ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

บันทึกจากคลิตี้ล่าง บนเส้นทางเยียวยาลำห้วยอาบสารพิษ

ต้นเดือนมิถุนายน 2563 ถือเป็นโค้งสุดท้ายของการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว โลหะหนักซึ่งอาบเอิบลำห้วยสายนี้มานานหลายทศวรรษ

เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองที่ให้กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ทำหน้าที่แทนจำเลยคือผู้บริหารบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ถูกศาลตัดสินให้มีความผิด โดยให้กรมควบคุมมลพิษเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารบริษัทตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย”

จึงตามมาด้วย “แผนปฏิบัติงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี” มูลค่ากว่า 452 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1,000 วัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 ถึงเดือนสิงหาคม 2563 โดยกรมควบคุมมลพิษว่าจ้างบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมา มีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษา

อย่างไรก็ตาม บนเส้นทางฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เต็มไปด้วยคำถามในสายตาชาวบ้านและนักวิชาการ อาทิ ผลการติดตามเฝ้าระวังและตรวจวัดการฟุ้งกระจายของตะกอนท้องน้ำ พบว่าเกิดความขุ่นของลำห้วยคลิตี้เป็นระยะทางยาวถึง 4 กิโลเมตร, น้ำที่รีดออกมาจากถุงเก็บตะกอนซึ่งปล่อยไหลกลับลงไปในลำห้วยคลิตี้มีค่าตะกั่วสูงกว่าค่ามาตรฐานถึงเกือบ 100 เท่า, ผลตรวจวัดความขุ่นของน้ำหลังม่านดักตะกอนมีค่าสูงขึ้นกว่าค่ามาตรฐานตามธรรมชาติถึงกว่า 10 เท่าหรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 เปอร์เซ็นต์

ชาวบ้านยังตั้งข้อสังเกตถึงการว่าจ้างชาวบ้านหลายคนเป็นแรงงานในปฏิบัติงานฟื้นฟูลำห้วยว่าคำนึงถึงหลักวิชาการและความปลอดภัยของผู้คนมากเพียงใด ทางบริษัทรีบเร่งดำเนินการเกินไปหรือไม่เมื่อกำหนดส่งงานใกล้เข้ามา

ยิ่งใกล้ครบกำหนดชาวบ้านยิ่งหวั่นวิตกว่า ลำห้วยคลิตี้อาจต้องจมสารพิษต่อไป แล้วการฟื้นฟูจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วได้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

“เคยคิดว่าหลังศาลตัดสิน มีหน่วยงานเข้ามาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แล้วจะจบ แต่มันเรื้อรังกว่าที่คาด”

ชลาลัย นาสวนสุวรรณ
ชาวบ้านคลิตี้ล่าง ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

“เราเกิดที่นี่ แต่เพิ่งสนใจปัญหาคลิตี้จริงๆ จังๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ทั้งที่พ่อเคยเป็นผู้นำเรียกร้องให้แก้ไขปัญหา แต่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องของเด็ก ตอนนั้นเรายังเล็ก รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องแก้ไขปัญหากัน เดี๋ยวผู้ใหญ่ก็คุยกันก็คงแก้ปัญหาได้

“แต่หลังจากทำกิจกรรม 13 ปีคลิตี้ ชีวิต สายน้ำ ความหวัง เมื่อช่วงปี 2554 กิจกรรมครั้งนั้นทำให้เรามองเห็นปัญหา แล้วเลือกทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การครอบครองอาณาบริเวณของรัฐกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงชุมชนคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี” ในเวลาต่อมา ที่ทำให้เราได้กลับมาอยู่บ้าน เริ่มคิดว่าปัญหาคลิตี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด ถ้าพ่อแม่เราเสี่ยง น้องเราเสี่ยง เราก็เสี่ยง ถ้าแก้ปัญหาที่บ้านเกิดไม่ได้แล้วเราจะแก้ปัญหาที่อื่นได้ยังไง

