ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

สองสามปีที่ผ่านมา สถานการณ์ที่กลับมาได้รับความสนใจคือการเพิ่มขึ้นของขยะอันตราย (Hazardous Waste) ไม่ว่ามูลฝอยติดเชื้อ กากอุตสาหกรรม ของเสียอันตรายจากชุมชน อาทิ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ อีกทั้งแหล่งทิ้งขยะอันตรายถูกพบว่าไม่ได้มาตรฐาน เกิดการรั่วไหลจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี (EEC)
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีที่มาทั้งจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอกเช่นประเทศจีนกำหนดนโยบายยกเลิกนำเข้าขยะเพื่อรีไซเคิล ส่งผลให้เกิดการส่งออกและนำเข้าขยะในประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย

ปัจจัยภายในคือนโยบายพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การกำกับดูแลของเสียจากภาคอุตสาหกรรมถูกละเลย ไม่เท่าทันสถานการณ์
สังคมไทยจะรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร นโยบายกำกับดูแลขยะอันตรายจะเป็นอย่างไรในอนาคต เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องติดตาม

ขอขอบคุณ เสวนา “ประเทศไทย, ถังขยะโลก? : ขยะอันตรายและแนวทางกำกับดูแล” จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม, สำนักข่าว Bangkok Tribune และภาคีเครือข่าย วันที่ 29 ตุลาคม 2563 ณ SEA Junction ห้อง 408 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

(1)

ประเทศไทยไม่ใช่ถังขยะโลก

“นโยบายของรัฐไม่อนุญาตให้เอาขยะเข้ามาภายในประเทศไม่ว่าในรูปแบบใด”

พรพิมล เจริญส่ง
ผู้อำนวยการกองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อุปสรรคในการจัดการของเสียและความจริงเรื่องการนำเข้าขยะ

“ปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนปี 2562 มี 648,208 ตัน แบ่งออกเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า 421,335 ตัน หรือประมาณร้อยละ 65 กับของเสียอันตรายจากชุมชนประเภทอื่น 226,873 ตัน หรือร้อยละ 35

“ปัญหา อุปสรรคในการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนคือปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเก็บขนและการขนส่งยังไม่มีประสิทธิภาพ ของเสียอันตรายที่ได้รับการบำบัด กำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการมีน้อย รวมทั้งองค์การบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นหรือ อปท. ยังขาดความพร้อมในการบริหารจัดการ

“ที่ผ่านมาการดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษในการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่นการตรวจสอบมลพิษในโรงงานประกอบกิจการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างปี 2561-2562 ในพื้นที่อำเภอพนมสารคามและอำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา และอำเภอบ้านบึง อำเภอบางละมุง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี พบการปนเปื้อนในดินบริเวณโรงงาน น้ำทิ้งจากโรงงานพบการปนเปื้อนของโลหะหนัก อาทิ แคดเมียม ทองแดง แมงกานิส ตะกั่ว เกินค่ามาตรฐาน น้ำผิวดินบริเวณใกล้เคียงโรงงาน พบแคดเมียม ตะกั่ว

“ในส่วนของการจัดการขยะพลาสติก สถานการณ์ขยะพลาสติกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะทั้งหมดหรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน ใช้ประโยชน์ได้แค่ปีละประมาณ 0.5 ล้านตัน ไม่ได้ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ถึง 1.5 ล้านตัน ถูกรวบรวมนำไปกำจัดพร้อมกับขยะมูลฝอยชุมชน ณ สถานที่กำจัดปลายทาง ปัญหาที่เกิดจากขยะถุงพลาสติก เช่น อุดตันตามท่อระบายน้ำ กระจายไหลลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง และทะเล ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศ

“ความหมายของคำว่าขยะชัดเจนว่าหมายถึงอะไรก็ตามที่เราไม่ใช้แล้ว ถ้าหากยังใช้อยู่จะมีคำเรียกเฉพาะ เช่นสำหรับพลาสติกจะใช้คำว่า ‘เศษพลาสติก’ ความหมายคือยังนำมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ได้ แตกต่างจากคำว่าขยะที่ต้องจบตรงการกำจัด ในส่วนของนักวิชาการเองบางครั้งก็เรียกขยะทั้งที่ยังใช้ประโยชน์ได้

“นโยบายของรัฐไม่อนุญาตให้เอาขยะเข้ามาภายในประเทศไม่ว่าในรูปแบบใด ที่เป็นข่าวว่านำเข้ามาจึงเป็นเศษพลาสติก หรืออาจเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่ไม่ใช่ขยะ อีกกรณีหนึ่งคือเข้ามาได้มาจากการสำแดงเท็จหรือลักลอบ ที่เป็นข่าวจึงต้องแยกเป็นสองส่วน คือ ลักลอบนำเข้ามาในรูปแบบเศษพลาสติกที่ต้องการนำไปรีไซเคิล เพื่อใช้ประโยชน์ ทำตามกฎหมาย กับลักลอบนำเข้ามา ขึ้นอยู่กับว่าเข้ามาลักษณะไหน”

(2)

“หลอกชาวบ้านไม่ได้ว่าเราไม่มี waste”

รศ.ดร.สุธา ขาวเธียร
ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย (ศสอ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขยะในพื้นที่ EEC การจัดการและขยะที่เพิ่มขึ้นในอีก 20 ปีจะไปไหน

“เราหลอกชาวบ้านไม่ได้ว่าเราไม่มี waste ถ้าเป็นเมืองนอกมองเข้ามา เขารู้เลยว่าด้วยขนาดอุตสาหกรรมขนาดนี้จะมี waste ประมาณเท่าไหร่

“พื้นที่เล็กๆ อย่าง EEC หากเปรียบเทียบกับทั้งประเทศ ทั้งขยะอุตสาหกรรมที่เป็นของเสียอันตราย ขยะมูลฝอยติดเชื้อจากโรงพยาบาล ขยะชุมชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อผู้คนมีรายได้มากขึ้นก็คาดว่าจะมีของเสียจากขยะเกิดมากตามไปด้วย

“ทุกวันนี้ ขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EEC 40 เปอร์เซ็นต์ยังจัดการไม่ถูกวิธี และคาดว่ากากอุตสาหกรรมอันตรายตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2580 หรืออีกประมาณ 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกถึง 80 เปอร์เซ็น ขยะมูลฝอยจะเพิ่มขึ้นเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าตั้งแต่ปี 2565 ถึงปี 2580 ปริมาณของเสียประเภทกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC จะเพิ่มจาก 791,781 ตันต่อปี เป็น 1,172,441 ตันต่อปี ขยะมูลฝอยติดเชื้อจะเพิ่มจาก 5,483 ตันต่อปีเป็น 7,378 ตันต่อปี ส่วนขยะชุมชนจะเพิ่มจาก 1,760,382 ตันต่อปี เป็น 2,636,308 ตันต่อปี

“จำนวนโรงงานบำบัดกากอุตสาหกรรมหรือ Waste processor ใน EEC ทุกวันนี้และในอนาคตอาจจะต้องส่งออก waste ไปจัดการที่อื่น ไม่สามารถจัดการ waste ที่เกิดในพื้นที่ของตัวเองได้”

(3)

“ภาคชนบทหลายพื้นที่กำลังเผชิญปัญหา ภาคประชาชนต้องพึ่งตัวเองในการต่อสู้”

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

ความตกลงการค้าเสรีไทยญี่ปุ่น กับอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด

“เราเคยเถียงกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2551 เถียงหนักมากในสภา ตอนนั้นเราลุกขึ้นมาสู้เรื่องเจเทปป้า (JTEPA) เขาบอกคุณเป็นชนพื้นเมืองของใคร ทำไมภาคประชาชนต้องห่วงอะไรหนักหนาว่าประเทศไทยจะกลายเป็นถังขยะโลก

