เรื่อง : อินทัช เกตุสิงห์
ภาพ : ทัศ ปริญญาคณิต

“ห้ามอย่าให้ผู้ใดสูบฝิ่น กินฝิ่น ซื้อฝิ่นขายฝิ่น และเป็นผู้สมซื้อสมขายเป็นอันขาดทีเดียวถ้ามิฟังจับได้ และมีผู้ร้องฟ้อง พิจารณาเป็นสัจจะให้ลงพระอาญา เฆี่ยน 3 ยก ทเวนบก 3 วัน ทเวนเรือ 3 วัน ริบราชบาทว์ บุตรภรรยา และทรัพย์สิ่งของให้สิ้นเชิง ให้ส่งตัวไปตะพุ่นหญ้าช้าง ผู้รู้เห็นเป็นใจมิได้เอาความมาว่ากล่าว จะให้ลงพระอาญาเฆี่ยน 60 ที”

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
ประวัติความเป็นมาของฝิ่นในประเทศไทย. (2556)

ผมยืนอยู่หน้าคลองภาษีเจริญบริเวณชุมชนตลาดหนองแขม คลองที่ถูกขุดโดยคนจีน ทุนในการก่อเกิดคลองนี้คือภาษีจากฝิ่น ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ที่แม้มีบทลงโทษร้ายแรงก็ไม่อาจหยุดความนิยมในการเสพ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์เห็นว่าป่วยการที่จะหักข้องอกระดูกในเรื่องนี้จึงเปลี่ยนการจัดการใหม่ทำให้ถูกกฎหมายและมีการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นระบบ ต่อมาภาษีเหล่านี้กลายมาเป็นทุนสำหรับขุดคลอง เพื่อเป็นเส้นทางในการพัฒนาพระนครและกระจายความเจริญไปในทุกพื้นที่ที่คลองภาษีเจริญเส้นนี้พาดผ่าน สิ่งที่น่าสนใจคือหลังจากคลองขุดเสร็จ ทางการได้มีระบบการจัดเก็บภาษีหัวเรือ เก็บจนครบจำนวนตามค่าจ้างคนจีน เมื่อครบแล้วจึงสั่งยกเลิกการเก็บภาษี

ผมได้กลิ่นอบอวลบางอย่างที่ตกค้างมาตั้งแต่ 100 กว่าปีก่อน เป็นกลิ่นหยาดเหงื่อและภาษีของผู้คนที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคลองแห่งนี้เพื่อนำความเจริญมาสู่ชุมชน สมกับชื่อคลองภาษีเจริญ

2458 จุดเริ่ม ก่อเกิด ก่อการ สถานีเพื่อประชาชน

ความเจริญล่องผ่านคลองภาษีเจริญมาพร้อมๆ กับการเสด็จประพาสต้นของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ใน ร.ศ.123 (พ.ศ.2447) พระองค์ทรงประทับแรมอยู่ ณ วัดหนองแขม ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนเกษตรกรรมที่มีต้นแขมขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ และนอกจากต้นแขมที่ชุกชุมแล้วที่แห่งนี้ยังมีโจรขโมยควายอยู่ชุกชุมอีกด้วย เพราะหนองแขมอยู่ฝั่งธนบุรีไกลห่างจากตัวพระนคร ทำให้ทางการไม่สามารถดูแลความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยของชาวบ้านได้อย่างทั่วถึง นี่เป็นเหตุให้เกิดการสร้างสถานีตำรวจหนองแขมขึ้น

เมื่อสถานีตำรวจเกิดขึ้น สถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่งของชุมชนในด้านการดูแลความปลอดภัย ทำคดีความ เก็บศพที่ลอยน้ำ หรือกระทั่งทำการปราบปรามโจรขโมยควาย

ประยูร วงศ์พุทธคำ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตหนองแขม ให้ความเห็นว่า “ว่ากันว่าการสร้างสถานีตำรวจแห่งนี้เป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 5 เพราะในภายหลังมีการขุดพบเสาหมุดที่ฝังอยู่ในดินลึกกว่า 20 เมตร ในเสาหมุดนั้นมีรหัสตัวเลขที่แสดงถึงความเกี่ยวข้องกับพระราชดำริให้สร้างสถานีตำรวจแห่งนี้ ทว่าเรื่องนี้เองก็มีข้อขัดแย้งจากหลายฝ่ายในเรื่องสภาพของเสาหมุดที่ดูสมบูรณ์และใหม่เกินไปทั้งๆ ที่ถูกฝังในดินมานานกว่า 100 ปี ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนพิสูจน์หาความจริงของเสาหมุด ว่าสิ่งนี้เป็นหลักฐานถึงพระราชดำริในการสร้างสถานีตำรวจของรัชกาลที่ 5 จริงหรือไม่

2504 แผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 1 การพัฒนาที่กลับหน้ากลับหลัง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรในปี 2475 การพัฒนาประเทศให้มีความเป็นสมัยใหม่ก็ได้เริ่มต้นขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือการสร้างถนนเพชรเกษม สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม การตัดถนนเพื่อเชื่อมโยงพระนครกับธนบุรีให้สามารถเดินทางไปมาได้อย่างสะดวก ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนที่ถนนตัดผ่านอย่างก้าวกระโดด และการพัฒนาที่เป็นปัจจัยอันนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนอย่างมากคือ แผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ.2504 ที่เน้นการขยายผลผลิตภาคการเกษตรและขยับสังคมไทยเข้าสู่ประเทศกึ่งอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว

พรพิมล ผลอวยพร ประธานชุมชนตลาดหนองแขม เล่าถึงการพัฒนาของชุมชนหนองแขมว่า “จากแต่เดิม สมัยก่อนชาวบ้านเรียกฝั่งที่หันหน้าเข้าทุ่งนาว่าด้านหน้า แต่พอหลังจากมีถนน ความเจริญเข้ามาในชุมชน ทุกสิ่งในชุมชนก็หันหน้าเข้าถนนแทนทุ่งนา และลำคลองกลายเป็นสิ่งที่อยู่ด้านหลังนับแต่นั้นมา รวมถึงสถานีตำรวจหนองแขมก็ถูกสั่งย้ายให้ไปสร้างที่ใหม่ติดกับถนนใหญ่ด้วยในปี พ.ศ.2530”

ประวัติศาสตร์ที่พาดผ่านอาคารเก่า สถานีตำรวจหนองแขม

การสูญหายของความหมาย 

กำแพงเตี้ยๆ ของสถานีตำรวจ สถานที่ที่เป็นที่พึ่งพิงในการดูแลสารทุกข์สุกดิบของชาวบ้าน ค่อยๆ เปลี่ยนไปในทางที่น่าหวาดระแวงมากขึ้น เมื่อช่วงปี 2548 มีคำสั่งให้สถานีตำรวจหนองแขมเดิมใช้เป็นสถานที่ในการบำบัดเยาวชนที่ติดยาเสพติด แต่ความจริงนั้นไม่ใช่เลย สิ่งที่สอดไส้ในนโยบายบำบัดยาเสพติดของเยาวชนนั้นคือคำสั่งที่ทำให้ที่แห่งนี้กลายเป็นสถานที่กักตัวนักโทษอุกฉกรรจ์ ที่ตั้งอยู่ใจกลางชุมชน ความหวาดระแวงต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านเพิ่มมากขึ้น เพราะโดยรอบสถานีตำรวจเดิมนั้นมีทั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน วัด ตลาด และบ้านคน

พรพิมลเล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้น สน.แขวงหนองค้างพลูได้ทำเรื่องขอให้เอา สน.หนองแขม (อาคารเก่า) เป็นสถานที่บำบัดยาเสพติดของเด็กเยาวชนอายุ 15-18 มันกลายเป็นเอานักโทษอายุ 40 กว่าปีมาอยู่นี่ไง ชาวบ้านก็ตื่นตระหนก เพราะเราเป็นกระต่ายตื่นตูม คือเราตื่นตูมก่อนที่เหตุร้ายมันจะเกิดขึ้น ต้องรอให้ใครโดนปาดคอก่อนเหรอ พอไปเรียกร้องมันก็เอาสังกะสีตีขึ้นจากแนวกำแพง ใส่ลวดหนาม แต่ก็มีนักโทษหนีไปได้ ไปตามจับเจอที่ประเทศลาว”

ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจอย่างมาก ความหมายของโรงพักเพื่อประชาชนได้สูญหายไปแล้วในความรู้สึกของคนในชุมชน โชคดีที่ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น แต่นับจากนั้นมาชาวบ้านได้เกิดการรวมกลุ่ม มีการล่ารายชื่อเพื่อทำการฟ้องร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอย่างจริงจัง ในที่สุดคดีความก็ได้รับชัยชนะ

กลายเป็นอื่นสถานีร้างกลางชุมชน

กิจกรรมบำบัดยาเสพติดและคุมขังนักโทษถูกทางการสั่งยกเลิกในที่สุด สถานีตำรวจแห่งนี้ก็กลายเป็นสถานีตำรวจร้าง ทิ้งคราบความเก่าคร่ำเป็นสัญลักษณ์แห่งการบันทึกการเปลี่ยนผ่านของชุมชน ประวัติศาสตร์จารึกเรื่องราวไว้อย่างลับๆ บนกำแพงสีแดงชาด ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกตีสังกะสีและลวดหนามเพื่อขังนักโทษ พื้นไม้ที่เลือดหนองจากศพเคยกองซึมไว้ ลูกกรงที่เคยขังและพิจารณาคดีต่างๆ เสาตกน้ำมันที่มีเรื่องเล่าลึกลับกล่าวขานมากมาย และใต้สถานีแห่งนี้มีหมุดปูนถูกฝังไว้ลึกกว่า 20 เมตร ที่อาจเป็นจารึกสำคัญถึงพระราชดำริในการสร้างสถานีตำรวจแห่งนี้ที่กลายเป็นอื่น เป็นสิ่งที่มีอยู่ แต่ไม่ถูกนับเป็นหนึ่งในชุมชน เป็นสถานีตำรวจร้างกลางชุมชน ทั้งที่ชุมชนนี้เคยมีมันเป็นศูนย์กลาง

รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่

ในปี 2561 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางภาครัฐ ประธานชุมชน และคนในชุมชน ได้บูรณะอาคารเก่าแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ โดยแต่งเติมจนต่างจากเดิมไปอย่างมาก ตัวอาคารได้รับการต่อเติมเป็นทรงปั้นหยา ภายในยกเพดานให้สูงขึ้น ประดับรูปเก่าๆ ของสถานีตำรวจและบ้านเรือนริมคลองไว้เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มีลูกกรงที่ทำเลียนของเดิมเท่านั้นที่ทำให้พอจะทราบได้ว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นสถานีตำรวจมาก่อน ก่อนจะกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อจัดกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ และเอาไว้รับแขกหรือให้ความรู้แก่ผู้มาเยือน

สำหรับผม สถานีตำรวจเก่าแห่งนี้เป็นเหมือนกรุเก็บเรื่องราวของประวัติศาสตร์ชุมชน ทั้งในสิ่งที่สถานที่แห่งนี้เคยเป็นและอยากให้เป็น เพราะสิ่งที่โดดเด่นกว่าการเป็นสถานีตำรวจเก่าคือที่นี่กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงภาพเก่าเพื่อเล่าเรื่องวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำและประกอบพิธีทางศาสนาซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนรองจากวัดหนองแขม เรื่องเล่าการเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ถูกแสดงเด่นผ่านรูปเคารพให้สักการะ และหมุดเสาที่เพิ่งขุดพบ พวงมาลัย เสาตกน้ำมัน พระพุทธรูปที่ตั้งทับพื้นไม้บริเวณที่เคยเอาไว้กองศพ ก็ถูกจัดแสดงเพื่อดึงดูดคนในชุมชนให้เข้ามาเยี่ยมชมและมีส่วนร่วมกับพื้นที่แห่งนี้

ประยูร วงศ์พุทธคำ กล่าวว่า “สุดท้ายแล้วการที่จะพัฒนาพื้นที่นี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชน มันขาดไม่ได้ที่จะต้องดึงเอาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมในด้านความเชื่อของคนในชุมชนมาใส่รวมไว้ด้วย เพราะที่แห่งนี้เป็นของชุมชน สร้างมาให้คนในชุมชนใช้งาน”

อาคารเก่าคร่ำคร่าที่ล้อมไปด้วยกำแพงแตกๆ แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากภาษีเหมือนที่ชุมชนหนองแขมพัฒนาขึ้นได้จากผลพวงของภาษีในนามคลองภาษีเจริญและถนนเพชรเกษม มันเคยกลายเป็นสิ่งที่ชุมชนไม่ยอมรับ แต่สุดท้ายก็กลับกลายมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกครั้งจากภาษีอีกรูปแบบที่เป็นต้นทางของความเจริญ ภาษีจากแรงของพลังกลุ่มและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

ประวัติศาสตร์เรื่องราวในอดีตได้บรรจุลงในอาคารเก่าแห่งนี้มากมาย สุดท้ายสถานีตำรวจหนองแขมคือสมุดบันทึกเรื่องราวที่สำคัญอันหนึ่งของชุมชน ที่ไม่ใช่แค่เพียงสถานที่ แต่เป็นสถานีเพื่อประชาชน ของประชาชนเสมอมา

https://www.facebook.com/siamhistory/photos/473488236038793.

(วันที่ค้นข้อมูล : 20 พฤศจิกายน 2563)