“แต่ก็ไม่คิดว่าเรื่องจะยาวนาน เคยคิดว่าหลังศาลตัดสิน มีหน่วยงานเข้ามาฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้แล้วจะจบ แต่มันเรื้อรังกว่าที่คาด ปัญหามีอยู่ทุกขั้นตอนกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นวิจัย ตั้งคำถาม โดยเฉพาะการเลือกวิธีฟื้นฟูลำห้วยที่สำคัญมาก และส่งผลมาถึงปัจจุบัน ถึงวันนี้ความน่าเชื่อถือของหน่วยงานต่างๆ ลดลงมากในสายตาเรา เพราะเขาให้ข้อมูลเราไม่ครบถ้วน และเหมือนพยายามทำให้การฟื้นฟูเป็นเรื่องลับ การได้รับข้อมูลแค่บางส่วนมันคือการปกปิดข้อเท็จจริง แม้แต่เมื่อเราพยายามทำเรื่องการเฝ้าติดตามความเสี่ยงจากมลพิษด้วยตนเอง คู่ขนานไปกับการทำงานของกรมควบคุมมลพิษและบริษัทรับเหมา ทั้งๆ ที่เป็นหมู่บ้านของเรา เราคือคนที่ต้องอยู่กับลำห้วย แต่พอกลายเป็นพื้นที่ฟื้นฟูแล้วเรารู้สึกไม่ปลอดภัย

“เราไม่อยากให้ปัญหาเรื้อรังไปกว่านี้ จบรุ่นเราได้ก็อยากให้จบ ไม่ใช่เรื่องสนุกที่จะต้องมารับสืบทอดหรือต่อสู้ในเรื่องที่ยุ่งยากและลำบากใจ แล้วไม่รู้ว่าชาวบ้านรุ่นต่อไปจะยังสนใจปัญหานี้มั๊ย หรือชินชาไปเสียแล้ว แต่ถ้าเรายังเห็นว่าลำห้วยคลิตี้สำคัญ มีผลกับชีวิตเรา ไม่มีอะไรทำให้เรารู้สึกปลอดภัยได้เท่ากับลำห้วยคลิตี้กลับมาปลอดภัยอีกครั้ง ก็ยังจะสู้และทำให้มันดีที่สุด”

“สี่ร้อยห้าสิบกว่าล้านทำดีกว่านี้ได้มั๊ย ผมว่าน่าจะได้”

จรัส นาสวนกนก
ชาวบ้านคลิตี้ล่าง ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

“ช่วงปี 2541 ปัญหาลำห้วยคลิตี้เริ่มออกสื่อ ผมยังเด็กๆ เคยเจอน้ำขุ่น กลิ่นเหม็นยังไง หลายปีผ่านไปก็ยังเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นหน้าแล้ง น้ำไม่หลากมาจะยังไม่มีกลิ่น แต่พอเข้าหน้าฝน น้ำหลากมาได้กลิ่นทันที ไม่นานมานี้ ช่วงที่ผมไปรับจ้างบริษัทดูดตะกอน พอได้กลิ่นนึกถึงเมื่อสมัยเราเด็กๆ กลิ่นอย่างนั้นเลย

“แต่ผมรับจ้างทำอยู่ได้แค่ 4-5 วัน เพราะไม่อยากเอาร่างกายเข้าไปเสี่ยง ผมไม่ได้แค่เห็น แต่เข้าไปปฏิบัติจริง คือช่วงเดือนเมษายนทางบริษัทมาจ้าง สิ่งที่ผมต้องทำคือดูดตะกอนขึ้นมาจากใต้ท้องน้ำ ตัวลงไปแช่ในลำห้วยคลิตี้ทั้งวัน คอยกดหางเรือดูดตะกอนให้ลงไปถึงท้องน้ำ ชุดที่ใส่เป็นกางเกงขายาว เสื้อธรรมดา แล้วทางบริษัทก็ให้สวมเสื้อกั๊กสีส้ม สวมหมวกก่อสร้างสีเหลือง ช่วงที่ผมทำงานบางคนใส่รองเท้าแตะ ตอนหลังถามหาเครื่องมือเขาถึงแจกรองเท้าบูทมาให้ แต่ถึงใส่รองเท้าบูทเวลาเราดูดตะกอนน้ำก็เข้าเท้า เหมือนไม่ได้ป้องกันอะไร คือเขาไม่ได้มีชุดสำหรับใส่ลงน้ำและป้องกันสารพิษโดยเฉพาะเตรียมไว้

