จากบรรณาธิการ ฉบับที่ 428 พฤศจิกายน 2563

ขาว-ดำ : จากบรรณาธิการ ฉบับที่ 428

ในภาพยนตร์เรื่อง Interstellar ทะยานดาวกู้โลก เล่าถึงอนาคตของมนุษยชาติหลังเกิดสงครามทรัพยากร ที่สร้างความสูญเสียให้แก่คนทั้งโลก 

แถมยังตามมาด้วยภัยพิบัติโรคพืชระบาด และพายุฝุ่นที่ทำให้อากาศที่คนต้องหายใจเลวร้ายตลอดเวลา จนทุกแห่งเต็มไปด้วยฝุ่น แม้แต่โต๊ะกินข้าวในบ้าน 

สังคมโลกอนาคตต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด โดยสิ่งสำคัญที่สุดคืออาหาร ไม่ใช่กองทัพ หรือการสำรวจอวกาศ

และเพื่อให้ประชากรโลกส่วนใหญ่ช่วยกันปลูกพืชอาหาร โรงเรียนและการเรียนการสอนจึงเน้นพัฒนาเด็กให้เป็นเกษตรกรที่ดี  การหนีไปหาโลกใหม่กลายเป็นความคิดต้องห้าม แม้จุดจบของโลกกำลังใกล้จะมาถึง

ความจริงเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศในอดีต อย่างการเดินทางไปดวงจันทร์ของยาน อะพอลโล ๑๑ จึงถูกสอนและปลูกฝังเด็ก ๆ ว่าไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เป็นภาพปลอม เป็นเกมการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียที่แข่งกันในยุคนั้นต่างหาก

การไปดวงจันทร์ของยาน อะพอลโล จึงถูกลบออกจากหน้าประวัติศาสตร์

ราวกับภาพขาวที่ถูกกลับให้เป็นดำ

นี่คือเรื่องราวในภาพยนตร์ แต่ก็สะท้อนความจริงบางอย่างของการอ่านประวัติศาสตร์ 

ใครจะรู้ว่าในอนาคตเรื่องราวต่าง ๆ จะถูกคนยุคหลังมองหรืออ่านอย่างไร เหตุการณ์ไหนในอดีตจะถูกถอดรื้อเพื่อบอกเล่าให้เหมาะสมกับผลประโยชน์ของพวกเขา  

เช่นเดียวกับคนยุคปัจจุบัน ที่มองอดีต ตีความ หรือถอดรื้อมันเพื่อประโยชน์ตามความเห็นของสภาวะสังคมวันนี้

อาจเป็นดำ หรืออาจเป็นขาว อาจต่างกันไปในคนต่างกลุ่มที่สวมแว่นตาต่างสี  

และส่วนใหญ่ก็กำลังสวมแว่นตาโดยไม่รู้ตัว จากอัลกอริทึมของสื่อสังคมออนไลน์  

คอยป้อนแต่เรื่องราวให้ผู้เสพ ได้เห็น ได้อ่าน แต่เรื่องราวที่ตนเองชอบและเห็นด้วย  

และถ้าความเห็นของคนไหน กลุ่มไหนที่เราไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย เราก็พร้อมจะแยกตัวหนีจากคนนั้น กลุ่มนั้น ไม่รับรู้ความมีอยู่ของคนอื่นหรือความเห็นที่แตกต่าง 

ไม่ต้องพูดถึงการโจมตีกัน หรือการสร้างกระแสขาวหรือดำตามแว่นตาของคนแต่ละกลุ่ม

ภาพความจริงที่อาจประกอบด้วยสีหลากสี หรือภาพขาวดำที่อาจประกอบด้วยเฉดสีเทา ๆ หลายน้ำหนัก ก็ค่อย ๆ เหลือเพียงสีเดียวที่เราเลือก หรือถูกทำให้เลือก ด้วยอัลกอริทึมของสื่อออนไลน์ (และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง)

ถ้าทุก ๆ คนเลือกภาพสีเดียวกันเป็นฉันทามติก็คงไม่มีปัญหา ยานอะพอลโล ไม่เคยไปดวงจันทร์ก็จะกลายเป็นความจริงในสายตาของทุกคน

ในภาพยนตร์ โชคดีที่คนกลุ่มน้อยที่ยึดมั่นในข้อเท็จจริง การแสวงหาความรู้และประมวลเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เพื่อเข้าใจกฎธรรมชาติ ได้ช่วยให้มนุษยชาติรอดพ้นจากการสูญสิ้น โดยการออกไปสร้างอาณานิคมในอวกาศ 

แต่ในโลกความจริงนอกภาพยนตร์ เรายังหนีหายนะรอบตัวไปดาวไหนไม่ได้ 

การจะอยู่อย่างสันติบนโลกใบนี้ เราจึงน่าจะพยายามถอดแว่น แสวงหาความเข้าใจในโลกต่างใบแว่นตาต่างสี 

เพราะธรรมชาติมีความหลากหลาย ในขาวอาจมีดำ ในดำอาจมีขาว และสีเทาระดับต่าง ๆ ไล่เรียงอยู่ด้วยกัน

ในภาพยนตร์เรื่อง Interstellar ทะยานดาวกู้โลก เล่าถึงอนาคตของมนุษยชาติหลังเกิดสงครามทรัพยากร ที่สร้างความสูญเสียให้แก่คนทั้งโลก 

แถมยังตามมาด้วยภัยพิบัติโรคพืชระบาด และพายุฝุ่นที่ทำให้อากาศที่คนต้องหายใจเลวร้ายตลอดเวลา จนทุกแห่งเต็มไปด้วยฝุ่น แม้แต่โต๊ะกินข้าวในบ้าน 

สังคมโลกอนาคตต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด โดยสิ่งสำคัญที่สุดคืออาหาร ไม่ใช่กองทัพ หรือการสำรวจอวกาศ

และเพื่อให้ประชากรโลกส่วนใหญ่ช่วยกันปลูกพืชอาหาร โรงเรียนและการเรียนการสอนจึงเน้นพัฒนาเด็กให้เป็นเกษตรกรที่ดี  การหนีไปหาโลกใหม่กลายเป็นความคิดต้องห้าม แม้จุดจบของโลกกำลังใกล้จะมาถึง

ความจริงเกี่ยวกับการสำรวจอวกาศในอดีต อย่างการเดินทางไปดวงจันทร์ของยาน อะพอลโล ๑๑ จึงถูกสอนและปลูกฝังเด็ก ๆ ว่าไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เป็นภาพปลอม เป็นเกมการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียที่แข่งกันในยุคนั้นต่างหาก

การไปดวงจันทร์ของยาน อะพอลโล จึงถูกลบออกจากหน้าประวัติศาสตร์

ราวกับภาพขาวที่ถูกกลับให้เป็นดำ

นี่คือเรื่องราวในภาพยนตร์ แต่ก็สะท้อนความจริงบางอย่างของการอ่านประวัติศาสตร์ 

ใครจะรู้ว่าในอนาคตเรื่องราวต่าง ๆ จะถูกคนยุคหลังมองหรืออ่านอย่างไร เหตุการณ์ไหนในอดีตจะถูกถอดรื้อเพื่อบอกเล่าให้เหมาะสมกับผลประโยชน์ของพวกเขา  

เช่นเดียวกับคนยุคปัจจุบัน ที่มองอดีต ตีความ หรือถอดรื้อมันเพื่อประโยชน์ตามความเห็นของสภาวะสังคมวันนี้

อาจเป็นดำ หรืออาจเป็นขาว อาจต่างกันไปในคนต่างกลุ่มที่สวมแว่นตาต่างสี  

และส่วนใหญ่ก็กำลังสวมแว่นตาโดยไม่รู้ตัว จากอัลกอริทึมของสื่อสังคมออนไลน์  

คอยป้อนแต่เรื่องราวให้ผู้เสพ ได้เห็น ได้อ่าน แต่เรื่องราวที่ตนเองชอบและเห็นด้วย  

และถ้าความเห็นของคนไหน กลุ่มไหนที่เราไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย เราก็พร้อมจะแยกตัวหนีจากคนนั้น กลุ่มนั้น ไม่รับรู้ความมีอยู่ของคนอื่นหรือความเห็นที่แตกต่าง 

ไม่ต้องพูดถึงการโจมตีกัน หรือการสร้างกระแสขาวหรือดำตามแว่นตาของคนแต่ละกลุ่ม

ภาพความจริงที่อาจประกอบด้วยสีหลากสี หรือภาพขาวดำที่อาจประกอบด้วยเฉดสีเทา ๆ หลายน้ำหนัก ก็ค่อย ๆ เหลือเพียงสีเดียวที่เราเลือก หรือถูกทำให้เลือก ด้วยอัลกอริทึมของสื่อออนไลน์ (และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่าง)

ถ้าทุก ๆ คนเลือกภาพสีเดียวกันเป็นฉันทามติก็คงไม่มีปัญหา ยานอะพอลโล ไม่เคยไปดวงจันทร์ก็จะกลายเป็นความจริงในสายตาของทุกคน

ในภาพยนตร์ โชคดีที่คนกลุ่มน้อยที่ยึดมั่นในข้อเท็จจริง การแสวงหาความรู้และประมวลเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เพื่อเข้าใจกฎธรรมชาติ ได้ช่วยให้มนุษยชาติรอดพ้นจากการสูญสิ้น โดยการออกไปสร้างอาณานิคมในอวกาศ 

แต่ในโลกความจริงนอกภาพยนตร์ เรายังหนีหายนะรอบตัวไปดาวไหนไม่ได้ 

การจะอยู่อย่างสันติบนโลกใบนี้ เราจึงน่าจะพยายามถอดแว่น แสวงหาความเข้าใจในโลกต่างใบแว่นตาต่างสี 

เพราะธรรมชาติมีความหลากหลาย ในขาวอาจมีดำ ในดำอาจมีขาว และสีเทาระดับต่าง ๆ ไล่เรียงอยู่ด้วยกัน

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com