เรื่อง : ธีรเมธ ทองสง

ความสุขในฟาร์มเห็ด

โรงเรือนหลายสิบหลังเรียงรายแน่นเต็มพื้นที่ ก้อนเชื้อเห็ดนับร้อยนับพันเรียงรายเป็นแถวสูงอยู่หลังป้าย วิรัชฟาร์มเห็ด ความชื้นพัดพากลิ่นของไอดินลอยขึ้นสัมผัสปลายจมูก นกน้อยนานาชนิดกำลังร่วมกันบรรเลงบทเพลงในยามเช้าจากทุกสารทิศ เสียงเป็ดและไก่ร้องขึ้นเป็นลูกคู่บางจังหวะ รอบกายรายล้อมไปด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ใบหญ้า หากไม่บอกก็คงไม่รู้ว่าที่แห่งนี้อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

ฟาร์มแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 10 ไร่ของ วิรัช บัวคลี่ ในซอยเพชรเกษม 110 ของเขตหนองแขม ถูกล้อมรอบไปด้วยสวนกล้วยไม้นับร้อยไร่ ซึ่งเจ้าของฟาร์มจัดสรรไว้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแค่เพาะเห็ด แต่ยังมีพื้นที่เลี้ยงเป็ดและไก่อีกด้วย

“เมื่อก่อนครอบครัวลุงยากจน เวลาไปโรงเรียนแม่ก็จะให้ล้วงไข่เป็ดใส่กระเป๋ากางเกงไปโรงเรียนแลกค่าอาหารกลางวัน วันไหนไม่ระวังไข่ก็แตกเลอะกระเป๋ากางเกง” เกษตรกรวัยกลางคนเล่าถึงความผูกพันกับเป็ดสมัยยังวัยเยาว์

เขาเป็นคนหนองแขมโดยกำเนิด ในสมัยก่อนครอบครัวมีอาชีพทำนาเป็นหลัก โดยเลี้ยงเป็ดไข่ควบคู่ไปด้วย

เป็ดของวิรัชเป็นพันธุ์กากีแคมป์เบลล์ มีอยู่ราว 380 ตัว เลี้ยงแบบอารมณ์ดี มีการล้อมคอกอย่างกว้างๆ มีพื้นที่ให้เป็ดได้เดินเล่น มีที่กำบังให้หลบยามฝนตก อีกทั้งยังมีหลุมที่ปูพื้นด้วยฟางเพื่อให้เป็ดได้วางไข่ ซึ่งเก็บได้วันละประมาณ 230 ฟอง

ทุกมื้อเป็ดจะถูกเสิร์ฟด้วยอาหารอินทรีย์ คือเศษอาหาร แม้เป็นของเหลือสำหรับมนุษย์ แต่กับเป็ดนั้นนับว่าเป็นอาหารชั้นดี เสริมโปรตีนด้วยกากถั่วเหลือง เพิ่มแร่ธาตุด้วยหัวกุ้ง ตบท้ายด้วยรำ เพื่อให้อาหารไม่แฉะจนเกินไปและไม่บูดเร็ว เพราะจะทำให้เป็ดท้องเสียได้

เย็นวันนั้นวิรัชพาผมออกไปที่ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต ตลาดสดใกล้ฟาร์ม ในเวลาที่ตลาดพลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่มาซื้อวัตถุดิบสำหรับมื้อเย็น แต่วิรัชมาเอาอาหารเพื่อนำไปให้เป็ดของเขาในเช้าวันพรุ่งนี้

เราเริ่มกันที่โซนอาหารสด ไปเอาหัวกุ้งจากร้านขายอาหารทะเลที่วิรัชติดต่อไว้สี่ร้าน หัวกุ้งเต็มถังสี่ใบถูกลำเลียงไปยังรถกระบะที่จอดอยู่ด้านหน้าตลาด โดยผมสองถังและวิรัชอีกสองถัง

“วันนี้ได้น้อยไปหน่อย เรามาเอาเร็วไป ปรกติได้ตั้งหกถัง” วิรัชบอกผมหลังยกหัวกุ้งขึ้นรถ

หัวกุ้งเหล่านี้จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นไข่เป็ดคืนสู่เจ้าของร้านในทุกๆ เดือนเป็นการตอบแทน มีเพียงร้านเดียวที่ขอเป็นเงิน เดือนละ 500 บาท

