หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องที่ว่าตามคติโบราณของคนไทย ใต้ผืนแผ่นดินที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มีปลาอานนท์คอยเอาตัวหนุนรองรับไว้ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงคำอธิบายสาเหตุแผ่นดินไหว ว่าเกิดจาก “ปลาอานนท์พลิกตัว”
น่าสงสัยว่าความเชื่อนี้มาจากที่ไหน เพราะตามคัมภีร์โลกศาสตร์ ชมพูทวีปแดนมนุษย์คือเกาะอยู่กลางมหาสมุทร ไม่ได้วางอยู่บนหลังปลาอานนท์
ขณะเดียวกัน ถึงคัมภีร์จะระบุว่ามีปลาขนาดมโหฬารชื่อ “อานนท์” จริง แต่ก็กล่าวถึงในฐานะพญาปลาตัวใหญ่ ยาว ๑,๐๐๐ โยชน์ ว่ายน้ำไปมาในมหาสมุทร ไม่ได้ไปนอนนิ่งกระพริบตาปริบๆ แบกโลกที่ไหน
ความเป็นมาของพญาปลาอานนท์มีรายละเอียดในคัมภีร์หลายเล่ม แต่เล่าไว้คล้ายๆ กัน ดังนี
แรกเริ่มเดิมที ฝูงปลาในมหาสมุทรลงคะแนนเสียงโหวตให้ปลาอานนท์ดำรงตำแหน่งผู้นำ เวลานั้น ปลายังกินสาหร่ายและจอกแหนเป็นอาหาร วันหนึ่ง อานนท์ไม่ทันสังเกตว่ามีปลาตัวน้อยว่ายอยู่ในกอสาหร่าย จึงเผลอฮุบเข้าไปด้วย เคี้ยวกร้วมๆ แล้วรู้สึกว่า เอ๊ะ! วันนี้สาหร่ายอร่อยจริง เกิดสงสัยใคร่รู้ คายออกมาดู ถึงพบเศษศพปลา ปนกับพืชน้ำ จึงสรุปได้ว่ารสชาตินั้นคือโปรตีนจากเนื้อปลา
“พญาปลาก็สำคัญว่า รสปลานี้อร่อยหนักหนา แต่ก่อนไม่รู้ว่าจะอร่อยถึงเพียงนี้ จะทำอย่างไรจึงจะได้กินปลาทุกวันๆ”
อานนท์รู้ดีว่าหากตนเองออกเที่ยวแหวกว่ายไล่จับบริวารมากินก็จะทำให้ฝูงปลาแตกตื่นหนีหายไปหมด จึงคิดวางแผนกลอุบาย
นับแต่นั้นมา เวลาปลาทั้งหลายมาเข้าเฝ้าอานนท์ ขากลับออกไป ตัวไหนว่ายน้ำรั้งท้ายตามเพื่อนๆ ไม่ทัน ก็จะถูกจับกิน พอทำเช่นนี้บ่อยเข้า ปลาทั้งหลายชักเริ่มเอะใจว่าญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของตนหายหน้าไปไหน ดูร่อยหรอไปทุกที จากนั้นพยายามสังเกตดู จนรู้สึกว่าอานนท์มีพิรุธ ปลาน้อยตัวหนึ่งเลยรับอาสาเป็น “ปลานักสืบ” ให้ โดยเมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้า ก็อาศัยจังหวะแอบไปหลบอยู่ในหูของอานนท์ (หูปลาอยู่ตรงไหน ? ใครรู้ช่วยบอกที) จึงได้เป็นประจักษ์พยานแห่ง “เมนูปลา” ตัวสุดท้าย
เมื่อตระหนักถึงความฉ้อฉลของราชา ข่าวคาวนี้ก็แพร่กระจายไปทั่วมหาสมุทร ฝูงปลาทั้งหลายจึงพากันหลีกเร้นกาย ไม่ไปเข้าเฝ้าอานนท์อย่างเคย
เมื่อไม่มีเหยื่อเข้ามา อานนท์เริ่มหิวโหย จึงว่ายน้ำออกตามล่าฝูงปลา จนพบเกาะแห่งหนึ่งเข้า ดูท่าทีแล้ว คาดว่าพวกปลาเล็กปลาน้อยคงไปแอบหลบทางด้านหลังเกาะเป็นแน่ จึงกวาดหางอ้อมไปท้ายเกาะ แล้วค่อยๆ กระชับพื้นที่ เอาหางตีโอบเข้ามาทีละน้อย เหมือนอย่างคนล้อมวงตีอวนจับปลา แต่แล้วด้วยอารามหิวและโลภเจตนา พออานนท์มองเห็นปลายหางของตัวเองกระดิกไหวๆ อยู่ไกลๆ ทางด้านท้ายเกาะ ก็ดันเกิดไปนึกว่าเป็นปลาตัวอื่น จึงอ้าปากงับหางที่มองเห็นอย่างเต็มแรงจนหางขาด เลือดทะลักละลาย น้ำทะเลกลายเป็นสีแดงฉาน ปลาทั้งหลายได้กลิ่นคาวเลือดก็พากันมากลุ้มรุมกัดกินเนื้ออานนท์บ้าง ชั่วเวลาไม่นานก็เหลือแต่ก้างกองแหงแก๋อยู่
จิตรกรรมฝาผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานที่วัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี ในมหาสมุทรตรงเชิงเขาพระสุเมรุ มีภาพปลาใหญ่เอาตัวโอบรอบเขาพระสุเมรุ ทำท่าอ้าปากจะคาบกัดหางตัวเองอยู่ สันนิษฐานว่าช่างคงต้องการเล่าเรื่องราวในบั้นปลายชีวิตของพญาปลาอานนท์นี่เอง
ภาพทำนองนี้เอง อาจนำไปสู่การ “ลากเข้าความ” ตามตาเห็น ว่ามีปลาอานนท์รองรับแผ่นดิน จนเชื่อกันแพร่หลายในเวลาต่อมา
หรือไม่เช่นนั้น ที่มาสำคัญของเรื่องปลาอานนท์ “พลิกตัว” แล้วแผ่นดินไหว อาจมาจาก “บทอัศจรรย์” เช่นฉากเลิฟซีนระหว่างศรีสุวรรณกับนางเกษรา ในเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ ที่ว่า
“ดังกำลังมังกรสำแดงฤทธิ์ ให้มืดมิดกลางทะเลแลเวหา ลงเล่นน้ำดำดึ่งถึงสุธา สะท้านกระทั่งหลังปลาอานนท์นอน ปลากระดิกพลิกครีบทวีปไหว เมรุไกรโยกยอดจะถอดถอน มัตติมิงกลิ้งเล่นชโลทร คงคาคลอนคลื่นคลั่งฝั่งสินธู”
แน่นอนว่าทั้ง “ปลากระดิกพลิกครีบทวีปไหว” หรือ “เมรุไกรโยกยอดจะถอดถอน” ในที่นี้ ย่อมไม่ได้หมายถึงชมพูทวีปหรือเขาพระสุเมรุเป็นแน่
เช่นนั้นแล้ว เผลอๆ เรื่อง “ปลาอานนท์พลิกตัว” อาจเริ่มต้นจากการเป็น “มุขตลกสัปดน” ซึ่งคนสมัยก่อนรู้จักกันดีก็เป็นได้ (๕๕๕)