ทุเรียนจากบางสวนราคาหลายพันหรือเกินหมื่นก็มีคนซื้อไปกิน
ตามทฤษฎี ราคาขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทาน
อุปสงค์หรือความต้องการของผู้บริโภคบอกว่า ถ้าราคาต่ำลงจะมีคนซื้อมากขึ้น ถ้าราคาสูงขึ้นก็จะมีคนซื้อน้อยลง
ฝั่งอุปทานหรือการผลิตสินค้า ถ้าสินค้าราคาลดลงผู้ผลิตก็จะผลิตน้อยลง ถ้าราคาสูงขึ้นผู้ผลิตก็จะผลิตมากขึ้น หรือถ้าสินค้ามีปริมาณน้อยกว่าความต้องการราคาก็จะสูงขึ้น ถ้าสินค้ามีปริมาณมากกว่าความต้องการราคาก็จะต่ำลง
ราคาจึงถูกควบคุมจากทั้งสองฝั่ง
สถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้ราคาน้ำมันลดฮวบ เพราะการผลิตล้น ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ไม่มีความต้องการใช้น้ำมันในช่วงปิดเมืองปิดประเทศ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันจึงต้องพยายามลดการผลิตให้ลงมาพอดีกับความต้องการใช้น้ำมันที่หดหาย
ต่างจากทุเรียนจากสวนดั้งเดิมเมืองนนท์ ผลิตได้แต่ละปีจำนวนไม่มาก ชาวสวนจะอยู่ได้ก็ด้วยขายราคาต่อลูกสูง ผู้บริโภคที่พึงพอใจในรสชาติ คุณภาพ และชื่อเสียง ก็ยอมจ่ายเพื่อให้ได้ลิ้มลอง
แต่กับของบางอย่างที่มีคุณค่าทางระบบนิเวศ ประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรม จะบอกราคาได้ไหม
เสือดำที่ถูกล่าในคดีเปรมชัย กรมอุทยานแห่งชาติฯ ประเมินราคาไว้กว่า ๔ แสนบาท โดยเทียบกับราคาเสือดำในกรณีที่สวนสัตว์ซื้อมาจัดแสดง รวมกับค่าใช้จ่ายในการคืนเสือดำกลับสู่ธรรมชาติตัวละ ๒.๕ ล้านบาท (อ้างอิงเปรียบเทียบราคาจากโครงการเพาะพันธุ์และอนุรักษ์พันธุกรรมเสือโคร่ง) รวมค่า
ใช้จ่ายทั้งหมดเสือดำก็จะมีราคาประมาณ ๓ ล้านบาท
แร้งก่อนจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในเมืองไทยเมื่อ ๓๐ ปีก่อน คงไม่มีใครเคยคิดว่ามันมีราคาค่าตัวเท่าไร วันนี้การพยายามจะฟื้นฟูประชากรของมันกลับคืนมากลับไม่ใช่เรื่องง่าย และเราจะคิดราคาค่าตัวแร้งได้อย่างไร
น่าสงสัยว่าเงินหลักล้านจะทำให้เราสามารถผลิตเสือดำหรือแร้งหนึ่งตัวที่ทำหน้าที่ในระบบนิเวศให้เกิดความสมดุลตลอดอายุขัยของมันในธรรมชาติได้หรือไม่
แล้วหาดทรายธรรมชาติล่ะมีราคาไหม หาดทรายสวย ๆ ต้องพังทลายลง เพราะการสร้างเขื่อนกันคลื่นด้วยงบประมาณที่ได้มามากมาย แต่หาดทรายที่หดสั้นพังทลายลงจะเหลือราคาอยู่เท่าไร
อาคารประวัติศาสตร์สร้างด้วยไม้สักที่เคยเป็นอาคารของบริษัทบอมเบย์ เบอร์มา ที่จังหวัดแพร่ เพิ่งถูกรื้อถอนอย่างน่าสงสัย ควรมีราคาเท่าไรก่อนถูกรื้อ (ถ้ารู้ราคาเขาจะยังกล้ารื้อไหม) จะกลายเป็นราคาเท่าไรเมื่อบูรณะกลับคืน ? และจะประกอบสร้างคืนมาเหมือนเดิมได้จริงหรือไม่ ยังเป็นคำถามตัวโต ๆ
ราคาของหลายสิ่งหลายอย่างอาจมีปัจจัยซับซ้อนเกินกว่าเรื่องสมดุลของอุปสงค์กับอุปทาน
งบประมาณ ๔ แสนล้านบาทจะไปถึงเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ประเทศมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และกระจายถึงผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ อย่างทั่วถึง
หรือถูกใช้อย่างตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปถึงมือคนเพียงบางกลุ่มด้วยการสร้างอุปสงค์ปลอม ๆ และการจัดหาอุปทานที่สูงเกินราคาตลาด
……………….
สำหรับนิตยสาร สารคดี ในมือผู้อ่านฉบับเดือนกรกฎาคมนี้จะเป็นฉบับสุดท้ายที่มีราคา ๑๒๐ บาท และตั้งแต่ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นไป เราจำเป็นต้องประกาศขึ้นราคาเป็นฉบับละ ๑๘๐ บาท
ในฐานะผู้จัดทำ แม้จะปรับราคาขึ้นมาดังกล่าวแล้วก็ยังไม่เพียงพอกับต้นทุนต่าง ๆ และค่าจัดพิมพ์นิตยสารได้ทั้งหมด แต่ก็คาดว่าจะช่วยชดเชยกับรายได้ที่สูญหายไปบางส่วนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำและผลกระทบจากการดิสรัปชันของโลกดิจิทัลออนไลน์ที่มีต่อสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษอย่างหนัก โดยเรายังต้องดำเนินการเพื่อหารายได้จากกิจกรรมด้านอื่น ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมกับรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอดต่อไป
ในฐานะผู้อ่าน ราคานี้สูงเกินไปหรือไม่ นิตยสาร สารคดี มีคุณค่าที่ควรเผยแพร่ต่อไปอีกนานแค่ไหน
พวกเราได้แต่น้อมรับคำตัดสินของผู้อ่านในอนาคตที่จะมาถึง
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com
#สมัครสมาชิกวันนี้ต่อชีวิตนิตยสารไปยาวๆ