สัมภาษณ์ : เกียรติชาย ไมตรีวงษ์
ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

ข่าวคราวของสถานการณ์ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบ่งบอกว่ามีระดับความรุนแรงขึ้นทุกวัน ตัวเลขอุณหภูมิในวันที่อากาศร้อนที่สุดทำสถิติสูงสุดใหม่ทุกปี ขณะที่การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ จนปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับการขนานนามใหม่จาก Climate Change กลายเป็น Climate Emergency หรือ Climate Crisis
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ TGO ก่อตั้งและดำเนินการมากว่า 12 ปี โดยมีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ TGO จะก้าวเดินหน้าต่อไปอย่างไรในโอกาสที่มีการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้อำนวยการคนใหม่ขององค์การฯ เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมาคือคุณเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ อดีตผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจด้านพลังงาน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นปัญหาที่ท้าทายที่สุดของคนทั้งโลกขณะนี้ แต่เราคงท้อถอยไม่ได้ ดังที่คุณเกียรติชายเน้นย้ำว่า
“บริโภคให้พอดี ลดขยะ อยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด พึ่งตัวเองให้ได้ และทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวานเพื่อโลกของเรา”

I AM TGO ขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

“TGO 4.0” ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม

เกียรติชาย: ผมเข้ามาเป็นผู้อำนวยการขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกคนที่ 3 โดยได้เสนอแผนปฏิบัติการในระยะเวลา 4 ปีเรียกว่า “TGO 4.0” เน้นการขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมเกิดขึ้นจากการเรียนรู้และมีสองลักษณะ คือ “new normal” กับ “disrupt”

นวัตกรรมแบบแรก “new normal” คือการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราทำอยู่แล้วให้เป็นการทำในวิธีใหม่ แต่ new normal ยังมีความเปลี่ยนแปลงน้อยกว่านวัตกรรมแบบที่ 2 “disrupt” คือสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเลย ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากของเดิมมากๆ ซึ่ง TGO ต้องสร้างนวัตกรรมในทั้งสองรูปแบบ

TGO เป็นองค์การมหาชน สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนตระหนักถึงภัยของก๊าซเรือนกระจก และรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งในด้านการบริโภคและการผลิต เพื่อยืดเวลาของโลกนี้ให้อยู่ได้นานๆ โดยทำคือให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นช้าลง

ประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงภัยนี้มานานแล้วและพยายามร่วมมือกันมาตั้งแต่การทำพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในอดีตจนมาถึงความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งรวมถึงเพื่อพยายามจะไม่ให้เพิ่มเกิน1.5-2 °C จากช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศไทยเห็นว่าภารกิจนี้สำคัญจึงได้ลงนามเป็นภาคีในความตกลงปารีสแสดงเจตจำนงที่จะร่วมลดก๊าซเรือนกระจกด้วย TGO จึงมีบทบาทสำคัญ เพราะถือเป็นองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่รณรงค์และสร้างกิจกรรมส่งเสริมเรื่องลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง TGO เรามีความคล่องตัวในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ส่งเสริมให้คนตระหนักและหันมาเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ผู้ผลิตมีจิตสำนึกที่ดีในการเลือกใช้กระบวนการผลิตที่ดี เลือกใช้พลังงานที่เหมาะสมทำให้เขารู้สึกว่าเมื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วเหมือนได้รางวัล รู้สึกสนุกและมีประโยชน์โดยไม่ใช่การบังคับ เราพยายามทำให้เขาเห็นคุณค่าว่า สิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่แค่เม็ดเงิน แต่เป็นความมุ่งมั่นหรือความดี ซึ่งควรทำและมีส่วนรับผิดชอบต่อโลก ความดีมันดีในตัว ไม่จำเป็นต้องขายความดีออกไปก็ได้ ความดีในการลดก๊าซเรือนกระจกนี้จะเรียกย่อๆ ว่า “carbon credit”

“หน้าหนาวเหลือไม่กี่วัน แล้วพอหน้าร้อนก็ร้อนมาก ร้อนกว่าร้อนปกติธรรมดา เกิดภัยแล้งยาว พอฝนตกก็ตกจนน้ำท่วมเลยเวลาแห้งก็ไม่มีน้ำซึ่งยังมีคนที่อาจไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแบบนี้ที่จริงเพราะก๊าซเรือนกระจก”

กลยุทธ์ 3’E ขับเคลื่อน TGO 4.0

เกียรติชาย: กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ในการผลักดันการทำงานของ TGO ที่ผมวางไว้คือ 3’E

E ที่ 1 Explore คือเราต้องสำรวจกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่ไม่รู้เรื่องนี้สำรวจว่ามีสิ่งไหนที่เขาไม่รู้ไม่เข้าใจ และพยายามทำให้เขาตระหนักถึงภัยของก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ ยกตัวอย่าง วันนี้อากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ อุณหภูมิสูงสุดของโลกและของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนวันที่ร้อนก็มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย จะเห็นว่าหน้าหนาวเหลือไม่กี่วัน แล้วพอหน้าร้อนก็ร้อนมาก ร้อนกว่าร้อนปกติธรรมดา เกิดภัยแล้งยาว พอฝนตกก็ตกจนน้ำท่วมเลย เวลาแห้งก็ไม่มีน้ำ ซึ่งยังมีคนที่อาจไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแบบนี้ที่จริงเพราะก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้นเราจะนั่งอยู่กับที่ไม่ได้แต่ต้องลงพื้นที่สำรวจเหมือนการสำรวจตลาดเพื่อเข้าใจกลุ่มเป้าหมายว่าเขายังไม่เข้าใจตรงไหน และหาวิธีทดลองว่าจะทำให้เขาเข้าใจได้อย่างไร หรือสำรวจดูในต่างประเทศเรียนรู้ว่าเขาทำอะไรกันอยู่ก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว ที่สำคัญคือการแสวงความร่วมมือหรือพันธมิตรกับองค์กรต่างๆ เราจะสนับสนุนให้บุคลากรของเราสำรวจและทดลองทำสิ่งใหม่ๆ โดยไม่กลัวความผิดพลาด ถ้าไม่สำเร็จก็เรียนรู้แล้วทำต่อ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

E ที่ 2 Expertise คือเราต้องสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ โดยการสร้างองค์ความรู้ของ TGO ถ่ายทอดความรู้ และจัดความรู้ให้เป็นระบบหรือแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาคนของเราให้มีความสามารถ เป็นผู้รู้จริงและน่าเชื่อถือในด้านต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกระบวนการประเมินตรวจสอบการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้บริการแก่หน่วยงานราชการและสาธารณชน ดังนั้นเราถือว่าคนคือทรัพยากรสำคัญต้องสร้างให้เป็นผู้เชี่ยวชาญและให้ TGO มีexpertise มีความรู้และนวัตกรรมเป็นทรัพย์สินทางปัญญาให้คนอื่นมาเรียนรู้ นี่เป็นการสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน

E ที่ 3 Execution คือการทำโครงการร่วมกับคนอื่นๆ นั้นต้องทำให้ง่าย มีคู่มือแพลตฟอร์มไกด์ไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างง่ายๆ ให้เขาเข้ามาร่วมโครงการด้วยต้นทุนไม่สูงเรียกว่า execution as a partner ไม่ใช่ regulator คือเราไม่ใช่ผู้คุม แต่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกันเราต้องมี service mind และเป็น one stop service เปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจในการจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก

สรุปแล้ว 3’E Explore Expertise และ Execution คือหัวใจของทุกๆ งานที่เราจะนำไปใช้ในภารกิจต่างๆ ของเรา

ส่งเสริมทุกภาคส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจก

เกียรติชาย: ภารกิจของเรามีหลายเรื่อง หนึ่ง คือการสื่อสารและเผยแพร่ภัยพิบัติของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากก๊าซเรือนกระจกว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรมีผลกระทบอย่างไร รวมไปถึงการให้คำแนะนำกลยุทธ์ในการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ จากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบต่างๆ

สอง สร้างโครงการให้คนอยากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างโปรโมชั่นแพ็กเกจสำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่การจดทะเบียนโครงการ การประเมินศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกหรือการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก การออกใบรับรองหรือ certificate ที่มีมาตรฐานเทียบเคียงกับระดับโลก สามารถนำไปค้าขายหรือใช้ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตในระบบของนานาชาติ เราต้องทำให้รู้สึกว่าการได้รับใบรับรองนี้มีคุณค่า เรากำลังทำส่วนนี้ให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เข้าถึงได้ง่ายขึ้นเหมือนใบอนุโมทนาบัตรแสดงถึงความดีที่เขาได้ช่วยโลกและเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจก

สาม ส่งเสริมเรื่องฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์หรือฉลากมาตรฐานอื่นที่คล้ายๆ กันไม่ว่าจะในรูปแบบไหน มีการประเมินและให้ฉลากคาร์บอนกับสินค้า แล้วก็ประชาสัมพันธ์ให้ด้วย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ลดก๊าซเรือนกระจก ทำให้ผู้ผลิตรู้สึกว่าถ้าสินค้าของเขาได้ฉลากคาร์บอนจะเป็นเรื่องน่าภูมิใจ

สี่ เราเป็น Aacademy ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลุ่มงานนี้จะเป็นการกระจายชุมชนที่ต้องการลดปัญหาโลกร้อนให้ใหญ่โตขึ้น ทำหน้าที่เสริมสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ตระหนักว่าเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นความรับผิดชอบของผู้นำ โดยเราจะจัดหลักสูตร Leadership for Sustainability through Climate Action เพื่อให้ความรู้เรื่องความยั่งยืนคู่กับ Climate Action แก่ผู้นำองค์กรในระดับผู้บริหาร รวมทั้งวิธีการ กระบวนการวัด รายงาน และประเมิน/รับรอง ในกรณีต่างๆ

นอกจากภารกิจหลักๆ เหล่านี้เรายังเป็นผู้ช่วยเลขานุการของกรรมการนโยบายคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่อง Climate Change ในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน เกษตรการจัดการของเสียอุตสาหกรรมเราทำหน้าที่ทั้งในเชิงนโยบายระดับประเทศและการเจรจาระหว่างประเทศในสหประชาชาติ

ทุกเรื่องเราต้องใส่ 3’E เข้าไป ตั้งแต่ Exploration ทำงานเชิงรุก ไม่ใช่นั่งอยู่เฉยๆ เป็น Expert ต้องรู้จริงมีวิชาการที่ถูกต้อง และสุดท้ายต้อง ExcutionExecution as a partner มีใจโอบอ้อม ช่วยเหลือกันอย่างจริงใจ

ตีกรอบ กระชับกลุ่มเป้าหมาย TGO

เกียรติชาย: กลุ่มเป้าหมายของเราแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจ กลุ่มเมือง เทศบาลและจังหวัด และกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด คือถ้าผู้บริโภคซื้อของหรือเลือกใช้สินค้าแบบไหนก็จะส่งผลต่อการผลิตของกลุ่มธุรกิจ ระบบการผลิตจะทำตามความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ ซึ่งระบบการผลิตเป็นผู้ปล่อยคาร์บอน หากผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าที่โลว์คาร์บอน หรือถ้าสังคมเปลี่ยนมาเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ผู้ผลิตที่ปล่อยคาร์บอนมากก็จะขายสินค้าไม่ได้ เขาก็ต้องเปลี่ยนวิธีผลิตและเลือกใช้พลังงานใหม่
ส่วนกลุ่มเมืองมีหน้าที่ดำเนินงานตามนโยบายสาธารณะ ดูแลขยะ ระบบไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชน ออกนโยบายที่ส่งเสริมให้คนใช้ชีวิตแบบลดคาร์บอน เช่น การทำให้เมืองน่าอยู่ มีระบบขนส่งสาธารณะดี รถไม่ติด ก็ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ดังนั้นผู้บริหารเมืองจะมีผลต่อทั้งสามกลุ่ม

มุ่งขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นผลสำเร็จ

เกียรติชาย: เรามีฉลากลดโลกร้อนให้กับสินค้าที่ Low Carbon หรือ Carbon Footprint Reduction เพื่อผลักดันให้สินค้าคาร์บอนต่ำเป็นที่นิยมและสร้างจิตสำนึกของกลุ่มผู้บริโภค แต่อาจยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งเราต้องผลักดันต่อ เทียบได้กับฉลากประหยัดไฟเบอร์ห้าซึ่งให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟน้อย ซึ่งอุปกรณ์ที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ห้าก็ถือว่าช่วยลดโลกร้อน เพราะการผลิตไฟฟ้าต้องใช้พลังงานทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

ส่วนกลุ่มผู้ผลิตเรามีโครงการ Thailand Voluntary Emission Reduction Programหรือ T-VER เป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ โดย TGO จะเข้าไปช่วยประเมินคาร์บอนในโครงการที่ใช้พลังงานทางเลือกเพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ หรือพลังงานจากชีวภาพ เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล เพราะเป็นแหล่งพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือถ้าเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินมาเป็นก๊าซธรรมชาติก็ถือว่าปล่อยคาร์บอนน้อยลงเช่นกัน ตอนนี้มีจำนวนหลายร้อยโครงการที่เข้ามาขึ้นทะเบียนกับ T-VER ไว้แล้ว 5 ล้านตัน และเราประเมินเสร็จแล้ว 3 ล้านตัน

