เรื่อง : นิสากรม์ ทองทา
ภาพ : สุรศักดิ์ เทศขจร
กลิ่นเค็มลอยแตะปลายจมูก คลื่นสีครามโยนตัวอยู่รอบๆ พวกเรามองไม่เห็นแผ่นดินแล้ว ยามที่เส้นขอบฟ้าโอบโค้งสวยงามแนบชิดกับเส้นขอบน้ำนั้น เรือลำไม่ใหญ่ไม่โตที่เรานั่งไป ยิ่งดูเล็กจิ๋วลงไปอีก
วันนี้คือวันแห่งการรอชมวาฬบรูด้าท่ามกลางธรรมชาติจริงๆ ครั้งแรกในชีวิตเรา แต่พี่ๆ ผู้โดยสารมาบนเรือลำเดียวกันบอกว่า พวกเขาออกเรือชมวาฬประจำอยู่แล้ว เจอบ้างไม่เจอบ้างแล้วแต่โอกาส
ลมเย็นพัดจากปากอ่าวบางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี พวกเราค่อยๆ ออกสู่กลางอ่าวรูปตัว ก
วาฬบรูด้ามีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bryde’s whale ซึ่งตั้งเพื่อเป็นเกียรติแด่ Johan Bryde ชาวนอร์เวย์ผู้สร้างสถานีวิจัยวาฬในแอฟริกาใต้ขึ้นเป็นแห่งแรก
วาฬบรูด้าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลาง ในวัยเด็กตัวจะยาวประมาณ 3-4 เมตร และจะยาว 14-16 เมตรในวัยผู้ใหญ่ บรูด้าให้ลูกช้า คือ 2 ปีต่อครั้ง แต่จะมีอายุยืนนานถึง 50 ปี และเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ที่ผ่านมานี้เอง ที่วาฬชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 16 ของประเทศไทย
ไม่เพียงท้องทะเลแห่งนี้เท่านั้นที่เราจะได้ยลโฉมวาฬบรูด้า ทะเลฝั่งอ่าวไทย อันดามัน หรือท้องทะเลในเขตอบอุ่นทั่วโลก ล้วนพบเจอวาฬชนิดนี้อาศัยอยู่ทั้งนั้น
หนึ่งชั่วโมงพ้นไปแล้ว แดดเช้ายังคงร่ม สายลมยังพัดเย็น และเรือยังคงแล่นไม่ถึงเขตอาศัยของวาฬ แต่กลับมีเรื่องใหม่เข้ามาดึงดูดความสนใจของทุกคน
“นกกาน้ำใหญ่” เจ้าของปีกสีดำเงางามแต่งแต้มรอยขาวนวลประปราย รวมตัวอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ท่ามกลางเวิ้งทะเล…โชคดีที่ได้พบ
“สามนาฬิกาตรงนั้นไง” ยินใครบางคนส่งสัญญาณบอกทิศทาง แล้วกล้องถ่ายภาพของแต่ละคนก็ระรัวเสียงไปทางกราบขวาเรืออย่างตื่นเต้น ขณะที่ เต-สมิทธิ์ สุติบุตร์ ช่างภาพสัตว์ป่าคนสำคัญของไทย เล่าให้เราฟังว่า สิบกว่าปีที่แล้วยังไม่มีใครนิยมมาดูวาฬที่นี่ เตและเพื่อนๆ ของเขามายังบางตะบูนเพื่อชมนกกาน้ำใหญ่บินพาดผ่านผืนทะเล และในวันนั้นเองวาฬบรูด้าก็มาปรากฏโฉมต่อหน้าพวกเขา
บรูด้าอยู่กับท้องทะเลนี้มานานมากแล้ว นับแต่รุ่นปู่รุ่นย่าของ “เล็ก” ชาวประมงแห่งบางตะบูนผู้เป็นกัปตันเรือลำที่เรานั่ง เล็กบอกว่า เขาออกเรือประมงมานานกว่า 10 ปี หากใต้ทะเลคือบ้านของเหล่าบรูด้า คลื่นลมเหนือผืนน้ำก็คือบ้านของเขาเช่นกัน
คนบ้านบางตะบูนมีพิธีกรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ “การไหว้วาฬ” พวกเขาเรียกบรูด้าว่า “พ่อปู่” เพราะบรูด้าอยู่มานาน รู้จักน้ำสีครามมากกว่ามนุษย์เป็นไหนๆ
ผู้คนที่นี่ผูกพันและรักสัตว์น้ำ และการอนุรักษ์วาฬถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะพวกเขาปฏิบัติกันมาเนิ่นนานอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยอยากให้เหล่าวาฬยังคงอยู่ตรงนี้ด้วยกัน จึงไม่ทำร้ายกัน
