เรื่อง : วรากร แก้วทอง
ภาพ : อมรกิตติยา สิทธิชัย

มอง "สีฟ้า" กับทฤษฎี สีบำบัดโรค

16.30 น. ผมพยายามจะมอง “สีฟ้า” เพื่อค้นหาจินตนาการ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีเรื่องราวใดๆ ผ่านเข้ามาในห้วงความคิดเสียที

ผมปล่อยให้เวลาผ่านไปอย่างไร้จุดหมาย ความคิดหลุดลอยไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต และคิดล่วงหน้าไปในอนาคต แต่จินตนาการที่ว่าก็ยังคงอยู่ห่างไกล ผมเลยหาวิธีใหม่ โดยตั้งคำถามกับตัวเอง “ท้องฟ้าวันนี้สีอะไร?” เพื่อค้นหาอีกรอบ

จากคำถามนั้นผมกวาดตามอง “สีฟ้า” อีกครั้ง ครั้งนี้ลองเพิ่มบางอย่างที่เรียกว่าการสังเกตเข้าไปด้วย ไล่จากซ้ายมือไปยังขวามือ แล้วพยายามจดจำสีที่เห็นให้มากที่สุด

บนท้องฟ้าเวลานั้นมีสีฟ้า (sky blue) เป็นพื้น และมีก้อนเมฆสีขาวๆ ประดับพอให้เกิดเรื่องราวในจินตนาการ บางช่วงมีสีทองประกายแสดของแดดแซมมากับสีขาวของเมฆจนทำให้ต้องหยีตาลงบ้าง แต่แล้วเมฆดำก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมา เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าฝนกำลังจะตกในอีกไม่ช้า

ในความเป็นจริงท้องฟ้าอาจจะมีสีสันมากกว่าที่ผมมองเห็น และ “สีฟ้า” คงมีหลายเฉดยากจะอธิบายให้ละเอียด

สีฟ้าของท้องฟ้าจัดอยู่ในสีโทนเย็นที่ให้ความรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย คนที่ทำงานมาอย่างยาวนานตลอดทั้งวันจึงเหมาะพักตาพักใจด้วยการมองท้องฟ้า

ผมกำลังจะบอกว่า สีต่างๆ ที่เรามองเห็น รวมถึงสีฟ้าด้วย สามารถช่วยบำบัดโรคได้ ที่เขาเรียกว่า Color Therapy หรือสีบำบัดโรคนั่นเอง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโรคทางสภาวะอารมณ์ ทั้งนี้เพราะสีแต่ละสีมีพลังแฝง และพลังแฝงนี้ก็มีผลอย่างมากกับอารมณ์ ความรู้สึก และความคิด

เช่นเมื่อมองสีเขียวนานๆ เราจะรู้สึกสดชื่น เพราะสีเขียวมีส่วนช่วยในการลดความเครียด และเป็นสีที่เด่นที่สุดบนโลก นอกจากนี้ยังทำให้ประสาทตาได้ผ่อนคลาย

แพทย์หญิงเรขา กลลดาเรืองไกร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท กล่าวไว้ว่า สีแต่ละสีมีความยาวคลื่น (wave length) และความถี่ (frequency) แตกต่างกัน
เมื่อจอประสาทตารับแสงสีต่างๆ ผ่านเข้าไปสู่ต่อมไพเนียลในสมองซึ่งควบคุมจังหวะการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเรา ต่อมนี้ก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อแต่ละสีต่างกันไป ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึก สภาวะจิตใจ ฮอร์โมน และอารมณ์ เช่นถ้ารับแสงสีแดงจะรู้สึกตื่นตัว รับแสงสีม่วงจะรู้สึกสงบ

ผมใช้เวลาประมาณ 15 นาทีในการมองท้องฟ้า ก่อนจะนึกถึง “สีฟ้า” และเริ่มสังเกตอีกราว 10 นาที

ความสบายตาที่ได้มองฟ้าทำให้ผมรู้สึกสบายใจอย่างประหลาด ขณะที่ท้องฟ้ามีสีสันอื่นๆ ผสมด้วย ช่วงที่ดวงตะวันยังไม่ลับไป ท้องฟ้ามีสีโทนร้อน เป็นกลุ่มสีที่ทำให้รู้สึกมีพลัง กระตุ้นให้มีชีวิตชีวา การมอง “สีฟ้า” ของผมครั้งนี้จึงได้ทั้งความสบายตาและพลังในเวลาเดียวกัน

ความรู้สึกตอนที่เดินกลับมานั่งในห้องทำงานช่างต่างจากตอนที่เดินออกไปเหลือเกิน อาจเป็นเพราะท้องฟ้ากำลังเปลี่ยนจากยามบ่ายเข้าสู่ยามเย็น และมีลมที่ค่อยๆ พาเมฆฝนเข้ามาทักทายความกระหายใคร่พักของผมด้วย ที่ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นได้ไม่ยาก

บนท้องฟ้าเมื่อครู่ผมมองเห็นสีอะไรบ้าง และแต่ละสีมีผลต่อใจและกายอย่างไร ในนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 195 มีคำอธิบายถึงสรรพคุณของสีที่ผมเห็นบนฟ้า

สีฟ้า – ช่วยระงับความกระวนกระวายใจ ทำให้ชีพจรเต้นเป็นปกติ และมีพลังช่วยรักษาอาการของโรคปอด
สีส้ม – เป็นสีแห่งความทะเยอทะยาน เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ในทางจิตวิทยาคือสีที่บรรเทาอาการซึมเศร้า
สีเหลือง – เป็นสีของความสนุกสนาน บรรเทาอาการหดหู่และหมดกำลังใจ
สีน้ำเงิน – ช่วยให้เกิดความเยือกเย็น ทำให้ระบบหายใจเกิดความสมดุล
สีขาว – ทำให้ผมรู้สึกถึงความว่างเปล่า เบาสบาย

การมอง “สีฟ้า” เพื่อค้นหาจินตนาการของผม ได้ผลพลอยได้เป็นการเยียวยาความคิดของตัวผมเองด้วย

ที่จริงแล้วการมองท้องฟ้านั้น แม้ไม่อิงข้อมูลใดๆ มันก็ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายอยู่แล้ว ด้วยบรรยากาศรอบตัว แสง และสี ที่ส่งผลต่อตัวผู้มองโดยตรง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ใครหลายคนชื่นชอบการเฝ้ามองท้องฟ้าทั้งเวลากลางวันและกลางคืน

สุดท้ายการอยู่กับธรรมชาติใกล้ตัวที่ผมมักมองข้ามไป กลับทำให้เกิดความรู้สึกด้านบวกได้อย่างน่าประหลาด เวลาเพียงน้อยนิดในแต่ละวัน หากเราสละมันมาเพื่ออยู่กับตัวเอง อยู่กับธรรมชาติใกล้ตัวบ้าง ก็คงดีไม่น้อย

ข้อมูลอ้างอิง: