ในเขตหิมพานต์ที่กินอาณาบริเวณถึง ๑ ใน ๓ ของชมพูทวีปนั้น คนโบราณเชื่อกันว่าเป็นศูนย์รวมสรรพสิ่งมหัศจรรย์ โดยเฉพาะสัตว์แปลกประหลาดนานาชนิด จนทำให้คำว่า “สัตว์หิมพานต์” แทบจะมีความหมายว่าสัตว์มหัศจรรยตามจินตนาการที่ไม่มีอยู่ในโลกมนุษย์
แต่ทั้งนี้ หลักหรือหมุดหมายสำคัญแห่งเขตหิมพานต์ก็คือ “เขาหิมพานต์” หรือ “หิมวันต์”
ดูจากรูปคำ ภูเขาลูกนี้คงปกคลุมด้วย “หิมะ” แต่คนไทยยุคก่อนไม่มีใครเคยเห็นหิมะ และย่อมไม่อาจทำความเข้าใจกับสถานะของแข็งของ “น้ำ” ได้ ดังนั้นในคัมภีร์ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” จึงตีความว่าเป็น “น้ำค้าง” ดังที่ผู้ประพันธ์ท่านอธิบายว่าสาเหตุที่เรียกเขาหิมพานต์เพราะ “น้ำค้างตกในประเทศภูเขานั้นหนักนัก”
ส่วนถ้าว่าตามความรู้ภูมิศาสตร์ปัจจุบัน ตำแหน่งแห่งที่ของเขาหิมพานต์ย่อมไม่มีทางหนีเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจาก “หิมาลัย” เทือกเขามหึมาที่คนอินเดียโบราณรู้จักดี จนปรากฏเป็นพุทธพจน์ภาษาบาลีว่า “ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ หิมวนฺโตว ปพฺพโต” แปลว่า สัตบุรุษย่อมปรากฏในที่ไกล เหมือนหิมวันตบรรพต
ในที่นี้ พระพุทธองค์ทรงเปรียบ “สัตบุรุษ” (คนดี) ว่าย่อมมีชื่อเสียงเลื่องลือ ดุจภูเขาหิมวันต์อันสูงใหญ่แลเห็นได้แต่ไกล เหมือนอย่างที่คนอินเดียหรือคนเนปาลเดี๋ยวนี้ ถึงอยู่ห่างออกไปเป็นร้อยกิโลเมตรก็ยังสามารถมองเห็นยอดเขาหิมาลัยได้สบายๆ
ผู้เขียน “ไตรภูมิพระร่วง” ขยายความคำ “หิมพานต์” ไว้ด้วยว่า “แลในป่าพระหิมพานต์นั้นสนุกนินักหนา” คนไทยสมัยก่อนก็คงรู้สึกว่า “หิมพานต์” เป็นคำพ้อง (synonym) กับความรื่นรมย์สนุกสนาน อย่างในการเทศน์มหาชาติ อันเป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ซึ่งถือเป็นอดีตชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ก็ยังมีกัณฑ์หนึ่งเรียกว่า “กัณฑ์หิมพานต์” ว่าด้วยความรื่นรมย์ของป่าหิมพานต์ ระหว่างทางที่พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระนางมัทรี กัณหา ชาลี เดินทางรอนแรมเข้าไป
จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) ยังตั้งชื่อ “ธีมปาร์ค” (theme park) แห่งแรกของเมืองไทยที่ท่านลงทุนสร้างไว้ให้คนเสียสตางค์ค่าผ่านประตูเข้าไปเที่ยวเล่นพักผ่อนหย่อนใจว่า “บ้านหิมพานต์” หรือเรียกกันตามตำบลที่ตั้งว่า “ป๊ากสามเสน”
ปัจจุบันคือบริเวณวชิรพยาบาล โรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังมีคฤหาสน์ของพระสรรพการหิรัญกิจหลงเหลือให้ชม
แต่ขณะเดียวกัน ตามความรับรู้ของคนไทย หิมพานต์นั้นก็อยู่ไกลแสนไกล อย่างในเรื่องพระสุธน-มโนราห์ เมื่อพระสุธนจะติดตามไปหานางกินรีมโนราห์นั้น ต้องเดินทางอยู่นานถึง “เจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน” กว่าจะถึงแดนกินรีในป่าหิมพานต์ ในภาษาไทยจึงมีสำนวน “นอกฟ้าป่าหิมพานต์” อันมีนัยถึงสถานที่กันดารห่างไกล หรือบางทีก็ใช้กับข้าวของแปลกประหลาดก็ได้
อย่างมีผลไม้ชนิดหนึ่ง ดั้งเดิมมาจากทวีปอเมริกาใต้ ฝรั่งเรียกว่า cashew nut ภาษาปักษ์ใต้บางถิ่นเรียกว่า “กาหยู” (คงมาจากรากเดียวกับ cashew) ตามประวัติว่าเพิ่งมีผู้นำพันธุ์เข้ามาปลูกในเมืองไทยเมื่อปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อสัก ๑๒๐ ปีมานี้เอง
ไม่ทราบว่าท่านผู้ใด คงเห็นสัณฐานแปลกๆ คือมีเมล็ดห้อยย้อยออกมานอกผล ดูเป็นของ “นอกฟ้าป่าหิมพานต์” ชอบกลอยู่ เลยขนานนามให้ในภาษาไทยว่า “มะม่วงหิมพานต์”
ในโวหารกวีไทย คำ “หิมพานต์” ยังแผลงรูปต่อ กลายเป็น “หิมวา” “หิมวาส” และ “หิมเวศ” ซึ่งทำให้ความหมายก็พลอยเลื่อนไปด้วย กลายเป็นว่าใช้กับ “ป่า” ทั่วๆ ไปก็ได้เหมือนกัน เช่นในบทละคร “สังข์ทอง” ที่กล่าวถึงนางยักษ์พันธุรัตออกหาอาหาร
“ครั้นถึงหิมวาป่าสูง เห็นฝูงเนื้อเบื้อเสือสีห์
นางยักษ์อยากกินก็ยินดี เข้าไล่ตีเลี้ยวลัดสกัดสแกง”