เมื่อแควน้ำจากทางทิศใต้ของสระอโนดาตไหลมากระทบภูเขา จะแตกกระจายฟุ้งขึ้นในอากาศ เรียกว่า “อากาศคงคา” ก่อนจะตกลงสู่พื้นดินอีกครั้ง รวมตัวเป็นสระใหญ่ แล้วไหลลงไปตามอุโมงค์ จนเมื่อกระแสน้ำพลุ่งโผล่ขึ้นเหนือพื้นดินอีกครั้ง ก็แผ่กว้างกลายเป็นแม่น้ำห้าสาย “เหมือนนิ้วมือห้านิ้วที่ฝ่ามือ” ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี มหิ สรภู แล้วจึงไหลลงไปหล่อเลี้ยงแดนมนุษย์ของชมพูทวีป
ม่านปักฝีมือนางวันทองที่ถูกขุนแผนฟันจนขาดวิ่น ก็มีตอนหนึ่งที่ปักภาพเรื่องนี้ ดังกลอนใน “ขุนช้างขุนแผน” ที่ว่า
“อากาศคงคาชลาสินธุ์ มุจลินท์ห้าแถวแนวสลอน”
อย่างที่เคยกล่าวมาบ่อยๆ แล้ว ว่าภูมิศาสตร์ของชมพูทวีปตามคติสุเมรุจักรวาลนั้น คือรูปจำลองอนุทวีปอินเดีย โดยเน้นหนักที่ตอนเหนือ ดังนั้น แม่น้ำห้าสายหรือ “ปัญจมหานที” นี้ก็คือแม่น้ำสายหลักของท้องถิ่นอินเดียเหนือ
ปัญจมหานทียังกลายเป็นต้นทางสำนวนไทย (ที่รับของแขกมาอีกต่อหนึ่ง) ว่า “ชักแม่น้ำทั้งห้า” หมายถึงการพูดจาหว่านล้อม จะให้ได้ตามที่ตนต้องการ โดยไปเท้าความหรือหยิบยกเรื่องมากมายมาพูดเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีแก่นสารอะไร เหมือนในเรื่องเวสสันดรชาดก เมื่อชูชกไปทูลขอพระกัณหาชาลีจากพระเวสสันดร ได้พูดจาหว่านล้อมสรรเสริญพระเวสสันดรว่าท้าวเธอทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางเหมือนแม่น้ำทั้งห้า
ปัญจมหานทียังถือเป็นสัญลักษณ์ของความผาสุกร่มเย็น ดังใน “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส บรรยายปราสาทสำหรับเวเคชั่นฤดูร้อน หนึ่งในปราสาทสามฤดูของเจ้าชายสิทธัตถะ ว่าประดับด้วยภาพวาด “ในพื้นฝาแลเสาเขียนเปนเบญจมหานที” เพื่อสร้างความรู้สึกสดชื่น นอกจากนั้น น้ำจากปัญจมหานทีก็ยังถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในบทพระราชนิพนธ์ “รามเกียรติ์” ของรัชกาลที่ ๑ ตอนศึกกุมภกรรณ หลังจากพระลักษณ์ถูกหอกโมกขศักดิ์แล้ว พิเภกกราบทูลพระรามว่ามีวิธีรักษา แต่สำคัญว่า ต้องมิให้บาดแผลสัมผัสแสงอาทิตย์ ดังนั้นจึงขอให้หนุมานเหาะไปยุดรถพระอาทิตย์ไว้ก่อน จากนั้น
“แล้วให้ไปเก็บตรีชวา ทั้งยาชื่อสังกรณี
ยังเขาสรรพยาบรรพต ปรากฏอยู่ยอดคีรีศรี
กับปัญจมหานที สรรพยาทั้งนี้มาให้ทัน
แม้นว่าได้บดชโลมลง องค์พระอนุชาไม่อาสัญ
จะดำรงคงชีพชีวัน หอกนั้นก็จะหลุดขึ้นมา ฯ”
คือต้องไปเก็บว่านยาสังกรณีตรีชวาจากเขาสรรพยา มาบดด้วยน้ำจากปัญจมหานที แล้วราดรดลงที่บาดแผล หอกโมกขศักดิ์จึงจะเขยื้อนหลุดออกไปเอง ตามเรื่องเล่าว่าหลังจากเก็บสังกรณีตรีชวามาได้แล้ว หนุมานไม่ยักไปตระเวนตักน้ำจากแม่น้ำทั้งห้าสายเอาเอง ทว่าใช้ “วิธีลัด” ด้วยการเหาะตรงไปยังกรุงอโยธยา ขอเข้าเฝ้าพระพรตพระสัตรุต อนุชาของพระลักษมณ์พระราม ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างพระรามออกเดินดง แล้วทูลขอเอาดื้อๆ พระพรตพระสัตรุตก็ประทานน้ำปัญจมหานทีสำเร็จรูปที่บรรจุใน “ขวดรัตนา” (ขวดแก้ว ?) มาให้
ตามความคิดของท่านผู้ใหญ่รุ่นต้นกรุงเทพฯ น้ำปัญจมหานทีถือเป็น “เครื่องราชูปโภค” อย่างหนึ่งที่กษัตริย์พึงต้องมีไว้ในครอบครองใกล้ตัว จึงปรากฏตำราว่าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกต้องใช้ “ปัญจมหานที” เป็นน้ำอภิเษกด้วย แต่แน่นอนว่าดินแดนอินเดียเหนือนั้นอยู่ไกลเหลือแสน ในสมัยรัตนโกสินทร์ เราจึง “อนุโลม” ใช้น้ำจากแม่น้ำสำคัญห้าสายในภาคกลาง เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” แทนปัญจมหานทีตามตำรับของแขก ได้แก่
แม่น้ำบางปะกง ตักที่ตำบลบึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก
แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี
แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง
แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม
แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี
จนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จไปอินเดียในปี ๒๔๑๕ ทรงแสวงหาน้ำปัญจมหานทีตามตำรามาได้ครบ ปีถัดมา ๒๔๑๖ ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ภายหลังทรงบรรลุนิติภาวะ จึงมีการนำน้ำปัญจมหานที “สูตรดั้งเดิม” จากอินเดีย มาเจือผสมเป็นน้ำอภิเษกด้วยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์