เรื่องและภาพ : สุชาดา ลิมป์

นับแต่เกษตรกรทุเรียนชายแดนใต้เข้า “โครงการทุเรียนคุณภาพ” ฝันที่ไม่กล้าฝันของพวกเขาก็เป็นจริง เมื่อหมอนทองที่เคยขายได้กิโลกรัมละ ๓๕ บาท ก้าวกระโดดในช่วงสองสามปีเป็น ๑๑๕ บาท ทั้งยังลือกันว่ารสชาติไม่แพ้ทุเรียนจันท์

วันที่เราตามมาพิสูจน์ที่มาและที่ไป ได้ยินใครบางคนร้องเตือน

“อย่ามัวเดินก้มหน้า ระวังเงินทองตกใส่หัว!”

Special Scene : หมอนทองมลายู จะไม่ MOVE ON เป็นวงกลมอีกต่อไป

:: อดีตของทุเรียนชายแดนใต้ ::

แม้การปลูกทุเรียนไทยจะขึ้นชื่อในภาคตะวันออก

โดยเฉพาะจันทบุรีจังหวัดเดียวก็ให้ผลผลิตครึ่งหนึ่งของผลผลิตรวมทั้งประเทศ

ยังประกาศศักดิ์ศรีด้วยงานมหกรรมทุเรียนโลกในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมทุกปี

แต่หากย้อนความเป็นมาในถิ่นไทย จุดเริ่มสายพันธุ์มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราชก่อน ย้อนกว่านั้นคือเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย คำว่า “ทุเรียน” (durian) จึงมีรากศัพท์จากคำว่า duri (หมายถึง หนาม) รวมกับคำต่อท้าย -an เพื่อสร้างเป็นคำนามในภาษามลายู

“ที่ผ่านมาทุเรียนไทยที่ส่งออกแบ่งเป็น ผลสด แปรรูปแบบแช่เย็น แช่แข็ง และอื่นๆ ผลสดเกือบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ จะส่งไปตลาดจีนซึ่งนับวันยิ่งมีความต้องการสูงโดยเฉพาะพันธุ์หมอนทอง น่าเสียดายว่าแต่ไหนแต่ไรมาผู้ซื้อผลสดรายใหญ่มักซื้อจากจันทบุรีและชุมพรเป็นหลัก เพราะทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีคุณภาพยังให้ผลผลิตตามฤดูกาลต่ำ และส่วนใหญ่มีหนามสีแดง เป็นลักษณะของทุเรียนโทรมที่ขาดการบำรุงปุ๋ยและน้ำ ปล่อยให้ผลิดอกออกผลตามธรรมชาติแล้วขายยกสวน อาศัยเพียงฟ้าฝน ผิวพรรณจึงไม่เต่งตึง กลายเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนภาคใต้ ขายกันแถวชุมพรลูกละ ๒๐ บาทก็มี”

ศรันย์ สุขประวิทย์ หัวหน้าโครงการทุเรียนคุณภาพ ภายใต้การรับผิดชอบของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ย้อนปัญหาก่อนที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จะนำองค์ความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาช่วยพัฒนาผลผลิต

“ด้วยสภาพอากาศที่ชายแดนใต้ไม่เอื้อเหมือนภาคตะวันออก เกษตรกรทุเรียนจึงมักประสบปัญหาโรค แมลง การระบาดของหนอนเจาะทุเรียน ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดี แม้จะป้องกันเต็มที่แต่ก็มีโอกาสผิดแผนเสมอ บางทีพ่นยาตอนเช้าพอตอนเย็นฝนตกยาที่ฉีดป้องกันก็ชะไป แมลงก็ขึ้นไปวางไข่ได้อีก ถ้าไม่สามารถกำจัดไข่ผีเสื้อได้ภายใน ๓-๔ วัน ก็หมดสิทธิ์ป้องกันแล้ว เพราะระยะฟักตัวของไข่สั้นมาก ไม่กี่วันหนอนก็ออกจากไข่ไชลงทุเรียนเรียบร้อย ปีไหนฝนน้อยถ้าฉีดสารป้องกันแมลงทุก ๑๕ วัน ยังพอควบคุมง่าย แต่ปีไหนอากาศไม่เป็นใจ ฝนตกทั้งวันมันก็ชะล้างยาไปหมด จึงมักเจอปัญหาทุเรียนเน่าจำนวนมากเสมอ”

ประกอบกับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีปัญหาที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันหลายมิติ โดยเฉพาะวิถีทำเกษตรเชิงเดี่ยวและการไม่มีงานทำ แต่ไหนแต่ไรชาวบ้านจำนวนมากจึงมีฐานะยากจน

ปี ๒๕๖๑ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เล็งเห็นถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงความมั่นคง จึงเข้ามาดำเนินการสร้างต้นแบบการพัฒนาที่เหมาะสม

โดยใช้ทุเรียน-พืชของท้องถิ่นเป็นตัวนำ แล้วขอความร่วมมือจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเติมความรู้ให้เกษตรกรผู้ร่วมโครงการอย่างเป็นระบบ

:: ระเบิด (ทุเรียน) จากภายใน ::

เพื่อให้ได้ทุเรียนชายแดนใต้ที่มีคุณภาพ

จึงเกิดแผนปฏิบัติการ “ระเบิดจากภายใน”

มุ่งพัฒนาทั้งหัวใจเกษตรกรและทุเรียนไปพร้อมกัน

เริ่มจากหาเกษตรกรผู้มีใจเข้า “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ทุเรียนคุณภาพ)” เพื่อศึกษากระบวนการผลิตทุเรียนคุณภาพจากปราชญ์ในท้องที่ชายแดนใต้และในพื้นที่ปลูกทุเรียนสำคัญของไทยอย่างระยอง จันทบุรี และตราด

“เราแบ่งหลักสูตรการผลิตทุเรียนออกเป็น ๔ ระยะ เริ่มตั้งแต่หลังเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการปลูกครั้งใหม่ ระยะต่อมาเป็นการดูแลรักษา เกษตรกรจะได้รับคู่มือเรื่องระบบน้ำในแปลงเพื่อให้มีการกระจายน้ำสู่ต้นทุเรียนได้เพียงพอตลอดปี ใส่ปุ๋ย แต่งผล ดูแลโคนต้นให้มีความสะอาด ขยันตัดหญ้าใต้โคนต้น คอยตัดแต่งกิ่งให้ต้นทุเรียนมีทรงพุ่มตามมาตรฐานจะได้ดูแลจัดการแปลงได้ง่าย พ่นสารป้องกันโรคและแมลง กำจัดวัชพืชสวนทุเรียน โยงกิ่ง ผสมเกสร และอีกหลายอย่างที่ต้องจัดการให้ครบถ้วนจนถึงระยะที่สามซึ่งเป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยจะมีเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นช่วยติดตามในทุกช่วงการผลิตไปจนถึงระยะสุดท้ายที่เป็นการจำหน่าย จะมีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ดูแลเรื่องการตลาดไปยังจีนอีกที”

ศรันย์-หัวหน้าโครงการทุเรียนคุณภาพเสริมว่า โครงการกำหนดความแก่ของทุเรียนที่เหมาะสมไว้ที่ ๔๕-๘๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เรื่องยากหากเกษตรกรมีความซื่อสัตย์ปฏิบัติตามหลักสูตรเคร่งครัด และขยันเอาใจใส่ต้นทุเรียน ผลผลิตย่อมได้แป้งในทุเรียนมากกว่า ๓๒ เปอร์เซ็นต์ เป็นทุเรียนคุณภาพพร้อมส่งออก

