ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง

ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ สู่รางวัล Equator Prize

เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๖๓ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประกาศให้ชุมชนบุญเรืองเป็น ๑ ใน ๑๐ ชุมชนที่ได้รับรางวัลอิเควเตอร์ (Equator Prize) ประจำปี ค.ศ. ๒๐๒๐ คัดเลือกจากชุมชนที่ได้รับการเสนอชื่อเกือบ ๖๐๐ แห่งจาก ๑๒๐ ประเทศทั่วโลก

รางวัลนี้คิเควเตอร์มอบให้ชุมชนที่มีความพยายามและประสบความความสำเร็จในการฟื้นฟู ดูแล พิทักษ์รักษาผืนป่า และจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชน

ชุมชนบุญเรือง ตั้งอยู่ที่ตําบลบุญเรือง อําเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่อนุรักษ์ป่าชุ่มนํ้าบุญเรืองหรือป่าบุญเรืองที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ ๕ หมู่บ้าน ขนาด ๓,๗๐๖ ไร่ ชาวชุมชนนิยามผืนป่าขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิงตอนล่างแห่งนี้ว่า “ป่าชุ่มน้ำตามฤดูกาล” (seasonal wetland) ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำท่วมขังทั่วผืนป่า

น่าสนใจว่าพื้นที่ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองเคยผ่านการถูกคุกคามมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ จากนายทุนที่ต้องการใช้พื้นที่สร้างโรงสีไฟและโรงบ่มใบยาสูบ

ครั้งที่ ๒ จากนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนที่รัฐต้องการนําพื้นที่ป่าไปจัดสรรเป็นที่ทํากิน

และครั้งล่าสุดจากนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๐

แม้มีการออกหนังสือสําคัญที่หลวง (นสล.) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ให้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์สาธารณะประโยชน์ แต่ก็มีความพยายามที่จะนําผืนป่าไปใช้ประโยชน์ในวัตถุประสงค์อื่นเรื่อยมา

หากไม่มีชุมชนบุญเรืองยืนหยัดในการปกป้องผืนป่า ป่าแห่งนี้อาจจะถูกทําลายจากภัยคุกคาม

ไม่มีป่าชุ่มน้ำบุญเรืองและชุมชนบุญเรืองที่คว้ารางวัล Equator Prize

“ชาวบ้านบุญเรืองมีความโดดเด่นเรื่องความร่วมไม้ร่วมมือ ความสามัคคีของชุมชนในการปกป้องผืนป่าชุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง”

ไกรทอง เหง้าน้อย
ผู้ประสานงานโครงการอนุรักษ์ลุ่มน้ำอิง

“Equator Prize เป็นรางวัลใหญ่ของ UNDP มอบให้ชุมชนที่ทำเรื่องการจัดการทรัพยากร เพื่อลดปัญหาความยากจน ขจัดความเหลื่อมล้ำ และพูดถึงการดูแลรักษาพื้นที่ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ รางวัลนี้มีมานาน ชุมชนในประเทศไทยเคยได้มาแล้ว ๓ ชุมชน ล่าสุดปี ๒๕๖๐ คือกลุ่มอนุรักษ์บ้านบางลา รักษาป่าชายเลน กรณีพื้นที่ป่าบุญเรืองเคยเสนอมาแล้วสองครั้งแต่ไม่ได้รางวัล

“ในครั้งนี้คณะกรรมการผู้ตัดสินสนใจที่เรามีงานวิจัยในพื้นที่ป่าบุญเรืองชัดเจน มีขบวนการชาวบ้านที่ร่วมไม้ร่วมมือกัน จาก ๑๒๐ ประเทศที่ส่งมา คัดเหลือประมาณ ๖๐๐ โครงการ แล้วให้แค่ ๑๐ รางวัลทั่วโลก ถือเป็นรางวัลใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ

“รางวัลนี้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรของชุมชน รวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากร เกณฑ์ค่อนข้างซับซ้อน ถ้าชาวบ้านขอเองก็น่าจะยาก ต้องใช้พี่เลี้ยงเป็นองค์กรระหว่างประเทศมาช่วย เช่น รีคอฟ (RECOFTC-ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า) ทำงานร่วมกับสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และชาวชุมชนบุญเรือง

“ชาวบ้านบุญเรืองมีความโดดเด่นเรื่องความร่วมไม้ร่วมมือ ความสามัคคีของชุมชนในการปกป้องผืนป่าชุ่มน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำอิง ก่อนหน้านี้เมื่อมีโครงการต่างๆ เข้ามา เราเคยบอกว่าพื้นที่นี้เป็นป่า แต่เขาก็ไม่ฟัง ก็เลยต้องมาทำงานวิจัยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ โครงสร้างป่า การกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ เพื่อโชว์ให้เขาเห็นว่ามันไม่ใช่พื้นที่เสื่อมโทรมที่จะมายกเลิกประกาศ นสล. ได้ หลายภาคส่วนเข้ามาทำงานวิจัย เมื่อได้ข้อมูลก็เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดลงมารับทราบข้อมูล

“เราทำงานวิจัยที่สามารถอธิบายได้ว่าป่าผืนนี้มีอัตลักษณ์พิเศษ มีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าป่าเสื่อมโทรมที่ภาครัฐอยากจะเอาไปพัฒนาเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษถึง ๘ เท่า ใช้งานวิจัยอธิบายว่าป่านี้ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรมนะ พบสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น เสือปลา นาก แมวดาว นกอพยพหลายชนิดที่น่าจะมีผลต่อการขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ในอนาคต ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งเอ็นจีโอ ราชการ นักวิชาการ ชาวบ้านที่เข้าไปทำงานทั้งเรื่องอนุรักษ์และฟื้นฟู ทำงานวิชาการในป่า มันก็แสดงหลักฐานความอุดมสมบูรณ์ออกมาให้ประจักษ์ว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง เรามีป่าแบบนี้ อาจจะเป็นที่เดียวในประเทศไทย

“ถ้าเทียบกับป่าทามของภาคอีสาน ต้นไม้ของที่นั่นอาจจะไม่โตมากขนาดนี้ ขณะที่ป่าผืนนี้เป็นป่าโบราณ อายุยืนนาน มีต้นไม้ใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นระบบนิเวศระหว่างบกกับน้ำผสมกัน เป็นคอริดอร์เชื่อมระหว่างป่าบนดอยกับป่าชุ่มน้ำ มีพื้นที่เชื่อมต่อสำหรับสัตว์ป่าที่หาอยู่หากินทั้งสองพื้นที่ เช่น เสือปลา ช่วงหน้าแล้งจะขึ้นไปหาอาหารบนดอย ช่วงที่มีปลาเยอะก็ลงมาหากินในพื้นที่ชุ่มน้ำ มันเป็นมดลูก ระบบนิเวศเชื่อมกัน ถ้าดูจากแผนที่จะเห็นว่าเรามีป่าชุ่มน้ำแบบนี้กระจายทั่วลุ่มน้ำอิงตอนล่างตั้งแต่อำเภอเทิงถึงเชียงของ”

“ไม่ว่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวมาสักกี่ปี ก็ยังเป็นป่าที่ยืนตระหง่าน”

ทรงพล จันทะเรือง
ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง

“ความมั่นคงทางอาหารอยู่ในป่าผืนนี้ อย่างเห็ดหรือพืชก็อยู่ที่คนจะหา ขึ้นอยู่กับฤดูกาลแต่มีทุกฤดู บางชนิดงอกงามช่วงหน้าฝน อย่างช่วงนี้หน้าหน่อไม้ แล้วก็พืชสมุนไพร มีฟ้าทะลายโจร สาบเสือ ปอบิด แล้วแต่ภูมิปัญญาของแต่ละคนที่จะนำไปใช้ ไม่ได้ปลูก แต่เขาขึ้นเองเป็นของธรรมชาติ

