ชยพล มาลานิยม : เรื่อง
มัทนา เหมรัชตานันต์ : ภาพ
จำปี ของดีหนองแขม
ในเขตตะวันตกสุดของกรุงเทพมหานคร ดอกไม้หลากพันธุ์อวดช่อรอเราอยู่ที่หนองแขม…
ชุมชนอายุราว 150 ปี ตั้งอยู่ท่ามกลางหนองน้ำอันปกคลุมไปด้วยหญ้าแขม ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกข้าวทำนา กระทั่งคลองภาษีเจริญพาดผ่านเมื่อปี 2515 ความเจริญก็รุดหน้าขึ้นตามลำดับ เปลี่ยนสังคมเกษตรเป็นชุมชนเมือง เปลี่ยนหนองน้ำ พงหญ้าแขม และท้องทุ่งนา ให้กลายเป็นสถานที่ราชการ โรงงาน อาคารพาณิชย์ และอื่นๆ อีกมาก
ผืนนาส่วนใหญ่ในแถบนี้พลิกฟื้นกลายเป็นสวนดอกไม้ ปลูกไว้ขายส่งเพื่อตอบโจทย์การแข่งขันของชุมชนเมือง ทั้งมีพื้นที่ปลูกดอกกล้วยไม้มากถึง 550 ไร่ และสองฝั่งถนนเพชรเกษมก็สะพรั่งไปด้วยดอกพุทธรักษากว่า 23 สายพันธุ์ ถึงขนาดถูกยกเป็นคำขวัญประจำเขตว่า “หนองแขมเลื่องลือคือกล้วยไม้ งามจับใจคือดอกพุทธรักษา…”
จนน่าแปลกใจที่ “ดอกจำปี” ซึ่งมีปลูกในเขตหนองแขมมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย กลับไม่ถูกเอ่ยถึงในคำขวัญกับเขาด้วย
“ทั้งประเทศเรามีพื้นที่ปลูกจำปีอยู่ประมาณ 1,400 ไร่… หนองแขมที่เดียวก็ประมาณ 600 ไร่แล้ว” ประยูร วงค์พุทธคำ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมแห่งเขตหนองแขมเล่าว่า เขตหนองแขมเริ่มทำสวนจำปีมาแล้วกว่า 3 ทศวรรษ กระทั่งกลายเป็นพื้นที่ปลูกจำปีเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ สามารถผลิตจำปีป้อนตลาดได้กว่า 190 ล้านดอกต่อปี “เกษตรกรจำปีมีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจผู้ปลูกจำปีหนองแขม ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์”
จะได้ชื่อว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต้องประกอบด้วยสองปัจจัย คือ ธรรมชาติในท้องถิ่นต้องมีลักษณะเฉพาะ และคนในชุมชนต้องมีปัญญา เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ไม่เหมือนใคร โดยจะได้รับการคุ้มครองจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะผลผลิตของทั้งชุมชน มิใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
เรามุ่งหน้าสู่สวนเขียวขนาด 15 ไร่ของประธานกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกจำปี เขาคือปราชญ์ชุมชน ผู้คิด ผู้ริเริ่ม และยังเป็นผู้นำครอบครัว “หนูแย้ม” ที่ทำให้ดอกจำปีหนองแขมแย้มบานไปทั่วถิ่น
สวนเล็กในเมืองใหญ่
สวนร่มรื่น พืชพรรณทั้งไม้ประดับและสวนครัวเขียวชอุ่มเต็มบริเวณ ถัดจากตัวบ้านไปคือแปลงจำปีกว้างใหญ่ ต้นจำปีเรียงรายบนคันดิน คืนก่อนหน้ามีฝนเทลงมา เติมน้ำในร่องสวนจนเต็มปริ่ม แต่ด้วยคันดินยกสูงจากพื้นราว 1 เมตร ทำให้น้ำไม่ท่วมรากจำปี มองไปเสมือนเกาะแก่งซึ่งเรียงตัวเป็นระเบียบกลางผืนน้ำกว้าง เรือแจวเคลื่อนไปตามร่องสวน เครื่องสูบน้ำบนเรือซึ่งประดิษฐ์เองเริ่มทำงาน ก่อนจะพ่นออกมาทางท่อทั้งสองด้าน ระลอกน้ำหมุนเกลียวเข้าหาต้นจำปีบนคันดินอย่างเหมาะเจาะ ทิ้งหยาดหยดบนใบเขียวระยับกลางแดด เป็นการรดน้ำต้นไม้ที่น่าตื่นตาทีเดียว
พยุง หนูแย้ม หรือลุงพยุงเจ้าของสวนเดินจ้ำอ้าวเข้ามา ใบหน้าชื้นเหงื่อ แต่ยังเปื้อนรอยยิ้ม พอเข้ามานั่งหลบแดดจ้าใต้ชายคาศาลาไม้ ลุงพยุงก็เริ่มสาธยายประวัติของสวนจำปีแห่งนี้อย่างออกรส
“เคยทำนาไหมล่ะ ไม่เคยก็ไม่รู้หรอกทำนาลำบากยังไง” ลุงพยุงเริ่มด้วยคำถาม ในอดีตแกก็เคยทำนาเหมือนคนส่วนใหญ่แถบนี้ ผลผลิตของชาวนาขึ้นอยู่กับเมตตาของฟ้าฝน ไม่มีความแน่นอน แกเคยลองเอาส้มเขียวหวานจากบางมดมาลงปลูกแทน สุดท้ายก็ไปไม่รอด ได้แต่ใช้ร่องสวนปลูกผักขายพอประทัง ความเจริญซึ่งรุกคืบมาพร้อมกับถนนเลียบใต้ (เพชรเกษม) กระทบชาวสวนอย่างลุงพยุงโดยตรง เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โจทย์สำคัญคือ อะไรที่ลงทุนครั้งเดียวแล้วเก็บเกี่ยวได้ตลอด
“มาดูแล้วก็เห็นว่าไม่มีอะไรจะเหมือนจำปี เราลงทุนครั้งแรก ซื้อกิ่งพันธุ์มาต้นละ 100 กว่าบาท เราปลูกหนเดียว เก็บได้ทุกวัน ตื่นมาก็ได้ตังค์แล้ว จะถูกจะแพงก็เรียกว่ามีกิน” นับจากนั้นครอบครัวหนูแย้มจึงมีรายได้จากจำปีจนพอตั้งตัว
ว่าแล้วลุงพยุงก็ฉวยตะกร้าพลาสติกสีสด เชิญชวนให้เดินตามแกเข้าไปในร่องสวนจำปี ทั้งที่เสื้อแกยังคงหมาดเหงื่อ
อิ่ม–อั้น–อด–ออก
ชายวัย 64 ปี ทรงตัวบนลำไผ่ ข้ามคูน้ำไปอย่างคล่องแคล่วราวกับหนุ่มๆ เสาะหาจำปีที่ดอกยังตูมเด็ดใส่ตะกร้า ดอกไหนแย้มบานแล้วก็ต้องปล่อยให้โรยไป ขณะที่กำลังงกๆ เงิ่นๆ เดินตามแก เจ้าของสวนก็บรรยายไม่หยุดปากถึงขั้นตอนการเก็บดอกจำปี ซึ่งปรกติจะทำในช่วงกลางคืน เพื่อให้สามารถขนดอกไม้สดใหม่ไปวางขายที่ปากคลองตลาดได้ทันภายในย่ำรุ่ง
“มันจะมีฤดูกาลที่จำปีแพง อย่างสงกรานต์ หรือก่อนตรุษจีน ทีนี้เราจะทำยังไง จะบังคับให้เขาออกดอกตอนที่เราจะเก็บ” คำตอบของลุงพยุงคือสูตรเร่งดอกซึ่งแกคิดค้นเอง เรียกว่า ”อิ่ม-อั้น-อด-ออก”
อิ่ม – ขุนจำปีด้วยปุ๋ยและฮอร์โมนชีวภาพซึ่งทำเอง รดน้ำจนเปียกโชก เพื่อให้จำปีสะสมอาหารไว้ในลำต้นอย่างเต็มอิ่ม / อั้น – งดให้น้ำให้ปุ๋ยโดยสิ้นเชิงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ / อด – ใบจำปีจะเริ่มแห้งกร้านและเหี่ยวเฉา กิ่งก้านโน้มลงต่ำ ทำให้ตัดได้ง่าย / ออก – ตัดยอด แล้วรดน้ำอีกครั้ง ยอดที่งอกมาใหม่จะมีทั้งใบทั้งดอกงอกออกมาเป็นช่อยาว เพราะสะสมสารอาหารไว้ในลำต้นอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการซึ่งลุงพยุงได้จากการสังเกตและศึกษาต้นจำปีด้วยตนเองมาเนิ่นนาน
“คนทำสวนถ้าไม่สนใจหรือไม่วิเคราะห์ด้วยตนเองเนี่ยมันจะลำบาก ถ้าเราทำแล้ววิเคราะห์ของเราเองได้ มันก็จะดีกว่าต้องไปถามคนอื่น” แกว่าพลางเอามือลูบพื้นดินเหนียวฉ่ำน้ำนิดๆ อย่างที่ต้นจำปีโปรดปราน ลุงพยุงไม่ปักใจเชื่อข้อมูลทุติยภูมิที่ได้ยินได้ฟังมาจากนักวิชาการหรือแหล่งไหนๆ แต่แกมั่นใจในข้อมูลปฐมภูมิซึ่งปรากฏต่อสายตาแกมาทุกวัน ดินที่สัมผัส ใบไม้ที่ระผิว และดอกตูมสีนวลซึ่งแกปลิดจากลำต้นมานับไม่ถ้วนหน คือคำตอบอันเที่ยงแท้ “เขาไม่ได้มาคลุกคลีกับเรา… เราต้องเอาประสบการณ์เราเถียงกับเขา เราไม่มีภาคทฤษฎี แล้วเขาเถียงเราไม่ได้ด้วย ลองไปดูเถอะความจริงมันเป็นแบบนั้น”
อิ่ม-อั้น-อด-ออก
ชายวัย 64 ปี ทรงตัวบนลำไผ่ ข้ามคูน้ำไปอย่างคล่องแคล่วราวกับหนุ่มๆ เสาะหาจำปีที่ดอกยังตูมเด็ดใส่ตะกร้า ดอกไหนแย้มบานแล้วก็ต้องปล่อยให้โรยไป ขณะที่กำลังงกๆ เงิ่นๆ เดินตามแก เจ้าของสวนก็บรรยายไม่หยุดปากถึงขั้นตอนการเก็บดอกจำปี ซึ่งปรกติจะทำในช่วงกลางคืน เพื่อให้สามารถขนดอกไม้สดใหม่ไปวางขายที่ปากคลองตลาดได้ทันภายในย่ำรุ่ง
“มันจะมีฤดูกาลที่จำปีแพง อย่างสงกรานต์ หรือก่อนตรุษจีน ทีนี้เราจะทำยังไง จะบังคับให้เขาออกดอกตอนที่เราจะเก็บ” คำตอบของลุงพยุงคือสูตรเร่งดอกซึ่งแกคิดค้นเอง เรียกว่า ”อิ่ม-อั้น-อด-ออก”
อิ่ม – ขุนจำปีด้วยปุ๋ยและฮอร์โมนชีวภาพซึ่งทำเอง รดน้ำจนเปียกโชก เพื่อให้จำปีสะสมอาหารไว้ในลำต้นอย่างเต็มอิ่ม / อั้น – งดให้น้ำให้ปุ๋ยโดยสิ้นเชิงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ / อด – ใบจำปีจะเริ่มแห้งกร้านและเหี่ยวเฉา กิ่งก้านโน้มลงต่ำ ทำให้ตัดได้ง่าย / ออก – ตัดยอด แล้วรดน้ำอีกครั้ง ยอดที่งอกมาใหม่จะมีทั้งใบทั้งดอกงอกออกมาเป็นช่อยาว เพราะสะสมสารอาหารไว้ในลำต้นอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการซึ่งลุงพยุงได้จากการสังเกตและศึกษาต้นจำปีด้วยตนเองมาเนิ่นนาน
“คนทำสวนถ้าไม่สนใจหรือไม่วิเคราะห์ด้วยตนเองเนี่ยมันจะลำบาก ถ้าเราทำแล้ววิเคราะห์ของเราเองได้ มันก็จะดีกว่าต้องไปถามคนอื่น” แกว่าพลางเอามือลูบพื้นดินเหนียวฉ่ำน้ำนิดๆ อย่างที่ต้นจำปีโปรดปราน ลุงพยุงไม่ปักใจเชื่อข้อมูลทุติยภูมิที่ได้ยินได้ฟังมาจากนักวิชาการหรือแหล่งไหนๆ แต่แกมั่นใจในข้อมูลปฐมภูมิซึ่งปรากฏต่อสายตาแกมาทุกวัน ดินที่สัมผัส ใบไม้ที่ระผิว และดอกตูมสีนวลซึ่งแกปลิดจากลำต้นมานับไม่ถ้วนหน คือคำตอบอันเที่ยงแท้ “เขาไม่ได้มาคลุกคลีกับเรา… เราต้องเอาประสบการณ์เราเถียงกับเขา เราไม่มีภาคทฤษฎี แล้วเขาเถียงเราไม่ได้ด้วย ลองไปดูเถอะความจริงมันเป็นแบบนั้น”
รวมใจเมื่อภัยมา
คู่ชีวิตของลุงพยุง สุนันท์ หนูแย้ม หรือป้าแมวเล่าประสบการณ์กว่า 30 ปีที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามี ตั้งแต่ย้ายมาจากบ้านเดิมแถวคลองหนามแดง บางบอน จนสร้างตัวได้จากการริเริ่มปลูกจำปี ปัจจุบันรั้วรอบขอบชิดของสวนจำปีลุงพยุงก็ล้วนเป็นญาติมิตรพี่น้องที่รู้จักกันทั้งสิ้น เป็นชุมชนเกษตรกรรมซึ่งส่วนใหญ่หันมาปลูกจำปีตามแนวทางของลุงพยุง และด้วยพลังของชุมชนนี้เองที่ป้องกันพื้นที่ปลูกจำปีแห่งหนองแขมให้พ้นจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 มาได้
“พวกเราทุกคนก็ลงแปลงตั้งแต่หมู่บ้านริมถนนราชพฤกษ์ น้ำระดับนี้เลย” ป้าแมวเอามือทาบที่ระดับเอว “ฝั่งโน้นท่วม เขาก็ให้เราไปดึงกระสอบทรายเอาไปใช้ พวกเราคนแก่ก็ได้แต่ใช้ปากบริหาร ใช้พวกวัยรุ่น เขามีกำลังดี เรามีแต่หัวคิด ก็ใช้ให้ไปเอากระสอบมาป้อง” นี่คือความแน่นแฟ้นของกลุ่มเกษตรกรซึ่งร่วมแรงกันปกป้องพื้นที่ปลูกจำปีเขตหนองแขมให้พ้นจากน้ำท่วมได้กว่า 310 ไร่ เพราะชาวสวนจำปีย่อมรู้ดีแก่ใจว่า จำปีน้ำแห้ง-ไม่ตาย แต่ถ้าน้ำท่วม-ไม่เหลือ
“ปีนั้นจำปีราคาดอกละ 3 บาท!” ลุงพยุงเสริมอย่างภูมิใจ
ปัญญา “พยุง” ชุมชน
เมื่อหลายครัวเรือนเริ่มปลูกจำปีตามรอยบ้านหนูแย้มมากเข้า ปัญหาจำปีล้นตลาดจึงตามมา ดอกจำปีเก็บไว้ได้ไม่นาน แช่เย็นก็คงสภาพได้เพียง 7 วัน บ่อยครั้งจำเป็นต้องขนไปทิ้งคืนละเป็นตัน จึงถึงเวลาต้องใช้ปัญญา “พยุง” ธุรกิจอีกครั้ง
