เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการประกาศใช้อำนาจฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ออกไปอีก ๑ เดือน จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ ถือเป็นการขยายอายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกเป็นครั้งที่ ๒
การพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเป็นไปตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-๑๙ (ศบค.) ที่ลงมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยื่นเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-๑๙ มาตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ ต่ออายุครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๓ และถูกใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลออกข้อกำหนดหลายฉบับเพื่อควบคุมโรคระบาด เช่น จำกัดการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร สั่งปิดอาคารสถานที่ ห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหสถานตามระยะเวลาที่กำหนด รวมถึงมีข้อกำหนดเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยับยั้งโรคระบาดมาพร้อมการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน นอกจากควบคุมการเดินทางแล้วยังห้ามใช้อาคารสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค รวมถึงห้ามชุมนุมรวมกลุ่มแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ กำหนดบทลงโทษทั้งจำคุกและปรับ
การยืดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ในประเทศกำลังคลี่คลาย สถิติของผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับจนแทบไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จึงถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย ยกตัวอย่างวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ตัวแทนเครือข่ายประชาชน ๕ ภูมิภาค นำรายชื่อภาคประชาชน ๓๙๐ รายชื่อ อาทิ กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายประชาชนรักหาดม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ฯลฯ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะรัฐมนตรีและผู้ตรวจการแผ่นดิน ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ยกเลิกและไม่ขยายการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ มีแนวโน้มดีขึ้นมาก รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถบังคับใช้กฎหมายตามปรกติที่มีอยู่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ที่ให้อำนาจไว้อย่างครอบคลุมและเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์โดยตรงในการควบคุมโรคติดต่อ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ประกอบควบคู่กับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง เช่น พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ
เอกสารที่ทางเครือข่ายประชาชน ๕ ภูมิภาค ยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตอนหนึ่งระบุว่า “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง เป็นรูปแบบการใช้อำนาจที่คลุมเครือ ขาดการถ่วงดุลตรวจสอบ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใช้อำนาจทางอาญาได้โดยมีบทบัญญัติยกเว้นความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่และตัดอำนาจการตรวจสอบโดยศาลปกครอง รัฐจึงต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยความระมัดระวังและจำกัดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ขณะนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานด้านความมั่นคงกำลังอ้างใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปในทางจำกัดและคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยมิได้มีนัยยะเกี่ยวข้องกับการป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ แต่อย่างใด”
ช่วงสองเดือนที่ผ่านมาทางเครือข่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อยับยั้งโรคโควิด-๑๙ แต่เพื่อจำกัดและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมาก เช่น การจับกุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ที่รวมกลุ่มกันจัดกิจกรรมสื่อสารต่อสาธารณะในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ การห้ามไม่ให้ประชาชนคัดค้านการสร้างกำแพงกันคลื่นที่ชายหาดม่วงงาม จังหวัดสงขลา การข่มขู่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสภามหาวิทยาลัยขอให้ลดค่าเทอม การสกัดกั้นและดำเนินคดีประชาชนที่จัดกิจกรรมเนื่องในวันครบรอบ ๖ ปีรัฐประหารโดยอ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมถึงความพยายามผลักดันนโยบายที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรในช่วงเวลาที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงออกได้ตามปรกติ เช่น การเร่งรัดจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
การออกข้อกำหนดต่างๆ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงที่ผ่านมายังก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ รายได้จากการประกอบอาชีพของผู้คน โดยเฉพาะคนจน คนใช้แรงงาน ผู้ประกอบการระดับเล็กและระดับกลาง ในขณะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ยังสามารถดำเนินกิจการท่ามกลางความความเดือนร้อนของผู้ที่มีฐานะยากจนกว่า
ย้อนเวลากลับไปคราวรัฐบาลต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่มนักกฎหมายที่รวมตัวกันเพื่อให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ชี้ให้เห็นเหตุผล ๕ ข้อ ที่รัฐบาลไม่ควรต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า
๑. การแพร่ระบาดของโรคลดระดับลงแล้ว และมีกฎหมายปกติที่ใช้ดูแลป้องกันการระบาดได้
๒. การบังคับใช้กฎหมายมีแนวโน้มตีความอย่างกว้างขวาง ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์การควบคุมโรค ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน
๓. การใช้มาตรการเคอร์ฟิวส่งกระทบซ้ำเติมประชาชนกลุ่มเปราะบาง
๔. มาตรการบางประการไม่ชัดเจนถึงความจำเป็นและได้สัดส่วน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
และ ๕. การแก้ไขปัญหาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ก่อให้เกิดความตายเช่นเดียวกับโรคโควิด-๑๙
ถึงปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อรัฐบาลตัดสินใจต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีกเป็นคำรบที่ ๒ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังคงยืนยันเหตุผลข้างต้น และนำเสนอข้อสังเกตและมุมมองทางกฎหมายเพิ่มเติมอีก ๓ ข้อ เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปในยามที่สถานการณ์ระบาดเริ่มคลี่คลาย ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อจากกรมควบคุมโรคเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ พบว่าในรอบ ๒๐ วันที่ผ่านมามีการพบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่เพียงแค่ ๑๐ จังหวัด และยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ได้เปลี่ยนจากหลักร้อยเหลือเพียงหลักหน่วย และยอดผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็ไม่เกินหลักร้อย ข้อสังเกตและมุมมองทางกฎหมายทั้ง ๓ ข้อประกอบด้วย
๑.สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -๑๙ ในปัจจุบันอาจไม่เข้านิยามองค์ประกอบของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกต่อไป
๒.การหยุดใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเปลี่ยนมาใช้มาตรการตามกฎหมายปกติที่มีอยู่แล้วแทน ย่อมทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการประกันมากกว่า เนื่องจากศาลปกครองสามารถตรวจสอบได้
และ ๓.การต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินที่ขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรนิติบัญญัติย่อมไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย
…
แม้มีคำชี้แจงจากรัฐบาลว่าสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด หลายประเทศยังระบาดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง บางประเทศเมื่อผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการควบคุมแล้วพบการระบาดของโรคระลอกใหม่ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว มีเอกภาพ จึงจำเป็นต้องขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก โดยรัฐบาลจะติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสม คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสาธารณสุขของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญโดยไม่มีเรื่องอื่นมาเกี่ยวข้อง
แต่การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์ที่โรคระบาดเบาบางลงได้ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่าเป็นไปเพื่อป้องกันโรคอย่างแท้จริงหรือเพราะเหตุผลอื่นใด