เล่ากันมาเป็นตำนานแห่งวงการกวีไทย ว่าครั้งหนึ่ง “ศรีปราชญ์” กวีคนสำคัญ แต่งโคลงหน้าพระที่นั่ง รำพันถึงหญิงคนรัก (บางสำนวนว่าขึ้นต้นบาทแรกโดยในหลวง ซึ่งถ้าว่าตามเรื่องก็คือสมเด็จพระนารายณ์มหาราชครั้งกรุงศรีอยุธยา) โดยขึ้นต้นมาอย่างอลังการว่า “เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม ถึงพรหม” น้ำตาผู้ชายไหลริน ร้องห่มร้องไห้ด้วยความรักเธอ จนน้ำท่วมไปถึงสวรรค์ชั้นพรหม (ถ้วม ในที่นี้คือ ท่วม ถือเป็น “โทโทษ” คือคําที่ปรกติใช้ไม้เอก แต่ต้องเปลี่ยนใช้ไม้โทเสียงเดียวกัน เพราะตำแหน่งนี้ในโคลงสี่สุภาพบังคับว่าต้องใช้ไม้โทเท่านั้น)
ต่อด้วย “พาเทพเจ้าตกจม จ่อมม้วย” ขนาดฝูงเทวดาทั้งหลายยังต้องจมน้ำตาตาย
“พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม ทบท่าว ลงนา” แม้แต่เขาพระสุเมรุอันเป็นหลักของจักรวาล ยังถูกน้ำตาท่วมจนยุ่ยเละเป็นขี้โคลนแล้วทลายล้มลงมา
ถึงตรงนี้มีใครสักคนท้วงขึ้นมาว่า อ้าว! น้ำท่วมจักรวาลถึงสวรรค์ชั้นพรหม ขนาดเขาพระสุเมรุยังไม่เหลือหลอ แล้วกวีผู้ประพันธ์ไปอยู่ที่ไหนหรือ ถึงรอดมาได้
ณ ขณะนั้นเอง “ศรีปราชญ์” จึงประกาศอหังการแห่งกวีด้วยการใช้ปฏิภาณ แต่งบิดตอนจบว่า “หากอักนิฏฐ์พรหมฉ้วย พี่ไว้จึงคง” “อกนิษฐ์พรหม” ช่วยไว้น่ะสิ พี่จึงรอดชีวิตมารำพันได้ (ฉ้วย ตรงนี้ก็เป็นโทโทษ คือ ช่วย)
โคลงบทนี้จึงสำเร็จเสร็จบริบูรณ์ลงได้ ดั่งนี้
เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม ถึงพรหม
พาเทพเจ้าตกจม จ่อมม้วย
พระสุเมรุเปื่อยเป็นตม ทบท่าว ลงนา
หากอักนิฏฐ์พรหมฉ้วย พี่ไว้จึงคง
ไม่ว่าศรีปราชญ์ที่ว่าจะมีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเป็นกวีสมัยใดกันแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนก็คือผู้แต่งโคลงบทนี้ มีภูมิรู้ในจักรวาลวิทยาแบบพุทธหินยานอย่าง “แน่น” ระดับ “เซียน” จริงๆ จึงรู้รายละเอียดนัยความตามคัมภีร์ ว่าเมื่อถึงคราวจักรวาลสูญสลาย ทั้งกามาพจร ตลอดจนถึงพรหมโลกชั้นล่างๆ ล้วนพินาศวอดวายไม่มีอะไรเหลือ ทว่าพรหมชั้นสูงๆ นับแต่อกนิษฐ์พรหม อันเป็นพรหมชั้น ๑๖ คือชั้นสูงสุดในรูปภูมิ ขึ้นไปจนตลอดชั้นพรหมอรูปภูมิทั้งหมด ยังคงสบายๆ แบบ “ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง” จึงสามารถอ้างได้ว่าอกนิษฐ์พรหมช่วยพี่ไว้
สวรรค์ชั้นอกนิษฐ์พรหมนี้ยังมีความสำคัญคือ ภายหลังทุกสิ่งล่มสลายไปหมดสิ้นแล้ว เมื่อเกิดแผ่นดินขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง จะมีดอกบัวผุดขึ้นมา พรหมจากสวรรค์ชั้นนี้จะพากันเหาะลงมาดู ดอกบัวนั้นย่อมมีจำนวนตามพระพุทธเจ้าที่จะมาบังเกิดในกัลปนั้นๆ เช่นว่าถ้ามีดอกบัวเกิดขึ้นหนึ่งดอก หมายถึงว่าในกัลปนั้นจะมีพระพุทธเจ้า ๑ พระองค์ ไล่ขึ้นไปทีละหนึ่งจนถึงจำนวนสูงสุดที่จะเป็นไปได้ คือกัลปอันมีพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ เหมือนช่วงที่เรามีชีวิตอยู่นี้ เรียกว่า “ภัททกัลป” โดยมีพระสมณโคดมเป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ ๔
ในดอกบัวที่ผุดขึ้นมาจะมีข้าวของเครื่องใช้แปดสิ่งประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าองค์นั้นๆ หรือที่เรียกว่า “อัฐบริขาร” (อัฐ แปลว่า ๘) อยู่ภายใน ได้แก่ ผ้าสบง ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิ บาตร รัดประคด (เข็มขัด) มีดโกน เข็มเย็บผ้า และผ้ากรองน้ำ พรหมก็จะอัญเชิญกลับไปเก็บรักษาไว้รอท่าบนสวรรค์ชั้นอกนิษฐ์พรหม
ตราบจนเมื่อถึงวันที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ หรือออกบวช พระพรหมจากอกนิษฐ์พรหมก็จะนำเอาผ้าไตรจีวรกับเครื่องบริขารกลับลงมาถวายพระโพธิสัตว์ แล้วอัญเชิญผ้าทรงที่ติดพระองค์มาขึ้นไปยังอกนิษฐ์พรหม ประดิษฐานไว้ ณ ทุสสะเจดีย์ ดังที่เคยเล่าเรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อกล่าวถึงฆฏิการพรหม ผู้เป็นเพื่อนเก่าของพระโพธิสัตว์จากอดีตชาติ