เรื่อง : เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ, สุรศักดิ์ เทศขจร

“วีรพร นิติประภา” ธรรมชาติในหน้ากระดาษผ่านทรงจำของชีวิต

“บางครั้ง ความรู้สึกอ่อนหวาน อบอุ่น นุ่มนวล และแวววาวเหมือนแดดเช้าหน้าหนาวที่มีไอน้ำในอากาศแสงส่องส่งประกายวิบๆ ออกมา ความรู้สึกเหมือนท้องฟ้าตอนเป็นสีฟ้ามากๆ และกระจ่างใส และไม่มีอะไรอยู่ในนั้นเลยนอกจากเมฆหนึ่งก้อน…ลอยละล่องเคว้งคว้างไปช้าๆ ในสายลมละมุนละไม”

ทะเลสาบน้ำตา – วีรพร นิติประภา

เสียงหวานแว่วในอวลกลิ่นกาแฟบางๆ ที่สลัว (Slure Project) ตอนพลบค่ำ “วีรพร นิติประภา” นักเขียนหญิงซีไรต์ ยังคงจ้องอ่านบทตอนหนึ่งในหนังสือเล่มใหม่ของเธอ-ทะเลสาบน้ำตา ซึ่งว่าด้วยเรื่องความรู้สึกสบายใจและตื่นเต้นของยิหวา เด็กน้อยหัวสีชมพูกึ่งหญิงกึ่งชาย เมื่อได้พบเจอกับอนิลมิตรภาพใหม่ รวมถึงสิ่งที่หลงใหลใฝ่ฝันเกินจินตนาการ

และนั่นอีกเช่นกันที่ตัวละครบนหน้ากระดาษได้ส่งความรู้สึกผ่านน้ำเสียงอันเรียบเบา ผ่อนคลาย และงดงามของวีรพร

เด็กหญิงวีรพรกับช่วงหนึ่งในทรงจำ

วีรพรอยู่และเติบโตในเมืองหลวงมาตั้งแต่เด็ก ในอดีตธรรมชาติรอบตัวเธอเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ตามสองข้างทางถนนและพื้นที่สาธารณะที่ปัจจุบันเริ่มหายไป กับบ้านซึ่งมีพื้นที่ไม่กว้างพอจะปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ได้อย่างฝัน มีก็แต่เพียงต้นปีบ ไม้ขนาดกลาง ที่ทดแทนความรู้สึกข้างในใจเธอ

วีรพรเล่าว่า ตอนเด็กๆ เธอไม่ค่อยมีเพื่อน เพราะแถวบ้านเช่ามีแต่เด็กผู้ชาย ไม่ค่อยมีเด็กผู้หญิง และหน้าบ้านเช่านั้นก็มีต้นชงโคขนาดใหญ่ให้ร่มเงาอยู่ เวลาเขาเล่นกันก็เล่นสร้างบ้าน ปีนต้นไม้ ซึ่งเธอก็กลัวว่าถ้าเข้าไปเล่นด้วยจะทำบ้านเขาพัง และไหนจะปีนต้นไม้ไม่เป็นอีก

“เวลาไม่มีอะไรเล่นตอนเด็กๆ ก็จะไปปูเสื่อนอนใต้ต้นชงโค เดี๋ยวก็นอน เดี๋ยวก็หงาย เล่นของเล่น เพราะปีนต้นไม้กับเขาไม่เป็น เราชอบใบมันเหมือนผีเสื้อ เวลามองขึ้นไปเหมือนมีผีเสื้อบินอยู่ ถึงเขียนได้ว่าตอนนอนอยู่ใต้ต้นนั้นในทะเลสาบน้ำตา นั่นก็คือฉากที่เคยเห็นตอนเด็กๆ

“บางครั้งเราก็ต้องการบางสิ่งบางอย่างไว้ในเล่มของเรา เพื่อที่จะดึงทรงจำบางช่วงของเราออกมา”

การไปนอนเล่นใต้ต้นไม้ นอกจากเป็นความรักความชอบเกี่ยวกับต้นไม้แล้ว สิ่งนี้ยังเป็นความทรงจำช่วงหนึ่งของชีวิต และยังเป็นพื้นที่ให้กับสิ่งที่ชอบเมื่อไปอยู่ในผลงานของเธอ

“เป็นคนชอบต้นไม้ใบไม้หลายปีแล้วตั้งแต่เด็กๆ ชอบไปอยู่ท่ามกลางต้นไม้เยอะๆ และก็ชอบไม้ยืนต้น ชอบต้นก้ามปู ถ้าเจอก็จะชอบไปจับๆ กับชอบต้นไทร ต้นตีนเป็ด หลายต้นเลยแหละ แต่บ้านก็เล็ก จะปลูกทีก็ยัดใส่กระถาง เลยกลายเป็นต้นไม้แกร็นๆ ไปหมด”

ธรรมชาติในหน้ากระดาษ

สิ่งที่เป็นความชอบและความหลงใหล มันไม่ใช่เพียงเรื่องที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ แม้บ้านในเมืองหลวงมีพื้นที่ไม่มากพอที่จะปลูกต้นไม้ แต่วีรพรก็แก้ขัดได้ด้วยการถ่ายเทธรรมชาติที่อยู่ในความคิดเข้าไปในงานเขียนของเธอเอง รวมทั้งสร้างตัวตนให้กับต้นไม้ซึ่งถือเป็นเพื่อนรักของเธอด้วย

“ต้นไม้ที่อยู่ในพุทธศักราชอัสดงฯ จะเป็นต้นไม้ค่อนข้างเก่า ตอนเขียนเรานึกถึงต้นบางต้น อย่างต้นก้ามปูที่เราชอบ เป็นเพื่อนรักกันอยู่ที่วัดเจ็ดยอดที่เชียงใหม่ คือถ้าไปเชียงใหม่เมื่อไหร่ก็แบบว่าต้องไปวัดนี้ ถ้าถามว่าไปทำไม ก็บอกว่าไปหาเพื่อน ก็คือต้นก้ามปูนี้แหละ หกเจ็ดคนโอบ ต้นเบ้อเร่อ พอไปถึงก็จะเข้าไปจับดู ‘สวัสดี มาแล้วนะ สบายดีไหม’ ”

เธอพูดด้วยน้ำเสียงเหมือนเด็ก ราวกับกำลังนึกถึงเพื่อนรักที่ไม่ได้เจอกันมานานแสนนาน

ไม่เพียงแต่ต้นชงโคที่อยู่ในนวนิยายเรื่องทะเลสาบน้ำตา ต้นก้ามปูที่อยู่ในนวนิยายเรื่องพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ยังมีต้นปีบอยู่ในนวนิยายเรื่องไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต และต้นไม้อื่นๆ ในหน้ากระดาษของเธออีก ไม้เหล่านี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่เข้ามาประกอบฉากอย่างไร้หมุดหมาย

“เวลาคุณเขียนอะไรสักอย่าง นอกจากเนื้อเรื่องที่คุณต้องใช้ความพยายามมากพอสมควรที่จะเขียนมันให้ได้ทุกวัน นึกภาพซีนตรงนี้ตรงนั้นซ้ำๆ มันหมายความว่าคุณชอบซีนแบบนี้ ซึ่งเราชอบซีนที่มีต้นไม้เยอะๆ เวลาคิดถึงมันก็จะสบายใจ มันทำให้รู้สึกอยากเขียน เวลาเขียนก็จะเขียนด้วยความชมชื่นโสมนัส แบบให้รายละเอียดของต้นไม้ กลิ่นของดอกปีบ มันเขียนด้วยความรู้สึกอีกแบบหนึ่งเลย

“สิ่งนี้ไม่ใช่แค่สิ่งที่อยู่ในซีนเฉยๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็โผล่มาอยู่ตรงนี้ แต่มันเป็นหมุดหมายหลายอย่างด้วย”

บางสิ่งบางอย่างที่ถูกมองอย่างผิวเผิน ไม่ใช่สิ่งที่ตั้งอยู่อย่างไร้ความหมาย แต่วีรพรนำธรรมชาติเข้ามาอยู่ในงานเขียนของเธอก็เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นช่วงชีวิตหนึ่ง ให้ได้หยุดพักใจ

“เราคิดว่าเราพยายามนำเสนอจุดบางจุดในชีวิตของเรา ในท่ามกลางสิ่งต่างๆ มันจะมีที่พักพิง เป็นที่ที่ให้เราพัก แล้วหนีจากโลกจริงๆ”

ท้องฟ้าที่คนลืมมอง

ทุกเช้าหลังนั่งจมจ่อมเขียนงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นชั่วโมง วีรพรจะพักผ่อนด้วยการลุกออกไปยืดเส้นยืดสายที่สนามเล็กๆ หน้าบ้าน ปลูกต้นไม้ พรวนดิน มองท้องฟ้าเช็กว่าฝนฟ้าจะเป็นอย่างไร และปล่อยใจเพื่อคิดเรื่องราวที่จะเขียนต่อไป

“การพักมันเป็นส่วนที่ทำให้เราได้หนีออกจากนิยาย เดินไปขุดดิน ปลูกต้นไม้ในกระถาง บ้านก็เล็กๆ ทำอะไรหยุบหยิบๆ เสร็จก็กลับไปเขียน ชีวิตประจำวันเป็นแบบนั้น เพราะกลางวันแมวนอน แมวไม่เล่น แมวเล่นแต่ตอนเย็น”

สิ่งที่พาเธอออกจากงานคงเป็นช่วงเวลาพักผ่อน ออกไปทำสวน เล่นกับแมว และอีกสิ่งที่เธอชอบทำก็คือการมองท้องฟ้า

“เราเป็นคนที่ไม่ชอบตึก ว่างๆ ก็จะเงยหน้ามองฟ้า แล้วพบว่าคนไม่ค่อยมองฟ้ากัน เพราะว่าถ้าเกิดคุณเป็นคนเมืองจริงๆ คุณมองไม่เห็นฟ้าด้วยซ้ำ คุณชินกับการไม่เห็นมัน ในขณะที่สีฟ้ามันให้ความรู้สึกสบาย มันให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และมันให้ความรู้สึกแจ่มใส”

แม่น้ำของชีวิต

กลิ่นกาแฟที่อวลอยู่เมื่อพลบค่ำ จางไปมากแล้วขณะท้องฟ้ามืดสนิท ใน “สลัว” มีเพียงแสงสว่างจากหลอดไฟที่ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัว วีรพรยังคงยิ้มหัวกับเรื่องเล่าจากทรงจำถึงเรื่องราวของเธอ

เธอบอกว่า เธอชอบแม่น้ำ เวลาไปไหนมาไหนจะชอบไปดูว่าช่วงไหนของแม่น้ำสวย แล้วไปยืนมองการไหลเรื่อยช้าๆ ของผิวน้ำ ยืนมองการเปลี่ยนผ่านจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ยืนมองความเรียบง่ายนั้นอย่างสบายใจ และเธอก็ยังมองชีวิตของตนเองเป็นเช่นเดียวกับแม่น้ำ

“คิดว่าเป็นแม่น้ำนะ เรื่อยๆ เปื่อยๆ แล้วก็มีช่วงที่สวย มีช่วงที่เป็นสีน้ำตาลโง่ๆ มีช่วงที่วาวฉ่ำๆ มีช่วงลึกช่วงตื้น มีช่วงที่ต่อกับทะเล มันไหลไปเรื่อย ไม่อยู่กับที่ ไม่เหมือนเดิม เดี๋ยวรวย เดี๋ยวจน เดี๋ยวยาก เดี๋ยวง่าย เดี๋ยวอูมฟูม เดี๋ยวมีทุกสิ่งทุกอย่างในบางช่วงอย่างสีน้ำตาลโง่ๆ”

ขอขอบคุณ

  • คุณวีรพร นิติประภา นักเขียนหญิงซีไรต์
  • สถานที่ Slure Project (สลัว)
  • PALAM PALAM CAFE

สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้การ Parkใจ สามารถติดตามกิจกรรมอื่นๆ ในปีนี้ได้ที่ เฟซบุ๊กกรุ๊ป Parkใจ

ดำเนินการโดย นิตยสารสารคดี และนายรอบรู้ นักเดินทาง

สนับสนุนโดย เพจความสุขประเทศไทย และ ธนาคารจิตอาสา

ชวน Park ใจ โดยนิตยสารสารคดี และ “นายรอบรู้” นักเดินทาง

สนับสนุนโดยเพจความสุขประเทศไทย และธนาคารจิตอาสา

อ่านบทความหมวด Planet