“ตั้งแต่เด็กจนโตมา สิ่งที่ได้จากป่าคือคุณค่าทางจิตใจ อย่างน้อยเมื่อก่อนได้ตามพ่อตามแม่เข้าป่าบุญเรือง ตั้งแต่จำความได้ ที่ผมเข้าโรงเรียนก็เคยเข้าป่าผืนนี้ไปทำกิจกรรม เช่น ลูกเสือ เนตรนารี จากอดีตถึงปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ไม่ว่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวมาสักกี่ปี ก็ยังเป็นป่าที่ยืนตระหง่าน

“ถามว่าความเจริญมีมั๊ย มันก็มีบ้าง ยกตัวอย่างถนนตัดผ่าน จากเมื่อก่อนป็นทางเกวียน เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นลาดยาง หนองน้ำถูกยกระดับเป็นบางหนอง จากหนองน้ำธรรมชาติ บางครั้งต้องการแหล่งน้ำเพิ่มก็มีการขุดลอก ความเจริญบางอย่างเราไม่ได้ปฏิเสธ แต่พื้นที่ขอบเขตยังเหมือนเดิม ภูมิใจว่ายังเป็นผืนป่าอยู่

“คำว่าอนุรักษ์ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรืองไม่ได้หมายความว่าไม่กิน ไม่ใช้ อนุรักษ์ไว้เพื่อไว้กินไว้ใช้ให้มันยาวนานยิ่งๆ ขึ้นไป ไม้ที่ใช้จากป่าเป็นพวกไม้ฝืน ถ้าไม้สร้างบ้านต้องผ่านประชามติภายในหมู่บ้านกว่าจะนำออกมาใช้ได้ เว้นแต่ใช้สาธารณประโยชน์เช่นวัด ที่เป็นของส่วนร่วม
“ป่าบุญเรืองเป็นแหล่งอาหาร ถ้าเปรียบก็คล้ายซุปเปอร์มาเก็ต แล้วมันจะมีส่วนปลีกย่อยเช่นมีคุณค่าด้านน้ำ จากป่าก็มีน้ำ มีน้ำก็ไปเอื้อกับการทำนา ภาคเกษตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนาต้องอาศัยน้ำจากป่าผืนนี้
“ป่าผืนนี้แม่น้ำอิงไหลผ่าน และมีการขึ้นลงตามฤดูกาล แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเหมือนธรรมชาติสมัยก่อน เพราะว่าแม่น้ำโขงถูกบริหารจัดการอย่างที่เรารู้กัน เมื่อก่อนท่วมปีหนึ่งตั้ง ๓ เดือน แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ เวลามันสั้นขึ้น จากเมื่อก่อนแม่น้ำโขงจะเอ่อหนุนเข้ามาตามลำน้ำสาขา เดี๋ยวนี้ถูกบริหารจัดการ สร้างเขื่อนกั้น แม่น้ำสาขาก็เลยแห้งเหือดไปตามสถานะ“

“ทั้งที่มีความสำคัญในชุมชนท้องถิ่นอย่างนี้ ครั้งหนึ่งยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ”

สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา
นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

“ปลาหลากหลายสายพันธุ์ว่ายทวนน้ำจากแม่น้ำโขงเคลื่อนเข้าสู่ปากแม่น้ำอิง กลางฤดูฝนน้ำหลากล้นออกจากฝั่ง ความวิเศษของสายน้ำบนผืนดินราบลุ่มน้ำท่วมถึงคือการเก็บกักน้ำเอาไว้ตามธรรมชาติ

“ด้วยลักษณะทางกายภาพตั้งแต่ต้นน้ำอิงจังหวัดพะเยา สู่กลางน้ำ ถึงที่ราบลุ่มน้ำอิงตอนปลายชายฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ทั้งลุ่มน้ำอิงในสองจังหวัดมีพื้นที่รวมกันประมาณ ๔,๕๒๓,๗๕๐ ไร่ ระยะทางตามการคำนวณล่าสุดโดยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ๓๐๐ กิโลเมตร ในส่วนพื้นที่ราบลุ่มที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ รัศมี ๕ กิโลเมตร สองฝั่งซ้ายขวา ๑๐ กิโลเมตรจากริมฝั่งแม่น้ำมีพื้นที่รวมกันอยู่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าไร่ มีหนองน้ำธรรมชาติที่มีลักษณะคล้ายบุ่งทามอยู่ประมาณ ๔๐๐ แห่งที่ในวันนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เฉพาะลุ่มน้ำอิงตอนล่างที่เราสำรวจมี ๒๖ แปลง ขนาดพื้นที่ ๘,๕๖๘ ไร่ ๓ งาน มีป่าบุญเรืองเป็นแปลงใหญ่ที่สุด ๓,๗๐๖ ไร่

“เราพยายามสำรวจเพื่อเสนอเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ โดยเสนอพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่าง จะเป็นระดับท้องถิ่น ชาติ นานาชาติ ระหว่างประเทศ หรือที่เราเสนอสูงสุดให้เป็นแรมซาร์ไซด์กำลังรอผลการประเมิน

“ความพยายามเรื่องแรมซาร์ไซต์มีมานานตั้งแต่ก่อนที่จะได้รับรางวัลอิเควเตอร์ ผลักดันมาหลายปี ก่อนที่ทางรีคอฟจะบอกว่ามีการประกวดของ UNDP ก็เลยลองดูในส่วนของพื้นที่ป่าบุญเรือง ช่วยกันทำข้อมูลจนได้รับรางวัล

“คุณค่าความสำคัญของป่าบุญเรืองคือเป็นที่อยู่อาศัยและวางไข่ของปลา เป็นที่ซับน้ำ เป็นแก้มลิงตามธรรมชาติ ซึ่งเหลืออยู่แค่แปดพันกว่าไร่ พื้นที่แห่งนี้มีคุณค่าในทางนิเวศวิทยาในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ปากแม่น้ำอิงที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงเรื่อยมาในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่างระยะทางประมาณ ๕๐ กิโลเมตรเป็นระบบนิเวศพิเศษ เมื่อแม่น้ำโขงล้นเอ่อ แม่น้ำอิงไหลเข้าสมทบ จึงเกิดพื้นที่ชุ่มน้ำจากการล้นขึ้นฝั่งของแม่น้ำตามสภาพภูมิประเทศ นี่คือคุณค่าสำคัญมากๆ แต่เสี่ยงต่อการถูกเปลี่ยนแปลง

“ทั้งที่มีความสำคัญในชุมชนท้องถิ่นอย่างนี้ ครั้งหนึ่งยังถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ คงเป็นเพราะรัฐบาลต้องการเอื้อประโยชน์ให้นักลงทุน สร้างแรงจูงใจให้กับการลงทุนเรื่องการใช้ที่ดิน บนพื้นที่สาธารณะที่รัฐบาลจัดหาไว้ให้ แต่ในมุมของชาวบ้านบุญเรืองแล้วนี่เป็นพื้นที่หากิน ที่อาศัย เป็นพื้นที่มีความสำคัญกับระบบนิเวศ ถ้าเขาเอาไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษในวันนั้น ก็คงไม่มีป่าบุญเรืองที่ชาวบ้านได้รางวัลอิเควเตอร์ในวันนี้”

“เราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่เราไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ที่ทำให้วิถีอัตลักษณ์ของคนในชุมชนเปลี่ยนไป”

พิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค
ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์ป่าบุญเรือง

“บ้านบุญเรืองรักษาสิทธิของตัวเองในเรื่องหนังสือสําคัญที่หลวง หรือ นสล. เราใช้ประโยชน์ เราดูแลป่า เราไม่ได้ขัดความการพัฒนาแต่เราไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ที่ทำให้วิถีอัตลักษณ์ของคนในชุมชนเปลี่ยนไป และก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงโครงสร้างของระบบนิเวศ
“ป่าบุญเรืองมีลักษณะเหมือนแก้มลิงตามธรรมชาติ สภาพพื้นที่เป็นแอ่งกะทะเป็นที่เก็บกักน้ำ มีแม่น้ำอิงเป็นร่องอยู่ตรงกลาง มีเขาดอยยาวและดอยหลวงขนาบเป็นแหล่งกำเนิดลำน้ำสาขาของแม่น้ำอิง

“จากการศึกษาพบว่าป่าบุญเรืองมีมูลค่าจากการใช้ประโยชน์ทางตรงในด้านการเป็นแหล่งอาหารและวัตถุดิบประมาณ ๑๔,๓๐๑,๐๕๕ บาทต่อปี มีชาวบ้านตำบลบุญเรืองเข้าใช้ประโยชน์ ๖๑๗ ครัวเรือน และมีมูลค่าจากการใช้ประโยชน์ทางอ้อม เช่น เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน เป็นแหล่งกักเก็บนํ้า เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และค้นคว้าวิจัย เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ รวมกันประมาณ ๑๑๑,๓๗๘,๔๓๘ ล้านบาทต่อปี จึงมีมูลค่าการใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกันมากกว่า ๑๒๕ ล้านบาทต่อปี สังเกตได้ว่าประโยชน์ทางตรงอาจจะไม่มากแค่ ๑๔ ล้านบาทต่อปี แต่นี่คือเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ชาวบ้านหาปูหาปลาหาพืชผักมาขาย ในส่วนของประโยชน์ทางอ้อมก็มีเรื่องการอนุบาลพันธุ์ปลา รองรับระบบนิเวศของแม่น้ำอิง-โขงที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

“เฉพาะเรื่องการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เราพบว่าพื้นที่ป่าบุญเรืองสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง ๑๙๒,๕๑๕ ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี คิดเป็นมูลค่าการกักเก็บมากกว่า ๒๒ ล้านบาท

“ถ้าเขาจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ ก็ต้องมีการถมดิน ที่แน่ๆ ต้องขนดินมาถมให้สูงขึ้น ๕ เมตร จะเอาดินที่ไหนมาถมก็ย่อมส่งผลกระทบกับธรรมชาติ ถ้าทำเขตเศรษฐกิจพิเศษตรงนี้ ปิดกั้นทางน้ำ ผมกระทบไม่ใช่แค่บ้านบุญเรือง ตำบลบุญเรืองเท่านั้น แต่กระทบทั้งเชียงของ ขุนตาล พญาเม็งราย ป่าชุมชนรอบข้าง จะมีปัญหาทั้งเรื่องน้ำ เรื่องสารเคมีที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ ความมั่นคงด้านต่างๆ ของชุมชนจะสูญเสียไป ถึงตอนนั้นจะใช้เงินห้าหมื่นล้านหรือแสนล้านก็เอานิเวศเก่ากลับคืนมาไม่ได้

“พวกเราเป็นตัวแทนคนลุ่มน้ำอิง เป็นตัวแทนคนไทย เป็นคนที่ได้ดูแลฐานทรัพยากรให้ส่งต่อถึงลูกถึงหลาน เป็นตัวแทนของคนกลุ่มเล็กๆ ที่เล็งเห็นคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่และช่วยกันดูแลทรัพยากรเหล่านี้ ที่จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องภาวะโลกร้อน รางวัลอิเควเตอร์จึงไม่ใช่สำหรับชาวบุญเรืองเท่านั้น แต่เป็นรางวัลของทุกคน ป่าบุญเรืองเป็นของทุกคนในโลก”