สุเมรุจักรวาล ตอนที่ 41 - พรหมลูกฟัก

 

ในทศชาติชาดก พระชาติที่ ๘ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระพรหมนารท (พรม-มะ-นาด) มีเนื้อเรื่องย่อว่า พระเจ้าอังคติราชถูกชีเปลือยคุณาชีวก โน้มน้าวให้เชื่อว่าบาปบุญไม่มีจริง โลกหน้าไม่มี ทานไม่มี คนโง่คือคนให้ คนฉลาดคือคนได้ การเบียดเบียนฆ่าฟันก็ไม่มีบาปใดๆ ฯลฯ

พระธิดา คือนางรุจาราชกุมารี พยายามโน้มน้าวพระบิดาให้ละเลิกการเห็นผิดเป็นชอบเช่นนั้น แต่ก็ไม่เป็นผล นางจึงตั้งสัตยาธิษฐานขอให้มีผู้มาช่วยนำพาพระเจ้าอังคติราชให้พ้นจากความคิดเช่นนั้นด้วยเถิด พระพรหมนารทได้รับรู้ความประสงค์ของนางรุจาจึงแปลงตัวเป็นมานพเหาะลงมายังพระราชวัง

พระเจ้าอังคติราชเห็นเข้าเกิดอัศจรรย์ใจ สอบถามว่านี่ท่านเป็นใคร เหตุใดจึงมีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้อย่างนี้ พรหมนารททูลว่าพระองค์มาจากพรหมโลก และมีฤทธิ์ได้ ก็โดยเหตุที่ได้บำเพ็ญธรรมมาแต่ชาติปางก่อน จากนั้นจึงเทศนาโปรดพระเจ้าอังคติราชเรื่องบาปบุญคุณโทษ โลกนี้โลกหน้า จนพระองค์สละละวางจากมิจฉาทิฐิ กลับสู่สัมมาทิฐิ แล้วพรหมนารทก็เหาะกลับคืนสู่พรหมโลกไป

ตามเนื้อหาในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท พรหมนารทปรากฏตัวด้วยรูปกายของนักบวช หาบคอนสาแหรกมุกดา ข้างหนึ่งมีภาชนะทอง อีกข้างใส่คนโทแก้วประพาฬมาด้วย (เข้าใจว่าภาชนะเหล่านั้นคงเป็นเครื่องใช้ หรือ “บริขาร” แสดงสถานะนักบวช)

ภาพจากชาดกเรื่องนี้ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ยุคโบราณ เช่นใบเสมาแบบทวารวดี รุ่นเมื่อพันกว่าปีก่อนในภาคอีสาน ก็มีสลักภาพพรหมนารทเป็นนักบวชผู้ชาย ไว้ผมมวย หาบคอนภาชนะทรงคนโทในสาแหรกสองข้าง

จนถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังรุ่นอยุธยาตอนปลาย เช่นอุโบสถ วัดช่องนนทรีในกรุงเทพฯ เปลี่ยนมาแสดงภาพพรหมนารทเป็นพระพรหมสี่หน้า หาบไม้คาน ข้างหนึ่งมี “ก้อน” สีทอง เหมือนลูกฟัก หรือ “หมอนข้าง” ใบอ้วนสั้น อีกข้างเป็นคนโท ก็ถือว่าวาดไว้ตรงตามคัมภีร์

แต่ต่อมาเช่นในอุโบสถวัดประดู่ทรงธรรมที่อยุธยา ซึ่งเป็นจิตรกรรมในรุ่นราวรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏว่าในสาแหรกทั้งสองข้าไม้คานที่พระพรหมนารทสี่หน้าเหาะหาบคอนลงมาจากสวรรค์ กลายเป็น “ลูกฟัก” สีทองไปหมด

ดูเหมือนยังไม่มีคำอธิบายชัดๆ ในเรื่องนี้ เพียงแต่อยากตั้งข้อสังเกตว่าในสำนวนภาษาไทยมีคำว่า “พรหมลูกฟัก” ซึ่งแต่เดิมคงหมายถึงสวรรค์ชั้นพรหมชั้นหนึ่งในรูปพรหม คืออสัญญสัตตาพรหม หรือที่เรียกใน “ไตรภูมิพระร่วง” ว่า “อสัญญีพรหม” ซึ่ง “หน้าตาเนื้อตนพรหมนั้นดั่งรูปพระปฏิมาทองอันช่างหากขัดใหม่แลงามนักหนา”

เหตุที่ถูกนำเอาไปเทียบเคียง “รูปพระปฏิมา” หรือพระพุทธรูป คงเพราะผู้ที่สั่งสมฌานแก่กล้าจนไปเกิดเป็นพรหมชั้นนี้ หากขณะที่ตายไปนั่งอยู่ก็จะกลายเป็นพรหมในท่านั่งเหมือนเดิม หรือถ้ายืนตายในมนุษยโลกก็จะไปเป็นเกิดเป็นพรหมยืนอยู่ที่พรหมโลกต่ออีก และ “บ่มิกระเหม่น บ่มิตก บ่อมิติงสักแห่ง ทั้งตาก็บ่มิพริบดู” คืออยู่นิ่งๆ ไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวใดๆ แม้แต่ตาก็ไม่กระพริบ และคงอยู่ในสภาพนั้นไปตราบจนฌานเสื่อมถอยหมดไปเอง

คนไทยคงเห็นว่าสภาพเหมือน “ลูกฟัก” ที่จับไปตั้งวางไว้ตรงไหนก็ไม่รู้สึกรู้สาอะไร จึงเรียกพรหมชั้นนี้ว่า “พรหมลูกฟัก”

ไม่แน่ใจว่าจากคำ “พรหมลูกฟัก” นี้หรือไม่ ที่ทำให้ “พรหม” กับ “ลูกฟัก” กลายเป็นคำคู่กันจนติดปากติดหู แล้วเมื่อเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังชาดกพระเจ้าสิบชาติตอนพรหมนารท ช่างเห็นว่าไหนๆ พระโพธิสัตว์ท่านก็เป็นพรหมแล้ว จึงให้หาบคอนเอา “ลูกฟัก” สำแดง “พรหมภาวะ” ลงมาด้วยเสียเลยทีเดียว

ตัวอย่างอื่นที่แสดงการรับรู้คำคู่ “พรหม” กับ “ลูกฟัก” ก็เช่นหน้าจั่วของเรือนไทยภาคกลางมีแบบหนึ่งที่เรียกว่า “จั่วลูกฟัก” ที่มีกรอบไม้ลูกตั้งลูกนอนสลับกันแบบฝาปะกน จั่วแบบนี้บางทีก็เลยเรียกว่า “จั่วลูกฟักหน้าพรหม” หรือ “จั่วพรหมพักตร์” ไปด้วย เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ไปๆ มาๆ คำสองคำนี้กลายเป็น “แพ็คคู่” ติดกันไปเสมอตามความรับรู้ของคนไทยสมัยเก่าก่อน