เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง, ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

ไม่มีลมหายใจในวันพรุ่ง ผู้พิทักษ์ป่า

d

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เกิดเหตุโศกสลดขึ้นกลางป่าใหญ่ กฤษฎา กาบบัว เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า ถูกพวกมอดไม้ลอบยิงเสียชีวิต

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากช่วงสาย เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าที่ วจ.๓ (ปางสังกะสี) ได้รับแจ้งว่ามีการลักลอบทำไม้ ขอให้เจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจสอบ จึงประสานหน่วยทหารชุด ร.๑๔ จังหวัดตาก และหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ตก. ๒๔ (วังเจ้า) ร่วมปฏิบัติการ

จุดเกิดเหตุอยู่ในเขตป่าสงวนป่าประดางก์-วังเจ้า เจ้าหน้าที่พบไม้กระยาเลย (ไม้แดง) ถูกโค่นและตัดเป็นท่อน มีบาร์เลื่อยโซ่ยนต์พร้อมอุปกรณ์ ขณะตรวจสอบได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ๒ นัด แต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย การตรวจยึดของกลางดำเนินต่อไป เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ตก. ๒๔ (วังเจ้า) กรมป่าไม้ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนนำของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.วังเจ้า เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

แต่หลังจากเจ้าหน้าที่ชุดต่างๆ แยกย้าย เกิดเหตุคนร้ายลอบยิงรถเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าที่ วจ.๓​ (ปางสังกะสี) ขณะเดินทางกลับหน่วย คมกระสุนปลิดชีวิต กฤษฎา กาบบัว ตำแหน่งบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับส่วนราชการ เสียชีวิตระหว่างทางขณะถูกเคลื่อนย้ายไปรักษาบาดแผล

หลังจับกุมคนร้ายรับสารภาพว่ายิงเพราะโกรธแค้นผู้พิทักษ์ป่าที่เข้ามาตรวจยึดไม้เถื่อนที่ลักลอบตัด

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้พิทักษ์ป่าต้องแลกชีวิตระหว่างปฏิบัติภารกิจรักษาผืนป่า

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ครอบครัวต้องสูญเสียผู้นำ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของผู้พิทักษ์ป่าที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ แม้รู้ดีอยู่แล้วว่าทุกย่างก้าวของพวกตนเพื่อปกป้องผืนป่านั้นเต็มไปด้วยอันตราย และอาจจะไม่มีลมหายใจหลงเหลือสำหรับวันพรุ่งนี้

สมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ (International Ranger Federation – IRF) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕ เพื่อสนับสนุนการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าระบุว่า ผู้พิทักษ์ป่า (ranger) เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการปกป้องและอนุรักษ์พื้นที่ป่า ตลอดจนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

การทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าต้องอาศัยความรู้ความสามารถหลายสาขาวิชา อาทิ วิทยาศาสตร์ ชีววิทยา ธรรมชาติวิทยา สิ่งแวดล้อม กฎหมาย ฯลฯ หนึ่งในคำจำกัดความที่น่าสนใจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า คือ “ผู้ทำหน้าที่ปกป้องมนุษย์ให้พ้นจากภัยธรรมชาติ และปกป้องธรรมชาติให้พ้นจากการทำลายของมนุษย์”

คำว่า ผู้พิทักษ์ป่า หรือ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อาจแบ่งออกเป็นผู้พิทักษ์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ (Park Ranger) ผู้พิทักษ์ป่าในผืนป่าของกรมป่าไม้ (Forest Ranger) ผู้พิทักษ์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Ranger) ในเมืองไทยโดยรวมหมายถึงเจ้าหน้าที่ทั้งข้าราชการประจำ ผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างเหมา และบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับส่วนราชการ ทั้งที่สังกัดกรมอุทยานเเห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง หน่วยไฟป่า สถานีวิจัยสัตว์ป่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า หน่วยจัดการต้นน้ำ ฯลฯ ซึ่งต่างปฎิบัติหน้าที่ในงานดูเเลรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่คนไทยหวงแหน

สมาพันธ์ผู้พิทักษ์ป่าระหว่างประเทศ (International Ranger Federation – IRF) รายงานสถิติการเสียชีวิตของผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลกช่วง ๑๐ ปี ระหว่างพ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๖๒ ว่ามีผู้พิทักษ์ป่าทั่วโลกเสียชีวิตรวม ๑,๐๓๘ คน ภูมิภาคที่มีการเสียชีวิตมากที่สุดคือ ทวีปเอเชีย ๕๐๒ คน รองลงมาคือ แอฟริกา ๓๘๑ คน อเมริกาเหนือ ๕๙ คน อเมริกาใต้ ๔๒ คน ยุโรป ๓๑ คน อเมริกากลาง ๑๔ คน และโอเชียเนีย ๙ คน

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันผู้พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๒ มีรายงานว่าเฉพาะปี พ.ศ.๒๕๖๑ มีผู้พิทักษ์ป่าเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ๑๔๙ คน สาเหตุของการเสียชีวิตแบ่งออกเป็นปะทะกับพวกลักลอบล่าสัตว์ ๔๕ คน เผชิญหน้ากับสัตว์ป่าซึ่งพวกเขาพยายามปกป้อง ๒๓ คน เจ็บป่วยจากโรคต่างๆ เช่น มาลาเรีย ๒๗ คน ประสบอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ๕๑ คน

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าภูมิภาคที่มีการเสียชีวิตของผู้พิทักษ์ป่าสูงคือภูมิภาคที่ยังมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติหลงเหลืออยู่มาก อย่างไรก็ตามสาเหตุการเสียชีวิตของผู้พิทักษ์ป่าแตกต่างกันไปตามแต่บริบทในแต่ละภูมิภาค

พลวีร์ บูชาเกียรติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ตัวแทนประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุม World Congress Ranger ครั้งที่ ๙ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ ที่อุทยานแห่งชาติจิตวัน เมืองซัวราฮา ประเทศเนปาล อันเป็นปีแรกที่ผู้พิทักษ์ป่าไทยเข้าร่วมการประชุมให้สัมภาษณ์มูลนิธิสืบนาคะเสถียรว่า การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าขึ้นอยู่กับบริบทและสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศ เช่น แอฟริกาสาเหตุเกิดจากการปะทะระหว่างผู้พิทักษ์ป่ากับพวกลักลอบล่าสัตว์ ประเทศไทยตามสถิติปีที่ผ่านมา มีจำนวนเจ้าหน้าที่เสียชีวิต ๑๓ คน สาเหตุเกิดจากการเข้าจับกลุ่ม ช้างทำร้าย โรคประจำตัว อุบัติเหตุเช่นการพลัดตกเขา ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมให้ผู้พิทักษ์ป่าสามารถเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ได้เมื่อปฏิบัติหน้าที่ สนับสนุนสวัสดิการ เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับทำงาน เทคโนโลยีที่ใช้ในการปฏิบัติงานของผู้พิทักษ์ป่า

หมายเหตุ  : บทความแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ กฤษฎา กาบบัว