เราไปต่อกันที่ศูนย์อาหารของตลาด วิรัชนำเศษอาหารจากถังทิ้งเศษอาหารใส่ถังที่เตรียมมาอีกสองถัง พร้อมเปลี่ยนถุงดำใบใหม่ให้กับถังทิ้งเศษอาหารเป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจที่ตลาด

ระหว่างทางกลับฟาร์ม วิรัชยังแวะรับกากถั่วเหลืองจากร้านน้ำเต้าหู้ข้างทางด้วย เรียกได้ว่าเส้นทางเดียวได้ส่วนผสมอาหารเป็ดครบหมดทุกอย่าง

วิรัชต้องออกไปเอาอาหารเป็ดวันละสองรอบ เที่ยงหนึ่งรอบและเย็นอีกรอบ แม้จะเป็นงานที่เหนื่อยและใช้เวลา แต่เขาก็ทำอย่างนี้อยู่ทุกวันไม่มีวันหยุด เพื่อให้เป็ดได้กินอาหารที่ครบถ้วน

ทุกเช้า กิจวัตรแรกก่อนจะทำสิ่งอื่นใด วิรัชจะไปดูความเป็นอยู่ของเป็ดว่าโดนงูเหลือมคู่ปรับจับไปกินบ้างไหม และเมื่อมีเวลาว่างระหว่างวันไม่ว่าจะเป็นหลังอาหารเที่ยง หลังอาหารเย็น ก็จะไปยืนดูเป็ดลงเล่นน้ำ กินแหน

“ตั้งแต่ลุงมาเลี้ยงเป็ด น้ำหนักลุงหายไป 10 กิโล เราทำงานตลอด งานมันไม่หนัก แต่เราทำทั้งวัน เพราะเราชอบด้วยแหละ ชอบดูมันเดิน ดูมันกินอาหาร ชอบมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว” วิรัชพูดขึ้นขณะพาไปชมลูกเป็ด

“เดี๋ยวอีกหน่อยนะ ตรงนี้จะทำกระต๊อบไว้ตรงนี้สักหลัง เอาไว้นอนเฝ้าเป็ดได้ รอบๆ นี้ก็จะปลูกข้าวไว้ให้เป็ดกิน ตอนซื้อเป็ดมาใหม่ๆ ยังทำเล้าไม่เสร็จ ลุงก็มานอนกางมุ้งเฝ้าเป็ดอยู่ตรงนี้แหละ”

วิรัชอยู่กับเป็ดของเขาได้ทั้งวันอย่างไม่มีเบื่อ ดูไปยิ้มไป บางครั้งยืนพูดกับเป็ด สายตาของลุงวิรัชที่มองไปยังฝูงเป็ดเต็มไปด้วยประกายของความสุข และรอยยิ้มบนใบหน้าทำให้ผมรับรู้ว่าแกคงรักเป็ดของแกมากจริงๆ

การดูแลเอาใจใส่อย่างพิถีพิถันนั้นทำให้เป็ดแข็งแรง ไม่เป็นโรค ไม่ต้องฉีดยา และนำมาสู่คุณภาพผลผลิตที่ดี ไข่เป็ดของที่นี่จึงเรียกได้ว่าเป็นไข่เป็ดอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ซึ่งไม่เพียงแต่ขายไข่เป็ดสดเท่านั้น นกเล็ก สันทัด ภรรยาของวิรัช รับหน้าที่เป็นหน่วยแปรรูปผลิตไข่เค็ม

“ไข่เค็มของที่นี่นะเหมือนกับไข่เค็มไชยาเลย ไข่แดงสีแดงและมัน” วิรัชรับประกันความอร่อย

แต่เธอบอกว่าไม่ค่อยชอบเลี้ยงสัตว์เลยทำฟาร์มเพาะเห็ด นอกเหนือจากการทำไข่เค็ม

งานในโรงเพาะเห็ดเป็นของนกเล็กเกือบจะทั้งหมด ตั้งแต่อัดก้อน บรรจุเชื้อ จัดเรียงเห็ดในโรงเรือน รดน้ำ คอยเก็บดอกเห็ด แปรรูปเห็ด จนกระทั่งนำไปขายที่ตลาด

ฟาร์มแห่งนี้เพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานเป็นหลัก มีด้วยกัน 16 โรงเรือน เป็นโรงบ่มก้อนเชื้อเห็ด 10 โรง สำหรับเกษตรกรผู้อยากเพาะเห็ด สามารถมาซื้อก้อนไปเปิดเป็นดอกเห็ด และโรงเปิดดอกอีก 6 โรง สำหรับขายดอกเห็ด

เวลาราวตี 4 ของทุกเช้า แสงจากไฟฉายคาดหัวดวงเล็กๆ จะมุ่งไปยังโรงเรือน นกเล็กจะเข้าไปเก็บเห็ดขนาดดอกใหญ่กว่าเหรียญ 10 เล็กน้อย เห็ดที่เก็บตอนนี้จะถูกนำไปขายในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ในเวลาเดียวกันวิรัชก็ไปนับประชากรเป็ดและเตรียมของไปขายในตลาด

“ผลผลิตอินทรีย์พร้อมออกสู่ตลาดแล้ว” วิรัชเปรยขึ้นก่อนรถกระบะคู่ใจที่บรรทุกผลผลิตแห่งความสุขจะเคลื่อนตัวออกไปส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคในเวลาตี 5 ครึ่ง

นกเล็กเป็นคนออกไปขายผลผลิตของฟาร์มที่ตลาดพุทธ ริมถนนพุทธมณฑลสาย 4 ส่วนวิรัชก็จะกลับมาคลุกอาหารเช้าให้เป็ด

ยังไม่ทันจะตั้งร้านเสร็จลูกค้ารายแรกก็มายืนรอซื้อไข่อยู่แล้ว

“ไข่ของเขาน่ะแดงเชียว สด คนทั้งตลาดมาซื้อกับเขาหมดแล้ว” คุณป้าลูกค้าประจำของที่ร้านบอกกับเพื่อนของนางที่มาซื้อไข่เป็ดจากนกเล็กเป็นครั้งแรก

“วันก่อนหนูมาไม่ทัน เห็ดหมดก่อน วันนี้เลยรีบมาซื้อแต่เช้า เห็ดมันสด หวาน ไม่เหนียว” ลูกค้าอีกรายยืนยันความสดใหม่ของเห็ด

ลูกค้าบางรายมาซื้อไข่เป็ดเพื่อจะเอาไปลองทำไข่เค็ม นกเล็กก็ใจดีบอกสูตรให้อย่างไม่มีกั๊ก

ผลผลิตของฟาร์มเปรียบดังผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ทำด้วยความรักและความตั้งใจ ตลาดก็เหมือนหอศิลป์ที่เป็นพื้นที่เปิดให้ได้นำงานศิลปะมาออกแสดงให้ผู้บริโภคได้สัมผัส คนที่เคยซื้อแล้วก็กลับมาซื้ออีก และยังแนะนำบอกต่อให้คนอื่นอีกด้วย ไม่เพียงผู้บริโภคได้สินค้าคุณภาพดีกลับไป คำชมที่ได้รับกลับมาก็ทำให้จิตใจของคนทำพองโต และมีกำลังในการทำงานต่อไปเช่นกัน

“ทำเกษตรมันไม่ง่าย แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินไป ถ้าเรามีความอดทน” นกเล็กพูดให้กำลังใจกับเกษตรกรมือใหม่ที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้งานในฟาร์ม

วิรัชและนกเล็กทำงานทั้งหมดในฟาร์มเพียงสองคน ไหวแค่ไหนก็ทำเท่านั้น เป็นบางครั้งที่มีลูกๆ กลับมาช่วยบ้าง บนพื้นที่ 10 ไร่ ถูกเติมด้วยหยาดเหงื่อแห่งความรักของคู่สามีภรรยาที่มีต่อการทำเกษตร

แขกที่แวะมาเยือน ไม่ว่าจะเป็นคนที่เข้ามาซื้อผลผลิตหรือผู้คนที่มาศึกษาหาความรู้เรื่องการทำเกษตร นอกจากจะได้รับความรู้จากเจ้าของฟาร์มที่มีเท่าไรก็บอกจนหมดแล้ว ย่อมได้รับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเป็นของแถมกลับบ้านไปด้วยเสมอ