เรื่อง/ภาพ : นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ค้นพบแผ่นฤกษ์ทรงกลมจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดี ที่โบราณสถานโคกแจง จังหวัดนครปฐม อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นหลักฐานใหม่ในการศึกษาทางโบราณคดี (ดูรายละเอียดได้ ที่นี่ )
ประเด็นน่าสนใจในการค้นพบครั้งนี้ ดังที่ทางกรมศิลปากรแจ้งไว้ก็คือ
“แผ่นดินเผาทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๖.๒ เซนติเมตร หนา ๑.๒ เซนติเมตร วางอยู่ในตำแหน่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายในพื้นที่กรอบอิฐ แผ่นดินเผานี้มีการขีดช่องตารางคล้ายกับดวงฤกษ์แบ่งเป็น ๑๒ ช่องตามแนวรัศมี และขีดเส้นวงกลมซ้อนชั้นจากแกนกลางออกมาเป็นระยะ เกิดเส้นซ้อนทับกันเป็นช่องตารางย่อย ในแต่ละช่องตารางพบตัวอักษรจารกำกับอยู่เกือบทุกช่อง รวมถึงที่ขอบของแผ่นดินเผาก็ได้พบตัวอักษรจารึกเช่นกัน…
การค้นพบในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการค้นพบแผ่นฤกษ์ทรงกลมที่มีการจารึกตัวอักษรในวัฒนธรรมทวารวดีในประเทศไทย แต่เดิมเคยได้พบหลักฐานแผ่นอิฐที่สันนิษฐานว่าเป็นอิฐฤกษ์ที่เจดีย์จุลประโทน จ.นครปฐม เป็นอิฐที่มีการทำลวดลายพิเศษ และที่เจดีย์หมายเลข ๑ เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นอิฐที่ตกแต่งด้วยการเขียนสีเป็นลวดลาย
การค้นพบแผ่นฤกษ์มีตัวอักษรที่ใจกลางโบราณสถานโคกแจง จึงเป็นหลักฐานใหม่ที่จะช่วยให้การศึกษาทางโบราณคดีในส่วนของพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานในวัฒนธรรมทวารวดีก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง”
เมื่อดิฉันได้พิจารณาแผ่นดินเผาที่เพิ่งค้นพบใหม่จากโบราณสถานโคกแจง เห็นแล้วคุ้นตาอย่างยิ่ง
จึงได้พยายามพิจารณาดูโครงสร้างทั้งหมด ก็พบว่าน่าจะเป็น “ต้นแบบ” ของแผนที่ดาว ๑๒ ราศีในอันโตมณฑล (กลุ่มดาวที่พระอาทิตย์โคจรผ่าน) ที่นำมาวาดไว้ในสมุดไทยขาว สมุดไทยดำ ในยุคต่อมา (ดูภาพที่ ๓-๔-๕-๖)
ก่อนหน้านี้ที่เคยตรวจสอบมา หลักฐานการกล่าวถึงระบบดวงฤกษ์ไว้ เก่าแก่มากๆ ได้พบว่ามีอยู่ในจารึกหินสมัยสุโขทัยหลายหลัก ดังเช่น ศิลาจารึกนครชุม ปี ๑๙๐๐
ส่วนภาพแผนที่ดาวลักษณะนี้ ได้มีปรากฏในสมุดข่อยตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา และยังมีการเขียนกันไว้จนถึงยุครัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งดิฉันได้เคยสืบค้นรวบรวมเขียนออกมาเป็นบทความ และพิมพ์ไว้ในหนังสือ “ไทบ้านดูดาว” กับ “นานาภาษาดาว” ที่เพิ่งพิมพ์เผยแพร่ออกมา
ภาพแผนที่ดาวไทยลักษณะเช่นนี้ ต่อมาได้พัฒนาต่อยอดทำเป็นแป้นหมุนลัคนาสำเร็จ ของอาจารย์สิงห์โต สินสันธิ์เทศ ให้คนสนใจศึกษาทางโหราศาสตร์ หมุนหาลัคนาในเวลาผูกดวง (ดูภาพที่ ๗-๘)
