เรื่อง : สโรชา ถาวรศิลสุระกุล

Us and Them ทำไมสมองจึงตัดสินว่า “เรา” ดีกว่า “เขา”

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2563 จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวสีชาวอเมริกัน วัย 46 ปี ถูกตำรวจเมืองมินนีแอโปลิส (Minneapolis) จับกุมด้วยข้อกล่าวหาว่าเขาพยายามใช้ธนบัตรปลอม

เดเรก ชอวิน (Derek Chauvin) นายตำรวจผิวขาวชาวอเมริกันวัย 44 ปี ใช้เข่ากดทับลำคอเขาลงกับพื้นถนน ภายหลังตำรวจถูกต้องข้อหาว่าฆาตรกรรม

ในวิดีโอ ฟลอยด์ ได้ขอร้องอ้อนวอนหลายต่อหลายครั้งว่า “I can’t breath.” หรือ “ผมหายใจไม่ออก”

แต่ตำรวจคนดังกล่าวไม่ทำอะไรจนกระทั่งเขาเสียชีวิต

เหตุการณ์ครั้งนี้จุดกระแส Black Lives Matter โดยนักวิจัยกล่าวว่าการประท้วงใน 12 วันที่ผ่านมาได้ครอบคลุมกว่า 650 เมือง ใน 50 มลรัฐ และรวมไปถึงประเทศอื่นอย่าง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เป็นต้น

ประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างคนผิวขาวและคนผิวสี ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น และในหน้าประวัติศาสตร์ชาติสหรัฐอเมริกาได้มีการประท้วงมาตลอดเป็นระยะเวลาร่วมร้อยปี แม้จะมีการประกาศเลิกทาสมาตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 1862 หากแต่การแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ระหว่างคนผิวสีและคนผิวขาวยังคงประทับอยู่ไม่เสื่อมคลาย

อะไรคือกลไกที่ขับเคลื่อนให้มนุษย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐและโหดเหี้ยมในขณะเดียวกัน?

อะไรคือระบบกลไกภายในตัวเราที่แบ่งแยกกลุ่มพวก “เรา” และกลุ่มพวก “เขา” ออกจากกัน?

กลไกที่ว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์มีอยู่แต่แต่กำเนิดหรือเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมสังคมที่เติบโตมา?

ด้วยการวิทยาการและองค์ความรู้ทางวิทยศาสตร์สมัยใหม่ เราอาจสามารถไขปัญหาของ Us and Them ทำไม “เรา” จึงดีกว่า “เขา” แม้แต่ทารก

ในปี ค.ศ. 2007 มีผู้เสนอแนวคิดว่ามีกลไกพื้นฐานที่ฝังรากลึกในวิวัฒนาการของมนุษย์ เรียกว่า แก่นระบบ (Core system) ซึ่งประกอบด้วยทักษะการรับรู้ วัตถุ ตัวแทน จำนวน และเรขาคณิต

รวมทั้ง “เราและเขา” ก็เป็นหนึ่งในแก่นระบบ ที่ทำให้เราสามารถจำแนกกลุ่มในระดับสังคม

หลักฐานจากการทดลองในเด็กและผู้ใหญ่นั้นสนับสนุนการมีอยู่ของ Us and Them เช่นงานทดลองในทารก โดยให้ทารกมองภาพใบหน้าคนชาติเดียวกัน สลับกับใบหน้าคนต่างชาติ พบว่าเด็กจะมองคนที่มีสัญชาติเดียวกันนานกว่า

อีกงานวิจัยหนึ่งที่สนับสนุน คือการเปรียบเทียบระหว่างระบบการฟังกับการมองเห็น ว่าระบบไหนมีอิทธิพลต่อการเลือกกลุ่มของทารกมากกว่ากัน ซึ่งพบว่าทารกเลือกคนที่พูดด้วยภาษาเดียวกับตน มากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก

งานทดลองเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากลไกการรับรู้ของมนุษย์ในการแบ่งแยกกลุ่ม “เรา” และกลุ่ม “เขา” มีมาแต่กำเนิด

แม้การแยกมิตรหรือศัตรูนั้นจะสำคัญกับการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต แต่กลไกที่ว่ายังชี้นำให้มนุษย์เกิดการรู้คิดผิดพลาดได้ อาทิ อคติ การแบ่งแยกเผ่าพันธ์ การปฏิเสธความจริงทางวิทยศาสตร์

เพราะอะไรการแบ่งกลุ่มที่ว่าถึงมีอยู่รอดมาในระบบวิวัฒนาการ?

