คอลัมน์ -จากบรรณาธิการ นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 413 กรกฎาคม 2562

ซูฟี - จากบรรณาธิการ สารคดี ฉบับที่ 427

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ หรือราว ๕๐๐ ปีก่อน ดินแดนปัตตานีเป็นที่ตั้งของอาณาจักรปาตานีดารุสสลาม ปกครองโดยกษัตริย์นามอินทิรา  ผู้คนในบริเวณนี้นับถือศาสนาฮินดูและพุทธกันมาก่อนหน้านี้ยาวนานหลายร้อยปี  แต่วันหนึ่งก็มีเหตุให้กษัตริย์อินทิราทรงเปลี่ยนศาสนามาเป็นอิสลาม และเปลี่ยนพระนามเป็นสุลต่านอิสมาอิล ชาห์

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าศาสนาอิสลามจากอินเดียที่เผยแผ่เข้ามาในดินแดนมลายูช่วงเวลานั้น คืออิสลามนิกายซูฟี

ทุกวันนี้เราอาจคุ้นเคยกับนิกายใหญ่ของอิสลามอย่างซุนนีและชีอะฮ์ แต่ไม่ค่อยจะได้ยินว่าซูฟีคืออะไร

ขณะที่ศาสนาพุทธมีนิกายเถรวาทหรือหินยาน ที่เคร่งครัดในพิธีกรรมและจารีตปฏิบัติ แต่ก็มีนิกายเซนที่ไม่ใส่ใจพิธีกรรม เน้นการทำสมาธิ เข้าถึงนิพพานการรู้แจ้ง ละทิ้งตัวตน รวมถึงการใช้ “ปัญญา” ขบปริศนาธรรม

ในแง่นี้ก็อาจเทียบเคียงว่าซูฟีคือเซนของอิสลามได้ไม่เคอะเขิน

นิทานซูฟีเรื่องหนึ่งเล่าถึงชายอาหรับยากจนกับภรรยาผู้ละโมบที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย    ฝ่ายภรรยานั้นรุกเร้าให้สามีถวายหม้อน้ำแก่พระผู้เป็นเจ้า ด้วยหวังว่าพระผู้เป็นเจ้าจะประทานของบางสิ่งบางอย่างให้  สามีที่ลังเล ๆ แต่สุดท้ายก็ทำตามภรรยา แล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นจริง เพราะในหม้อน้ำนั้นกลับเต็มไปด้วย “ทองคำ”

แต่มันคือความย้อนแย้ง เพราะสำหรับชีวิตกลางทะเลทราย ทองคำที่มีค่านั้นไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

สื่อนัยถึงแก่นแท้ของชีวิต ที่ความมั่งคั่งหรือความละโมบนั้นดีแต่ชักนำเราให้หนีห่างออกจากพระผู้เป็นเจ้า

กวีมุสลิมซูฟีผู้แต่งนิทานเรื่องนี้คือ ญะลัล อัล-ดิน มูฮัมหมัด รูมี (Jalal al-Din Muhammad Rumi) ผู้มีชื่อเสียงในฐานะกวีเอกของเปอร์เซียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓  ซึ่งถึงทุกวันนี้ผลงานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ไปทั่วโลก  ต่อมาลูกศิษย์ของรูมีได้ก่อตั้งลัทธินักบวช “ลมวน” (The Whirling Dervishes) ซึ่งใช้การเต้นระบำหมุนวนรอบตัวเองประกอบดนตรี เป็นวิถีเข้าฌาน ปลดปล่อยตัวตนเพื่อเข้าถึงเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า

ถ้าใครพอจะคุ้นเคยกับภาพแขกขาวเต้นระบำสวมหมวกทรงสูง สวมเสื้อสีขาวแขนกระบอกและกระโปรงบาน ๆ สีขาว นั่นละการเต้นลมวนของนิกายซูฟี ซึ่งคนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่าเป็นการเต้นระบำพื้นเมืองของชาวตุรกี

รูมีเชื่อว่าการเจริญภาวนาผ่านบทกวี การเต้นรำ และดนตรี จะโน้มนำจิตจนเกิดประสบการณ์สัมผัสพระเจ้าได้โดยตรง

กวีเอกซูฟีชาวเปอร์เซียอีกท่านหนึ่งคือ โอมาร์ คัยยัม เจ้าของกวีนิพนธ์นาม รุไบยาต “ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดูตัว” ที่คนไทยคุ้นเคย แต่อาจไม่รู้จักเจ้าของบทประพันธ์

ว่ากันว่าซูฟีเกิดขึ้นจากความเบื่อหน่ายในการแย่งชิงอำนาจของชนชั้นสูง จึงแสวงหาการละทิ้งตัวตน ทำสมาธิ ทำใจกายให้บริสุทธิ์เพื่อให้พระเจ้าได้เข้ามาสถิตในตัวเรา ด้วยเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งกำเนิดขึ้นจากพระเจ้า และพระเจ้าดำรงอยู่ในทุกสรรพสิ่ง

ความที่นิกายซูฟีค่อนข้างเปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลาย ใช้ดนตรี เสียงเพลง การท่องนามพระเจ้าซ้ำ ๆ  ซูฟีจากเปอร์เซียจึงเผยแผ่เข้ามาในอินเดีย และจากอินเดียมาคาบสมุทรมลายู  ชนพื้นเมืองต่างรับศาสนาอิสลามได้ง่าย เพราะซูฟีไม่เข้มงวด ไม่บังคับให้ละทิ้งความเชื่อดั้งเดิม  นอกจากนี้ซูฟียังเชื่อในเรื่องลี้ลับ นักบุญ ทำให้เข้ากับความเชื่อเรื่องผีของชนพื้นเมือง

คำว่าซูฟีมาจากภาษาอาหรับ ซูฟ แปลว่าขนแกะ เชื่อว่ามุสลิมซูฟีดั้งเดิมสวมเสื้อคลุมขนแกะที่แสดงถึงการใช้ชีวิตอย่างสมถะเรียบง่าย แต่บ้างก็ว่ามาจากคำว่าซาฟา แปลว่าบริสุทธิ์ หรือจากโซเฟียในภาษากรีก ซึ่งหมายถึงญาณหยั่งรู้

แม้ในอดีตซูฟีจะทำให้อิสลามแพร่หลายไปดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก แต่ในวันนี้มุสลิมหัวรุนแรงกลับต่อต้านซูฟีด้วยมองว่าย่อหย่อน แตกแถว  สองสามปีที่ผ่านมามัสยิดใหญ่ของมุสลิมซูฟีในปากีสถานถูกวางระเบิดจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคน

ซูฟีเห็นคุณค่าของชีวิต แต่ก็ตระหนักถึงความไร้ภาวะ ตัวตน คล้ายกับอนัตตาในทางพุทธ ดังบทกวีของรูมีที่รจนาไว้ว่า

“We come spinning out of nothingness, scattering stars like dust.”

“เราเป็นดั่งธุลีแห่งดาราพร่างพราย ถักทอขึ้นจากความว่างเปล่า”

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com