บรรดาคัมภีร์โลกศาสตร์ต่างระบุว่าสรรพชีวิตที่อาศัยในหิมพานต์มีมากมายหลายแสนชนิด ดังที่สุนทรภู่บรรยายไว้ใน “บทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องกากี” ด้วยมุมสูงแบบ “ตานก” (bird’s-eye view) ผ่านสายตาพญาครุฑซึ่งโฉบร่อนผ่านเหนือพื้นที่ป่า
๏ สินธพตลบเผ่น สิงโตกิเลนแลมังกร
ราชสีห์ดูมีหงอน แก้วกุญชรแลฉัททันต์
๏ นรสิงห์แลลิงค่าง อีกเซี่ยวกางแลกุมภัณฑ์
ยักษ์มารชาญฉกรรจ์ ทั้งคนธรรพ์วิเรนทร
๏ นักสิทธิวิทยา ถือคทาธนูศร
กินรินแลกินร รำฟ้อนร่อนรา
๏ ห่านหงษ์หลงเกษม อยู่ห้องเหมคูหา
พระฤๅษีชีป่า หาบผลาเลียบเนิน
๏ คนป่าทั้งม่าเหมี่ยว ก็จูงกันเที่ยวดุ่มเดิน
ลอยลมชมเพลิน พนมเนินแนวธาร
แต่ที่โดดเด่นที่สุดในหมู่ “สัตว์หิมพานต์” ก็คือราชสีห์และช้าง
ราชสีห์ในหิมพานต์ แบ่งได้เป็นสี่จำพวก คือ ติณราชสีห์ กาฬราชสีห์ บัณฑุราชสีห์ และไกรสรราชสีห์
ชนิดแรก คือติณราชสีห์ มีสีเหมือนนกพิราบ (สีเทา) กินหญ้าเป็นอาหาร (!)
ติณะ หรือตฤณ แปลว่าหญ้า สโมสรแข่งม้าในกรุงเทพฯ จึงเคยมีชื่อว่า ราชตฤณมัยสมาคมฯ หมายถึงสนามหญ้า (ตฤณ) ของม้า (มัย)
ชนิดต่อมาคือ กาฬราชสีห์ มีสีดำ (กาฬ คือดำ) มีอาหารเป็นหญ้าเช่นเดียวกัน
ส่วนบัณฑุราชสีห์ สีเหมือนใบไม้เหลือง ชนิดนี้กินเนื้อเป็นอาหาร
ราชสีห์ชนิดสุดท้ายคือ ไกรสรราชสีห์ หรือเกสรสีหะ เป็นราชสีห์กินเนื้อ ลักษณะพิเศษคือขนขาวทั้งตัว แต่มีปาก ปลายหาง และปลายเท้าสีแดง “ราวกับชุบครั่ง” และมีลายสีแดงวนเป็นก้นหอยทั่วทั้งตัว
เมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีมาแล้ว ตอนที่พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) จะผลิตเบียร์ตราสิงห์ออกจำหน่าย ท่านเลือกทำสัญลักษณ์เป็นรูปสิงห์อย่างไทย กายสีแดง แต่ต่อมา พอถึงช่วงใกล้ปี ๒๕๐๐ เมื่อยุคนั้นไม่ชอบให้มีอะไรสี “แดงๆ” เพราะรู้สึกหวาดหวั่นกับพวก “แดง” หรือพวก “คอมมิวนิสต์” (เช่น จีนแดง ซึ่งดูเหมือนเดี๋ยวนี้จะไม่มีใครหวาดกลัว มีแต่จะคอย “ซูฮก”) ถึงขนาดครุฑหัวกระดาษหนังสือราชการ จากเดิมที่เคยพิมพ์ด้วยหมึกสีแดง ก็ยังต้องเปลี่ยนมาเป็นลายเส้นสีดำอย่างที่เห็นอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางบริษัทฯ จึงต้องยอมเปลี่ยนโลโก้เบียร์ตราสิงห์ ให้ตอบสนองกับความต้องการของ “ทางการ” จึงกลายเป็นสิงห์สีทองมาจนเดี๋ยวนี้