฮอาเดส ดาวฤกษ์ในกระจุกจริง ๆ มีประมาณสัก 200 ดวงทั้งที่เห็นด้วยตาเปล่าและด้วยกล้อง บริเวณหน้าวัวทั้งหมดคือกระจุกดาวไฮอาเดสยกเว้นเพียงดาวฤกษ์อัลเดบาแรนเพียงดวงเดียวซึ่งอยู่ห่างประมาณครึ่งทางจากโลกไปยังกระจุกดาวนี้นักดาราศาสตร์พบว่าไฮอาเดสกำลังเคลื่อนที่หนีห่างจากเราไปเรื่อย ๆ มันเคยเข้าใกล้ระบบสุริยะมากที่สุดเมื่อราว 8 แสนปีมาแล้ว ในขณะนี้มันกำลังเคลื่อนที่ไปตำแหน่ง 5 องศาทางทิศตะวันออกของดาวฤกษ์บีเทลจุส (Betelgeuse) ในกลุ่มดาวนายพราน การเคลื่อนที่ห่างจากเราออกไปเรื่อย ๆ ทำให้เหลือเวลาอีกไม่กี่ล้านปีข้างหน้าเราจะเห็นกระจุกดาวไฮอาเดสมีขนาดเพียงหนึ่งในสามขององศาเท่านั้นไม่ใช่เกือบ 5 องศาดังที่เราเห็นในปัจจุบัน
กระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades)
กระจุกดาวลูกไก่คือกระจุกดาวซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุด เพราะความที่มันสว่าง สะดุดตา สวยงาม และมีขนาดใหญ่ราว 1 องศาบนท้องฟ้า เมื่อมองเห็นด้วยตาเปล่าเราจะเห็นดาวฤกษ์เป็นกระจุกประมาณหกเจ็ดดวง แต่ถ้ามองด้วยกล้องส่องตาหรือกล้องดูดาวเราจะเห็นดวงดาวเป็นร้อยดวงอยู่ไกลจากเราราว 415 ปีแสงหรือประมาณสามเท่าของกระจุกดาวเฮอาเดสกระจุกดาวลูกไก่กำลังเคลื่อนที่หนีห่างจากเราไปเรื่อย ๆ โดยในเวลา 3 หมื่นปีมันจะเปลื่อยตำแหน่งไปประมาณเท่ากับความกว้างบนดวงจันทร์บนท้องฟ้าและอีกไม่กี่ล้านปีข้างหน้าเราจะเห็นมันเป็นเพียงวัตถุขนาดเล็ก ๆ บนท้องฟ้าเท่านั้นภาพถ่ายกระจุกดาวลูกไก่ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มก๊าซเรืองแสงสีน้ำเงินอยู่บริเวณกระจุกใจกลางกระจุกดาวด้วย ซึ่งแสงดังกล่าวเกิดจากก๊าซสะท้อนแสงมาจากดวงดาวที่ร้อนจัด เดิมนักดาราศาสตร์เชื่อว่ากลุ่มก๊าซในอวกาศนี้เป็นกลุ่มก๊าซเหลือจากการสร้างกระจุกดาว แต่ในปัจจุบันเชื่อกันว่ากระจุกดาวลูกไก่เคลื่อนที่เข้าไปในกลุ่มก๊าซที่ลอยอยู่ในอวกาศทำให้มันเรืองแสงขึ้นมา
ชาติตะวันตกเรียกกระจุกดาวลูกไก่ว่า Seven Sisters ตามนิยายกล่าวว่า แอตลาส (Atlas) มีลูกสาวเจ็ดคนชื่อ Alcyone , Celaeno , Maja , Merope , Taygete , Sterope และ Electra อยู่มาวันหนึ่งพรานโอไรออนได้บุกรุกเข้าไปในเคหะสถานเทพวีนัสจึงได้แปลงร่างสาวน้อยทั้งเจ็ดให้กลายเป็นนกพิราบเพื่อหลบหนีได้อย่างปลอดภัย ส่วนอเมริกันอินเดียนมีเรื่องเล่ากันว่า กระจุกดาวลูกไก่คือเด็กน้อยเจ็ดคนที่หนีไปท่องเที่ยวในหมู่ดวงดาวแล้วเกิดหลงทางกลับบ้านไม่ได้ เด็กทั้งเจ็ดจึงเกาะกลุ่มกันไว้เพื่อไม่ให้พลัดหลงจากกันหากสังเกตดาวลูกไก่จะพบว่าคนส่วนมากจะเห็นดาวในกระจุกด้วยตาเปล่าเพียงหกดวง มีน้อยคนที่จะเห็นเจ็ดดวงเพราะดวงดาวดวงหนึ่งมีความสว่างน้อยกว่าเพื่อนจึงเห็นได้ยาก ชาวอเมริกันอินเดียนให้เหตุผลไว้น่าฟังว่า เป็นเพราะดาวดวงนั้นเป็นน้องคนเล็กซึ่งคิดถึงบ้านมากจึงร้องไห้อยู่บ่อย ๆ จนตาบวม ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้น้องดาวคนเล็กไม่ค่อยสว่างสุกใสเหมือนพวกพี่ ๆ
เนบิวลารูปปู (Crab Nebula)
สิ่งที่น่าสนใจในกลุ่มดาววัวสิ่งสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในที่นี้แม้จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องดูดาวตั้งแต่ขนาดเล็กขึ้นไปจึงจะมองเห็น แต่วัตถุท้องฟ้านี้มีความสำคัญและหาดูได้ยากยิ่ง มันคือซากการระเบิดของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในอดีต หรือที่เรียกว่าซุปเปอร์โนวา (Supernova)
บริเวณปลายเขาข้างขวาของวัวจะเป็นตำแหน่งของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่มีชื่อว่า เซตา ทอรี (Zeta Tauri) ใกล้ ๆ กับดาวฤกษ์ดวงนี้ห่างออกมาประมาณ 1 องศาเศษทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือคือตำแหน่งของซากดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในอดีต มันมีชื่อว่าเนบิวลาปู (Crab Nabula) หรือ M1 หรือ NGC1952 เนบิวล่าปูเป็นซากระเบิดเป็นซากซุปเปอร์โนวาที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า มีความสว่าง 9 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1054 ชาวจีนได้เห็นดวงดาวดวงหนึ่งซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน อยู่ดี ๆ ก็สุกใสขึ้นมาจนสว่างกว่าดาวศุกร์ ดาวดวงใหม่นี้สว่างมากจนสามารถมองเห็นได้ในเวลากลางวันเป็นเวลายาวนาน 23 วัน ก่อนจะค่อย ๆ ลดความสว่างลงแล้วจางหายไป ไม่ใช่เฉพาะชาวจีนเท่านั้นที่เห็นดาวดวงใหม่นี้ แต่ผู้คนอีกหลายชาติ อาทิ ชาวเกาหลี ตุรกี และอเมริกันอินเดียนก็เห็นปรากฏการณ์นี้ด้วย
เนบิวลาปู๔กค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ จอห์น เบวิส (John Bevis) ในปี ค.ศ. 1731 แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จนกระทั่งอีก 27 ปีต่อมา ชาร์ล เมซซิเออร์ (Charles Messier) ก็ค้นพบและบันทึกมันไว้ในแคตาล็อกของเขาตั้งชื่อมันว่า M1 ซึ่งหมายถึงแคตาล็อกของเมซซิเออร์หมายเลข 1 หลังจากนั้น M1 ก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไปและเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งบนท้องฟ้า
เมื่อมองดู M1 ด้วยกล้องดูดาวจะเห็นมันเป็นเพียงฝ้าสีเทา ๆ ขนาดเล็ก ๆ เท่านั้น แต่เมื่อใช้กล้องขนาดใหญ่หรือใช้การถ่ายภาพเข้าช่วยเราจะเห็นรูปทรงของมันอย่างชัดเจนว่ามีลักษณะเหมือนวัตถุที่กระจายตัวออก จริง ๆ แล้ว M1 กำลังขยายตัวด้วยความเร็ว 1,000 กิโลเมตรต่อวินาที จนในปัจจุบันมีขนาดใหญ่ราว 7 ปีแสง ซึ่งหมายความว่าในขณะที่ชาวจีนเห็นดาวเกิดใหม่ในปี ค.ศ.1054 นั้น จริง ๆ แล้วเขาเห็นการระเบิดของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในอดีตเมื่อ 5,000 ปีที่แล้วแต่แสงของมันเพิ่งเดินทางมาถึงโลกในขณะนั้น ส่วนภาพที่เราเห็น M1 ในปัจจุบันคือภาพของเศษซากดวงดาวที่ระเบิดออกทั้งดวงเกือบ 1,000 ปีต่อมา
นักดาราศาสตร์ทราบมานานแล้วว่าดาวฤกษ์ที่ระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวานั่นคือดาวฤกษ์ที่มีมวลสานมาก ๆ และกำลังหมดเชื้อเพลิงในการทำปฏิกิริยานิวเคลียร์ ที่แก่นใจกลางของดาวฤกษ์ประเภทนี้จะเต็มไปด้วยธาตุหนักต่าง ๆ มากมาย และเมื่อมันใช้พลังงานไปจนกระทั้งที่แก่นใจกลางกลายเป็นธาตุเหล็กซึ่งไม่สามารถทำปฏิกิริยานิวเคลียร์ได้อีกต่อไป ดาวทั้งดวงก็จะยุบตัวลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงด้วยแรงโน้มถ่วง ส่งผลให้มันระเบิดออกมาเป็นซุปเปอร์โนวาที่สว่างสุกใสเหมือนดาวเกิดใหม่ที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน แก่นใจกลางที่มีมวลสารหนาแน่นได้แปรสภาพเป็นดาวนิวตรอน หรือกลายเป็นหลุมดำซึ่งมีความหนาแน่นและมีแรงดึงดูดมหาศาลจนแสงก็ยังไม่สามารถเคลื่อนที่หนีออกจากหลุมได้ และมันจะดูดกลืนทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใกล้ ๆ ในกรณีของ M1 นั้นดวงดาวที่ระเบิดได้กลายสภาพเป็นดาวนิวตรอน ซึ่งมีขนาดเล็กเพียงไม่กี่ไมล์แต่หมุนรอบตัวเองเร็วมาก จนทำให้ปล่อยคลื่นวิทยุออกมาเป็นคาบสม่ำเสมอ 30 ครั้งต่อวินาที วัตถุบนท้องฟ้าชนิดนี้เรียกว่า พัลชาร์ (Pulsar)
สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วม Park ใจ ในกิจกรรมรูปแบบอื่นหรือแลกเปลี่ยนเรื่องการสัมผัสธรรมชาติด้วยกัน สามารถติดตามกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ
—
กิจกรรมดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี เพจ Sarakadee Magazine
และ Nairobroo – นายรอบรู้ นักเดินทาง
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา