หลังจากจักรแก้วขึ้นมาจากมหาสมุทรแล้ว “สมบัติพระจักรพรรดิ” อันเป็นของคู่บารมีอย่างอื่นๆ ก็จะทยอยปรากฏตามมา
อย่างแรกที่คัมภีร์กล่าวถึงคือ หัตถีรัตนะ หรือ “ช้างแก้ว”
วิธีการให้ได้มาซึ่งช้างแก้วนี้ก็ไม่ต้องไปคล้องหรือไปจับต้อนมาเข้าเพนียด ขอเพียงปลูกโรงช้างอันงามวิจิตรไว้คอยท่า จากนั้นเมื่อพระเจ้าจักรพรรดิทรงรักษาศีลทำบุญทำทานครบเจ็ดวัน แล้วตั้งจิตระลึกถึงการพระราชกุศลและทรงคำนึงถึงช้างแก้ว ในทันใดนั้นช้างแก้วก็จะเหาะมายืนโรงด้วยตัวเอง
ช้างแก้วเป็นช้างเผือกที่แสนเชื่องราวกับผ่านการฝึกหัดมาเป็นอย่างดีแล้ว มีงวงและเท้าทั้งสี่เป็นสีแดง มาจากเผ่าพันธุ์ช้างมีชาติตระกูล เช่นตระกูลอุโบสถ หรือตระกูลฉัททันต์
ในพงศาวดารจึงเฉลิมพระนามกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีจำนวนมากมายหลายเชือกว่า “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” คือคงถือว่ามีโดยเหตุที่ทรงบุญญาธิการบารมีราวกะพระจักรพรรดิราชตามตำรา
พระจักรพรรดิราชสามารถทรงช้างแก้วเป็นราชพาหนะ เสด็จเหาะไปประพาสเวียนรอบเขาพระสุเมรุ เลาะเลียบกำแพงจักรวาลตั้งแต่เช้าตรู่ แล้วเสด็จกลับมาทันเสวยพระกระยาหารเบรกฟาสต์ได้ตอนสายๆ ด้วยซ้ำ
ถัดจากช้างแก้วคือม้าแก้ว หรือ อัศวรัตนะ ซึ่งจะมาสู่ร่มพระบรมโพธิสมภารด้วยตัวเองแบบเดียวกับช้างแก้ว นอกจากนั้นแล้วยังสามารถเหาะได้ด้วยสปีดทัดเทียมกับช้างแก้วเช่นกัน
ลักษณะของม้าแก้วที่กล่าวใน “ไตรภูมิพระร่วง” เป็นม้าสีขาว หน้าผากและกีบเท้าสีแดง “ดังน้ำครั่ง” หัวสีดำ “งามดั่งคอกา” แผงคอเป็นขนสีขาวอ่อนนุ่มเหมือน “ไส้หญ้าปล้อง”
ม้าที่ประกอบด้วยอัศวลักษณ์เช่นนี้ คงนิยมกันในอินเดียโบราณว่าเป็นม้าพิเศษอันมีฝีเท้าดี คู่ควรกับพระจักรพรรดิราชและพระโพธิสัตว์ เพราะในพุทธประวัติเช่น “พระปฐมสมโพธิกถา” พรรณนาม้ากัณฐกะอันนำพาเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) ว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับหัตถีรัตนะของพระเจ้าจักรพรรดิ คือมี “สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกา มีเกศาในมุขประเทศขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด”
ได้พบว่าช่างผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถบางแห่งยึดถือความตามคัมภีร์ตรงนี้อย่างเคร่งครัด คือเขียนม้ากัณฐกะเป็นม้าขาวหัวดำ แต่ก็มีอีกมากแห่งที่เขียนไว้เป็นม้าขาวเฉยๆ ด้วยว่าช่างอาจไม่รู้ความข้อนี้ในคัมภีร์
มณีรัตนะ (แก้วมณี) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นคู่บารมีพระเจ้าจักรพรรดิ
ไตรภูมิพระร่วงอธิบายที่มาของมณีรัตนะว่าได้มาโดยการคิดคำนึง หรือตั้งพระราชปณิธานของพระยามหาจักรพรรดิราช ครั้นแล้วมณีรัตนะพร้อมด้วยแก้วมณีอันเป็นบริวาร ต่างขนาดต่างสีต่างรูปทรง อีก ๘๔,๐๐๐ ก็จะลอยเลื่อนจากเขาวิบุลบรรพต มาสู่พระราชวังของพระองค์
ไตรภูมิพระร่วงจากยุคสุโขทัยบรรยายลักษณะของมณีรัตนะว่าเป็นแท่งแก้วทรงกระบอก คือ “โดยยาวได้ ๔ ศอก โดยใหญ่เท่าดุมเกียน (เกวียน) ใหญ่ สองหัวแก้วนั้นมีดอกบัวทองสองดอก”
แต่คัมภีร์รุ่นหลัง เช่น “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา สำนวนที่ ๑” ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) ต้นสมัยกรุงเทพฯ เล่าว่า “เป็นแก้วไพฑูรย์ มีชาติอันงามได้ ๘ เหลี่ยมผ่องใสบริบูรณ์” คือเป็นแท่งทรงแปดเหลี่ยม
ภาพลายรดน้ำรูปสมบัติพระจักรพรรดิบนบานประตูพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ แสดงภาพมณีรัตนะเป็นทรงกระบอกแปดเหลี่ยมตรงตามนั้น แถมยังมีร้อยสายเป็นคล้ายหูหิ้วไว้ด้วย
เหตุที่ต้องมีสายคงเพราะประโยชน์สำคัญของมณีรัตนะนี้ คือใช้งานได้เหมือนไฟฉาย โดยให้แขวนไว้ “ยอดธงชัยแห่งสมเด็จพระบรมจักรพรรตราชาธิราชในราตรีกาลกลางคืนนั้น ก็แจ่มแจ้งจรัสไปด้วยรัศมีโอภาษนาการส่องสว่างไปโยชน์หนึ่ง” และ “อาจส่องสว่างไปได้ดุจกลางวันในที่โยชน์หนึ่ง จนถึงมดดำมดแดงก็แลเห็น ฝ่ายมนุษย์ทั้งหลายก็ตื่นกันว่ากลางวันแล้ว กระทำการงานต่างๆ…”
“ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายสรรพคุณของมณีรัตนะไว้โดยละเอียดยิ่งขึ้นไปอีกว่าแสงสว่างจากแก้ววิเศษนี้ทำให้
“แลเห็นหนทางรุ่งเรืองใสสว่างดั่งกลางวัน ฝูงคนที่ทำไร่ไถนาเขาก็ไปทำดังกลางวันนั้นแล คนทั้งหลายที่ซื้อขายก็ไปซื้อขายดังกลางวันนั้นแล คนทั้งหลายที่ถางถากไม้แลฟันไม้ เขาก็ไปถากไม้ฟันไม้เมื่อกลางคืนได้สรรพการทั้งปวงเหมือนกลางวันนั้นแล”
สรุปโดยย่อคือการมีแสงสว่างไสวในบ้านในที่ทำงานตลอดวันตลอดคืน-เหมือนที่เรามีไฟฟ้าใช้กันทุกวันนี้-เป็นหนึ่งในสุดยอดชีวิตของพระจักรพรรดิตามอุดมคติของคนโบราณแล้ว