แรกเริ่มปี ๒๕๖๑ ยังเป็นการทดลองเพียงท้องที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา มีเกษตรกรเข้าร่วมเรียนรู้การทำทุเรียนคุณภาพจำนวน ๑๘ คน โดยนำต้นทุเรียนเข้าร่วมโครงการ ๓๓๕ ต้น ปีนั้นได้ผลผลิต ๔๘ ตัน ส่งให้เกษตรกรมีรายได้รวม ๒,๓๓๗,๔๑๓ บาท เฉลี่ยคนละ ๑๒๙,๘๕๖ บาท เฉลี่ยต่อต้น ๘,๕๗๘ บาท (จากเดิมขายได้ ๒,๓๕๐ บาท) ผลสำเร็จจากการนำร่องทำให้ปีต่อมาขยายการดำเนินงานครอบคลุมสามจังหวัดชายแดนใต้ใน ๑๓ อำเภอ ๓๖ ตำบล ของจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี เกษตรกรสนใจเรียนรู้เพิ่มเป็น ๖๖๔ คน นำต้นทุเรียนเข้าร่วมโครงการ ๒๒,๕๐๘ ต้น ได้ผลผลิต ๑,๖๙๙ ตัน เกษตรกรมีรายได้รวมเกือบ ๘๐ ล้านบาท ซึ่งแม้ล่าสุดปี ๒๕๖๓ จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการลดลงเหลือ ๖๔๕ คน กลับมีต้นทุเรียนที่พวกเขาสมัครใจนำเข้าโครงการมากถึง ๒๙,๒๐๑ ต้น ในจำนวนนั้นมีเกษตรกรที่สมัครมาเพิ่มเพื่อจะเตรียมความพร้อมไว้รอขายผลผลิตในฤดูกาลปี ๒๕๖๔ จำนวน ๑๗๐ คน

ปลายเดือนสิงหาคมที่มาเยือนสวนทุเรียนบนเทือกเขาท้องที่ตำบลกาหลง อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ทราบผลบันทึกรายได้ปี ๒๕๖๓ (บันทึกถึงวันที่ ๑๘ สิงหาคม) ว่าได้ผลผลิต ๒,๐๔๐ ตัน เป็นเงิน ๖๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่ยังไม่นิ่งเพราะเป็นผลผลิตจากแปลงทุเรียนส่วนใหญ่ที่เก็บตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงกรกฎาคม แต่ยังเหลือรุ่นสุดท้ายของปีที่ยังรอเก็บอีกในเดือนกันยายน คาดว่าจะได้เพิ่มราว ๕๐๐ ตัน

“เวลานี้ทุเรียนชายแดนใต้ไม่ใช่แค่คุณภาพสูง หนามสีเขียว ทรงสวย ยังมีผลผลิตพอส่งออกตามฤดูกาลด้วย เกษตรกรที่ร่วมโครงการปีแรกอาจยังไม่เห็นผลหรอก แต่ที่ได้แน่คือความรู้ และมีที่ปรึกษาช่วยแก้ปัญหา ผ่านไป ๒-๓ ปี จึงเริ่มเห็นมูลค่าที่แตกต่าง โครงการมีการปรับตัวด้านการแข่งขันราคากับตลาดข้างนอกไปพร้อมกับดูแลสมาชิกควบคู่ ทำให้สมาชิกที่นำผลผลิตมาขายกับโครงการได้ราคาดีไม่น้อยกว่าตลาดข้างนอก เพื่อให้เขาเห็นคุณค่าของความซื่อสัตย์ต่อการรักษามาตรฐานซึ่งสำคัญไม่น้อยกว่าความจำเป็นเรื่องปากท้อง สิ่งนี้จะทำให้เขาได้รับความมั่นคงระยะยาว”

เมื่อทุเรียนคุณภาพมาจากเกษตรกรที่มีศักยภาพ ผลตอบแทนจึงต้องสมน้ำสมเนื้อ

“ตลาดทั่วไปจะให้ราคาเดียวกันหมดโดยเหมายกสวน เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ ๙๐ บาท ไม่สนว่ามีคุณภาพระดับใดเนื่องจากพ่อค้าเห็นว่าสุดท้ายแล้วทุเรียนทุกเกรดต้องไปรวมที่ตลาดใหญ่ในชุมพรและที่นั่นจะคัดเกรดอีกครั้งอยู่ดีเพื่อเลือกลูกที่ได้มาตรฐานส่งออกจีน แต่สำหรับทางโครงการเราจะคิดค่าบริหารจัดการให้เกษตรกรเลี้ยงตัวเองได้ด้วย จึงจะแบ่งการรับซื้อหมอนทองเป็น ๓ ระดับ ให้ราคาต่างกันตามเกรด A B C ถ้าเป็นเกรด A และ B ถือเป็นมาตรฐานส่งออก ไม่มีหนอนเจาะทุเรียน จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ ๑๐๐-๑๑๕ บาท ส่วนเกรด C ที่มีหนอนเจาะทุเรียนจะให้ราคากิโลกรัมละ ๘๐ บาท เพราะแม้ส่งออกแบบผลสดไม่ได้แต่ยังส่งตลาดไท โรงงานตามห้องเย็น หรือโรงกวน โรงทอด เพื่อนำไปแกะเอาเฉพาะเนื้อออกมาแปรรูปค่อยส่งไปจีนหรือจำหน่ายเพื่อบริโภคในประเทศได้ ทุเรียนเกรดตกไซส์มาตรฐานเราก็ยังให้กิโลกรัมละ ๖๐ บาท ซึ่งเป็นการรับซื้อที่สูงกว่าราคาตลาด ยกเว้นทุเรียนที่อ่อนเกินไปไม่เหมาะแก่การตัดขายเพราะไม่อร่อย กับทุเรียนที่เป็นโรคซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อทุเรียนทั้งหมดเราจะไม่รับซื้อเลย”

ขณะที่หัวหน้าโครงการทุเรียนคุณภาพนำชมผลผลิตของสวนแห่งหนึ่งบนเทือกเขากาหลงที่แขวนคาต้นรอตัดในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เขาเผยกติกาเข้มงวดกรณีตรวจพบเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ต่อมาตรฐาน
“ครั้งแรกเราจะตักเตือน หากเตือน ๒-๓ ครั้ง แล้วยังนิ่งเฉยก็จะเชิญออกจากโครงการ”

:: หมอนทองมลายู จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ::

เพราะการนำเกษตรกรรุ่นไม้แก่มาดัดด้วยองค์ความรู้สมัยใหม่อาจไม่ง่าย

ปี ๒๕๖๒ โครงการทุเรียนคุณภาพจึงเปิดรับเยาวชนไม้อ่อนที่สมัครใจเป็น “อาสาทุเรียน” ซึ่งล้วนมีคุณสมบัติเป็นลูกหลานของชาวชุมชนในพื้นที่ บ้างเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่รับมรดกสวนทุเรียนต่อจากพ่อแม่

หน้าที่สำคัญคือเป็นตัวแทนของเกษตรกรที่ร่วมโครงการ เข้ารับการอบรมวิธีผลิตทุเรียนคุณภาพในขั้นตอนต่างๆ ตามศาสตร์พระราชาจากภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานราชการและปราชญ์ชาวบ้าน ตั้งแต่เรื่องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิน น้ำ การป้องกันโรคและแมลง ไปจนกระบวนการเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดแก่เกษตรกรในโครงการ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจด้านเทคนิควิชาการต่างๆ รวมถึงเป็นผู้ติดตามการทำงานตามแปลงของเกษตรกรแล้วส่งรายงานให้ทางโครงการทราบ

“ไม่นานนี้ผมไปประชุมเรื่องเกี่ยวกับชาวสวนทุเรียนไทยที่ชุมพร จึงนำโครงการทุเรียนคุณภาพของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ที่จังหวัดยะลาไปแลกเปลี่ยน ผมเล่าถึงระบบติดตามการทำงานของเกษตรกร รวมถึงคุณภาพของผลผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับยังต้นทางได้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีที่ไหนทำ ปรากฏว่าหลังเลิกงานมีพ่อค้าชาวจีนสนใจซื้อระบบการติดตามทั้งหมด โดยให้เราไปทำ”

เอกพล เพ็ชรพวง ผู้เป็นทั้ง “อาสาทุเรียน” และเกษตรกรในโครงการทุเรียนคุณภาพ รวมถึงรองประธานกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ ตำบลกาหลง อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส สะท้อนภาพนวัตกรรมใหม่

เขาย้อนความว่าหลังเรียนจบประกอบอาชีพครูอยู่หลายปีก่อนผันตนมาเป็นเกษตรกรสวนทุเรียนแทนพ่อที่อายุมากขึ้นทุกวัน ประกอบกับมีความสนใจด้านเกษตรที่รู้เห็นมาแต่เด็กเป็นทุน

“ผมมีสวนทุเรียนหมอนทองเป็นมรดกจากพ่ออยู่ ๑๐ ไร่ จำนวนร้อยกว่าต้น มีต้นที่ให้ผลผลิตได้ ๖๕ ต้น ปี ๒๕๕๙ เป็นปีแรกที่ผมรับช่วงจากพ่อจึงทำไปตามประสา หมั่นตัดหญ้า ใส่ปุ๋ย ได้ผลผลิตราว ๓ ตัน ช่วงนั้นราคาทุเรียนชายแดนใต้อยู่ที่กิโลกรัมละ ๓๕ บาท ปีถัดมาผมหาความรู้จากอินเตอร์เน็ตมากขึ้นแล้วลองทำตาม ก็ได้ผลผลิตเพิ่มเป็น ๕ ตัน ขายได้กิโลกรัมละ ๕๐ บาท ปี ๒๕๖๑ ขยับขึ้นอีกนิดเป็น ๕-๖ ตัน จุดเปลี่ยนจริงๆ คือปี ๒๕๖๒ ผมเข้าโครงการทุเรียนคุณภาพ เป็นอาสาสมัครและเกษตรกรในโครงการ จึงได้เดินทางศึกษาวิธีจากทางภาคตะวันออกทั้งที่ระยองและภาคใต้ด้วยกัน แล้วนำความรู้มาประยุกต์ใช้กับสวนเรา ทำให้ปีที่แล้วผมได้ผลผลิตเพิ่มแบบก้าวกระโดดกลายเป็น ๑๐ ตัน ขายได้กิโลกรัมละ ๘๐ บาท ส่วนปีนี้จะตัดขายปลายเดือนสิงหาคม ผมนับทุเรียนทั้งสวนดูแล้วได้ประมาณ ๓,๐๐๐ ลูก คาดว่าผลผลิตปีนี้น่าจะได้สัก ๑๒ ตัน ขายได้อย่างน้อยกิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท ซึ่งตอนนี้ราคาทุเรียนคุณภาพอยู่ที่กิโลกรัมละ ๑๐๐-๑๑๕ บาท ตกราวลูกละ ๓๐๐-๔๐๐ บาท”

ในวันที่เรามาเยือนสวนทุเรียนบนภูเขา อากาศก่อนฝนตกค่อนข้างอบอ้าวชวนขมวดคิ้ว สวนทางกับใบหน้าของเกษตรกรที่ยังยิ้มรื่น อาจเป็นผลจากหัวใจชุ่มฉ่ำที่รู้ว่าอีกไม่กี่วันจะได้รับเงินก้อนโต

“สมัยก่อนเกษตรกรภาคตะวันออกเขาขยันเข้าสวนดูแลทุกวัน ส่วนภาคใต้นี่มันไม่มีเหตุจูงใจเพราะราคาทุเรียนยังกิโลกรัมละ ๒๐-๓๐ บาท ปีหนึ่งจึงเข้าสวนมาใส่ปุ๋ย ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ก็เข้ามาตัดแล้ว”

เอกชัย เพชรสวัสดิ์ ประธานกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ ตำบลกาหลง อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ช่วยเสริมพลางหัวเราะเขินขณะปันประสบการณ์ในอดีตที่สวนทางกับเรื่องจริงในปัจจุบัน

“เดี๋ยวนี้นะหรือ พอรู้ว่าทุเรียนชายแดนใต้ขายได้ราคาดีก็เข้าสวนกันทุกวันเลย จ้างคนมานอนเฝ้าสวนทุเรียนทุกคืน ป้องกันทุเรียนหาย อย่างที่สวนของผมมีต้นทุเรียนที่นำเข้าโครงการไว้ ๑๕๐ ต้น ถ้าขายก็จะได้ราว ๖๐๐,๐๐๐ บาท แต่คิดดูสิถ้าหายไปสองสามลูกก็เป็นเงินพันกว่าบาทแล้วนะ”

เรื่องเงินๆ ทองๆ จากหมอนทองยังคุยได้อีกยาวหากไม่มีใครเบรก ด้วยเป็นเรื่องใหม่ที่ทำให้พวกเขายากจะกลั้นความสุข แต่ยังมีสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้นได้มากกว่าและเป็นเรื่องที่ต้องวัดใจเกษตรกรพอสมควร

