ถัดจากเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราช คัมภีร์โลกศาสตร์มักกล่าวต่อไปถึงบุคคลผู้ได้รับสมญานามว่า “จุลจักรพรรดิราช” คือ “พระยาศรีธรรมาโศกราช” ซึ่งแม้มิได้ปราบได้ทั่วทั้งสี่ทวีปทั่วจักรวาล แต่ก็แผ่บารมีปกครองตลอดอาณาชมพูทวีป
เรื่องตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะกลายเป็นว่ามีการผนวกเอาพระเจ้าอโศกมหาราช บุคคลซึ่งมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ พ่วงเข้ามาอยู่ในคัมภีร์ด้วย
เรื่องกล่าวถึงพระยาศรีธรรมาโศกราช (ศรี+ธรรม+อโศก+ราชะ) ว่าทรงเป็นกษัตริย์ผู้เปี่ยมบารมี จนท้าวพระยาทั่วทั้งชมพูทวีปต่างมาเฝ้าแหนถวายราชสักการะ
ใช่แต่เท่านั้น ตลอดไปถึงเทพยดาและหมู่สัตว์ทั้งหลายในชมพูทวีปต่างพร้อมใจกันมาเป็นข้ารองบาท
“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าว่าทุกวัน หมู่เทวดาจากเขตหิมพานต์จะนำเอาน้ำจากสระอโนดาตมาถวายให้เป็นน้ำเสวยน้ำสรง (น้ำกินน้ำใช้) บางพวกก็หอบหิ้วผลไม้รสชาติหอมหวานจากป่าหิมพานต์ เช่นมะขามป้อม สมอ มะม่วง อ้อยซึ่งต้นใหญ่ “เท่าลำหมาก” มะพร้าว ลูกตาล หว้า ลูกลาน ลูกไทร “ลูกแฟงแตงเต้า” นานาพรรณมาถวายให้เสวย
แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน อย่างนกยูง นกกระเรียน นกกาเหว่า ก็ยัง “ชวนกันมาฟ้อนรำตีปีกฉีกหางแลร้องด้วยสรรพสำเนียงเสียงอันไพเราะ” ส่วนนกการเวกก็บินจากป่าหิมพานต์มาขับร้องบำเรอพระองค์
เสียงนกการเวกนั้นแว่วหวานไพเราะจับใจนัก “ไตรภูมิพระร่วง” ยกตัวอย่างว่า “เด็กอันท่านไล่ตีแลแล่นหนี ครั้นว่าได้ยินเสียงนกนั้นร้องก็มิรู้สึกที่จักแล่นหนีได้เลย”
อีกทั้งนกเปล้า นกแขกเต้า และนกสารพัดชนิด ต่างช่วยกันคาบเอารวงข้าวจากริมสระฉัททันต์ในป่าหิมพานต์มาถวายไว้ให้เป็นของเสวยของพระยาศรีธรรมาโศกราช อีกวันละ ๙,๐๐๐ เกวียน ซึ่งมาถึงแล้วก็ไม่ต้องลำบากให้ใครมาตำมาขัดสีอะไรอีก เพราะจะมี #ทีมหนูป่า ยกโขยงมาช่วยกันกัดแทะแกลบรำจนหมดจด เปลี่ยนข้าวเปลือกเป็นข้าวสารด้วยฝีปากอันประณีต “แม้นว่าเมล็ดหนึ่งก็ดี บ่มิได้หักเลย”
ฝ่ายฝูงผึ้งฝูงมิ้ม (ผึ้งตัวเล็ก) ก็มาช่วยทำรวงรัง ตั้งโรงงานผลิตน้ำผึ้งบรรจุลงโอ่งลงกระออม (เครื่องจักสาน ยาด้วยชัน ใช้ใส่น้ำ) ถวายไว้ให้ทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัยเป็นประจำสม่ำเสมอ
ส่วนไม้ฟืนที่ใช้หุงข้าวต้มแกงในโรงครัวก็ไม่ต้องลำบากให้บ่าวไพร่ไปตัดฟัน เพราะ “ฝูงหมีทั้งหลายอันอยู่ในป่าหากหั่นฟืนมาส่งแก่ชาวครัวทั้งหลายทุกวัน ด้วยบุญแห่งพระยาศรีธรรมาโศกราชนั้นแล”
อ่านๆ ไปแล้วก็อดนึกถึงเจ้าหญิงในการ์ตูนดิสนีย์ไม่ได้ อย่างเช่นสโนไวต์ ซึ่งมีฝูงสัตว์มาช่วยทำงานบ้าน ในระหว่างที่ไปพำนักลี้ภัยการเมืองจากราชินีแม่มดใจร้ายอยู่กับคนแคระทั้งเจ็ด
สารพัดอาหารหวานคาวบรรดาที่ทวยเทพและสัตว์นานาชนิดนำมาถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชนี้ แน่นอนว่าพระองค์ย่อมมิอาจใช้สอยส่วนพระองค์ได้หวาดไหว ดังนั้นในแต่ละวันจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดแบ่งนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ก่อน ต่อจากนั้นจึงพระราชทานแก่พระมเหสี คือพระนางอสันธิมิตตา พระสนมทั้ง ๑๖,๐๐๐ ตลอดจน “ลูกเจ้าลูกขุนทมุนทนายไพร่ฟ้าข้าไททั้งหลายในเมืองนั้นทุกคน”
พระนาม “ศรีธรรมาโศกราช” นี้ นับถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นพระนามแห่งกษัตริย์ “ต้นแบบ” ผู้ทรงเปี่ยมด้วยบุญญาธิการบารมี
คุณไมเคิล ไรท์ นักปราชญ์ในทางอุษาคเนย์ศึกษาผู้ล่วงลับไปแล้ว เคยตั้งข้อสังเกตว่านับแต่หลังรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ไม่มีมหาราชาองค์ใดในอินเดียจะกล้าเฉลิมพระนามพระองค์เองด้วยนามนี้อีก เพราะเกรงว่าจะถูก “หมั่นไส้” แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับอิทธิพลคตินี้มาจากอินเดียกลับนำนามนี้มาใช้เฉลิมพระนามกษัตริย์ ดังมีตำนานว่าด้วยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ผู้สถาปนาอาณาจักรตามพรลิงค์ในคาบสมุทรภาคใต้ ซึ่งหลายท่านเชื่อกันว่าหมายถึงเมืองนครศรีธรรมราช
ต่อมานามนี้กลายเป็นตำแหน่งขุนนางผู้ครองเมืองสุโขทัย ดังปรากฏในจารึกที่ฐานเทวรูปพระอิศวรสำริด พบที่เมืองกำแพงเพชร กล่าวถึงการสถาปนาเทวรูปเมื่อปี ๒๐๕๓ โดย “เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ซึ่งสอดคล้องกับพระไอยการนาทหารหัวเมืองในกฎหมายตราสามดวง ที่ระบุว่าเจ้าเมืองสุโขทัย มีตำแหน่งนามคือ “เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชฯ”