การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ ๖๖ ล้านปีก่อน เป็นคำถามที่คนมากมายสนใจว่าเกิดอะไรขึ้น
หลักฐานที่พบถึงปัจจุบันค่อนข้างบ่งชี้ว่า เพราะอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่ตกใส่โลก รวมทั้งอาจผสมโรงด้วยการระเบิดของภูเขาไฟครั้งใหญ่
แต่ไม่ใช่ว่าแรงระเบิดของอุกกาบาตจะฆ่าล้างไดโนเสาร์ตายหมดทันทีทันควัน แบบทหารโดนระเบิดกลางสงคราม
มหันตภัยจากอุกกาบาตคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกหลังจากนั้นต่างหาก
เมื่อทั้งโลกถูกปกคลุมด้วยฝุ่นเมฆจากแรงกระแทกของอุกกาบาตและจากภูเขาไฟ แสงอาทิตย์ถูกบดบังยาวนานจนสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทยอยตายลง ตั้งแต่พืชที่ต้องการแสงอาทิตย์ แล้วส่งต่อความตายเป็นทอด ๆ ถึงสัตว์กินพืช สัตว์กินสัตว์
ในที่สุดไดโนเสาร์ที่ครองโลกก็สูญพันธุ์
แต่ไม่หมดเสียทีเดียว ยังเหลือเผ่าพันธุ์กลุ่มหนึ่งรอดมาได้ และสืบลูกหลานมาถึงปัจจุบันอย่างหลากหลาย
พวกเรารู้จักทายาทไดโนเสาร์ดี เพราะมันคือนก
ยังไม่มีคำอธิบายว่าทำไมนกถึงรอดชีวิตจากช่วงล้างเผ่าพันธุ์เมื่อ ๖๖ ล้านปีนั้น
อาจเพราะมีขนและบินได้หรือไม่ ? ขณะที่ไดโนเสาร์อื่น ๆ เป็นพวกเดินบก แม้จะมีเกราะเกล็ด กรงเล็บ เขาแหลม ขนาดใหญ่ถึงเล็กจิ๋ว ต่างก็ไม่รอดสักรายเดียว
เรื่องวิวัฒนาการเคยมีคำอธิบายประมาณว่า สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ถึงอยู่รอดต่อ แต่กรณีนก ไดโนเสาร์ กับอุกกาบาต เราจะอธิบายว่าอย่างไร
หลักฐานมีว่า ไดโนเสาร์บินได้วิวัฒนาการขึ้นมานานก่อนหน้าเหตุอุกกาบาตแล้ว ไม่ใช่จู่ ๆ มาปรับตัวบินได้ทีหลัง
พวกมันบางชนิดรอดชีวิตมาได้ด้วยศักยภาพบางอย่าง แต่หลายชนิดก็สูญพันธุ์ไปในครั้งนั้นเช่นกัน
คำถามจึงมีว่า เพราะมาปรับตัวหลังการเปลี่ยนแปลง หรือมีต้นทุนสะสมบางอย่างมาก่อนแล้วที่ช่วยให้รอด ?
ย้อนกลับไปดูกำเนิดของสัตว์เลื้อยคลานบรรพบุรุษของไดโนเสาร์ ก็เกิดขึ้นหลังการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งบนโลก ซึ่งเป็นเหตุการณ์เมื่อ ๒๕๐ ล้านปีก่อน จากต้นเหตุคือการระเบิดของภูเขาไฟที่ปล่อยควันคาร์บอนจนโลกร้อน
สัตว์กว่าสามในสี่บนบกไม่รอด รวมทั้งบรรพบุรุษส่วนใหญ่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและแมลง
ฉากนรกของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่นี้กลับเปิดพื้นที่ใหม่ให้บรรพบุรุษของสัตว์เลื้อยคลานได้แพร่หลาย จนต่อมามีสัตว์เลื้อยคลานบางชนิดปรับตัวให้กระดูกสะโพกกับกระดูกสันหลังเชื่อมต่อกันเป็นพิเศษ ช่วยให้มันยืนสองขายกตัวตั้งขึ้นได้
ไม่เหมือนสัตว์เลื้อยคลานที่ขาแบะออกข้างตัวราบกับพื้น เป็นต้นตระกูลของไดโนเสาร์ซึ่งเคลื่อนที่ว่องไวปราดเปรียวกว่าสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ
ในที่สุดเมื่อโอกาสมาถึง ไดโนเสาร์ก็แพร่พันธุ์ไปทั่วโลก และวิวัฒนาการหลากหลายอยู่นานถึงกว่า ๑๕๐ ล้านปี
จากบรรพบุรุษไดโนเสาร์ตัวเล็กกลายเป็นไดโนเสาร์หลากหลายขนาดและรูปร่าง ทั้งพวกหัวเล็กยืนสี่ขาคอยาวเฟื้อยกินพืช พวกหัวโตยืนสองขากินเนื้อ และพวกไดโนเสาร์มีขนบินได้
กำเนิดและความสำเร็จของไดโนเสาร์จึงอาศัยทั้งโอกาสและการปรับตัวหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ถึงอย่างนั้นพวกมันก็ไม่อาจต้านทานการเปลี่ยนแปลงในยุคหลังสุด ความสำเร็จในอดีตก็ไม่อาจการันตีความอยู่รอดในสถานการณ์อุบัติใหม่
แต่เพราะการเปิดโอกาสและพื้นที่ให้กับความหลากหลายของเผ่าพันธุ์ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบดั้งเดิม หรือผูกขาดไว้กับรูปแบบใดแบบเดียว ทำให้อย่างน้อยมีพวกมันกลุ่มหนึ่งรอดมาได้
เอาเข้าจริงไดโนเสาร์คงไม่รู้หรอกว่ามันจะกระจายพันธุ์ได้มากมายและยาวนานแค่ไหน นกก็คงไม่รู้ตัวหรอกว่ามันจะกลายเป็นผู้ยืนยงจนได้เห็นยุคมนุษย์ครองโลก
ตอนนี้การกระทำของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคอุบัติใหม่นานาชนิด รวมทั้งโควิด-๑๙ (และโรคอื่น ๆ ที่อาจตามมาอีก) กำลังเป็นเสมือนอุกกาบาตที่ตกใส่โลก เช่นเดียวกับอุกกาบาตที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ สิ่งน่ากลัวไม่ใช่ตัวอุกกาบาตเอง แต่เป็นความล่มสลายของความหลากหลายในระบบนิเวศ และสำหรับมนุษย์อาจรวมถึงระบบวัฒนธรรมและสังคมที่เคารพในความหลากหลาย
ใครจะรู้ การสูญพันธุ์ครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุคนี้ มนุษย์อาจไม่รอดเหมือนไดโนเสาร์
คำดูถูกอะไรที่ล้าหลังตกยุคว่า “ไดโนเสาร์” อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสียแล้ว เพราะไดโนเสาร์ยังไม่ได้สูญพันธุ์
และเป็นไปได้ที่ลูกหลานของพวกมันในอนาคตจะมีคำเสียดสีว่า “ไอ้มนุษย์” แทน
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com