ไอเดียของลุงพยุงถูกหลายคนปรามาสว่าบ้า เมื่อแกเสนอให้แปรรูปดอกจำปีเป็น “น้ำหอม” แต่เพียงเพราะไม่เคยมีใครลองทำมาก่อน เราจะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นความบ้าเชียวหรือ สุธี หนูแย้ม หรือติ๊ดตี่ ลูกชายคนรองของลุงพยุง ย้อนความไปยังจุดกำเนิดของ “หัวน้ำหอมจำปี” จากตัวอย่างดอกซึ่งส่งไปทดลองกลั่น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
หลังจากได้สังเกตเครื่องกลั่นราคาเจ็ดหลักของ ม.เกษตร ซึ่งกลั่นหัวน้ำหอมออกมาจากดอกจำปีด้วยความร้อน ขั้นตอนคล้ายการกลั่นสุรา ลุงพยุงใช้วิชาครูพักลักจำ–หรือพี่ติ๊ดตี่เลือกใช้คำว่า “ก๊อบ” เขามา–เพื่อสร้างเครื่องกลั่นแบบไทยประดิษฐ์ของตัวเอง ซึ่งมีขนาดและราคาย่อมเยากว่า ต่างกันที่เปลี่ยนจากใช้ไฟฟ้ามาเป็นแก๊ส แต่ก็ได้ผลลัพธ์น่าพอใจเหมือนกัน
“เราเอาช่วงที่จำปีถูกจัดๆ เนี่ย เอาดอกมากลั่น เพื่อแปรรูปให้มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ก่อนคือต้องทิ้งบ้าง ถวายวัดบ้าง มันก็เสียดาย” พี่ติ๊ดตี่เล่าว่าการกลั่นแต่ละครั้งใช้จำปีประมาณ 3-4 หมื่นดอก นึ่งไว้เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ก่อนจะหยาดหยดออกมาเป็นหัวน้ำหอมเพียง 20-25 ซีซี เท่านั้น ดูเหมือนไม่มาก แต่ก็ยังดีกว่าต้องทิ้งดอกจำปีจำนวนมหาศาลไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะนอกจากจะแปรรูปเป็นน้ำหอมกลิ่นจำปีแล้ว น้ำกลั่นที่เหลือยังสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น แชมพู สบู่ ไปจนถึงโลชั่นทาผิว ซึ่งยังคงกลิ่นหอมฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ของดอกจำปีเอาไว้
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้จุนเจือเพียงครอบครัวหนูแย้มเท่านั้น แต่ดอกจำปีจากพื้นที่กว่า 600 ไร่ของกลุ่มวิสาหกิจฯ จะถูกรวบรวมมากลั่นเป็นหัวน้ำหอมทั้งหมด เพื่อให้เก็บรักษาได้นานขึ้น ทั้งยังแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ ได้ ทำให้ไม่ต้องเร่งส่งดอกจำปีสดจำนวนมากเข้าไปแข่งขันกันจนล้นตลาด และยังเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรต่างจังหวัดสามารถส่งดอกจำปีเข้ามาขายในตลาดได้โดยราคาไม่ตกอีกด้วย นับเป็นการช่วยเหลือกันทางอ้อม
หัวใจจำปี
หลังเสร็จกิจกรรมมากมาย ลุงพยุงกลับมานั่งใต้ศาลาไม้อีกครั้ง คราวนี้แกหยิบหัวน้ำหอมจำปีในขวดใส ตามด้วยภาชนะและเคมีภัณฑ์จำนวนมากมาวางเรียงราวกับจะเล่นกล จากนั้นจึงก้มหน้าก้มตาผสม “โลชั่นจำปี” เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งแกเพิ่งเรียนรู้สูตรเองเมื่อไม่นานนี้ ท่าทีแกไม่ถึงกับช่ำชอง แต่ก็ลงมือทำอย่างไร้ความลังเล เพียงครู่เดียวก็ส่งโลชั่นสีขาวเนื้อข้นมาให้ดม กลิ่นหอมเย็นคล้ายยาดมเพราะผสมเมนทอลเล็กน้อย ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ของลุงพยุงช่างรวดเร็วจนน่าทึ่ง
“เป็นคนสวนต้องอึด อดทน แดดก็สู้ได้ ฝนก็สู้ได้ ต้องไม่กลัว ถ้ากลัวแล้วจะทำอะไรไม่ได้เลย” คำนิยามของลุงพยุงสะท้อนว่าอาชีพคนสวนไม่อาจหยุดอยู่เพียงพรวนกลบไถหว่าน แต่ต้องพร้อมเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา และที่สำคัญต้องสะสมความรู้อย่างไม่หยุดยั้ง ดังสิ่งที่ชายวัยเกินเกษียณผู้นี้เพียรทำมาโดยตลอด
“อย่างลุงนี่ถือว่าเหนื่อยมาก เหนื่อยฉิบหาย” แกเล่ากลั้วหัวเราะ จากเด็กสวนผัก ปลูกเองขายเองวันละ 40-50 เข่ง แกจึงไม่เคยย่อท้อต่อความยากลำบากใด โดยเชื่อว่าตราบใดที่ยังมีเรี่ยวแรง ย่อมมีหนทางให้เราเสมอ “เราก็ทำของเราไปเรื่อยๆ อย่าไปโลภมาก… ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น เดี๋ยวความรู้ก็จะค่อยๆ มาหาเรา… เราก็ค่อยๆ ศึกษาดู ทุกอย่างไม่ได้ง่าย ไม่ได้ง่าย”
ไม่ง่ายเลย กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ ก่อร่างสร้างตัว คิดค้นวิธีปลูกจำปีให้ดอกดก แปรรูปเพิ่มมูลค่า และเสริมสร้างชุมชนเกษตรกรรมที่เข้มแข็ง ลุงพยุงดึงขวดหัวน้ำหอมจำปีมาใกล้ตัว โอบอุ้มไว้ในสองมือ นี่คือหัวใจของดอกจำปี
“จำปีเป็นชีวิตจิตใจของลุงเลยนะ เราทำอะไรเราต้องเอาใจให้เขาก่อน ก่อนที่เราจะได้ใจเขามา นี่ก็เหมือนหัวใจจำปีเลย เขาอยู่ในวรรณคดีมาเป็นพันๆ ปี… แล้วมีใครไหมที่จะดึงหัวใจออกมา ใครจะคิดล่ะ” แกว่า ใบหน้ายังคงเปื้อนยิ้ม “แล้วมันหาตัวไม่ได้ ไม่มีใครเหมือน แค่นี้เราก็มีกำลังใจ ทีนี้จะไปจังหวัดไหนก็แล้วแต่ ไปกลุ่มของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปถามเขา น้ำหอมจำปี เดี๋ยวเขาจะบอกเองว่าอยู่ที่ไหน”
ลมโชยมา ใบไม้เขียวสดเสียดสีกัน กลิ่นจำปีขจรขจาย เจ้าของสวนเล็กในเมืองใหญ่ทอดสายตาไปเบื้องหน้า
“เขาจะต้องบอกเองว่าอยู่ที่นี่”
…