คัมภีร์โลกศาสตร์ระบุว่าแดนชมพูทวีปแบ่งออกได้เป็นสามโซนใหญ่ๆ คือป่าหิมพานต์ ร้อยละ ๓๐ พื้นที่รกร้างน้ำทะเลท่วมถึงคิดเป็นร้อยละ ๔๐ ที่เหลืออีกร้อยละ ๓๐ คือเขตที่อยู่อาศัยของมนุษย์
ชมพูทวีปส่วนที่เป็นดินแดนมนุษย์นี้ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวถึงอย่างสั้นๆ ว่าแยกย่อยออกเป็นสองส่วน ได้แก่ “มัชฌิมประเทศ” อันเป็นใจกลางทวีป กับปริมณฑลโดยรอบ เรียกว่า “ปัจจันตประเทศ” พร้อมทั้งระบุแนวเส้นพรมแดนที่ใช้แบ่งเขต เช่นว่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ใช้แนวแม่น้ำสัลลวดี ทิศใต้กำหนดด้วยหมู่บ้านเสตกัณณิกะ ทิศเหนืออาศัยภูเขาอุสีรธชะ เป็นต้น
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑” ยกย่องว่ามัชฌิมประเทศเป็นสถานที่ “อันวิเศษ” เพราะเป็นแดนเกิดของบุคคลสำคัญมากมาย ได้แก่ “พระพุทธเจ้า พระปัจเจกโพธิ แลอัครสาวก พุทธอุปฐาก พุทธบิดา พุทธมารดา อสีติมหาสาวก และคฤหบดี พราหมณมหาศาล ผู้มีสมภารกุศลแท้ทรัพย์มาก คือท้าวพระยาจักรพรรตราธิราชเหล่านี้ ย่อมบังเกิดแต่ในมัชฌิมประเทศแห่งเดียวนี้”
นั่นคือทั้งพระพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิจะมาบังเกิดเฉพาะในเขตมัชฌิมประเทศของชมพูทวีปเท่านั้น ไม่เคยไปเกิดยังทวีปอื่นๆ รอบเขาพระสุเมรุ หรือแม้กระทั่งในจักรวาลอื่นๆ เลย
เขตมัชฌิมประเทศมีเมืองใหญ่ ๑๖ เมือง คัมภีร์เรียกว่า “โสฬสมหานคร” (โสฬส อ่านว่า โส-ลด แปลว่า ๑๖) ประกอบด้วยเมืองต่างๆ ซึ่งล้วนคุ้นหูคุ้นตากันดีจากเรื่องราวพุทธประวัติ
“ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” แจกแจงว่า ได้แก่ พาราณสี สาวัตถี ไพศาลี มิถิลา อาฬวี โกสัมพี อุชเชนี ตักกศิลา จัมปากะ สาคละ สุงสุมารคีรี ราชคฤห์ กบิลพัสดุ์ สาเกต มัททราษฎร์ และอินทปัตถะ
เมืองทั้งหมดนี้ตั้งล้อมรอบศูนย์กลางของมัชฌิมประเทศ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็เป็นจุดศูนย์กลางของชมพูทวีปด้วย นั่น คือ “รัตนบัลลังก์”หรือ “มหาโพธิบัลลังก์” สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ตำแหน่งตรงนั้นในบางคัมภีร์เรียกว่าเป็น “ท่ามกลางแผ่นดิน” บ้างก็เรียกว่า “ศีรษะปฐพี”
นี่จึงอาจเป็นคำอธิบายหนึ่งของคติการประดิษฐานพระพุทธรูปประธานในอุโบสถไว้เบื้องหน้าภาพจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ วิมานเทวดา และทวีปทั้งสี่
พระพุทธรูปประธานนั้น ตามคติส่วนใหญ่ที่พบมักแสดงปางตรัสรู้ คือปางมารวิชัย ประทับนั่ง พระหัตถ์ (มือ) ซ้ายอยู่เหนือพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาแสดงอาการชี้ลงยังแผ่นดินที่ด้านหน้าพระชงฆ์ (แข้ง)
นั่นก็คือการแสดงตำแหน่งแห่งที่ของ “ศีรษะปฐพี” หรือ “รัตนบัลลังก์” หรือ “มหาโพธิบัลลังก์” สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นใจกลางแห่งชมพูทวีป
โดยรอบมหาโพธิบัลลังก์ยังมีสถานที่สำคัญอีกหกแห่ง รวมมหาโพธิบัลลังก์ด้วยก็เท่ากับเจ็ดแห่ง มีคำเรียกโดยเฉพาะว่า “สัตตมหาสถาน” คือสถานที่สำคัญเจ็ดแห่งที่พระพุทธองค์ทรงประทับยับยั้งเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้ แห่งละ ๗ วัน รวม ๔๙ วัน หรือ ๗ สัปดาห์
สัปดาห์แรก ประทับใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ หรือมหาโพธิบัลลังก์
สัปดาห์ที่ ๒ อนิมิสเจดีย์ ทรงยืนทอดพระเนตรดูต้นมหาโพธิ์ โดยมิได้กะพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน
สัปดาห์ที่ ๓ รัตนจงกรมเจดีย์ ทรงเดินจงกรมอยู่ ๗ วัน
สัปดาห์ที่ ๔ รัตนฆรเจดีย์ ทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด ๗ วัน
สัปดาห์ที่ ๕ อชปาลนิโครธ เสด็จประทับใต้ร่มไทร อันเป็นที่พักของคนเลี้ยงแกะ
สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จไปประทับใต้ร่มต้นจิก หรือมุจลินท์
สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จไปประทับใต้ร่มต้นเกด หรือราชายตนะ
คตินิยมการจำลอง “สัตตมหาสถาน” มาสร้างไว้มีปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในล้านนาโบราณ เช่นวัดเจ็ดยอด หรือวัดโพธารามมหาวิหาร เมืองเชียงใหม่ ลงมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสัตตมหาสถานไว้ ณ เขตพุทธาวาสของวัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ รวมถึงยังพบว่ามีการเขียนเป็นจิตรกรรมฝาผนังด้วย เช่นภาพรุ่นกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี