เรื่อง : ปัน หลั่งน้ำสังข์
ภาพ : ณัฐรัตน์ ธรรมวงค์

เขาอาจจะไม่รู้ตัวหรือไม่เห็นด้วยกับประโยคนี้ แต่ในสายตาของเรา วิรัช บัวคลี่ เปรียบเสมือนนักวิทยาศาสตร์

ไม่ใช่ด้วยตำแหน่งทางการ แต่ด้วยคุณสมบัติภายในที่เต็มเปี่ยมด้วยความช่างสังเกต สงสัยใคร่รู้ และพยายามทดลองค้นหาคำตอบครั้งแล้วครั้งเล่า ตามหลักวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องตั้งปัญหา เก็บรวบรวมข้อมูล สร้างสมมุติฐาน ทดลอง และสรุปผล

เกษตรกรชาวหนองแขมวัย 57 ปีผู้นี้คิดต่างจากเพื่อนรอบข้าง แทนที่จะปลูกดอกกล้วยไม้ สัญลักษณ์สำคัญประจำเขตที่คนท้องถิ่นนี้นิยมปลูก เขากลับแปลงพื้นที่ขนาด 10 ไร่ให้กลายเป็นบ้านและห้องปฏิบัติการขนาดครัวเรือนชื่อ “วิรัชฟาร์มเห็ด” ที่มีผลการทดลองสำคัญในปีนี้คือเห็ดนางฟ้าภูฐาน เพียงแห่งเดียวของย่าน และไข่เป็ดอินทรีย์ไข่สีแดงเข้ม นำส่งตลาดบริเวณใกล้เคียงในราคาย่อมเยา จนลูกค้าหลงรักและเฝ้ารอผลผลิต

นอกจากนี้ด้วยประสบการณ์และความช่ำชอง วิรัชยังรับบทบาทเป็นครู เปลี่ยนฟาร์มย่านปริมณฑลนี้เป็นห้องเรียนภาคปฏิบัติกลางแจ้ง เปิดต้อนรับบุคคลทั่วไปตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงวัยหลังเกษียณ เข้ามาฝึกปรือวิชาการเพาะเห็ด เลี้ยงเป็ด ในฐานะแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรของเขตหนองแขม

“ถ้าใครอยากเรียนมาได้ตลอดเลย อยู่ที่นี่ครบ 1 สัปดาห์จะเห็นงานเกือบครบวงจร” วิรัชเชื้อเชิญอย่างเป็นกันเอง ช่วยให้เราที่เข้ามาเป็นนักเรียนใหม่ในวันนี้รู้สึกผ่อนคลาย ก่อนพาเดินดูหยิบจับผลผลิตต่างๆ รอบฟาร์ม พร้อมเล่าประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลานช่วงราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของชีวิต

ชีวิตที่ต้องทดลองไปเรื่อยๆ และตำราที่ยึดถือไม่ใช่หนังสือเล่มหนา แต่เป็นการลงมือทำ

ค้นพบเรื่องเห็ด

เมื่อ 25 ปีที่แล้ว มีหนึ่งคำถามที่เปลี่ยนทิศทางชีวิตชายคนนี้

“ไปดูได้ไหม”

วิรัชในวัยหนุ่มผู้เบื่อหน่ายจากงานประจำและลาออกมาตระเวนขับรถรับจ้าง เอ่ยปากถามลูกค้าที่วานให้เขาช่วยขนส่งอุปกรณ์กันฝน เสื่อน้ำมัน และเต็นท์ ด้วยความสงสัยว่าวัสดุเหล่านี้มีประโยชน์อะไร

“เขาบอกว่าเอาของพวกนี้ไปทำโรงเห็ดฟาง เราก็สนใจว่าทำยังไง เลยลองถาม แล้วเขาก็พาไปดูการเพาะเห็ดถึงบ้านเลย และไม่หวงวิชาด้วย บอกวิธีทำหมด”

วิรัชค้นพบว่าอุปกรณ์เหล่านั้นนำมาใช้สร้างเป็นโรงเรือน ไว้พรางแสงและรักษาความชื้นให้พื้นที่เหมาะแก่การเพาะเห็ด ในช่วงแรกเขายังไม่ได้คิดจะทำจริงจัง เพียงแค่เก็บรวบรวมข้อมูลและเริ่มลองปลูกเห็ดฟางตามที่ได้เห็นมาเพียงสองโรงเล็กๆ เป็นงานอดิเรก

เกษตรกรนิยมปลูกเห็ดฟางเพราะขายได้ราคาดี ไม่ถูกเกินไปสำหรับคนขาย ไม่แพงเกินไปสำหรับคนซื้อ ซึ่งมักนำไปทำเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่สร้างปัญหาให้แก่งานขับรถโดยสาร วิรัชจึงปรับแผนชีวิตมาเพาะเห็ดเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงดูครอบครัวให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ โรงเพาะเห็ดของเขาก็ทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 29 โรง

เหมือนจะเติบโตได้อย่างงดงาม แต่การปลูกเห็ดฟางถือเป็นช่วงเวลาแสนยากลำบากสำหรับวิรัช เพราะการดูแลที่ต้องอิงหลายปัจจัย ทั้งคุณภาพของเชื้อเห็ดที่ซื้อมา บ่อยครั้งคุณภาพไม่ดีเพียงพอ ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์เพาะเห็ดเรื่อยๆ ด้วยความถี่รอบละ 20 วัน เมื่อวิธีการแบบเดิมไม่ให้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ เขาจึงทดลองปลูกเห็ดสายพันธุ์ต่างๆ แทนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเห็ดนางฟ้าฮังการี เห็ดนางรมดำ เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดกระด้าง จนสุดท้ายจบลงตรงที่เห็ดนางฟ้าภูฐาน ในช่วงโควิด-19 ที่กำลังซื้อของคนไม่มากเท่าภาวะปรกติ

“เห็ดชนิดนี้ทำได้ทั้งปี ไม่เหนียว ก้านก็กินได้ ราคาอย่างต่ำกิโลกรัมละ 80 บาท”

วิรัชสรุปคุณสมบัติของเห็ดพันธุ์นี้ และใช้มือข้างหนึ่งหยิบถุงก้อนเชื้อที่มีส่วนผสมของขี้เลื่อยยางพารา รำละเอียด ปูนขาว และดีเกลือ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งหยิบขวดใสที่ใส่ข้าวฟ่างสีน้ำตาลและเชื้อเห็ดสีขาวขึ้นมาประกอบคำอธิบายกระบวนการเพาะเห็ด ตั้งแต่อัด นึ่งก้อน หยอดเชื้อ บ่ม จนเปิดดอกได้ผลผลิต การสาธิตทั้งหมดนี้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง ซึ่งเขาสามารถระบุทั้งสัดส่วนการผสม ระยะเวลา และข้อควรระวังในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด เช่น วิธีการกำมือตรวจดูความชื้นภายในขี้เลื่อย เพื่อคำนวณว่าต้องใส่น้ำปริมาณกี่ถังถึงพอเหมาะแก่การเพาะเห็ด โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือการวัด และวิธีการป้องกันไรแดงที่ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจ ทำลายผลผลิตได้ถึงขั้นต้องรื้อทั้งโรงเรือน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เขาเคยเผชิญมาแล้ว

“ถ้าไม่มีเชื้อราและไร เห็ดจะอยู่ได้นาน 6 เดือน เก็บดอกได้ประมาณ 15-20 ครั้ง อยู่ที่คนทำ ถ้าดูแลดีจะได้ผลผลิตเยอะ แต่ต้องใช้เวลาและมีความเสี่ยง การทำเห็ดเลยต้องอาศัยประสบการณ์ ยิ่งทำมาเยอะจะยิ่งรู้จุดอ่อน พอรู้แล้วหัดแก้ไขก็จะผ่านปัญหาไปได้”

ปัจจุบันวิรัชปรับโรงเพาะเห็ดให้เหลือ 16 โรง กำลังผลิตสูงสุด 7 หมื่นก้อน โดยผลผลิตเห็ดเหล่านี้ยังสามารถนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อได้ด้วย เช่น เห็ดหย็อง แหนมเห็ด ฯลฯ

เรียนรู้เรื่องเป็ด

เมื่อเพาะเห็ดจนชำนาญและยังมีพื้นที่เหลือในฟาร์ม เป็ดคือปศุสัตว์ที่วิรัชนำมาทดลองเมื่อ 2 ปีก่อน

ไม่ต้องกังวล การทดลองนี้ไม่ได้โหดร้ายทารุณ วิรัชเลี้ยงเป็ดพันธุ์กากีแคมป์เบลล์ 380 ชีวิต ไว้เพื่อเก็บไข่เท่านั้น แถมเลี้ยงดูอย่างดีด้วยอาหารอินทรีย์ปลอดสารพิษทั้งมื้อเช้าและเย็น ตัวใดเริ่มเกษียณเมื่ออายุ 3 ปีขึ้นไปก็จะดูแลต่อไป

“ถ้าเราซื้อหัวอาหารที่มีเคมีให้เป็ด ต้นทุนจะตกวันละ 700 บาท สบายและเร็วจริง แต่ไข่แดงจะไม่แดง ไม่มัน ส่วนไข่อินทรีย์จะมัน แดง ดี อร่อย ไม่มีสารพิษเจือปน ลองเทียบกันได้เลย เห็นสีก็รู้แล้ว ต้นทุนค่าอาหารก็ต่ำกว่าด้วย ประมาณ 200 บาทต่อวัน เหนื่อยกว่าหน่อย แต่ได้คุณภาพ” วิรัชอธิบายสรรพคุณพร้อมคำนวณต้นทุนเสร็จสรรพ หน้าเครื่องจักรคลุกเคล้าอาหารที่เขาประดิษฐ์ขึ้นเองจากถังน้ำมัน ล้อรถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์เหลือใช้ เป็นเครื่องคลุกเคล้าส่วนผสมอาหารเป็ดให้เข้ากันกลมกล่อม หากขาดขั้นตอนนี้ไป เป็ดจะเลือกกินแต่อาหารคาว แม้ช่วยให้ไข่ออกมาเป็นสีแดงเข้ม แต่จากการสังเกตของวิรัชพบว่าเป็ดจะขาอ่อนแอและท้องเสียบ่อยเมื่อกินปริมาณมากเกินไป

“เราทำเอง คิดเอง อาจเพราะความขี้เกียจด้วยมั้ง แต่ดูตามหลักธรรมชาติแล้ว เครื่องมันต้องเป็นแบบนี้”

ในขณะที่วิรัชเล่าหลักการทำงานของเครื่องยนต์ด้วยศัพท์ที่เราเคยได้ยินผ่านหูในห้องเรียนฟิสิกส์อย่างมอเตอร์ แรงเหวี่ยง และตัวทดรอบ เจน-ธนกร โห้หาญ หลานชายที่มาช่วยงานก็ทยอยหยิบถังมาบรรจุวัตถุดิบอาหาร ทั้งรำข้าว กากถั่ว หัวกุ้ง และเศษอาหาร ที่ได้รับมาจากตลาดและคนรู้จักในราคามิตรภาพ ก่อนเกลี่ยและเทรวมไปให้เครื่องได้สาธิตหน้าที่

“ครืน ครืน”

เสียงเครื่องทำงานไม่เกิน 5 นาที อาหารก็พร้อมจัดส่งให้ฝูงเป็ด พร้อมเก็บผลผลิตประจำวัน

“แคว็ก แคว็ก”

อาจเพราะได้กลิ่นโชยมาแต่ไกล เป็ดขนสีน้ำตาลอมดำพากันส่งเสียงเกรียวกราวต้อนรับเมื่อเราเปิดประตูเล้าและเทอาหารลงในกระบะ

ในจังหวะที่เป็ดกำลังแย่งชิงกันลิ้มรสความเอร็ดอร่อยกันอยู่ วิรัชกวักมือเรียกเรา “เอ้า! มาเก็บไข่กัน”

แต่ละวันเป็ดของฟาร์มวิรัชจะออกไข่กันราว 230 ฟอง ขนาดแตกต่างกันตามช่วงวัย ขายได้ราคาตั้งแต่ 3-7 บาทต่อฟอง

“เคยสังเกตไหม ไข่สีเขียวกับสีขาวจะต่างกัน สีเขียวคือเป็ดกินอาหารครบ มีแร่ธาตุมากกว่า ถ้าเห็นไข่เขียวเยอะ แปลว่าฟาร์มนั้นอาหารอุดมสมบูรณ์ บางคนถือว่าเป็นไข่ยา” วิรัชหยิบไข่สีเขียวอ่อนและสีขาวนวลมาเปรียบเทียบให้ดู สูตรอาหารที่คิดค้นสุดท้ายจะแสดงผลลัพธ์ออกมาทางสีของไข่นี้เอง

ปรกติวิรัชจะตื่นประมาณตี 4 เป็นกิจวัตร เพื่อมาเก็บไข่และเห็ดไปขายที่ตลาดพุทธ ตลาดหมู่บ้านเศรษฐกิจ และตลาดศรีเพชร ตามกำลังและผลผลิตในแต่ละวัน แม้จะขายไม่หมดก็ไม่เสียหาย เพราะยังนำมาแปรรูปเป็นไข่เค็มได้อีกทางเลือกหนึ่ง

ฟังดูขั้นตอนคล้ายเรื่องเห็ด หรือนี่คือตัวตนและกระบวนการทางความคิดของวิรัช ที่ถูกนำเสนอผ่านผลผลิตทางการเกษตรเรื่อยมา

ทดลองเรื่องใหม่

“ชีวิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ เราได้เปรียบด้วยที่อยู่ตรงนี้ ประหยัดค่าเดินทาง แค่ 4 กิโลเมตรครึ่งก็ถึงตลาด อยู่ใกล้กับคนเยอะๆ ถ้าไปต่างจังหวัด ทุกคนก็มีคล้ายกัน จะไปขายใครก็ไม่รู้” วิรัชวิเคราะห์ถึงจุดแข็งของฟาร์มและผลิตภัณฑ์

ปัจจุบันวิรัชฟาร์มเห็ดไม่ได้มีเพียงเห็ดและเป็ดอีกต่อไป แต่ยังมีไก่ หน่อไม้ และผลไม้ตามฤดูกาล ที่สร้างความหลากหลายให้แก่พื้นที่ โดยมีเล็ก-นกเล็ก สันทัด ภรรยา เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการดูแลธุรกิจ ทั้งสองพยายามสร้างรากฐานที่แข็งแรงไว้ให้ลูกทั้งสามคน และหลานๆ เข้ามาเรียนรู้และพัฒนาต่อ

“อยากให้กลับมาทำกันนะ ตอนนี้กำลังปูทางให้อยู่ ให้เขาได้ไปหาประสบการณ์ข้างนอกก่อน ยังไงเรามีอาชีพรองรับเผื่ออยู่แล้ว นี่เดี๋ยวจะลองขายไข่เค็มอินทรีย์ออนไลน์ด้วย” ผู้เป็นพ่อเล่าความปรารถนาลึกๆ

ใกล้เล้าเป็ดมีแอ่งน้ำที่ขุดไว้ ผิวน้ำถูกปกคลุมด้วยแหนสีเขียว เป็นที่อยู่ของกองทัพเป็ดน้อยอายุ 1 เดือน

ภายใต้ผิวคันดินเหนียวทั้งสี่ด้าน วิรัชหว่านเมล็ดพันธุ์ทานตะวันไว้โดยรอบ รอวันเติบโตกลายเป็นอีกหนึ่งผลผลิตใหม่ของปี

“ทานตะวันมีประโยชน์เยอะ ทำง่าย แต่ส่วนใหญ่คนจะมองข้าม เพราะดูแลยาก บอบบางหน่อย แต่เดี๋ยวใกล้ๆ ปีใหม่จะบานดอกสะพรั่งเลย”

“มาดูได้ไหม” เราถามวิรัชด้วยคำถามเดียวกันกับเขาเมื่อ 25 ปีที่แล้ว

“ได้ มาเลย” วิรัชตักน้ำในแอ่งมารดต้นกล้า และตอบคำถามอย่างไม่ลังเล ทั้งที่เราเพิ่งรู้จักกัน

ห้องทดลองการเกษตรของ วิรัช บัวคลี่ ที่หนองแขม

จากคนถามและนักเรียน วันนี้เขากลายเป็นคนที่ถูกถามและเป็นครู ผู้ยินดีเปิดพื้นที่ต้อนรับคนที่สงสัยใคร่รู้และรักในการทดลอง

“เป็นวิทยาทาน เวลาเราไปเรียนก็ไม่ได้เสียเงินเสียทองอะไร แต่ก็จะเสี่ยงถ้าคนทำฟาร์มเห็ดด้วยกันมาดู ไม่ได้กลัวมาขโมยวิชานะ กลัวเอาไรหรือเชื้อรามาติด” วิรัชพูดติดตลกก่อนจบบทเรียนของวันนี้

หากเราได้พบกันอีกครั้ง ต้นกล้าที่บอบบางบนผืนดินนี้คงจะเติบโตผ่านลมฝนพอสมควร แต่

ภายใต้การดูแลของนักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร และครูอย่างวิรัช บัวคลี่ คงไม่แปลกที่เราคาดหวังว่าภาพที่ได้เห็นจะงดงาม

ภาพของดอกไม้ที่บานสะพรั่งชูช่อผ่านพ้นทุกปัญหา