แดนหิมพานต์ยังเป็นถิ่นพำนักของเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือ “ปัจเจกโพธิ” ด้วย
พระปัจเจกพุทธเจ้าคือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วมิได้ทรงสั่งสอนผู้ใดอีก
ขัคควิสาณสูตร อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อุรควรรค” ในพระไตรปิฎก อุปมาอาการ “รู้แต่พูดไม่ออก” นี้ไว้อย่างงดงามว่า
“พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสรู้เอง แต่ไม่อาจสอนให้คนเหล่าอื่นรู้…การบรรลุธรรมย่อมมีแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น เหมือนความฝันที่คนใบ้ฝัน และเหมือนกับรสแห่งกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมืองฉะนั้น”
ในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ บนผนังระหว่างหน้าต่าง เขียนภาพพุทธประวัติของพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้หลายพระองค์ เรื่องราวส่วนมากคล้ายคลึงกัน คือโดยมากเป็นพระราชา แต่แล้วเกิดเหตุสะกิดใจอะไรบางอย่าง ทำให้เกิดเบื่อหน่ายโลก บางองค์ก็ “สว่างวาบ” ตรัสรู้ขึ้นมา ณ ขณะนั้นเอง เช่นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เดิมเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสี เมื่อเติบใหญ่เป็นหนุ่มขึ้นมา พระบิดาจะจับแต่งงาน แต่เจ้าชายไม่ต้องการ จึงออกอุบายให้ช่างหล่อรูปนางงามด้วยทองคำขึ้นรูปหนึ่ง แล้วประกาศตั้งเงื่อนไขว่าพระองค์ต้องได้นางผู้มีรูปโฉมงดงามระดับนี้เท่านั้นจึงจะยอมอภิเษกด้วย พระบิดาจึงให้อำมาตย์จัดขบวนแห่รูปนั้นตระเวนไปตามเมืองต่างๆ ไปถึงที่ใดก็ให้ปลูกโรงตั้งรูปนั้นไว้ แล้วรอสดับรับฟังเสียงคนพูดจากัน ผ่านไปหลายเมืองก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
จนเมื่อไปถึงเมืองสาคะละนคร ทีมอำมาตย์จากพาราณสีก็ทำตามเคย ปลูกโรงปะรำไว้ที่ท่าน้ำอันเป็นย่านที่จะมีคนผ่านไปมามาก ตกแต่งประดับประดาด้วยดอกไม้ต่างๆ เสร็จแล้วเอารูปทองขึ้นตั้งไว้ ปรากฏว่าเมื่อนางกำนัลของพระธิดาเดินผ่านมาก็ร้องทักขึ้นด้วยความตกใจว่า “พระแม่เจ้า! มาประทับอยู่ที่ท่าน้ำทำไมกัน?” แต่ครั้นพอเดินเข้ามาใกล้ๆ จึงรู้ว่าเป็นแค่ประติมากรรม จึงหันไปพยักเพยิดกันเองว่า “โถ่เอ๋ย! พระแม่เจ้าของเรางามกว่านี้เป็นไหนๆ” พออำมาตย์จากพาราณสีได้ยินดังนั้นจึงขอเข้าเฝ้าพระราชาแห่งสาคะละนครทันที พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายรูปทองคำ และทูลขอพระราชบุตรี ก็ได้รับพระราชทานตามประสงค์
ครั้นพออัญเชิญพระนางมาถึงเมืองพาราณสีแล้ว ก็รับไปพักคอยไว้ก่อน ณ พระราชอุทยาน ยังไม่ทันไร ปรากฏว่าพระราชธิดาจากสาคะละนครก็กลับประชวรสิ้นพระชนม์ลง เจ้าชายได้ทราบเรื่องเข้าเกิดมีพระทัยสลดสังเวช ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทันที จึงเหาะไปสู่เงื้อมเขานันทมูลตามพุทธประเพณี
หน้าผา “นันทมูล” อยู่ในเขตเขาคันธมาทน์ หนึ่งในห้าเทือกเขาที่แวดล้อมสระอโนดาต ตามธรรมเนียม เมื่อมีพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ใหม่เข้ามาสู่พื้นที่ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็จะเสด็จมาต้อนรับ พร้อมกับซักถามที่มาที่ไป ว่ามีประวัติความเป็นมาแห่งการตรัสรู้เช่นไร จากนั้นจึงร่วมกันอนุโมทนา
ส่วนในวันอุโบสถ ทุกองค์ก็จะมาร่วม “ลงโบสถ์” ด้วยกัน ณ “โรงรัตนะ” ศาลาใหญ่ที่พำนักของพระปัจเจกโพธิ ทว่าเมื่อมาอยู่ในเขตป่าดงพงพีเช่นนั้น ผู้ที่จะมาดูแลเป็นโยมอุปัฏฐากจึงได้แก่บรรดาช้างในป่าหิมพานต์ ดังที่แสดงไว้ในภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านตรงข้ามพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯ ก็มีภาพช้างหลากสีสันช่วยกันหาผลหมากรากไม้มาถวาย บ้างก็ก่อกองไฟผิงให้ความอบอุ่นแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า โดยใช้งวงจับเอาท่อนไม้ไผ่มาเสียดสีกันให้ลุกเป็นไฟ
ศิลาจารึกรุ่นรัชกาลที่ ๓ ซึ่งผนึกติดอยู่ใต้ภาพ บรรยายว่า
“ในเฃาคันธมาทนั้นมีเงื้อมแห่งหนึ่งชื่อนันทมูละกะ มีถ้ำแก้วถ้ำทองถ้ำเงินอยู่ในเฃานั้น ที่ประตูถ้ำแก้วมีไม้อุโลกย์ต้นหนึ่งสูงได้โยชน์หนึ่ง เปนที่ประชุมพระปัจเจกโพธิในวันอุโบสถและวันอันพระปัจเจกโพธิได้ตรัสใหม่ก็ไปสู่ที่นั้นทุกๆ พระองค์ อนึ่งช้างตระกูลฉัตทันต์ทังปวงอันอยู่ในแว่นแคว้นฉัตทันต์สระนั้นย่อมปนิบัดิพระปัจเจกโพธิจ้าวเปนนิจ์”
รูปลักษณ์ของพระปัจเจกพุทธเจ้าตามคัมภีร์คือ มีพระเกษาและพระมัสสุประมาณ ๒ องคุลี ราวกับพระเถระมีพรรษา ๑๐๐ พรรษา ประกอบพร้อมด้วยบริขาร ๘ ซึ่งในจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ก็วาดให้เป็นเหมือนพระภิกษุ พระเศียรโล้น แต่ปิดทองพระวรกายเหมือนกับภาพเขียนพระพุทธเจ้าที่พบเห็นทั่วไป