ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน
“วันนี้ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากลาว ทั้งในแง่ความต้องการใช้ไฟฟ้า ความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเขื่อนไซยะบุรี บริษัทไม่เคยศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน เป็นความเสี่ยงที่ก่อสร้าง และจะยิ่งเสี่ยงถ้าสร้างเขื่อนหลวงพระบาง”
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง ให้ความเห็นในที่ประชุมร่วมระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อหารือถึงข้อกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการให้เงินกู้โครงการเขื่อนหลวงพระบาง การประชุมครั้งนี้มีผู้แทนธนาคารพาณิชย์ ๖ แห่งร่วมรับฟัง พร้อมด้วยองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน องค์กรแม่น้ำนานาชาติ เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๓ ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเชิญตัวแทนภาคประชาสังคมมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำโขงและเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า
ก่อนนี้เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยเชิญ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นแม่น้ำโขงและเขื่อนไซยะบุรีมาแล้ว
การประชุมร่วมถูกจัดขึ้นเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่อนุมัติเงินกู้ให้บริษัทเอกชนสร้างเขื่อนได้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง เพื่อหาทางเยียวยา ป้องกันรักษา ไม่ให้ “แม่น้ำนานาชาติ” ได้รับความเสียหายมากไปกว่านี้
โครงการเขื่อนหลวงพระบาง (Luang Prabang Hydropower Project) มีกำลังการผลิตติดตั้ง ๑,๔๒๐ เมกะวัตต์ มีบริษัท ปิโตรเวียดนาม เป็นผู้พัฒนาโครงการหลัก ตัวเขื่อนตั้งอยู่ในเขตประเทศลาว ห่างจากหลวงพระบางเมืองมรดกโลกขึ้นไปทางตอนเหนือประมาณ ๒๕ กิโลเมตร มีแผนที่จะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าเวียดนาม ล่าสุดมีรายงานว่าบริษัทเอกชนของไทยให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุน
สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นเขื่อนที่อาศัยการไหลของแม่น้ำขับเคลื่อนกระกวนการผลิตไฟฟ้า จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและเงินทุนมหาศาลในการพัฒนาโครงการ แหล่งที่มาเงินทุนคือธนาคาร ยกตัวอย่างเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว เช่น เขื่อนไซยะบุรี ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารไทย ๖ แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทิสโก้ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
เขื่อนไซเปียน-เซน้ำน้อย ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารไทย ๔ แห่งคือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
นอกจากผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ยังชี้ให้ความเห็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geo-political risk) ที่อาจเกิดกับลาวหากลงทุนสร้างเขื่อนเพิ่ม
“ถึงตอนนี้จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของลาว และมีความเสี่ยงว่าลาวจะจ่ายเงินกู้คืนให้แก่จีนไม่ได้ ต่อไปจีนอาจเข้ามาจัดการระบบสายส่งไฟฟ้าและเขื่อนต่างๆ ภายในลาวด้วยตัวเอง”
คำกล่าวข้างต้นสอดรับกับที่เว็บไซด์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ Posttoday.com นำเสนอและพาดหัวข่าวว่า “ลาวยอมให้จีนเข้าดำเนินการเขื่อนผลิตไฟฟ้าแลกหนี้ก้อนโต” เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๓ เนื้อข่าวระบุว่าที่ผ่านมาลาวลงทุนมหาศาลในโครงการเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เนื่องจากมีเป้าหมายที่จะเป็นแบตเตอรี่ของอาเซียน แหล่งเงินกู้ส่วนใหญ่คือจีน อย่างไรก็ตาม ถึงเวลานี้โครงการเขื่อนต่างๆ ทั้งที่อยู่บนแม่น้ำโขงสายหลักและแม่น้ำสาขา ตลอดจนโครงการรถไฟความเร็วสูง กำลังสร้างภาระหนี้ก้อนโตให้กับรัฐบาลลาว
ธนาคารโลกประมาณสถานการณ์ไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ ว่า หนี้ของลาวจะพุ่งขึ้นจากร้อยละ ๕๙ ของปีก่อนเป็นร้อยละ ๖๘ ของจีดีพีในปีนี้ ขณะที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) เตือนว่า ลาวมีแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้ในอนาคตอันใกล้ ขณะนี้บริษัทสัญชาติจีนที่เข้ามาดำเนินการในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าของลาวได้รับผลกระทบจากการชำระหนี้ล่าช้าจากรัฐบาลลาวแล้วหลายบริษัท
ครูตี๋ตั้งคำถามว่า “ทำไมธนาคารหลายแห่งของเราจึงอยากเข้าไปในสถานการณ์เช่นนี้ ?” และยืนยันว่าต้องการให้ธนาคารไทยทุกแห่งทบทวนนโยบายให้เงินกู้แก่บริษัทผู้ลงทุนสร้างเขื่อน ที่สำคัญคือปรับมาตรการพิจารณาให้สินเชื่อแก่โครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง
นอกจากครูตี๋แล้วตัวแทนแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ยังนำเสนอเหตุผลหลัก ๕ ประการ ที่ธนาคารไทยไม่ควรปล่อยกู้ให้แก่โครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง สรุปได้ดังนี้
๑. ประเทศไทยไทยไม่มีความจําเป็นต้องซื้อไฟฟ้าที่มาจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เนื่องจากปัจจุบันปริมาณไฟฟ้าสํารองของประเทศไทยมีมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-๑๙ ปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงกว่าร้อยละ ๕๐ หรือมากกว่า ๑๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ เทียบเท่าไฟฟ้าทีได้จากเขื่อนหลวงพระบางประมาณ ๖.๘ เขื่อน กระทั่งมีข่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะพิจารณายกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
๒. การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสูง ผลกระทบหลายด้านมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าเขื่อนไซยะบุรี อาทิ ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว ความเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนสถานมรดกโลกของเมืองหลวงพระบาง นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทเจ้าของโครงการไม่มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่คํานึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)
๓. ผลของการปรึกษาหารือล่างหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขงที่ ๔ ประเทศสมาชิกเคยร่วมลงนาม ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้เรียกร้องให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมก่อนสร้างเขื่อนหลวงพระบาง โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน
๔. การสร้างเขื่อนหลวงพระบางมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเมือง เนื่องจากมีรายงานว่าล่าสุดประเทศจีนเป็นเจ้าหนี้ของลาวมากถึงร้อยละ ๕๐ และอาจเข้ามาแทรกแซงกิจการบางอย่างในอนาคต
๕. ความเสี่ยงทางการเงินอาจเพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศลาวถูกลดอันดับเครดิตของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) รวดเดียว ๒ ขั้น จาก B3 เป็น Caa2 (ระดับ junk bond)
ส.รัตนมณี พลกล้า มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) ทนายความของเครือข่ายฯ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมด้วยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “สำหรับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ถึงแม้จะมีบริษัทเอกชนไทยเข้าไปลงทุน แต่ไม่สามารถขอข้อมูลได้ อ้างว่าเป็นความลับทางการค้า คำถามคือ เราจะอย่างไรให้ภาคทุน รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ที่อนุมัติเงินกู้เกิดความรับผิดชอบ ขณะนี้ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR) แล้ว และก่อนหน้านี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยตรวจสอบการดำเนินงานโครงการเขื่อนไซยะบุรี ทางบริษัทบอกว่าปฏิบัติตามกฎหมายของลาว แต่ถึงตอนนี้ต้องทราบว่า กฎหมายลาวระบุแล้วว่าให้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน แต่การบังคับใช้และคุณภาพของรายงานก็ยังถูกตั้งคำถาม ถึงเวลานี้คิดว่าการธนาคารที่ยั่งยืน จำเป็นต้องยึดหลักการในการป้องกันผลกระทบหรือ precautionary principle”
มีรายงานการศึกษาว่าเขื่อนหลวงพระบางจะสร้างผลกระทบต่อแม่น้ำโขง นับตั้งแต่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรราย ลงไปถึงเมืองหลวงพระบาง แม่น้ำโขงบริเวณนี้มีระบบนิเวศย่อยมาก มีแม่น้ำสาขาถึง ๓๓ สาย และมีจุดที่แม่น้ำโขงลึก (deep pools) ถึง ๙๐ เมตร ถึง ๗ แห่ง หากสร้างเขื่อนหลวงพระบางระบบนิเวศอันมีค่าจะหายไป
“แม่น้ำโขงเสียหายเอากลับคืนมาไม่ได้ หวังว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยจะมองเห็นปัญหา และพิจารณาการให้เงินกู้แก่บริษัทอย่างมีธรรมาภิบาล ตามแนวทางการธนาคารที่ยั่งยืน ปรับมาตรการพิจารณาให้สินเชื่อแก่โครงการเขื่อนหลวงพระบาง” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว กล่าวทิ้งท้าย