“ผมเดินขึ้นไปหาเจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน ถามเขาว่ามีชุดที่ดีกว่านี้มั๊ย ผมอยากป้องกันไม่ให้สารตะกั่วเข้ามาสัมผัสร่างกาย เขาบอกยังไม่มีเพราะติดช่วงโควิด-19 ผ่านไปแค่สองสามวันร่างกายผมก็เริ่มคัน มีผื่นขึ้น แล้วคล้ายๆ ว่าผิวมันจะลอก ตัดสินใจเลยว่าไม่รับจ้างต่อ ผมรู้ดีว่าสารตะกั่วมันอันตราย ถ้าต้องแลกกับสุขภาพที่เสียไป ผมไม่กล้า สุขภาพสำคัญกว่าเงิน

“อยากให้ปัญหาตะกั่วที่เรื้อรังมาสี่สิบปีจบแบบมีคุณภาพ แต่เท่าที่เห็นเหมือนเอางบประมาณมาละลายลำห้วยคลิตี้มากกว่า กับสิ่งที่เขาเข้ามาทำในหมู่บ้าน ผมว่ามันไม่สมกับงบประมาณที่ได้รับ ตัวเลขสี่ร้อยห้าสิบกว่าล้านทำให้ดีกว่านี้ได้มั๊ย ผมว่าน่าจะได้ เพียงแค่เขาจะทำหรือไม่เท่านั้น”

“เหมือนมองไม่เห็นค่าของชีวิตคน”

โจกองล่า นาสวนบริสุทธิ์
ชาวบ้านคลิตี้ล่าง ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

“ครอบครัวของผมได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วเยอะกว่าใคร ทั้งพี่สาวสองคน หลาน และตัวผม

“อย่างตัวผมเองตอนเด็กๆ อายุสิบกว่าเคยมีอาการบวมทั้งตัว หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคไต เป็นฝีในสมอง เข้าออกโรงพยาบาลเป็นบ้าน พี่สาวคนโตตาบอดสนิททั้งสองข้าง ได้รับใบรับรองแพทย์ว่าเป็นโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง เคยเป็นข่าวเมื่อหลายปีก่อน พี่สาวอีกคนอาการก็ยังไม่ปรกติ ไม่สามารถไปทำงานหนักเข้าไร่ได้ จะปวดตามข้อ ทั้งสองคนยังมีชีวิต

“ทุกวันนี้ตะกอนตะกั่วยังมีอยู่ทั่วไปในลำห้วย ในช่วงน้ำนิ่งจะตกตะกอนสงบนิ่งอยู่ใต้ท้องน้ำ

“ช่วงที่ต้องฟื้นฟูทางบริษัทมีเข้ามาคุยกับชาวบ้าน แต่เวลาผมถามข้อมูลจะไม่ค่อยได้รับคำตอบ เช่นถ้าถามว่าทำอย่างนี้จะปลอดภัยมั๊ย เขาจะบอกว่าไม่ต้องห่วง ปลอดภัย แต่ไม่ให้รายละเอียด เริ่มตั้งจุดดูดตะกอนตั้งแต่ต้นปี มีหลายจุดตลอดลำห้วย แต่ไม่มีจุดไหนน่าพอใจ

“สิ่งที่น่าผิดหวังจากการฟื้นฟูครั้งนี้ที่สุดคือการใช้งบประมาณสูง แต่สิ่งที่ทำเหมือนไม่คุ้มกับงบประมาณที่ได้รับ เหมือนมองไม่เห็นค่าของชีวิตคน เหมือนกับว่าเขาจะรีบทำงานของเขาให้เสร็จโดยไม่ห่วงในความปลอดภัย ตั้งเป้าว่าต้องได้ปริมาณเท่านั้นเท่านี้ ต้องเอาให้ทัน จะดูดตะกอนเท่านี้ๆ กี่ร้อยตันโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนในหมู่บ้าน

“ถามว่าถ้าการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ต้องยืดเยื้อออกไปอีกรอได้มั้ย ถ้ามันต้องรอยังไงก็ต้องรอ แต่รอแล้วก็ขอให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ว่าฟื้นฟูแบบจบไปที ผมรอมาทั้งชีวิต เมื่อทำแล้วก็ขอให้มันดีกว่านี้ได้มั๊ยครับ”

“รอลำห้วยคลิตี้กลับมาสะอาดนานเกินยี่สิบปีแล้ว”
สมศักดิ์ นาสวนประภา
ชาวบ้านคลิตี้ล่าง ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

 

“เราเกิดที่นี่ เป็นคนกะเหรี่ยงโปว์ ช่วงวิกฤติโควิดระบาดไปไหนมาไหนไม่ได้ก็เอาเวลาช่วงนั้นมารับจ้างบริษัทฟื้นฟู เด็กๆ บางคนออกไปหางานในเมืองช่วงโควิด-19 ไม่ได้ก็มาลองทำ ช่วงนั้นเรายังไม่ลงพืชไร่ ญาติพี่น้องก็มาช่วยกันทำอยู่พักหนึ่ง พอได้ค่ากะปิน้ำปลา

“เงินค่าจ้างเขาคิดตามถุงดักตะกอน ถุงใหญ่ๆ สีขาวถุงหนึ่งหนัก 200 กิโลกรัม ถ้าทำได้ 1 ถุงเขาจะให้ถุงละ 100 บาท ก็คือกิโลกรัมละ 50 สตางค์ เป็นน้ำหนักของตะกอนดินเลนที่ถูกดูดขึ้นมาใส่อยู่ในถุง แล้วเขาก็ให้เราขึ้นไปย่ำๆ เหยียบรีดน้ำออก ให้เหลือแต่ตะกอนในถุงเพื่อขนขึ้นไปฝังในหลุมฝังกลบบนภูเขา แต่เราเห็นว่าเหยียบแล้วตะกอนก็น่าจะเล็ดลอดไปกับน้ำด้วย สุดท้ายก็ไหลกลับลงห้วยคลิตี้

“ตอนนี้เราอายุ 66 ปี เกิดก่อนที่โรงแต่งแร่จะเข้ามาตั้ง ในช่วงที่มีปัญหามากๆ เวลานั้นเรายังวัยรุ่น อายุน่าจะ 15-16 ปี

“การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้มีความสำคัญเพราะหมู่บ้านของเรายังต้องพึ่งพาธรรมชาติ ถึงมีระบบประปาภูเขาแต่ก็ยังไม่ทั่วถึง บางบ้านยังต้องใช้น้ำจากลำห้วยอยู่ถึงแม้รู้ว่าปนเปื้อน บางคนไม่มีรายได้มากพอที่จะซื้ออาหารจากข้างนอกก็ยังต้องพึ่งพาลำห้วยในการจับปลา

“รอลำห้วยคลิตี้กลับมาสะอาดนานเกินยี่สิบปีแล้ว เฉพาะช่วงหลังจากที่ศาลสั่งให้เราชนะ หน่วยงานต่างๆ ต้องเข้ามาฟื้นฟูตามกฎหมายก็สิบกว่าปี ชื่อของเราเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ยื่นฟ้องต่อศาล

“เรื่องรับจ้างบริษัทความจริงแล้วเราก็ไม่อยากทำเพราะดูแล้วไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ถึงตอนนี้ไม่เสียใจ คิดว่าต้องทำ เผื่อมีทนายถามว่าบริษัทเข้ามาฟื้นฟูยังไงเราจะได้บอกถูก เราทำกับมือจะได้ต่อว่าตรงๆ ไปเลย”