สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือเจลฆ่าเชื้อบ่อย ๆ กินร้อนช้อนเรา รักษาระยะห่างกับคนอื่น ๑-๒ เมตร หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่คนชุมนุมแออัด ฯลฯ
นี่น่าจะเป็น new normal ที่ต้องยึดเป็นวัตรปฏิบัติกันไปอีกนาน กว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-๑๙ ออกมาสำเร็จ ซึ่งคาดกันว่าไม่ต่ำกว่า ๑ ปี หรือมากกว่า
ส่วน new normal อื่น ๆ ที่มีนักวิชาการหลายคนพูดถึง เช่น การ work from home การประชุมออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ พอถึงช่วงเปิดเมืองได้บ้างแล้วก็เริ่มมีเสียงบ่นกันหนาหู เพราะเอาเข้าจริงงานบางประเภทเท่านั้น
ที่ปรับตัว WFH ได้ การประชุมบางอย่างต้องพบปะถกเถียงกันจริงจังต่อหน้า อนาคตจึงน่าจะออกมาในแบบผสมผสาน offline กับ online มากกว่า online กัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
ส่วนการเรียนออนไลน์กำลังสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย เพราะเด็กบางคนยากจนจนไม่สามารถมีเครื่องไม้เครื่องมือเข้าถึง ไม่นับความสนใจของเด็กต่อการเรียนผ่านหน้าจอและทำให้ขาดการเรียนรู้ในมิติอื่น ๆ เมื่อไม่ไปโรงเรียน ที่สำคัญคือผู้ปกครองเองไม่มีเวลาดูแลเด็กที่บ้าน ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ส่งเด็กไปโรงเรียนเพื่อให้ครูช่วยดูแล เพราะตนเองวุ่นวายกับความจำเป็นในการทำมาหาเลี้ยงชีพ
การแข่งชักเย่อระหว่างการป้องกันโรคระบาดกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคมจึงน่าจะสู้กันไปอีกนานพอสมควร
สิ่งที่โดนโควิด-๑๙ ดึงล้มคะมำแล้วน่าจะเป็นธุรกิจพวก co-working space สถานบันเทิง คอนเสิร์ต อีเวนต์ ฯลฯ ที่เรียกร้องคนจำนวนมากมาชุมนุมกันนาน ๆ เพราะถือเป็นพื้นที่เสี่ยงระบาดสูง ส่งผลกระทบกับ
งานพิธีกร นักร้องและดารา
ล่าสุดกรณีเกาหลีใต้ หนุ่มเที่ยวย่านบันเทิงอิแทวอนกลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ จนเป็นเคสตัวอย่างสำหรับประเทศอื่น ๆ ที่กำลังคิดจะเปิดเมืองกลับมาใหม่
ยิ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าจะล้มหนักถึงขั้นสลบโคม่า เป็น new abnormal คือการหยุดการเดินทางข้ามประเทศ หรือต้องยอมรับกติกาถูกควอรันทีนขาไป ๑๔ วัน อาจรวมขากลับอีก ๑๔ วัน รวม ๒๘ วัน ได้เที่ยวหรือทำธุระ ๒ วัน รวม ๑ เดือนพอดิบพอดี ไม่นับธุรกิจเครื่องบินที่ต้องปรับตัวและหาจุดคุ้มทุนจากการรับผู้โดยสารต่อเที่ยวน้อยลงเพื่อเว้นระยะที่นั่งตาม social distancing
ส่วนการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศอาจพอมีหวังบ้าง หากการระบาดรอบ ๒ รอบ ๓ อยู่ในวงจำกัดที่ควบคุมได้ ไม่หนักหนาจนสร้างความหวาดผวา และแล้วแต่ว่าจังหวัดไหนจะถูกปิดเมืองอีกครั้งหรือไม่อย่างไรในอนาคต
แต่การสั่งซื้อของออนไลน์และส่งของด้วยบริการดิลิเวอรีมีแนวโน้มสูงจะเป็น new normal
ด้วยความคุ้นเคยและสะดวกสบายเมื่อคนส่วนใหญ่ปรับตัวได้แล้วกับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และยอมจ่ายค่าขนส่งแบบไม่คิดอะไร
new normal จึงเป็นเรื่องของการปรับตัวเพื่อไปต่อและอยู่รอด
แล้ว new normal กับนิตยสาร สารคดี เป็นอย่างไร
เรื่องแรก ผลกระทบของโควิด-๑๙ ทำให้เราต้องหยุดฉบับเมษายน และตั้งแต่ฉบับพฤษภาคมเราจึงขยับเวลามาพบผู้อ่านเร็วขึ้นจากปลายเดือนมาเป็นต้นเดือน ซึ่งจะออกวางตลาดราววันที่ ๖-๗ ของฉบับเดือนนั้น
เรื่องที่ ๒ ไม่ต่ำกว่า ๒-๓ ปีแล้วที่การดิสรัปชันของโลกออนไลน์กับนิตยสารกระดาษส่งผลกระทบกับเราต่อเนื่องหนักขึ้นเรื่อย ๆ และสถานการณ์โควิด-๑๙ ยังกระหน่ำซ้ำเติมอีกในปีนี้ ทำให้เรากำลังพิจารณาปรับราคานิตยสาร สารคดี ให้เหมาะสมเพื่อความอยู่รอดในอนาคต
ทั้งนี้นิตยสาร สารคดี ได้ยืนราคา ๑๒๐ บาทมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ หรือ ๑๔ ปีแล้วโดยไม่เคยปรับราคาเลย ขณะที่ค่าจ้างแรงงานในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ และราคาค่าข้าวกะเพราเพิ่มขึ้น ๑๐๐-๑๕๐ เปอร์เซ็นต์
ส่วนจะขึ้นราคาในฉบับไหนและเป็นเท่าไร เรากำลังพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และจะแจ้งผู้อ่านให้ทราบในเร็ว ๆ นี้
หวังอย่างที่สุดว่า ผู้อ่านทุกท่านจะยังสนับสนุนและอยู่กับเราเมื่อเราจำเป็นต้องปรับราคาเข้าสู่ new normal ครับ
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com