เอกพล-เกษตรกรหนุ่มเผยว่าวันก่อนมีพ่อค้าชาวจีนเสนอเหมาทั้งสวน ๖๕ ต้น ให้ ๙๐๐,๐๐๐ บาท เขาตีราคาคร่าวๆ ว่าถ้าเก็บเกี่ยวทุเรียนได้ ๓,๐๐๐ ลูก ก็จะได้ลูกละ ๓๐๐ บาทแน่นอน แต่เขาก็ปฏิเสธไป

“เพราะผมประเมินจากคุณภาพดูแล้ว ทุเรียนเราไม่มีหนอน ถ้าตัดขายเองน่าจะได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านสองแสนบาท ผมดูแลเป็นอย่างดีมาขนาดนี้แล้วอย่างไรก็ต้องกล้าเสี่ยง”

อาจเพราะอีกบทบาทที่ตนก็เป็นอาสาทุเรียนอยู่ จึงตระหนักถึงการทำตนเป็นต้นแบบให้เกษตรกรเห็นข้อดีของการไม่ปล่อยเหมา เพื่อควบคุมคุณภาพของทุเรียนที่ส่งออกไปจีน เนื่องจากทุกวันนี้มีทุเรียนทั้งแบบมีคุณภาพและแบบไม่ได้มาตรฐาน และปีนี้ยังเป็นปีแรกที่มีนายหน้าชาวจีนมาติดต่อเกษตรกรในสามจังหวัดชายแดนใต้เองถึงสวนโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่เป็นชาวไทยแล้ว เกษตรกรจึงได้ราคาทุเรียนสูง

ประกอบกับตั้งแต่สิ้นปี ๒๕๖๒ จนต้นปี ๒๕๖๓ เกิดสถานการณ์โควิด-๑๙ ให้ประเทศจีนต้องปิดเมืองยาวนาน ผู้คนยิ่งเกิดความต้องการอยากบริโภค ราคาทุเรียนไทยปีนี้จึงยิ่งเป็นที่น่าพอใจ

มีเกษตรกรในโครงการทุเรียนคุณภาพเทใจโอนเอียงไปทางนั้นบ้าง เนื่องจากบางคนพิจารณาว่าผลผลิตปีนี้อาจมีความเสี่ยงเยอะจากสภาพลมฟ้าอากาศ ไหนจะจากสัตว์อย่างแมลงและกระรอกมาขโมยกิน บางสวนที่เกษตรกรขาดแรงงานในการเก็บเกี่ยวก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้อาศัยขายเหมายกสวนเพื่อยกหน้าที่เก็บเกี่ยวให้พ่อค้าชาวจีนจัดการเอง โดยจะมีการประเมินคร่าวๆ ว่าพื้นที่สวนขนาดเท่าไร มีต้นที่เก็บเกี่ยวได้จำนวนแค่ไหน แต่ละต้นติดผลมากน้อยอย่างไร แล้วตีราคาจ่ายล่วงหน้า อาจเหมาไปเลยหนึ่งล้านห้าแสนบาท เกษตรกรรับเงินแล้วไม่ต้องทำอะไรอีก ถึงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตพ่อค้าชาวจีนจะหาแรงงานมาตัดและขนส่งเองเสร็จสรรพ ขณะที่ถ้าขายให้โครงการทุเรียนคุณภาพเกษตรกรต้องหาแรงงานตัดมาขายเอง มีผลผลิตลงเข่งเมื่อไรจึงจะได้เงิน ซึ่งจะได้ราคาดีมากน้อยแค่ไหนก็ยังต้องแบกรับความเสี่ยงอีก

“พ่อค้าชาวจีนเขารู้กันว่าถ้าเป็นทุเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะมีคุณภาพสูง จึงจ้องเข้าหาเกษตรกรในโครงการเรา อันที่จริงก็ถือเป็นประโยชน์ของเกษตรกร เขามีสิทธิ์ตัดสินใจขายให้ใครก็ได้ เกษตรกรบางรายในโครงการจึงขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษว่าปีนี้พวกเขาขอขายเหมาเองได้ไหม เราก็ต้องยอมปล่อย”
แม้เป็นวิธีที่ไม่ค่อยน่าเห็นด้วย แต่สำหรับศรันย์-หัวหน้าโครงการทุเรียนคุณภาพกลับคิดว่าอย่างน้อยก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้เกษตรกรได้รู้ว่าแล้วคุณค่าของตนเองคืออะไร