แดดร่มอยู่ตลอดกระทั่งเที่ยงวันมาเยือน สี่ชั่วโมงบนเรือกับเวิ้งน้ำอันว่างเปล่า พวกเราไม่เจอวาฬสักตัวเดียว คลื่นลมค่อยๆ แรงขึ้น พี่ๆ บนเรือบอกว่า ปกติเรือออกจากปากอ่าวแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงก็เห็นวาฬแล้ว ไม่ต้องออกมาไกลขนาดนี้
จากเพชรบุรี จากจุดที่อยู่ ณ ตอนนี้ เรามองเห็นเงาสีเทาจางๆ ของตึกในกรุงเทพมหานครที่ริมขอบฟ้า
แต่รอนานเพียงไรก็ไม่รู้สึกเบื่อ ไม่มีใครบ่น คล้ายกับว่า ทุกครั้งที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ธรรมชาติจะกระซิบบอกให้ใจเย็น เฝ้าคอย และรื่นรมย์อยู่เสมอ
ถัดจากนั้นไม่นาน รางวัลชิ้นใหญ่ก็ปรากฏ ในระยะ 300 เมตรอันเหมาะสมสำหรับการเว้นระยะเรือให้ห่างจากตัววาฬ
เราเห็นก้อนกลมรีสีเทาแอบอยู่บนรอยคลื่น เฉียงซ้ายนิดๆ จากตำแหน่งหัวเรือ หรือทิศทาง 11 นาฬิกานั่นเอง คือบริเวณปรากฏของวาฬตัวแรก กัปตันเบาเครื่องเรือลง แล้วทุกคนก็พากันคว้ากล้องคว้าเลนส์
“มีมากกว่าตัวเดียวด้วย!” ใครบางคนร้องบอกเสียงรัวๆ อย่างตื่นเต้น ทำเอาเราต้องยิ้มหัวตาม
เรือค่อยๆ ขยับอย่างเชื่องช้าเข้าใกล้เจ้าก้อนสีเทาขึ้นอีกนิด บริเวณเหนือผิวน้ำ ฝูงนกบินวนต่ำ เป็นสัญญาณว่าวาฬจะโผล่พ้นน้ำที่ตรงนั้น แล้วทุกคนก็ได้ชมพร้อมๆ กัน…
วาฬบรูด้าตัวโตแหวกคลื่นสีครามขึ้นมาเบื้องหน้า ปากของมันใหญ่และกว้างพอจะฮุบเราสามคนพร้อมกันได้ในทีเดียว แต่เจ้าวาฬกลับกลืนแค่ปลากะตักตัวเล็กๆ ผ่านซี่กรองที่เรียกว่า baleen plates จังหวะเดียวกันฝูงนกเองก็ไม่รอช้า พากันโฉบลงมาแบ่งปลาขึ้นไปกินด้วย
ภายใต้หมู่เมฆเบาบาง ไม่แน่ใจนักว่าบรูด้าที่กำลัง blow หรือหายใจออกโดยพ่นทั้งไอน้ำและน้ำทะเลขึ้นไปบนฟ้าโค้งนั้น ถูกจัดอยู่ในสปีชีส์ B. edeni หรือ B. omurai แต่ก็มีเพียงสองสปีชีส์นี้เท่านั้นที่พบเจออยู่ในน่านน้ำของไทย
บรูด้าเริงร่า ทยอยอ้าปากพ้นน้ำให้พวกเราได้เก็บภาพ บางตัวมีใต้คางสีชมพูด้วยเส้นเลือดฝาดใต้ชั้นผิวหนังดูน่ารัก
บ่อยครั้งที่เห็นบรูด้าโผล่ขึ้นมาเป็นคู่ๆ กัปตันเล็กอธิบายว่า นี่คือการสอนลูกของแม่วาฬ เมื่อลูกวาฬอายุประมาณ 1 ปี เติบโตพอหย่านมแม่ได้แล้ว แม่วาฬจะสอนลูกว่ายน้ำ อ้าปาก และงับอาหารไปพร้อมๆ กัน
วิถีชีวิตของวาฬไม่แตกต่างจากมนุษย์นัก เพราะมีคำว่า “ครอบครัว” เหมือนกัน
แล้วไม่ใช่แต่พวกเราที่มีชื่อประจำตัว เหล่าวาฬก็มีเหมือนกัน ทว่าด้วยความที่วาฬมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันมาก ดร. กาญจนา อดุลยานุโกศล ผู้ทำงานเพื่อการอนุรักษ์ท้องทะเลและสิ่งแวดล้อมไทย จึงได้อธิบายไว้ในเว็บไซต์ ThaiWhales ว่า การแยกว่าวาฬตัวไหนเป็นตัวไหนจะพิจารณาลักษณะที่เด่นที่สุด และครีบหลังก็คืออวัยวะที่ใช้บ่งชี้อัตลักษณ์ของวาฬแต่ละตัว โดยมีการถ่ายภาพอัตลักษณ์นี้เก็บไว้ด้วย เรียกว่า Photo-ID Technique