หลักฐานแผ่นดินเผาลักษณะคล้ายแผนที่ดาวไทยที่ขุดเจอจากโบราณสถานโคกแจงครั้งนี้ จึงสำคัญมากๆ
เพราะทำให้รู้ว่าแผนที่ดาวในอันโตมณฑล มีมาแล้วตั้งแต่ยุคทวารวดี
เท่าที่ดิฉันพยายามดูภาพแผ่นดินเผาโคกแจงที่ขุดขึ้นมา เห็นลักษณะภาพที่จารึกไว้มีโครงสร้างเช่นเดียวกับแผนที่ดาวไทยในสมุดไทยยุคอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์
จึงเป็นไปได้ว่า แผ่นดินเผาโคกแจงจะเป็นต้นแบบของแผนที่ดาวไทยเก่าแก่ที่สุด ที่หลังจากนั้นได้มีการเขียนลงในสมุดข่อยยุคหลัง และสืบต่อทำเป็นแป้นหมุนลัคนาสำเร็จในยุคปัจจุบัน
การหาอายุของแผ่นฤกษ์
สำหรับแผนที่ดาวไทยดินเผาโคกแจงแผ่นนี้ ในวงกลมด้านใน ทั้ง ๑๒ ช่อง (๑๒ ราศี) หากอ่านออกมาแล้วมีตัวเลข ๑ ถึง ๗ อยู่ในช่องต่างๆ ด้วยนั้น
เลขแต่ละตัวเหล่านั้นก็คือดาวอาทิตย์ถึงดาวเสาร์ อันทำให้รู้ว่าในวันทำพิธี ดาวแต่ละดวงอยู่ในตำแหน่งราศีใด ใน ๑๒ ราศี (ที่เห็นเป็นช่องต่างๆ ในวงกลม)
และการที่ดาวแต่ละดวงอยู่ในราศีใด มีความสำคัญมาก เพราะจะสามารถนำมาใช้ตรวจสอบอายุเวลาของแผ่นดินเผานี้ได้ชัดเจนขึ้น
เนื่องด้วยตำแหน่งดาวพฤหัส (๕) อยู่ที่ราศีใดใน ๑๒ ราศีของดวงฤกษ์ จะช่วยบอกให้รู้ว่าวันทำพิธีนั้น ตรงกับปีนักษัตรชวด ฉลู ขาล เถาะ…กุน ได้ เนื่องด้วยดาวพฤหัสอยู่ประจำราศีละประมาณ ๑ ปี
เช่นดาวพฤหัสบดี (๕) อยู่ที่ราศีมังกร จะบอกว่ามีการทำพิธีในปีฉลู
ได้รู้ข้อมูลนี้แล้ว เราสามารถเอาปีฉลู มาคำนวณได้ว่า น่าจะตรงกับ พ.ศ. ใด ในช่วงระยะเวลาทำพิธีนั้น
ส่วนตำแหน่งดาวอาทิตย์ (๑) ในดวงฤกษ์ จะบอกเดือนในวันทำพิธีว่าตรงกับ “เดือนใด”
เช่นดาวอาทิตย์ (๑) ในราศีมังกร จะบอกให้รู้ว่าการทำพิธีอยู่ระหว่างวันที่ ๑๕ มกราคม-๑๔ กุมภาพันธ์
ส่วนตำแหน่งดาวจันทร์ (๒) ที่สัมพันธ์กับอาทิตย์ (๑) ในดวงฤกษ์ จะบอกวันขึ้นแรม ในวันทำพิธี
เช่นอาทิตย์ (๑) อยู่ราศีมังกร จันทร์ (๒) อยู่ในกลุ่มดาวราศีกรกฎ จะเป็นวันประมาณขึ้น 15 ค่ำ เดือนเพ็ญ ซึ่งจันทร์ในราศีกรกฎ คือดาวจันทร์ที่อยู่กับกลุ่มดาวปุนวสุ (เพชฌฆาตฤกษ์), บุษยะ (ราชาฤกษ์) และอาศเลษา (สมโณฤกษ์)
การบอกเช่นนี้คือการบอกองศาดาวจันทร์ ในราศีที่สถิตอยู่
และถ้าบอกตรียางค์ นวางค์ ที่ทำพิธี ไว้ด้วย ยิ่งเป็นการบอกละเอียดถึงจุดเวลาในการทำพิธีชัดเจนขึ้นด้วย
ดังนั้นหากมีตัวเลขอันแสดงถึงตำแหน่งดาวอาทิตย์ดาวจันทร์ และดาวเคราะห์ต่างๆ ปรากฏในแผนที่ดาวแผ่นดินเผาโคกแจงนี้ นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าการเขียนแผนที่ดาว มีมาแล้วตั้งแต่ยุคทวารวดี
ยังสามารถนำไปคำนวณหาวัน เดือน ปี และ เวลา ในการทำพิธีนี้ได้ด้วยค่ะ