ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

ย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ๓ จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟส.๖/๒๕๖๓ เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง “แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ๒๕๖๒” รวมทั้งขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA)

ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนผังเมือง EEC การรอคอยที่ยังไม่มีคำตอบ
แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินท้ายประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตามหลักวิชาการผังเมืองอย่างมีความหมาย ก่อนที่จะจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกขึ้นใหม่ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี

การฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกข้างต้นมีผลเป็นการ “ยกเลิกผังเมืองเดิมทั้งหมด” ทำให้แต่ละอำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (EEC) ต้องบังคับใช้ผังเมืองใหม่

ผังเมืองใหม่หรือ “ผังเมือง EEC” ที่เข้ามาบังคับใช้แทนที่ผังเมืองเดิมทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากไม่สอดคล้องกับลักษณะสภาพภูมิประเทศ ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิต ยกตัวอย่างเช่น

พื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่าน เคยเป็นที่ดินสีเขียวหรือที่ดินสำหรับเกษตรกรรม เป็นขุมทรัพย์ความมั่นคงทางอาหาร ถูกเปลี่ยนเป็นที่ดินสีม่วงอ่อนมีจุดสีขาวหรือที่ดินสำหรับอุตสาหกรรม อนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทได้โดยไม่มีข้อห้าม

พื้นที่ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เดิมส่วนใหญ่เป็นที่ดินสีเขียวหรือที่ดินสำหรับเกษตรกรรม ถูกเปลี่ยนเป็นที่ดินสีส้มหรือที่ดินประเภทชุมชนเมือง สามารถประกอบกิจการโรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เช่น โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ (โรงงานลำดับที่ ๘๙) โรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม (โรงงานลำดับที่ ๑๐๑) โรงงานคัดแยกหรือฝังกลบขยะ (โรงงานลำดับที่ ๑๐๕)

พื้นที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เกิดการขยายตัวของที่ดินสำหรับอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ ที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม และหรือที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม ได้รับอนุญาติให้ประกอบกิจการโรงงานได้โดยไม่มีข้อห้าม ที่ต้องจับตาคือการขยายที่ดินสำหรับอุตสาหกรรมลงไปในทะเลบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง

แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคมท้ายประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

การบังคับใช้ผังเมือง EEC น่าจะถือเป็นการทำลายความคุ้มครองหลักด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของชุมชน และน่าจะกระทบถึงอาชีพและคุณภาพชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนที่ดินสำหรับเกษตรกรรมไปเป็นที่ดินสำหรับอุตสาหกรรม การขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่ม รวมทั้งการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมลงไปในทะเล ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพประมงที่จำเป็นต้องพึ่งพิงระบบนิเวศและสภาพน้ำทะเลที่ดี

ที่ผ่านมาเครือข่ายชุมชนและประชาชนในพื้นที่ได้ใช้สิทธิคัดค้านการจัดทำร่างแผนผังดังกล่าวโดยมีข้อเสนอแนะให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และปรับเปลี่ยนข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แต่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกก็ไม่ได้นำไปพิจารณาก่อนออกประกาศ

การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนผังเมือง EEC ครั้งนี้ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนโดยเฉพาะประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากยื่นฟ้องคดีแล้ว เครือข่ายประชาชนผู้ฟ้องคดีได้ติดตามตรวจสอบสถานะความเคลื่อนไหวของคดีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ได้รับแจ้งเพียงว่าคดียังอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาคำฟ้อง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจะรับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่

นับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นมาถึงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ เป็นเวลานานถึง ๔ เดือน ศาลปกครองสูงสุดก็ยังคงไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีนี้

พื้นที่ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา หลังแนวนกยางและป่าจากคือลำน้ำบางปะกง ที่ดินแถบนี้เคยมีสีเขียวตามกฏหมายผังเมืองหมายถึงที่ดินสำหรับเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นสีม่วงอ่อนมีจุดสีขาวอันเป็นที่ดินสำหรับอุตสาหกรรม (ภาพ : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล)

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ๓ จังหวัดเห็นว่ากระบวนพิจารณาคดีนี้ล่าช้า ระยะเวลาในการดำเนินคดีที่ล่าช้ามีผลกระทบโดยตรงกับการอำนวยความยุติธรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีของผู้ฟ้องคดีและประชาชนในพื้นที่ ยกตัวอย่างขณะนี้ที่ยังไม่มีการระงับหรือยกเลิกเพิกถอนประกาศ มีโครงการและกิจการซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนดำเนินการขออนุญาตและประกอบกิจการโดยอาศัยผังเมือง EEC ไม่ว่าจะเป็นโรงงานกำจัดขยะของเสียอันตราย หรือโรงไฟฟ้า

เมื่อยังไม่มีความคืบหน้า ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ผู้ฟ้องคดีจึงเตรียมเดินทางมายื่นหนังสือเพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าจากประธานศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้เร่งรัดการพิจารณาคดี คุ้มครองสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของผู้ฟ้องคดีและประชาชนในพื้นที่ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นประโยชน์สาธารณะ