“เต” ช่างภาพสัตว์ป่า บอกว่า ครีบหลังแสดงอัตลักษณ์ของวาฬจากตำหนิบนครีบ เช่น อาจเป็นรอยแผล มีจุด มีลาย หรือดูเว้าแหว่ง อย่างคู่แม่ลูกที่เจอหน้ากันเมื่อตอนบ่ายและดูคึกคักผลุบๆ โผล่ๆ ให้เห็นหลายรอบนั้น มีรอยแหว่งที่ปลายครีบเป็นลักษณะประจำตัวให้สังเกตเห็น จึงสามารถตั้งชื่อเพื่อเรียกขานทั้งคู่ได้ว่า “สายชล” กับ “สายฝน” แต่ถ้าเป็นโลมาจะไม่มีการตั้งชื่อ เพราะมันว่ายไปมารวดเร็วจนไม่สามารถเห็นตำหนิได้ทัน
และพวกเราได้พิสูจน์ความเร็วของโลมาอย่างที่เตว่าภายในชั่วโมงถัดมา
เหนือคลื่นทะเลสีเทาอ่อน เจ้าโลมาดูคล้ายวาฬบรูด้าที่ตัวเล็กกว่า เพรียวกว่ามาก อยู่รวมกันเป็นฝูง และกระโดดว่องไวพลิ้วไหวเหนือผืนน้ำ เหมือนประกาศว่าท้องทะเลแห่งนี้เป็นของพวกมันอย่างไรอย่างนั้น
นอกจากเซอร์ไพรส์มากๆ เมื่อพบฝูงโลมาโดยไม่คาดฝัน ช่างภาพทุกคนยังทุลักทุเลมากๆ อีกด้วย เพราะภาพโลมาช่างถ่ายได้ยากเย็น พวกเราเสียหายไปหลายช็อต แต่ความสนุกล้วนอยู่ตรงนี้ ตรงที่ธรรมชาติและท้องทะเลไม่เคยแน่นอน
ยาวนานตลอดวันที่ได้สัมผัสลมทะเลกลางคลื่นน้ำวูบไหว เห็นเพียงขอบฟ้าจรดขอบน้ำชวนให้สงบผ่อนคลาย
กัปตันเล็กว่า เมื่อก่อนวาฬเยอะกว่านี้ ที่เจอวันนี้เพียงสามสี่ตัวถือว่าน้อย สมัยออกเรือ 3-4 ปีที่แล้วเขาเคยเจอวาฬบรูด้าลอยตัวอยู่รอบลำเรือพร้อมกันนับสิบตัว เคยได้ชมยามแม่วาฬให้นมลูกด้วยซ้ำ
ท้องทะเลเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ไม่ใช่แค่จำนวนวาฬบรูด้าที่ลดลง สัตว์ทะเลมากมายล้วนสูญหายตายจาก ดังที่ หนุ่ม-ศุภชัย วีรยุทธานนท์ ช่างภาพใต้น้ำและนักดำน้ำ กล่าวกับเราว่า ปัจจุบันไม่มีการค้นพบสัตว์ทะเลชนิดใหม่เลย และพวกมันยังลดจำนวนลงเรื่อยๆ
สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบรุนแรงคือการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ ทรัพยากรบางอย่างถูกใช้อยู่บนบก ผู้คนจึงมองไม่ออกว่ามันไปกระทบสิ่งแวดล้อมในทะเลได้อย่างไร ทว่าเหมือนดัง “ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก” ทุกสิ่งบนโลกกลมๆ ใบนี้เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่
“หนุ่ม” จดจำถ้อยคำหนึ่ง คือ “How inappropriate to call this planet ‘Earth’, when it is clearly ‘Ocean’.” ของ Arthur C. Clarke นักเขียนและนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่เขาชื่นชอบได้ นั่นเพราะว่าดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกโอบกอดด้วยท้องทะเลสีครามมากกว่าผืนดิน
สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้การ Parkใจ สามารถติดตามกิจกรรมอื่นๆ ในปีนี้ได้ที่ เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ
ดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี และนายรอบรู้ นักเดินทาง
สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา