ใน “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” พรรณนาเรื่องไกรสรราชสีห์แล้วหยอดนิทานชาดกแทรกไว้ด้วยเรื่องหนึ่งคือ “กระต่ายตื่นตูม”
ครั้งหนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาไกรสรราชสีห์ในป่าหิมพานต์ ยังมีกระต่ายตัวหนึ่ง นอนหลับอยู่ที่กอตาลใต้ต้นมะตูม กำลังหลับเพลินๆ มะตูมลูกหนึ่งหล่นโครมลงใส่ใบตาลแห้งเสียงลั่น กระต่ายตกใจตื่น คิดเองเออเองว่า “แผ่นดินถล่ม” (คงประมาณโลกแตก อะไรทำนองนั้น)
“ผุดลุกขึ้นได้ก็แล่นควบไปไม่เหลียวหลัง แล่นไปจนหูลี่หางชี้ทีเดียว”
กวางและหมูเห็นกระต่ายวิ่งหน้าตั้งก็เลยตะโกนถามว่าเกิดอะไรขึ้น เหตุใดจึงห้อตะบึงมาแบบนี้ กระต่ายวิ่งไปร้องตอบไปพลางว่า “อะไรกัน! พวกท่านไม่รู้หรือ? แผ่นดินถล่มแล้ว!!!” ได้ยินดังนั้น ฝูงกวางฝูงหมูก็พลอยแตกตื่นตกใจ ออกวิ่งแจ้นตามกระต่ายไป
เมื่อฝูงวัวควายฝูงม้าฝูงช้างเห็นสัตว์นานาชนิดวิ่งตามกันมาเป็นพรวน ก็คิดว่าต้องมีเหตุเภทภัยอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแน่แล้ว เราก็คงอยู่ไม่ได้ เลยถลันออกตัวตามไปด้วย ทุกตัวต่างวิ่งหน้าตั้งไปสู่หน้าผาริมฝั่งมหาสมุทร ซึ่งย่อมจะพากันตกทะเลตายหมด
พญาไกรสรราชสีห์ ซึ่งสัตว์ทั้งหลายได้ประชุมกันตั้งให้เป็นใหญ่กว่าสัตว์สี่เท้าทั้งปวงมาตั้งแต่ปฐมกัป เห็นเข้าดังนั้น จึงร้องถามฝูงช้างขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น ช้างตอบว่า “ไม่รู้” เห็นเพื่อนๆ วิ่งตามกันมาก็หนีมาด้วย ครั้นพอย้อนถามไปกลับเรื่อยๆ ก็ได้แต่คำตอบว่า “ไม่รู้-ไม่เห็น-ไม่ทราบ” ที่สุดจึงจับได้ว่าที่แท้ ทั้งหมดล้วนวิ่งตามกระต่ายมา และกระต่ายคือต้นตอของข่าวลือเรื่องแผ่นดินถล่ม
พญาไกรสรราชสีห์จึงขอให้กระต่ายช่วยพาไปทำแผน ณ จุดเกิดเหตุ กระต่ายเองกลัวแทบขาดใจ แต่พญาราชสีห์ยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีอะไรต้องหวาดกลัว เพราะตนเองจะไปด้วย กระต่ายจึงเลียบๆ เคียงๆ พาไปหลับหูหลับตาชี้ตรงใต้ต้นมะตูมที่ตัวเองหลับปุ๋ยอยู่เมื่อกี้ ปากคอสั่นบอกว่า “เชิญท่านเข้าไปดูแต่ผู้เดียวเถิด ข้าพเจ้าไปไม่ได้แล้ว…”
“พญาราชสีห์ไปพิจารณาดู ก็เห็นลูกมะตูมอันตกลงมาอยู่ในสถานที่นั้น แหงนขึ้นไปดูบนต้น ก็เห็นขั้วมะตูมยังใหม่ๆ อยู่ ก็รู้ว่าไอ้กระต่ายนี้มันตื่นลูกมะตูมแล้ว นี้แลไม่พินิจพิจารณา เชื่อแต่คำผู้อื่นแล้วก็เป็นเหตุจะให้ได้ความทุกข์เมื่อภายหลัง”
จากคำของพญาราชสีห์ที่ว่า “กระต่ายนี้มันตื่นลูกมะตูม” เข้าใจว่าจึงกลายเป็นต้นกำเนิดของสำนวนไทย “กระต่ายตื่น (ลูกมะ) ตูม” สืบมา
เมื่อสอบกลับไปในพระไตรปิฎกพบว่ามีเรื่องนี้เล่าไว้ในชื่อ “ทัทธภายะชาดก” โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่ากระต่ายตัวมานอนเล่นอยู่ตรงดงที่มีต้นตาลขึ้นปนกับต้นมะตูม แล้วก็คิดเคลิ้มๆ ไปว่า “ถ้าแผ่นดินนี้ถล่ม เราจะไปที่ไหนหนอ” ขณะนั้นเอง ผลมะตูมสุกหล่นลงใส่ใบตาลแห้งเสียงดัง กระต่ายจึงตกใจว่า นั่นไง! แผ่นดินถล่มแล้ว จึงกระโดดหนี กระต่ายตัวอื่นพอได้ยินว่าแผ่นดินถล่มก็วิ่งตามกันไปเป็นพรวน จากนั้นฝูงกวาง หมูป่า แรด วัวควาย เสือสิงห์และช้าง ก็วิ่งดาหน้าตามกันไป
ราชสีห์พระโพธิสัตว์เห็นว่าสัตว์ที่วิ่งกันไปนั้นจะพากันตกทะเลตายจึงวิ่งไปดักหน้า แล้ว “บันลือสิงหนาท” คำรามขึ้นสามครั้ง ฝูงสัตว์ได้ยินก็ตกใจจึงหยุด ด้วยเหตุที่ปรากฏความตามคัมภีร์ว่าเสียงร้องคำรามของราชสีห์ย่อมเป็นที่หวาดกลัวแก่สัตว์ทั้งหลาย ยกเว้นแต่สิ่งมีชีวิตหกประเภท ได้แก่ ราชสีห์ด้วยกันเอง ช้างอาชาไนย ม้าอาชาไนย โคผู้อาชาไนย บุรุษอาชาไนย และพระขีณาสพ คือพระอรหันต์ผู้สละละแล้วซึ่งกิเลศ
ส่วนเรื่องที่เหลือต่อจากนั้นก็ไม่ต่างกับที่เล่าไว้ใน “ไตรภูมิวินิจฉยกถา” นัก
นิทานเรื่องนี้ เมื่อถึงยุคของการตีพิมพ์มีการเรียบเรียงออกมาอีกหลายสำนวน แต่รายละเอียดผิดเพี้ยนกันไปต่างๆ เช่นว่าสิ่งที่ตกลงมานั้น บางเรื่องก็ว่าเป็นลูกมะพร้าว บ้างก็ว่าเป็นลูกตาลก็มี
ส่วนลูกมะตูมนั้น ดูเหมือนจะกลิ้งหายไประหว่างทางเสียนานแล้ว