ในกลุ่มเมืองเราทำงานร่วมกับเทศบาลใน 17 จังหวัด เข้าไปช่วยดูเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการจัดการขยะและไฟฟ้า จัดแข่งขันว่าจังหวัดไหนจะเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้น สำหรับกลุ่มนี้เรายังต้องขับเคลื่อนกันอีกมาก

นอกจากนี้ผมคิดว่าประเทศไทยน่าจะจัดประชุมใหญ่เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้ภาครัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทั้งภาคเกษตร ภาคพลังงาน ภาคเมือง ภาคเอกชน ภาครัฐ ร่วมกันสร้างเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่จะทำให้สำเร็จ ผลักดันให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทย ให้ทำดีเรื่องนี้ จะได้รับการยกย่องในระดับประเทศ เป็นเรื่องที่ประเทศให้ความสำคัญ ผู้มีส่วนร่วมก็จะภูมิใจ ไม่ใช่แค่ทำกำไรไปวันๆ

สื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจก

เกียรติชาย: วันนี้คงต้องอาศัยสื่อออนไลน์โซเชียลมีเดียในการเล่าเรื่อง สร้างคลิปวิดีโอ จัดหลักสูตรอบรม เพื่อสื่อสารเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านช่องทางต่างๆ ให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต้องทำแบบเชิงรุกผนวกกับการหาพันธมิตรที่สามารถทำงานร่วมกันได้
เรื่องการสื่อสารสำคัญมากวันนี้คนอาจยังไม่ตระหนักถึงปัญหา เหมือนกับสำนวนว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา แต่จริงๆ เราเห็นผลกระทบแล้วทุกวันนี้อากาศร้อนขึ้นมาก ทั้งเรื่องภัยแล้ง โรคระบาด ภัยพิบัติจากน้ำท่วม พายุหมุน กระแสน้ำเย็นกระแสน้ำอุ่นที่แปลกประหลาด ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้จริง ๆ ใกล้ตัวเราทุกวัน แต่คนไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร ดังนั้นเราต้องการวิธีดีๆ ในการเล่าเรื่องและสื่อสารออกไปมากขึ้น ต้องเอาความจริงทางวิทยาศาสตร์มาเล่าให้เข้าใจง่ายต้องเอาคำยากๆ มาแปลงให้เด็กเข้าใจ ผมอยากทำวอร์รูมติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และให้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่เด็กๆ หรือผู้สนใจมาเยี่ยมชมได้

แต่ผู้มีอิทธิพลที่สุดในการเปลี่ยนแปลง คือผู้นำของกลุ่มธุรกิจ ถ้าผู้นำกลุ่มธุรกิจมีจิตสำนึกตรงนี้ขึ้นมาจะเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายที่นำไปสู่การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และถ้าฝั่งประชาชนตระหนักว่าจะไม่ซื้อสินค้าที่เป็นภัยต่อโลก เห็นว่าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันตราย แล้วเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นได้ก็จะเป็นกระแสที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเหมือนกับกระแสเรื่องสุขภาพ คนตระหนักว่าการลดความอ้วนเป็นเรื่องดีก็กินน้อยลง ผมอยากให้คนเห็นก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นอันตรายเหมือนคอเรสเตอรอล เบาหวาน ไขมันหรือความดันที่ทำให้เราต้องลดความอ้วน

วันนี้เรายังประมาท ไม่เห็นภัยพิบัติที่กำลังใกล้เข้ามา ปัญหาที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากๆ มาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ไฟไหม้ป่าที่ทำลายป่าซึ่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แล้วผลิตออกซิเจนให้เรา ปัญหาอีกอย่างคือการผลิตที่มากเกินความจำเป็นแล้วกลายเป็นของเสีย เช่น food waste ที่จริงควรผลิตให้พอดีแล้วไม่เหลือ ไม่ต้องมากำจัด เราต้องใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อให้เกิดกระบวนการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งพลังงาน น้ำ และทรัพยากรต่างๆ เพราะถ้าทรัพยากรหมดไปเราจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งอันตรายมากถ้าเรายังไม่มีจิตสำนึกในเรื่องเหล่านี้

เราต้องรณรงค์เรื่องทั้งหมดนี้อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับทุกกรมในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับทุกองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

“I AM TGO” คือ ค่านิยมองค์กรเพื่อพัฒนาคนและกระบวนการทำงานโลกยุคดิจิทัล

เกียรติชาย: ผมคิดว่าเราต้องมีค่านิยมใหม่ให้บุคลากรขององค์การยึดถือ ผมใช้คำว่า I AM TGO คำว่า I มาจาก Innovation คือการสร้างนวัตกรรม ส่วน AM มาจาก A- Agility คือการปรับตัวอย่างรวดเร็ว มีความคล่องตัวและ M- Mobility คือเปลี่ยนแปลงได้ และต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย

ส่วน TGO มาจาก T – Trusted คือบุคลากรของเราต้องมีความน่าเชื่อถือ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์ และไม่ทุจริตทุกคนเป็นตัวแทนขององค์การตั้งแต่คนที่นั่งหน้าประตู

G-Global เราเป็นหน่วยงานที่ทำงานในระดับนานาชาติต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศ สื่อสารเจรจาต่อรอง สร้างพลังความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพราะฉะนั้นองค์กรเราต้องมีทักษะทางภาษาพร้อมที่จะทำงานระดับนานาชาติ

สุดท้าย O-Openness คือเราต้องโปร่งใสต้องสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างจริงใจ

ความจริงมีความดีหลายเรื่องที่น่าจะนำมาเป็นค่านิยม แต่เมื่อจับคู่กับคำว่า TGO ผมจึงเลือกให้จำง่ายและเข้ากับคนของเราเป็น I AM TGO
โดยสรุปคือเราต้องพัฒนาระบบขององค์การและกระบวนการทำงานในแบบ new normal ให้สอดคล้องกับการเว้นระยะห่างทางสังคมในยุคหลังโควิด โดยเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานต่างๆ ให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น ใช้ซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์ม และกระบวนการใหม่ๆ มาช่วย และเป็นศูนย์ข้อมูลให้ประชาชนจากจังหวัดต่างๆ ติดต่อเข้ามาผ่านเครือข่ายออนไลน์ สามารถอธิบายและคุยงานกันได้เป็นระบบงานที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการเดินทาง ลดการปล่อยของเสียและพลังงานตามแนวทางของสังคมคาร์บอนต่ำ

คิดว่า 4 ปีนี้น่าจะเป็น 4 ปีที่ท้าทายในการทำงานของผม เป็นงานที่น่าสนุกตื่นเต้นมาก ผมตั้งใจจะทำให้สำเร็จ

ชีวิตวิถี Low carbon คือ ใช้ชีวิตอย่างพอดี

เกียรติชาย: โดยส่วนตัวผมเชื่อในแนวทางของอาจารย์โจน จันได และอาจารย์ยักษ์ คือคนเราต้องใช้ชีวิตอย่างพอดี ลดการพึ่งพาภายนอกผมอยู่ในวัยเกษียณแล้ว มีที่ดินอยู่ก็ปลูกต้นไม้ไว้ทุกประเภท ทำนาปลูกข้าว ทำระบบน้ำ คลองไส้ไก่ โคกหนองนา ผมได้ความรู้จากการไปอบรมกับอาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ได้ทดลองว่าวันหนึ่งๆ เรากินผักนอนง่ายๆทำงานในแปลงเกษตร เราอยู่ได้กินแบบนี้ได้ทำงานทุกวันก็ได้ออกกำลังกาย สุขภาพดีด้วย ผมพยายามสร้างความมั่นคงของชีวิตจากฐานทรัพยากร ทั้งฐานน้ำ ดิน อากาศ ต้นไม้ อาหาร สิ่งเหล่านี้จะอยู่กับเราไปนาน เป็นวิถีที่ผมคิดว่ายั่งยืนที่สุด

ผมคิดว่าทุกๆ วันต้องมีความสุข คือพอใจในสิ่งที่มี + สิ่งที่เป็น ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามความสามารถ อยู่ได้เมื่อเกิดวิกฤต ไม่ต้องพึ่งเงิน ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน พัฒนาความสามารถของเราให้เพิ่มขึ้น คิดดีไม่เบียดเบียนใคร อยู่ด้วยการพอใจกับทุกวัน นี่คือปรัชญาของผม