“เราได้รู้ว่าเขาสามารถต่อรองราคากับพ่อค้าที่มาเหมาโดยอ้างเหตุผลเรื่องการเข้าร่วมโครงการกับเราซึ่งเป็นหลักประกันด้านการดูแลเอาใจใส่ทุเรียนเป็นอย่างดี ทำให้วันนี้พวกเขากล้าที่จะเป็นฝ่ายตั้งราคาขายเหมาผลผลิต ๒๕ ตัน มาได้ในราคาสูงถึง ๓ ล้านบาท ในอนาคตก็หวังจะเห็นศักยภาพที่ชาวชุมชนลุกขึ้นมาต่อยอดสิ่งที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นำทางไว้ให้โดยตั้งกลุ่มกันเองแล้วบริหารจัดการได้เองภายในกลุ่ม แข็งแรงพอที่จะสร้างอำนาจการต่อรอง เด็ดขาดในการเรียกร้องราคาที่เหมาะสมจากพ่อค้าข้างนอก”

เพราะที่สุดแล้วดีร้ายอย่างไร เจ้าหน้าที่เป็นเพียงคนนอกที่ให้คำปรึกษา

แต่ชาวบ้านคือคนในที่ต้องอยู่ต่อไปและรับผิดชอบผลจากอาชีพตนเอง

:: ทางสายใหม่ของ (นักปลูก) ทุเรียน NEW GEN ::

แต่เดิมพืชผลใดๆ จากภาคใต้เมื่อบรรจุลงกล่องนำขึ้นรถบรรทุกแล้ว

จะไปรวมยัง “ล้ง” (โรงรับซื้อในคำเรียกของชาวจีน) ที่จังหวัดชุมพร

เนื่องจากมีท่าเรือลำเลียงสินค้าส่งออกยังพม่า อินเดีย ลังกา บังกลาเทศ เช่นเดียวกับทุเรียนชายแดนใต้ที่ไปรวมกันเพื่อรอขนส่งลงเรือ ออกทะเล สู่ปลายทางที่จีน

ครั้นสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จับมือกับจังหวัดยะลา ก็ได้เข้ามาทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรในโครงการทุเรียนคุณภาพทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้มาคัดแยกเอง ก่อนส่งไปศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ที่จังหวัดชุมพร ซึ่งมีการตกลงกันไว้ว่าจะรับซื้อไว้ทั้งหมด จากนั้นทางบริษัทซีพีจึงดำเนินการขนส่งไปลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบังค่อยส่งไปขึ้นฝั่งที่เมืองกวางโจวในประเทศจีนต่อ

ปี ๒๕๖๓ บริษัทซีพีให้โควตากับโครงการทุเรียนคุณภาพไว้ ๑๐๐ ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้ละประมาณ ๑๘ ตัน (รวมประมาณ ๑,๘๐๐ ตัน) ถือเป็นปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งที่ซีพีส่งออกอยู่ประมาณ ๒๕๐ ตู้คอนเทนเนอร์ (ประมาณ ๔,๕๐๐ ตัน) แสดงให้เห็นถึงความต้องการทุเรียนในตลาดจีนที่ยังสูงมาก แม้ว่าการปลูกทุเรียนในไทยที่ให้ผลผลิตรวมทั้งประมาณราว ๙๐๐,๐๐๐ ตัน จะส่งออกไปจีนมากถึง ๘๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ยังไม่พอต่อความต้องการ แม้ช่วงโควิด-๑๙ ระบาดจนภาคธุรกิจอื่นได้รับผลกระทบ ยอดคำสั่งทุเรียนกลับสูงขึ้น ๓๐-๔๐ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะพันธุ์หมอนทอง เป็นโอกาสให้เกษตรกรทุเรียนคุณภาพพลอยยิ้มกว้าง และกลายเป็นที่มาของการที่มีพ่อค้าจีนบุกเกลี้ยกล่อมเกษตรกรถึงสวนชายแดนใต้

ถึงอย่างนั้น เงินทองเหมาสวนจากพ่อค้าจีนก็อาจไม่หอมเท่ากลิ่นความจีรัง

เพราะหากเกษตรกรเลือกตัดขายส่งให้โครงการ ไม่เพียงเป็นหลักประกันว่าทุเรียนพวกเขาผ่านการคัดกรองเฉพาะที่มีมาตรฐานโครงการจึงรับซื้อ ยังเป็นการช่วยลดปัญหาทุเรียนที่ยังอ่อนไม่พร้อมตัดขายได้

“ปรกติแล้วทุเรียนต้นหนึ่งผมจะตัดผลได้ ๓ รอบ ลูกที่ยังไม่แก่พอก็ยังไม่ต้องรีบตัด แต่ถ้าตัดสินใจขายเหมา เวลาพ่อค้าจีนมาถึงสวนแล้วเขาจะตัดไปหมดทั้งสวน เพราะค่าแรงงานตัดและขนส่งแต่ละครั้งมีต้นทุนเกือบ ๕๐,๐๐๐ บาท ผลที่ยังอ่อนจึงติดไปด้วยเพื่อให้ครบจำนวนที่ทางจีนออเดอร์ไว้ ฉะนั้นแทนที่ผมจะตัดขายแบบได้ราคาดีทั้ง ๓ รอบ ก็กลายเป็นว่าขายได้รอบเดียว”

เอกพล-เกษตรกรวัย ๓๔ ปี สะท้อนสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของหมอน (ทอง) ที่ทำให้เขาหลับฝันดี

“ผมกล้าพูดเลยว่าทุเรียนคุณภาพช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามจังหวัดชายแดนใต้ได้มาก เมื่อก่อนพ่อค้าชาวจีนจะซื้อทุเรียนที่ระยองหรือจันทบุรี แต่ปีนี้น่าอัศจรรย์ที่มีพ่อค้าจีนมาถึงสวนชายแดนซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อน ส่วนหนึ่งอาจเพราะผลผลิตทุเรียนขาดแคลน อีกเหตุผลเพราะเขารับรู้ถึงชื่อเสียงด้านการดูแลทุเรียนให้มีคุณภาพของพวกเราว่ามันเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนแล้วเขาจึงกล้าเสี่ยง เกษตรกรเองก็ดีใจกันมากเพราะการมีทุเรียนขายได้ราคากิโลกรัมมากกว่าร้อยบาทเป็นสิ่งไม่เคยเกิดขึ้นที่ชายแดนใต้ อย่างน้อยที่สุดก็ไม่เคยเกิดเลยในช่วง ๓๐ ปี ที่ผ่านมาขายได้กิโลกรัมละ ๕ บาท ๑๐ บาท สูงสุดที่เคยมีคือกิโลกรัมละ ๕๐ บาท จนมาสองปีนี้ขยับราคาเป็น ๗๐, ๘๐ และดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงกิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท”

ขณะเดินชมสวนจึงต้องคอยแหงนหน้า ระวังเงินทอง-หมอนทองอาจหล่นได้ทุกเมื่อ

เขาเผยความลับเล็กๆ ที่ทำให้ไม่นึกเสียดายพ่อค้าชาวจีนเช่นเพื่อนเกษตรกรรายอื่น

“เพราะผมมีทางเลือกที่ดีกว่า จริงอยู่ว่าผมมีแปลงทุเรียนบนภูเขาที่เอาเข้าโครงการอยู่ ๑๐ ไร่ เป็นต้นที่ให้ผลผลิตได้ ๖๕ ต้น แต่ที่หลังบ้านของผม ยังมีแปลงทุเรียนอยู่อีก ๑๕ ต้น ซึ่งไม่ได้นำเข้าโครงการ ผมจึงมีอิสระที่จะจัดการกับผลผลิตของตนเองได้ ผมนำความรู้จากการเข้าร่วมโครงการนี่ล่ะมาดูแลแปลงหลังบ้านนี้ด้วยระบบการจัดการมาตรฐานเดียวกัน เมื่อถึงเวลาเก็บผลผลิตผมก็แยกตัดขายเองทางออนไลน์เพื่อเป็นอีกช่องทางด้านการขาย ปีหนึ่งๆ ก็ให้ผลผลิตราว ๕๐๐ ลูก”

ด้วยวิธีคิดของ SMART FARMER ที่มองเห็นดอกผลความยั่งยืนระยะยาว

การเดินทางของทุเรียนชายแดนใต้จึงไม่ MOVE ON เป็นวงกลมอีกต่อไป