“เขาบอกว่าประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาบาเซล (ข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดน) แล้ว และเรายังมี พรก.วัตถุอันตรายคอยคุ้มครองประเทศเราอยู่ ไม่น่าจะต้องเป็นห่วง การทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่นมันจะไม่มีผลอะไร

“แต่เราเห็นว่าบาเซลมีจุดประนีประนอมสูงมาก เมื่อไหร่ก็ตามประเทศส่งออกกับประเทศนำเข้าต้องการนำเข้ามารีไซเคิลก็สามารถส่งออกและนำเข้าได้ กลายเป็นจุดอ่อน เป็นข้อยกเว้นสำคัญ พวกสินค้ามือสองที่อาจเป็นผลิตภัณฑ์อันตราย พวกอิเล็กทรอนิกต่างๆ ถ้าต้องการนำมาใช้ซ้ำก็ทำได้ภายใต้ข้อตกลงบาเซล เท่ากับประเทศไทยเปิดพรมแดนต้อนรับสิ่งเหล่านี้มาด้วยเหตุผลเหล่านี้ และจุดอ่อนใหญ่สุดเลยของสนธิสัญญาคือไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีการขนย้ายข้ามพรมแดนตามหลักการในสันธิสัญญาหรือไม่ เพราะถ้าเปิดอ่านตัวสนธิสัญญาจะเห็นว่ามีรายละเอียดที่เป็นจริงได้ยากมากในการกำกับดูแลและการคุ้มครอง นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องแก้ไขสนธิสัญญาบาเซล

“การลุกขึ้นมาต่อสู้ของประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ต้องการให้ประเทศ กลายเป็นถังขยะให้ประเทศที่ร่ำรวยก็เป็นแนวคิดหนึ่ง ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศร่ำรวยก็มีความต้องการส่งของเสียอันตรายที่เกิดจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเขาไปกำจัดนอกประเทศอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและปลอดภัย คือส่งออกไปที่ไหนก็ได้ ให้พ้นจากบ้านตัวเอง แต่ก็ยังยึดหลักว่ามันต้องปลอดภัยต้องถูกหลักวิชาการ
“ความคิดว่าอยากได้ของเสียอันตรายเข้ามาเพื่อรีไซเคิล มักจะมาจากผู้นำของประเทศยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แนวคิดนี้ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ กรมโรงงานอุตสากรรมก็คิดแบบนี้อยู่ หน่วยงานราชการของไทยหลายหน่วยงาน ภาคธรุกจเอกชนก็ยังคิดแบบนี้ ถามว่าผิดมั๊ยก็ไม่ผิด แต่มันก็ต้องคิดอะไรมากกว่านั้น

“การค้าขยะข้ามพรมแดนเป็นอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง นอกจากค้าข้ามทวีป แล้วภายในทวีปหรือภายในภูมิภาคก็มีการค้าขยะอันตราย

“เราไม่ได้ค้านเรื่องการรีไซเคิล เพราะมันมีความจำเป็นอยู่บ้าง แต่สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่คือการทุจริต คอรัปชั่น ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการที่ดูแลตรงนี้กับมาตรด้านด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการควบคุมมลพิษของบ้านเรายังอ่อนแอ ตอนนี้ภาคชนบทหลายพื้นที่กำลังเผชิญปัญหา ภาคประชาชนต้องพึ่งตัวเองในการต่อสู้”

(4)

“กระบวนการจัดการต้องเริ่มจากผู้ผลิตคำนึงว่าทำอย่างไรของเสียของตัวเองจะมีเปอร์เซ็นต์รีไซเคิลสูงที่สุด”

ดร.พูนศักดิ์ จันทร์จำปี
ที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

หน้าที่ของใครในการลดขยะ

“รูปแบบการจัดการของเสียของเรายังมอบหมายให้หน่วยงานรัฐดำเนินการ ยกตัวอย่างการให้ประชาชนนำของเสียอันตรายไปทิ้งรวมกัน และให้เทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเก็บรวบรวม นี่คือการบริหารจัดการในยุค 80 หรือ 90 คือ 30-40 ปีมาแล้ว ตอนนี้เรายังใช้รูปแบบนี้อยู่ แต่ต่อไปในอนาคตต้องปรับ การปรับก็คือการนำระบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า EPR – Extended producer responsibilities หรือการขยายขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต ยกตัวอย่างกรณี E-Waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ กระบวนการจัดการต้องเริ่มจากผู้ผลิต คำนึงว่าทำอย่างไรของเสียของตัวเองจะมีเปอร์เซ็นต์รีไซเคิลสูงที่สุด บรรลุนิพพานเลยทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ยิ่งดี

“ได้ยินอย่างนี้อาจคิดว่าเป็นหน้าที่ผู้ผลิต แล้วเราเกี่ยวอะไร ต้องอธิบายว่านิยามการนำ EPR มาใช้มันไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรายเดียว แต่เป็นหน้าที่ของผู้คนทุกภาคส่วน เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องมีหน้าที่ช่วยกำกับดูแลให้ทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลในการเรียกคืนของเสียเข้ามา

“ถัดมาคือพวกเรา ทำอย่างไรที่จะปฏิบัติตามระเบียบ เงื่อนไข เช่นถ้ามีระบบเรียกคืนและมัดจำ เราซื้อทีวีเครื่องหนึ่งราคาหนึ่งหมื่นบาท มีค่ามัดจำ 500 สำหรับมัดจำซาก เมื่อเกิดซากก็เอาซากไปเปลี่ยนเคลื่องใหม่ ได้เงินคืน 500 บาท นี่คือการเข้าไปอยู่ในระบบ แต่บางคนอาจจะไม่อยากเข้าไปอยู่ในระบบ อาจจะนำซากนี้ไปขายกับคนอื่นที่ไม่อยู่ในระบบ เกิดการจัดการที่ไม่ถูก ก็ต้องขอความร่วมมือภาคประชาชนให้เข้ามาอยู่ในระบบนี้

“ถัดมาคือผู้ขนส่งของเสียก็ต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดี ต้องนำของเสียจากต้นทางไปถึงปลายทางให้ครบถ้วน และไม่ใช่พอไปถึงปลายทาง รถดั้มเทของเสีย ถอดแยกเป็นของมีค่า แล้วยกดั้มคืนใส่รถ วิ่งเข้าไปทิ้งที่โรงงานถอดแยก และโรงงานถอดแยกก็ต้องมีหน้าที่ดำเนินการถอดแยกของเสียให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ

“ทุกวันนี้มีปัญหาสำคัญอีกอย่างคือการขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรหรือ Circular Economy ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องกระบวนการรีไซเคิลของเสียอย่างเดียว แต่อีกหนึ่งวัตถุประสงค์คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เอื้อต่อการรีไซเคิลตั้งแต่ต้นทาง หมายถึงว่า การที่เราจะผลิตอะไรออกมาอย่างหนึ่ง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรให้ง่ายที่สุดสำหรับคนใช้และคนนำไปรีไซเคิล เช่น ใช้ได้นานที่สุด หรือนำไปรีไซเคิลได้มากชิ้นที่สุด ซื้อทีวีมา 1 เครื่องน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ของทั้งหมดจะต้องถูกนำไปใช้ประโยช์ รีไซเคิลให้ได้ทั้ง 100 กิโลกรัม นี่คืออุดมคติของ circular economy ถ้าออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ขนาดนี้ผมว่าเราบรรลุนิพพานแล้วสำหรับผลิตภัณฑ์ แต่ตอนนี้ผมว่ามันยังอยู่ระดับประมาณสัก 80 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ คือส่วนที่ต้องนำไปกำจัด ทำลาย”