วัยขบถ
จากบรรณาธิการ สารคดี ฉบับที่ 426
ใครเป็นผู้ใหญ่ ยังจำชีวิตช่วงวัยรุ่นของตนได้ไหมว่าสนุกหรือบ้ากันขนาดไหน
อารมณ์อันพลุ่งพล่าน กลุ่มเพื่อนที่ร่วมผจญภัยทำอะไรเสี่ยง ๆ ไปด้วยกัน ความรู้สึกอยากต่อต้านผู้ใหญ่และกรอบประเพณีของสังคม
แต่หลายคนก็รู้สึกสับสนกับชีวิต และตั้งคำถามว่า ฉันมาอยู่ตรงนี้ทำไม และจะไปไหนต่อ
คำอธิบายความวุ่นวายของช่วงวัยรุ่นที่เรามักได้ยินหรือพูดกันเสมอ ๆ คือ เพราะฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง หรือเพราะวัยรุ่นยังไม่โตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าโตแล้วก็จะหายเอง
แต่ในหนังสือ Brainstorm เขียนโดยแพทย์สาขาจิตเวชศาสตร์ Daniel J. Siegal (แปลเป็นฉบับภาษาไทยชื่อ เปิดสมองวัยว้าวุ่น จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี) บอกว่าคำอธิบายพวกนั้นเป็นความเชื่อผิด ๆ ต้นเหตุแท้จริงคือเพราะความเปลี่ยนแปลงของสมองในช่วงวัยรุ่นต่างหาก
คุณหมอแดเนียลบอกว่าสมองในช่วงวัยรุ่นนั้นจะหลั่งสารชนิดหนึ่งเพิ่มมากขึ้น คือโดพามีน (dopamine) สารนี้ทำให้วัยรุ่นชอบประสบการณ์ที่ตื่นเต้น และถ้าได้ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ก็จะพึงพอใจ แต่ถ้าไม่ได้ทำระดับโดพามีนจะต่ำและรู้สึกเบื่อ กลายเป็นวงจรป้อนกลับหรือแรงผลักดันให้อยากทดลองประสบการณ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ และสมองก็จะหลั่งโดพามีนออกมาตอบสนองมากขึ้น
เรียกว่าสมองวัยรุ่นเสพติดโดพามีนก็ได้ การเปลี่ยนแปลงของสมองนี้ทำให้วัยรุ่นมีคุณสมบัติสี่อย่างที่น่าสนใจมาก ๆ คือ
หนึ่ง การแสวงหาสิ่งใหม่ พยายามลองทำสิ่งใหม่ ๆ ให้ชีวิตได้เติมเต็ม (ข้อเสียคืออาจตัดสินใจทำเรื่องเสี่ยง ๆ จนเป็นอันตราย เพราะให้น้ำหนักกับความตื่นเต้นมากกว่าผลที่ตามมา)
สอง การแสวงหาความสัมพันธ์ในสังคมกับเพื่อนฝูง สร้างมิตรภาพใหม่ ๆ (ข้อเสียคืออาจปฏิเสธผู้ใหญ่ คบหาแต่เพื่อนรุ่นเดียวกัน)
สาม อารมณ์ที่รุนแรง มีพลังงานและชีวิตชีวา (ข้อเสียคือความหุนหันพลันแล่น อารมณ์เสีย การตอบโต้อย่างสุดขั้ว)
สี่ การมีความคิดสร้างสรรค์ ตั้งคำถามกับสภาพปัจจุบัน แก้ไขปัญหาแบบนอกกรอบ มองโลกด้วยแนวคิดใหม่ ๆ (ข้อเสียคือความสับสน ขาดทิศทางและเป้าหมาย)
วัยรุ่นจึงมีทั้งความตื่นเต้นและความสับสน เพราะสมองวัยรุ่นอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างซึ่งมีทั้งการตัดแต่งใยประสาทและการต่อเชื่อมส่วนต่าง ๆ ในสมอง ซึ่งสมองกำลังเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับ และกำลังพัฒนาความสามารถใหม่ ๆ ขึ้นมา
ถามว่าสังคมต้องการพลังของวัยรุ่นหรือไม่ คุณสมบัติทั้งสี่ข้อนั้นไม่ใช่พลังสร้างสรรค์ที่ช่วยขับเคลื่อนโลก สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ก้าวหน้ามาตลอดเวลาหรอกหรือ
หมอแดเนียลตั้งข้อสังเกตน่าคิดไว้เสียด้วยว่า ที่ผู้ใหญ่ไม่อาจทนหรือไม่พอใจพฤติกรรมของวัยรุ่น ก็เพราะลึก ๆ แล้วผู้ใหญ่แอบโหยหาความมีชีวิตชีวาของวัยรุ่นที่ตัวเองสูญเสียไปหมดแล้ว
ในวัยผู้ใหญ่จะมีสักกี่คนที่จะมีเพื่อนใหม่ ๆ จะมีสักกี่คนที่กล้าคิดกล้าค้นหาสิ่งใหม่ ๆ
ผู้ใหญ่ติดกับสถานะที่ตนพึงพอใจ กิจวัตรเดิม ๆ สังคมเดิม ๆ พฤติกรรมเดิม ๆ และปรารถนาให้ทุกอย่างเหมือนเดิม
ขณะที่วัยรุ่นมีแรงผลักดันให้สร้างโลกใหม่ จึงเป็นความขัดแย้งที่อาจกลายเป็นความรุนแรงและความเจ็บปวด ขณะที่การพยายามขัดขวางวัยรุ่นด้วยคำสั่งห้ามโน่นนี่นั่นก็มักส่งผลเป็นปฏิกิริยาในทางลบ
แต่ถ้าผู้ใหญ่เรียนรู้จากคุณสมบัติที่ดีของวัยรุ่นก็อาจช่วยให้ชีวิตตนเองกลับมามีพลังเชิงสร้างสรรค์ ขณะที่วัยรุ่นเองก็มีสิ่งที่เรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่พร้อมแบ่งปันและสนับสนุนให้วัยรุ่นได้ก้าวเดินอย่างอิสระ
ทั้งผู้ใหญ่และวัยรุ่นจำเป็นต้องหาทางสื่อสารกันในฐานะหนึ่งในสมาชิกของสังคม เพื่อใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติที่ดีของแต่ละฝ่าย
สังคมต้องการการเปิดกว้าง การปิดกั้นตนเองออกจากอีกฝ่ายจะไม่เป็นประโยชน์อะไรกับใครเลย
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com