จบเสร็จเรื่องสวรรค์วิมานโดยสังเขปกันแล้ว คราวนี้ขอย้อนกลับมายังโลกมนุษย์กันบ้าง
อ้างอิงตามคัมภีร์โลกศาสตร์ ชมพูทวีปอันเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์อย่างพวกเราๆ เป็นเกาะใหญ่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรน้ำเขียวที่ชื่อ “นีลสาคร” ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ มีบริวารเป็นเกาะ หรือ “ทวีปน้อย” จำนวนเท่ากับทุกทวีป คือ 500 เกาะ
ผืนแผ่นดินชมพูทวีปวัดโดยกว้างยาวด้านละ 1 หมื่นโยชน์ เท่ากับไซส์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และอสูรพิภพ คัมภีร์กล่าวว่า “มีสัณฐานดังเรือนเกวียน” คือเป็นพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมคางหมู รูปร่างเหมือนหน้าตัดห้องโดยสารของเกวียน ด้านบนกว้าง ข้างล่างแคบ
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเป็นภาพจำลองของคาบสมุทรอินเดียนั่นเอง ดูแผนที่ประเทศอินเดียก็คงเห็นลักษณะที่ว่านี้
ส่วนในจิตรกรรมฝาผนัง บางทีก็จะวาดชมพูทวีปเป็นวงรีบ้าง บางแห่งเป็นรูปคล้ายเล็บมือก็มี รวมถึงทวีปน้อยที่เป็นบริวาร (ปรกติก็วาดกันสัก 3-4 เกาะ พอให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่เคยเห็นที่ไหนจะวาดให้ครบ 500 เป๊ะๆ) ก็ล้วนมีรูปร่างอย่างเดียวกัน
จากความยาว ๑ หมื่นโยชน์ตามตำรา กลับมีพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์เพียงไม่ถึง 1 ใน 3 คือ 3,000 โยชน์ ที่เหลือเป็นเขตน้ำทะเลท่วม (คือใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้) 4,000 โยชน์ ที่เหลืออีก 3,000 โยชน์ เป็นป่าหิมพานต์
จนถึงเดี๋ยวนี้ ในประกาศสงกรานต์ของฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง แต่ละปีจะคำนวณน้ำฝนตามกรรมวิธีทางโหราศาสตร์ ได้ค่าออกมาเป็นปริมาณ แล้วแยกแยะรายละเอียดต่อไปอีกว่า ฝนจะไปตกที่ใดบ้าง เช่นจากจำนวนฝนของปีนั้นๆ ๕๐๐ ห่า มีตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า และตกในเขาจักรวาล 250 ห่า
มาตราวัดปริมาณน้ำฝนที่เป็น “ห่า” อะไรนี้ ว่ากันว่าคนโบราณเขาใช้บาตรพระ หรือเปลือกหอยโข่ง ไปเปิดฝา หรือตั้งหงายกลางแจ้งระหว่างฝนตก น้ำฝนเต็มบาตรหรือเต็มเปลือกหอยโข่งทีหนึ่ง นับเป็น 1 ห่า ดูเหมือนจะเคยมีคนเทียบเคียงไว้ให้ด้วยว่าฝน 1 ห่า คิดเป็นปริมาณน้ำฝน 200 มิลลิเมตร ตามการวัดค่าอย่างปัจจุบัน
ถ้าดูตามประกาศสงกรานต์ของสำนักพระราชวังที่ว่ามานี้ ก็จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้ว ฝนไม่ได้ตกในแดนของมนุษย์ แต่ไปตกใส่ทะเลบ้าง ตกในป่าหิมพานต์บ้าง และส่วนใหญ่ลมพัดพาไปตกไกลถึงเขาจักรวาลที่เป็นกำแพงล้อมรอบปลายขอบจักรวาลด้วยซ้ำ
ป่าหิมพานต์ที่ว่านี้เป็นที่ตั้งของภูเขาหิมพานต์ ซึ่งคัมภีร์เล่าว่ามียอดถึง 84,000 ยอด
ตรงเชิงเขาทางด้านเหนือ มีต้นหว้าใหญ่เป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป เพราะแต่ละทวีปย่อมต้องมีต้นไม้ประจำของตนต่างๆ กันไป อย่างที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ท่านบรรยายไว้เป็นฉากๆ ใน “กากีคำกลอน”
“……………………………….. เกาะทวีปใหญ่กว้างทั้งสี่ทิศ
ทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร สัณฐานดังจอกลอยกระจิหริด
มีพฤกษาใหญ่ล้ำประจำทิศ เกิดสถิตแต่ประถมแผ่นดิน”
ต้นหว้าประจำชมพูทวีปนี้ คัมภีร์โลกศาสตร์บรรยายภาพไว้ว่ายืนต้นตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำสีทา มีความสูงถึง 100 โยชน์ ทอดเงาทะมึนจนทำให้บริเวณใต้ร่มไม้มืดครึ้มเหมือนกลางคืน
ภาษาบาลีเรียกต้นหว้าว่า “ชมพู” นั่นจึงเป็นเหตุให้ทวีปของมนุษย์อันมีต้นหว้า (ในภาษาอังกฤษบางทีเรียกว่า Indian blackberry หรือ Java plum) เป็นไม้สัญลักษณ์ จึงได้ชื่อว่า “ชมพูทวีป”
ทั้งที่คำ “ชมพู” ในภาษาบาลีหมายถึงต้นหว้า แต่ในภาษาไทยกลาง เรากลับมีคำเรียกแยกต่างหากคือ “หว้า” ส่วนคำ “ชมพู” เดิมนั้น ภาษาไทยกลับเอาไปใช้หมายถึงผลไม้อีกอย่างหนึ่ง คือลูกชมพู่ ขณะที่ในภาษามลายู jambu ก็ใช้ในความหมายเดียวกันคือชมพู่ แต่ครั้นพอเอาไปรวมกับคำ batu (หิน) เป็น jambu batu กลับหมายความว่าผลฝรั่งเสียอีก
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าคนโบราณท่านไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร เพราะว่าที่จริง ตามการจำแนกอนุกรมวิธานพืช ทั้งหว้า ชมพู่ และฝรั่ง ล้วนอยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ Myrtaceae และสมาชิกในวงศ์นี้ยังรวมไปจนถึงต้นยูคาลิปตัสด้วย