และท้ายที่สุด เราเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่สามารถทำสิ่งที่ว่าได้หรือเปล่า?

Evolution and Kin Selection

“ข้าพเจ้ายินดีที่จะละทิ้งชีวิตตนเพื่อพี่ชายน้องชายสองคน หรือญาติแปดคน”

เจ บี เอส ฮัลเดน (J. B. S. Haldane), นักพันธุศาสตร์

เพื่อที่จะตอบคำถามที่ว่า Us and Them มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตอื่นหรือไม่ นักวานรวิทยา (Primatologists) ได้ศึกษาพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตในกลุ่มไพรเมต (Primates, พวกลิงมีหางและไม่มีหาง) พบว่ากลุ่มลิงบาบูนตัวผู้สามารถวางแผนโจมตีและฆ่าตัวผู้กลุ่มอื่นได้

นอกจากนี้ก็มี “การคัดเลือกโดยญาติ” (Kin selection) เสนอโดย เมย์นาร์ด สมิท (Maynard Smith) นักชีววิทยาวิวัฒนาการชาวอังกฤษ ใช้อธิบายเหตุการณ์ที่สัตว์มีพฤติกรรรมเสียสละตัวเองเพื่อผู้อื่น และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของยีนตนเอง โดยเลือกช่วยญาติของตนให้ส่งต่อยีน ซึ่งคล้ายคลึงกับแนวคิดเรื่องกฎของแฮมิลตัน (Hamilton’s rule) ของ ดับเบิลยู ดี แฮมิลตัน (W.D. Hamilton) ซึ่งอธิบายกลไกสำคัญในการเกิดวิวัฒนาการของการเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น การพึ่งพาอาศัย และการอยู่ในสังคม

เรียกว่า Us and Them ในสัตว์มีหลักฐานชัดเจน แล้วทำไมในมนุษย์แตกต่างออกไป?

จากการศึกษาการคัดเลือกโดยญาติ (Kin selection) ในมนุษย์ พบว่าไม่เพียงแค่มนุษย์จะจำแนกกลุ่มเราและเขาในมุมมองกายภาพ เช่น สายพันธุ์ หรือเชื้อชาติที่สังเกตได้ชัดเจนทางกายภาพ มนุษย์ยังจำแนกแบ่งกลุ่มจากสถานะทางสังคมที่สมมติขึ้นโดยมนุษย์เอง อาทิ รายได้ ศาสนา ความเชื่อ ขณะเดียวกันเรายังรู้สึกผูกพันกับสัตว์เลี้ยงและยอมรับเข้ามาเป็นกลุ่มเดียวกันมากกว่ายอมรับเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกันเอง
ขยายไปจนถึงมีความรู้สึกให้กับสิ่งของไม่มีชีวิตที่ประดิษฐ์สร้างขึ้น อย่างตุ๊กตา หรือหุ่นยนต์ ไปจนผูกพันกับสิ่งสมมติที่ไม่มีตัวตนในโลกความเป็นจริง อย่างตัวละคร ในหนังสือหรือภาพยนตร์

นี่คือหลักฐานความซับซ้อนของมนุษย์

ไม่เพียงแค่จำแนกกลุ่ม เรายังเหมารวมการรู้คิดที่ซับซ้อนในสมอง นั่นคือภาพที่สร้างขึ้นในความคิด (Mental representation)

Hardwired for Categorization

มนุษย์จัดจำแนกกลุ่มได้อย่างไร? และเราจัดกลุ่มไปทำไม?

ในงานทดลองของ อิชวาน วิงเคลอร์ (Istvan Winkler) และทีมนักวิทยศาสตร์ ในปี ค.ศ. 2009 พบว่าทารกแรกเกิดรับรู้รูปแบบของจังหวะ และคาดเดาจังหวะได้ ซึ่งระบบการเรียนรู้นี้อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ เพราะการจำแนก (Categorization) และเรียบเรียงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ ทำให้การรู้คิดของสมองมีความเสถียร โดยเป็นผลของการทำงานร่วมกันของระบบต่างๆ แม้ความสามารถในการจัดจำแนกข้อมูลนั้นมีทั้งส่วนที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและจากการขัดเกลาผ่านประสบการณ์

สิ่งที่พิเศษของมนุษย์ คือเราสามารถจัดจำแนกสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าสิ่งตรงหน้าจะเป็นเพียงแนวคิดที่จับต้องไม่ได้ก็ตาม

สมองมนุษย์พัฒนาให้มีความสามารถจำแนกกลุ่มข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเป็นลำดับขั้น (Heirarchy) เพื่อให้การส่งผ่านข้อมูลรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ผลเสียคือการตัดสินใจเร็วเกินไป ไม่ละเอียดถี่ถ้วน ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด

มนุษย์ทุกคนเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อของความเอนเอียง เพื่อยืนยันความคิดฝ่ายตน (Confirmation Bias) เนื่องจากเหมารวมว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นไปตามประสบการณ์ส่วนบุคคล เช่น การที่ตำรวจอเมริกันมีแนวโน้มวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยผิวดำมากกว่าผิวขาว

งานวิจัยในปี ค.ศ. 2019 เผยแพร่ในนิตยสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ว่า ชายผิวดำ 1 ใน 1,000 คน ในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มถูกตำรวจฆ่า

Human and Social Categorization

ความแตกต่างเชิงวัฒนธรรมก็ส่งผลต่อระบบสังคมที่มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป

ในสังคมระบบชุมชนนิยม (Collectivist) ยกตัวอย่าง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย จะมีอคติเข้าข้างกลุ่มตนเอง (In-group Bias) ว่าบุคคลต้องวางตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสม หากประพฤติไม่เหมาะสมจะถูกประนามจากสังคม มากกว่าในสังคมระบบปัจเจกนิยม (Individualist) เช่น อเมริกา หรือแคนาดา

ในงานทดลองหนึ่ง มีผู้เข้าร่วมการทดลองเป็นชาวเกาหลีใต้กับชาวอเมริกัน ผู้เข้ารับการทดลองต้องดูภาพของคนเชื้อชาติเดียวกันหรือคนต่างเชื้อชาติกำลังเจ็บปวดทรมาน ผู้เข้ารับการทดลองทุกคนจะถูกกระตุ้นในส่วนความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ผลคือผู้เข้ารับการทดสอบชาวเกาหลีที่มาจากสังคมระบบชุมชนนิยม (Collectivist) มีแนวโน้มจะมีอคติมากกว่าชาวอเมริกัน

นอกจากนั้นสาเหตุที่มนุษย์มีเมตตากับสัตว์เลี้ยงของตน มากกว่ามนุษย์ด้วยกัน หรือมีความรู้สึกกับหุ่นยนต์ที่แสดงทีท่าเหมือนสิ่งมีชีวิต หรือแม้กระทั่งโศกเศร้าเสียใจกับตัวละครที่สร้างขึ้นในโลกแห่งจินตนาการ
โรเบิร์ต ซาเปาสกี (Robert Sapolsky) นักชีววิทยาและนักวานรวิทยา กล่าวว่ามนุษย์นั้นสับสนระหว่างโลกจริงที่เผชิญกับโลกเสมือน

สัตว์แต่ละชนิดมีวิธีจดจำเครือญาติของตัวทางกายภาพ เช่น กลิ่นที่ใกล้เคียงกับตนเอง หรือเสียง แต่เมื่อขยับสู่โลกของมนุษย์ กระบวนการในส่วนระบบการรู้คิดขั้นสูง คือการสร้างภาพในความคิด (Mental representation) จะชักจูงให้คิดว่าคนบางกลุ่มใกล้ชิดกับตนหรือห่างไกลจากตน โดยไม่เกี่ยวอะไรทางกายภาพโดยตรงเลย

