ทวีปอุดรกาโร หรืออุตตรกุรุทวีปทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ คือดินแดนแห่งความสมบูรณ์แบบ
พื้นที่ของทวีปเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สว่างไสวตลอดทั้งวันทั้งคืน ไม่มีสัตว์ดุร้าย ต้นไม้ล้วนปราศจากหนามแหลมคม ผืนแผ่นดินราบเรียบเสมอกัน ไม่มีสูงๆ ต่ำๆ ทั้งทวีปล้วนเป็นทุ่งหญ้า “อันเขียวเลื่อมลายพร้อยดุจสร้อยคอนกยูง แล้วอ่อนละมุนดุจนุ่นแลสำลี…ติณชาตินั้นไม่สูงไม่ต่ำกว่ากัน เป็นอันเสมอประมาณ ๔ องคุลี”
องคุลีหนึ่งเทียบกันว่าเท่ากับระยะ ๑ ข้อนิ้ว (หรือเท่าปริมาณน้ำที่เติมลงในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า) ดังนั้น ๔ องคุลีในที่นี้ก็คงตกอยู่ในราว ๔ นิ้วฟุ
น่าสงสัยว่าภูมิทัศน์ทุ่งหญ้าเขียวขจีเรียบกริบสุดลูกหูลูกตาคงเป็น “โลกอุดมคติ” ของผู้ประพันธ์คัมภีร์ยุคโบราณ เพราะหนังสือ “พระมาลัยกลอนสวด” หรือที่เรียกกันว่า “สมุดมาลัย” ก็พรรณนาโลกในยุคสมัยของพระศรีอาริย์ฯ พระอนาคตพุทธเจ้าลำดับถัดไป ในรายละเอียดอย่างเดียวกัน
“แผ่นดินเหมือนคนปราบ ราบกว่าราบดังกลองสี หญ้าอ่อนสี่องคุลี เขียวขจีอันบรรจง น้ำไหลขึ้นข้างหนึ่ง อีกฟากหนึ่งก็ไหลลง เต็มเปี่ยมเหลี่ยมสระสรง เพียงขอบฝั่งอยู่อาจิณ”
ไหนๆ ก็เกิดในสภาพแวดล้อมอันน่ามหัศจรรย์แล้ว ชาวอุตตรกุรุจึงเป็น “เผ่าพันธุ์พิเศษ” ที่แตกต่างจากชาวทวีปอื่นๆ อีกสามทวีปด้วย เช่นทันทีที่คลอดออกมา พลเมืองอุตตรกุรุก็มีร่างกายใหญ่โตเท่ากับชาวชมพูทวีปอายุ ๖ เดือน
ดังนั้นเมื่อเติบโตเต็มที่ ชาวชมพูทวีปสูงแค่ ๔ ศอก (๑ วา) แต่ชาวอุตตรกุรุตัวสูงใหญ่ถึง ๑๓ ศอก
ทั้งหญิงชายล้วนมีรูปร่างหน้าตากิริยางดงาม “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” พรรณนารูปพรรณสัณฐานของสตรีชาวอุตตรกุรุไว้ว่า
“มีนิ้วมือแสล้มๆ ยาวๆ เล็บมือนั้นแดงดั่งแกล้งย้อม ปโยธรนั้นตั้งเต้า บ่มิได้ยานได้คล้อย ท่ามกลางตัวนั้นน้อยกลมงามดังแกล้งรัด…เส้นเศียรกลุ่มเกศนั้นดำสนิทดี ถ้าขยายกระจายออกก็ยาวเลื้อยเฟื้อยลงมาถึงตระโพก แล้วปลายผมนั้นก็งอนขึ้น เหมือนปลายแห่งมีดเชือดเนื้อ”
ด้วยรูปโฉมโนมพรรณงามล้ำเลิศเช่นนี้ ตามจินตนาการของคนโบราณ สาวๆ จากอุตตรกุรุจึงคู่ควรเป็น “นางแก้ว” คู่บารมีพระยาจักรพรรดิราชแห่งชมพูทวีป แต่ท่านผู้เขียนคัมภีร์ก็อาจหลงลืมไปว่า ในอีกหน้าเคยบรรยายไปแล้วว่าชาวอุตตรกุรุ ตัวสูงถึง ๑๓ ศอก (๓ วา ๑ ศอก) อีกนัยหนึ่งคือร่างกายสูงใหญ่กว่าชาวชมพูทวีปสามเท่าตัว
ดังนั้น หากราชินีจากอุตรกุรุต้องมายืนเคียงคู่กับพระสวามี พระจักรพรรดิราชคงสูงไม่ถึงสะเอวของนางแก้วเสียด้วยซ้ำไป !ย้อนกลับมาที่ทวีปอุตตรกุรุอีกครั้ง
ประเด็นสำคัญคือชาวอุตตรกุรุทุกคนทั้งหญิงชาย ไม่ว่าจะแก่เฒ่าเพียงใด ก็จะแลดูดี ผู้หญิงก็ดูเหมือนหยุดอายุไว้แค่ ๑๖ ปี ส่วนผู้ชายก็มีรูปร่างเหมือนคนหนุ่มวัย ๒๐ ตราบจนสิ้นชีวิต
หญิงชายชาวอุตตรกุรุที่รักใคร่ชอบพอใจกัน ก็จะจูงมือกันเข้าไปหาสุมทุมพุ่มไม้มิดชิดเพื่อประกอบกิจ ซึ่งขณะที่ตลอดชีวิต ชาวชมพูทวีปต่างหมกมุ่น “เสพเมถุนธรรม…นับประมาณครั้งไม่ถ้วน” แต่ชาวอุตตรกุรุจะประกอบกิจ “อย่างว่า” แค่เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น
ครั้นแล้วเมื่อฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ขึ้นมา พอถึงเวลาคลอดก็ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่มีเลือด ไม่มีมีรก คลอดออกมาปุ๊บ เด็กก็งามสะอาดผ่องใสเหมือนแท่งทอง จากนั้นผู้เป็นแม่ก็จะเอาลูกไปวางทิ้งไว้บนพื้นหญ้าริมทางที่มีคนผ่านไปผ่านมา ใครผ่านมาเห็นทีหนึ่งก็เอานิ้วแหย่เข้าในปากทารกให้ พลันมีน้ำนมไหลออกมาที่ปลายนิ้วให้ใช้เลี้ยงดูทารกน้อย จนเมื่ออายุครบ ๗ วัน ร่างกายก็เติบโตเต็มที่ จากนั้นพวกผู้ชายก็ไปอยู่รวมกันที่หนึ่ง ส่วนที่เป็นหญิงก็ไปอาศัยด้วยกันในที่อีกแห่ง
“ไตรภูมิพระร่วง” พรรณนาว่า
“ลูกเต้าเขานั้นหากใหญ่ ณ กลางบ้าน ลูกก็มิรู้จักแม่ แม่ก็มิรู้จักลูก ถ้อยทีถ้อยมิรู้จักกัน เพราะว่าคนฝูงนั้นงามดั่งกันทุกคน”
ครั้นเมื่อล่วงลับดับชีพไปก็ไม่มีผู้ใดเศร้าโศกเสียใจ เพื่อนๆ ที่ยังอยู่จะชวนกันช่วยแต่งตัวศพให้สวยงาม แล้วนำไปวางไว้ในที่โล่งเหมือนเมื่อแรกเกิด จากนั้นไม่นานก็จะมีนกใหญ่มาโฉบไปทิ้งเสียในที่ลับตา (หรือบ้างก็ว่านกเอาไปกินยังที่ห่างไกลนอกทวีป)
นกที่มาโฉบเอาศพไปนี้ บางอาจารย์ก็ว่าคือนกหัสดีลิงค์ บ้างก็ว่านกอินทรี บางตำราว่าเป็นนกกด