ธนพร จิตรจำลอง : เรื่อง
มาวิน พงศ์ประยูร : ภาพ

ชุมชนตลาด แต่ปลอดขยะ – ชุมชนตลาดหนองแขม

หนองแขม ชุมชนของคนเข้มแข็ง

การจัดการเรื่องขยะมูลฝอยภายในชุมชนนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประธานหรือหัวหน้าชุมชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง ทำให้เราสังเกตเห็นขยะในบริเวณต่างๆ ถูกทิ้งไว้อย่างไม่เป็นที่เป็นทาง และส่งกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ออกมา ชุมชนที่สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้นับว่าผู้นำและคนในชุมชนมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก

ชุมชนตลาดหนองแขมเป็น 1 ใน 71 ชุมชนของเขตหนองแขม จังหวัดกรุงเทพมหานคร หากท่านเดินทางมาโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ให้ลงที่สถานีปลายทางหลักสอง โดยออกประตูตรงข้ามกับห้างเดอะมอลล์บางแค และต่อรถโดยสารประจำทางสาย 80 ลงที่ปากซอยวัดหนองแขม หรือนั่งสองแถวหากมาจากปากทางบางบอน 5 ซึ่งจะมุ่งหน้ามายังวัดหนองแขม

ชุมชนตลาดหนองแขมถือว่าเป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ และมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน เคียงคู่กับวัดหนองแขมที่สร้างขึ้นโดยพระวินัยธร (คำ) เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน อำเภอสามพราน เมืองนครปฐม มาตั้งแต่ปี 2413 และยังเป็นชุมชนที่มีความคึกคักและหนาแน่นไปด้วยผู้คนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีศูนย์รวมจิตใจอย่างวัดหนองแขม การทำมาค้าขายอย่างริมคลองภาษีเจริญ และการตัดผ่านของถนนเพชรเกษม

หากคิดกันตามหลักแล้ว ชุมชนที่อยู่ใกล้กับตลาดและการสัญจรของผู้คนจำนวนมากเช่นนี้ คงจะมีขยะจำนวนมิใช่น้อยที่จะหลั่งไหลเข้ามามากเช่นเดียวกับผู้คน ทว่าชุมชนตลาดหนองแขมได้รับรางวัลชุมชนปลอดขยะ (zero waste) ขนาดเล็ก (S) ระดับจังหวัด ประจำปี 2562 และ 2563 นับว่าเป็นสิ่งที่เกินคาดไปมากสำหรับชุมชนที่มีพื้นที่อยู่ใกล้ตลาด

“หากเดินไปน้องจะเห็นที่ทำการชุมชนของประธาน จะมีกลุ่มผู้สูงอายุจะมาทำงานฝีมือของโรตารี ซึ่งในส่วนนี้เขาจะนำขยะรีไซเคิล วัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาทำ อย่างเช่น กระเป๋า ขวดพลาสติก จะนำมาทำเป็นโคมไฟต่างๆ และการนำหลอดกาแฟหลังจากใช้แล้วนำกลับมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ทำเป็นหมอนสุขภาพ” นภา พู่สี หรือเอ๋ เจ้าหน้าที่งานรักษาความสะอาดเขตหนองแขม ที่วันนี้บังเอิญมาดูแลการเก็บกระทงที่ลอยกันเมื่อคืน จึงเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะของชุมชนบางส่วน

“สังเกตได้ว่าในชุมชนจะไม่มีถังรองรับขยะเลย เนื่องจากในชุมชนมีกิจกรรมนัดทิ้งนัดเก็บเป็นเวลา ซึ่งช่วงเวลาตี 5 รถขยะจะเข้าเก็บ และชาวบ้านเขาจะรู้กันแล้วก็จะมีการคัดแยกขยะ ซึ่งเป็นการลดปริมาณขยะจากต้นทาง โดยที่เขาจะแยกส่วนที่เป็นพลาสติกที่ขายได้ แต่บ้านบางหลังก็จะแยกแล้วขายให้กับคนรับซื้อของเก่า ทำให้มีปริมาณขยะที่น้อยลง และชุมชนนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนเก่าคนแก่ ทำให้มีการร่วมกันอนุรักษ์แหล่งน้ำได้เป็นอย่างดี”

ของเสีย ไม่เสียเปล่า

นอกจากการแยกขยะ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการย่อยขยะ ซึ่งบ้านหลังหนึ่งทำไว้ได้ดีและเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ขนาดเล็กของชุมชน บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนเลียบคลองภาษีเจริญ สังเกตได้จากหน้าบ้านจะมีวงบ่อซีเมนต์เรียงรายประมาณสามวง มีป้ายกระดาษห้อยไว้ว่า “ปุ๋ยหมักชุมชน” และถังสีน้ำเงินขนาดใหญ่มีกระดาษติดไว้ว่า “จุลินทรีย์ชุมชน”

กิตติศักดิ์ ถนอมบุญ หรือเบิร์ด ชายวัยกลางคนเจ้าของบ้าน ผู้หลงใหลในการย่อยสลายขยะรอบตัวให้กลายเป็นปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ

“ผมไม่ได้มองว่าสิ่งที่ทำเป็นภาระ เพราะผมอยากทำมันอยู่แล้ว” เบิร์ดกล่าวด้วยความมั่นใจว่าเขารักและหลงใหลที่จะทำในสิ่งนี้ เพราะเขามองเห็นคุณค่าของขยะเหล่านี้มากกว่าจะทิ้งมันไปเฉยๆ

เบิร์ดเล่าว่า เมื่อประมาณ 5-6 ปีที่แล้วเขาต้องการหัวเชื้อจุลินทรีย์มาบำรุงต้นไม้ของตนเองเท่านั้น จึงเริ่มศึกษาจากคลิปของอาจารย์ชื่อดังต่างๆ ในยูทูบ และต่อยอดมาเป็นปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพในปัจจุบัน

“สิ่งขยายจุลินทรีย์คือกากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดงละลายน้ำก็ได้” การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำจะใช้เศษผักผลไม้และเศษอาหารประมาณ 3 กิโลกรัม มาสับหรือบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ในถังพลาสติกหรือโอ่ง และใส่กากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดงหนึ่งในสามของน้ำหมักผัก ใช้ของหนักวางทับ แล้วปิดฝาทิ้งไว้ 5-7 วัน จะได้น้ำสีน้ำตาลไหลออกมา คือน้ำหมักชีวภาพ กรอกใส่ขวดปิดฝาให้สนิทพร้อมที่จะใช้

“พอเราเลิกใช้เคมีเมื่อไรพวกนี้จะเยอะ” เบิร์ดพูดขณะที่กำลังหยิบไส้เดือนขึ้นมาให้ดูจากปุ๋ยหมักใบไม้แห้งของเขา ซึ่งวิธีการทำคือ นำเศษใบไม้แห้งจำนวน 100 ส่วน โดยเก็บรวบรวมเอาจากเจ้าหน้าที่กวาดขยะของชุมชน สามารถใช้ได้ทั้งแบบที่แห้งและแบบที่ยังมีความเปียกชื้นอยู่มาคลุกกับปุ๋ยคอกมูลวัวจำนวน 10 ส่วนและน้ำหมักจุลินทรีย์ให้เข้าด้วยกัน จากนั้นรดน้ำสะอาดให้มีความชื้นพอดีไม่เปียกชุ่มจนเกินไป ทำการพลิกกลับกองปุ๋ยในทุกๆ สัปดาห์ เพื่อเติมออกซิเจนให้กับจุลินทรีย์ และรดน้ำเพิ่มเติมให้มีความชื้นอยู่เสมอ ทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 30 วัน ปุ๋ยก็จะพร้อมใช้งาน และนอกจากบ้านของเบิร์ดแล้ว ยังมีบ้านหลังอื่นๆ ที่ทำคล้ายกันในลักษณะเช่นนี้

เพราะความเก๋า พาเรามาที่นี่

“คนสูงอายุ ถ้าทำไม่ได้…เขาก็จะทำให้ได้” คำพูดของพรพิมล ผลอวยพร หรือ “แมว” ประธานชุมชนตลาดหนองแขม และประธานกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ ชุมชนโรตารีหนองแขม โดยอุปถัมภ์ของสโมสรโรตารีหนองแขม ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานมาอย่างโชกโชนตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจในความมุ่งมั่นของผู้สูงอายุในกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ฯ

แมวได้ให้พื้นที่บริเวณชั้นล่างของบ้านเธอเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมของกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ฯ รวมถึงเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในกลุ่ม ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการนำขยะที่ย่อยสลายได้ยากมาประดิดประดอยเป็นของใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลอดกาแฟที่ใช้แล้วมาทำเป็นกล่องใส่ทิชชูและไส้ของหมอนสุขภาพ, เศษผ้าจากโรงงานมาทำเป็นหน้ากากป้องกันไวรัสโควิด-19 แจกให้กับคนในชุมชน และปลอกหมอนสุขภาพ, ขวดพลาสติกที่ใช้แล้วมาทำโคมไฟประดับบ้านที่มีลวดลายสวยงาม เป็นต้น

ในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ มักขึ้นอยู่กับความสนใจและความถนัดของแต่ละคน อย่างรจนา บุญภัทรานนท์ หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มบำเพ็ญประโยชน์ฯ มีความสนใจการทำโคมไฟจากขวดพลาสติกจึงไปเรียนเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 โดยวิธีการทำคือ นำขวดพลาสติกขนาดใดก็ได้มาตัดให้เป็นลวดลายต่างๆ ด้วยหัวแร้งอย่างประณีต รจนาเล่าว่ากว่าเธอจะทำได้ก็เจ็บมือ ปวดหลัง บางครั้งก็เผลอหลับ เพราะทำเพลินไปจนหัวแร้งตัดไปโดนเสื้อของเธอขาดวิ่น แต่เธอก็ยังทำมันจนสำเร็จ

ความประณีตที่เธอทุ่มเทให้กับงาน ทำให้ฉันมีความเชื่อว่าหากคนเราคิดจะทำสิ่งใดก็ตาม หากมีความตั้งใจและมีใจรักในสิ่งที่ทำก็สามารถที่จะทำให้สำเร็จได้เหมือนกับรจนา

นอกจากโคมไฟจากขวดพลาสติกของรจนา ยังมีหมอนสุขภาพที่ปลอกหมอนทำจากเศษผ้าโรงงาน และไส้หมอนทำจากหลอดพลาสติกที่ใช้แล้วมาตัดเป็นท่อนเล็กๆ ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หมอนใบนี้เกิดจากความสนใจของแมว ซึ่งนำมาถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในกลุ่มได้ทดลองทำ และจำหน่ายในราคาใบละ 60 บาท การสร้างสรรค์ของแมวทำให้ฉันเข้าใจว่าทุกๆ สิ่งมีคุณค่าหากเราใช้ใจในการมองเห็นคุณค่าของมัน

ชุมชนตลาดหนองแขมเป็นชุมชนที่มีการสัญจรของผู้คนอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะทางบกหรือทางน้ำ แต่ด้วยความชาญฉลาดของผู้นำที่สามารถสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในชุมชน มองเห็นถึงความสามารถของคนในชุมชนที่จะช่วยสร้างประโยชน์แก่ชุมชน อีกทั้งยังคอยช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่เสมอไม่ขาดสาย สิ่งเหล่านี้ทำให้คนในชุมชนเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจที่จะสนับสนุนนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการขยะในชุมชนให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น และไม่ถูกมองว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็น “ภาระ” แต่เป็นการให้ความร่วมมือแก่ผู้นำชุมชนด้วยความสมัครใจ