สภาวะนี้คือ “การนับญาติโดยสมมติ” (Pseudo-kinship หรือ Pseudo-speciation)

……………………………

แม้ความสามารถในการจัดจำแนก Us and Them ไม่เพียงปรากฏในมนุษย์ แต่ยังพบในสิ่งมีชีวิตอื่นเช่นเดียวกัน หากแต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่น คือความสามารถจัดจำแนกกลุ่มที่เหนือไปกว่าโลกของกายภาพ สู่โลกสมมติภายในใจ

กลไกนี้เกิดจากความสามารถจำแนกจัดเก็บข้อมูลในสมองที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

แต่เร็วเกินไปก็ส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาด ทำให้การรับรู้ ความคิดแบ่งแยก “เขา” และ “เรา” นั้นมีอคติ

ความเชื่อ ว่า “เรา” นั้นดี และ “เขา” นั้นแย่ เพื่อให้พวกของตนนั้นอยู่รอด ส่งผลให้ความโหดร้ายของมนุษย์ดำเนินต่อไป

แต่เรายังมีความหวัง

มนุษย์สามารถฝึกฝนให้รู้เท่าทันอคติและความคิดเหมารวม ดังจะเห็นได้จากการเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น คนผิวขาวที่ต่อสู้เพื่อคนผิวสี คนเยอรมันที่ปกป้องคนยิว คนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสัตว์ คนที่ต่อสู้เพื่อชนกลุ่มน้อยชายขอบของสังคม ประเทศทั่วโลก

รวมถึงคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมกันของคนทุกชาติพันธุ์

หากเราสามารถหา “เขา” ใน “เรา”

ก็คงเหลือเพียง เรา.

Reference

  • C. Lamm et al., “What Are You Feeling? Using Functional Magnetic Resonance Imaging to Assess the Modulation of Sensory and Affective Responses During Empathy for Pain,” PLoS ONE 2 (2007): e1292.
  • Dawkin, R. (2016). The extended selfish gene, Oxford, United Kingdom: Oxford University Press.
    Edwards, F., Lee, H., & Esposito, M. (2019). Risk of being killed by police use of force in the United States by age, race–ethnicity, and sex. Proceedings of the National Academy of Sciences, 201821204.
  • Goodrich, F., Hackett, A., Kesselman, W. A., & Frank, A. (2001). The diary of Anne Frank. Rev. ed. New York: Dramatists Play Service.
  • Hamilton, W. D. (1963). “The evolution of altruistic behavior”. American Naturalist. 97 (896): 354–356.
  • J. Buchan et al., “True Paternal Care in a Multi-male Primate Society,” Nat 425 (2003): 179.
  • Mahon BZ, Caramazza A. 2009. Concepts and categories: a cognitive neuropsychological perspective. Annu. Rev. Psychol. 60:27–51
  • Krueger, J. (2001). Social Categorization, Psychology of. International Encyclopedia of the Social & Behavioral Sciences, 14219–14223.
  • Mareschal, D., & Quinn, P. C. (2001). Categorization in infancy. Trends in Cognitive Sciences, 5(10), 443–450.
  • Maynard Smith, J. (1964). “Group Selection and Kin Selection”. Nature. 201 (4924): 1145–1147.
  • Sapolsky, Robert, M. (2017). Behave: the biology of humans at our best and worst, New York, New York: Penguin Press.
  • Seger, C. A., & Miller, E. K. (2010). Category Learning in the Brain. Annual Review of Neuroscience, 33(1), 203–219.
  • Winkler, I., Haden, G. P., Ladinig, O., Sziller, I., & Honing, H. (2009). Newborn infants detect the beat in music. Proceedings of the National Academy of Sciences, 106(7), 2468–2471.
  • https://www.bbc.com/news/world-us-canada-52928304
  • https://www.washingtonpost.com/nation/2020/06/06/george-floyd-protests-live-updates/
  • https://www.history.com/topics/black-history/slavery