เรื่อง : เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

เมื่อธรรมชาติไม่ใช่เรื่องปรุงแต่ง แต่เป็นเรื่องของธรรมชาติ

เช้าหลังสายฝนโปรยปรายที่ “Little Tree Garden” อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม กับสวนขนาด 4 ไร่ใกล้ริมแม่น้ำท่าจีน ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้หลายสายพันธุ์ในการจัดแต่งสวนสไตล์อังกฤษให้เป็นป่าขนาดย่อม ย่อไว้ในรูปแบบของความงามด้วยร่องรอยของสัจจะแห่งธรรมชาติ ทั้งเก้าอี้ผุพังเอนเอียงขึ้นสนิม ทั้งรูปปั้นหญิงสาวสีถลอกร่อนแต่ความอ่อนหวานยังฉายชัด รวมถึงคิวปิดตัวน้อยที่ปกคลุมด้วยตะไคร่เขียวกำลังปล่อยนกให้โบกบินไปอย่างเสรี

สวนทั้งสวนตรงหน้ากลายเป็นป่าด้วยตามรายทางนั้นมีไม้ต่างพันธุ์ดารดาษอยู่ทั่ว ทั้งไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก ไม้กอ และไม้เถาที่ทอดกิ่งระย้าระหว่างทางเดิน

ในยามหลังฝน สวนป่าแห่งนี้ชื้นชื่นใจจากหมู่มวลดอกไม้หอม ไม่ว่าจะเป็นดอกปีบ ดอกโมก มะลิลา จำปี หรือกระดังงา ผนวกด้วยสีสันของไม้ดอกนานาพรรณในแจกันบนโต๊ะอาหาร อย่างดอกดาวกระจาย บานชื่น เข็ม กุหลาบมอญ พวงชมพู ราชาวดี บานไม่รู้โรย คาโมมายล์ ที่นำมาตั้งแต่งแต้มไว้ตามฤดูกาลที่แต่ละพันธุ์ออกดอก

ถัดไปไม่ไกลนัก ไม้เลื้อยทั้งพันธุ์ไทยพันธุ์เทศเลื้อยชูใบขจีไปตามกิ่งก้านที่แผ่ขยายออกกว้างของไม้น้อยใหญ่ มีไผ่เอนไหวเสียดลำตามแรงลมประกอบฉาก

ณ ยามนั้นสายลมยังหอบกลิ่นแม่น้ำลอยมาให้สัมผัส เป็นขณะที่ “วิทย์-ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง” มาหยุดนิ่งอยู่ตรงหน้าพอดี ก่อนบอกเล่าเรื่องราวที่เขาเลือกจะ “ปล่อยมันไป”

เมื่อธรรมชาติไม่ใช่เรื่องปรุงแต่ง แต่เป็นเรื่องของธรรมชาติ

30 ปีเปลี่ยนไป

วิทย์เล่าว่า เมื่อ 30 ปีก่อนสถานที่แห่งนี้เป็นสวนกล้วยไม้แห่งแรกของนครปฐม เป็นกิจการที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวจากการขายดอกกล้วยไม้ ทว่าในสวนก็มีการใช้สารเคมีเพื่อดูแลผลผลิต แต่ภายหลังธรรมชาติไม่อาจทนให้เคมีแปลกปลอมทำลาย พี่สาวของวิทย์จึงเสนอให้พ่อเลิกกิจการค้ากล้วยไม้ หันมาปลูกพืชปลอดสารเคมี โดยเริ่มจากปลูกต้นไม้เล็กๆ ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นสวนไม้หลากพันธุ์ พร้อมเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และที่จัดกิจกรรมทางสังคม

ครั้นวัยเยาว์มาเยียวยา

วิทย์โตมาในบ้านสวนกับต้นไม้และธรรมชาติตั้งแต่เล็ก เขามักเห็นคุณพ่อปลูกต้นไม้อยู่บ่อยครั้ง จึงซึมซับสิ่งนี้ไปโดยไม่รู้ตัว กระทั่งต้นไม้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ และปัจจุบันเขาก็มีอาชีพเป็นนักจัดแต่งสวนชื่อดัง ทั้งพี่สาวสองคนของเขาก็หลงรักต้นไม้และธรรมชาติไม่แพ้กัน

“สมัยวิทย์เด็กๆ ช่วงมัธยม ต้องเข้าไปเรียนหนังสือในเมืองกับพี่ๆ ที่บ้านคุณยาย วิทย์รู้สึกว่าเราโหยหาบางอย่าง เพราะห่างบ้านไปอยู่ในเมือง แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ที่ของเรา แต่พอเป็นวันหยุด ทุกวันเสาร์อาทิตย์เราต้องกลับมาบ้านซึ่งเป็นที่ที่เราโตมา ที่ที่เราชอบ กลับไปอยู่อย่างนี้มันมีพลัง” เขายิ้มพลางมองต้นไม้รอบๆ ตัว

คงไม่ใช่แค่บ้านสวนที่มอบพลังให้ หลังหนีจากเมืองอันแสนวุ่นวายในช่วงวันหยุดเรียนหรือช่วงกลับจากการงาน แต่ยังมีต้นไม้นับพันรอบบ้าน ธรรมชาติรอบตัว ช่วยโอบล้อมกอดเขาคอยมอบพลังให้ด้วย
ในยามที่มีความเครียดหรือเหนื่อยล้าต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิต สวนป่ารกรุงรังแห่งนี้กลับทำให้เขารู้สึกปลอดภัย

ปล่อยไปตามสัจธรรม (ชาติ)

“วิทย์เชื่อเรื่องธรรมชาติ ว่าทุกอย่างมันควรเป็นไปตามธรรมชาติ ความประดิษฐ์มันก็เหมาะในบางเรื่อง ในบางโอกาส แต่ในความเป็นจริง การใช้ชีวิตมันไม่สามารถหลอกตัวเองหรือประดิษฐ์ได้ในทุกโอกาส เลยรู้สึกว่าเก้าอี้มันจะผุจะพัง เหล็กมันจะขึ้นสนิม สีมันจะถลอก มันคือสัจจะของธรรมชาติ มันต้องมีวาระของมัน เราจะทำอะไรก็ไม่ต้องฝืน”

นี่เองที่ทำให้เราเห็นหลากต้นไม้กระจัดกระจายอยู่ในสวนป่า เห็นรูปปั้นที่เคยสวยสะอาดแต่วันนี้มีตะไคร่เขียวขึ้นปกคลุม ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับเป็นความสวยงามที่ลงตัว

“วิทย์ไม่ได้บอกว่าปลูกมันทั้งหมด บางอย่างมันขึ้นเอง นกมาขี้ หรือเรากินแล้วโยนทิ้งไว้ หรือมันลอยน้ำมา ถ้ามันอยู่ได้ แสดงว่าธรรมชาติเซตตัวของมันแล้ว มันไม่ได้ส่งผล ไม่มีผลกระทบอะไรกับเรา ก็ปล่อยมันไป”

เช่นนั้นชีวิตหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบหรือปรุงแต่งสร้างขึ้นจนเหนื่อยล้า บางทีควรปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามธรรมชาติ และหลายต่อหลายครั้งเราต่างต้องเชื่อมต่อกับสิ่งที่ไม่เคยรู้สึกว่าขาดหายไป

“บางทีถ้าวิทย์มีปัญหาจริงๆ หรือกดดันอะไรบางสิ่ง เรามีเวลานิ่งๆ นั่งริมแม่น้ำ ดูต้นลำพูพลิ้วไหว ดูน้ำขึ้นน้ำลง ดูผักตบชวาไหลขึ้นลง มันทำให้เรานิ่งขึ้นและรู้สึกผ่อนคลาย บางครั้งก็จะเดินเล่นดูต้นไม้ เห็นการเติบโตของต้นไม้เราก็จะมีความสุข เราเห็นปัญหาของต้นไม้ หนอนกิน หรือใบเหี่ยวใบแห้ง วิทย์ก็จะรู้สึกว่าเราต้องดูแล…” เขานิ่งไปขณะหนึ่งคล้ายคนมีความรัก เมื่อพูดถึงเรื่องนี้

“การที่เรามีธรรมชาติบำบัดเรา ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมันสมบูรณ์…เราไม่ต้องมาอยู่กับมันทั้งวันก็ได้ เราอยู่กับมันแค่ชั่วขณะหนึ่งก็พอ”

อยากทำ…อย่ามองเป็นภาระ

ระหว่างคำสนทนา ฝนจากที่ไหนสักแห่งก็เปาะแปะลงบนหลังคา เสียงใบไม้ไหวเอนตามสายลม เสียงต้นไผ่เอียดออดตามมา ทั้งดอกปีบ โมก และมะลิลา ก็ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ เจือในบรรยากาศ วิทย์พูดคุยต่อเรื่องต้นไม้ของคนในเมือง

การที่เขาเป็นเด็กบ้านสวน เห็นต้นไม้มาตั้งแต่ตัวเล็กๆ และเห็นชีวิตเล็กๆ ค่อยๆ เติบใหญ่มีกิ่งก้านสาขาแตกออกเป็นร่มเงาให้เขานั่งอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ ให้นอนหลับหรือเล่นซนประสาเด็ก สิ่งที่เห็นนั้นมีเรื่องราว…

“วิทย์เห็นคุณค่าของต้นไม้ทุกต้น จากที่คุณพ่อเลี้ยงต้นไม้มาตั้งแต่ต้นเล็กต้นน้อย เราดูเขาปลูก พรวนดิน เตรียมวัสดุ เราก็จะรู้ว่าสิ่งที่พ่อทำมันไม่ใช่เพราะมือร้อนหรือมือเย็น หรือคนนี้ปลูกได้คนนู้นปลูกไม่ได้ แต่มันเป็นเรื่องของความใส่ใจมากกว่า”

จริงแท้ที่ความเชื่อนี้กลายเป็นสิ่งรั้งความใส่ใจของคนเมืองไว้ หาไม่เวลาคงหมดไปกับการเดินทางเนื่องด้วยการงาน จนไม่เหลือแม้ชั่วขณะหนึ่งมาดูแลต้นไม้อย่างที่ใจต้องการ

“วิทย์ว่าคนเมืองไม่ใช่ไม่อยากนะ แต่เขาไม่มีโอกาสมากกว่า ต้นไม้ ธรรมชาติ มันไม่มีพิษมีภัย มันไม่ทำลายเรา ถ้าเราดูแลเขาดีๆ ปลูกให้เขาเติบโตสวยงาม ก็จะส่งผลให้เราได้เห็นสิ่งสวยงามเหล่านั้นกลับมา

“อย่ามองธรรมชาติเป็นภาระ มองให้เรากลมกลืนไปกับธรรมชาติดีที่สุด”

ขอขอบคุณ

  • คุณวิทย์ – ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง เจ้าของร้านและผู้ก่อตั้ง Little Tree Garden

มาร่วมกับเป็นส่วนหนึ่งในการสานสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วยกันใน

เฟซบุ๊กกรุ๊ป Park ใจ 

ชวน Park ใจ โดย นิตยสารสารคดี นายรอบรู้ นักเดินทาง สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา