ศดานันท์ เสมอวงษ์ : เรื่อง
พีรพัฒน์ รักแป้น : ภาพ

Aging Society…ที่นี่หนองแขม

“ดีใจที่เขายังเห็นพวกเราอยู่ ไม่ได้ทิ้งไว้ข้างหลัง เราโชคดีมาก ความอบอุ่นเรามีเยอะมาก…”

คำพูดของป้ารุ่ง-ศจีพันธ์ หัสดินทร หนึ่งในสมาชิกชมรมผู้สูงอายุหนองแขม ยังคงดังชัดอยู่ในความคิดของฉัน เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ซาบซึ้งในความเมตตาที่ชุมชนตลาดหนองแขมมีให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชนราวกับคนในครอบครัว

เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) อย่างเต็มตัว ด้วยเหตุที่ผู้คนนิยมมีลูกน้อยลงและวัยรุ่นวันนี้ก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุในวันหน้า ดังนั้นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของประเทศเราก็หนีไม่พ้นกลุ่มวัยเก๋าแน่นอน แต่เรื่องตลกร้ายก็คือ แม้เราจะตระหนักรู้กันดีว่าพวกเขาจะเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่จะพัฒนาประเทศในภายภาคหน้า เราดันหลงลืมพวกเขาไว้ข้างหลังโดยอาจจะทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทำให้คุณค่าและความสามารถของผู้สูงอายุที่ยังคงมีเหลือล้นถูกมองข้ามไปอย่างน่าเศร้า สถานการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นในชุมชนตลาดหนองแขมเช่นกัน…

แต่ไม่ใช่เสียทั้งหมด

เมื่อพูดถึงชุมชนตลาดหนองแขมเราอาจนึกถึงบรรดาต้นไม้นานาพรรณตามคำขวัญของชุมชนอย่างดอกกล้วยไม้ ดอกพุทธรักษา หรืออาจนึกถึงคลองภาษีเจริญที่ตัดผ่านชุมชนสร้างเส้นทางสัญจรไว้ตั้งแต่ในอดีตและยังคงมีการใช้งานจวบจนปัจจุบัน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความโดดเด่นให้แก่ชุมชนและไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือการเป็นสังคมผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเห็นบรรดาคุณลุงคุณป้าเดินกันอย่างขวักไขว่ด้วยย่างก้าวที่มั่นคงราวกับอายุนั้นเป็นเพียงแค่ตัวเลขอย่างไรอย่างนั้น

นอกจากนี้สิ่งที่ช่วยย้ำว่าหนองแขมเป็นชุมชนผู้สูงอายุก็คือการมีอยู่ของ “ชมรมผู้สูงอายุหนองแขม” ที่ซึ่งเป็นทั้งบ้าน ที่ทำงาน และที่ผ่อนคลายสำหรับลุงๆ ป้าๆ ในชุมชนนั่นเอง การมีผู้สูงอายุในชุมชนของเขตหนองแขมดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์ปรกติที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับสถานการณ์ประชากรภาพรวมของทั้งประเทศไทย แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับชุมชนเล็กๆ แห่งนี้คือการที่ผู้สูงอายุเหล่านี้มิได้ถูกละเลยหรือถูกทิ้งขว้างอย่างที่ผู้สูงอายุกลุ่มอื่นๆ อาจเคยประสบพบเจอ

ชมรมผู้สูงอายุหนองแขมเป็นพื้นที่ของบรรดาวัยชราที่มีเวลาว่างหลังจากผ่านวัยทำงานมาอย่างหนักหน่วงตลอดช่วงชีวิต ทั้งยังเป็นชมรมที่สร้างรายได้ให้กับพวกเขาและชุมชนผ่านการขายงานประดิษฐ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าถักจากไหมมาคราเม่ หมวกสานทำมือ หรือหมอนหนุนที่ทำจากหลอดกาแฟ โดยอยู่ในการควบคุมดูแลของหัวหน้าชมรมอย่างป้าแมว-พรพิมล ผลอวยพร ผู้ที่เป็นทั้งครูผู้สอนและผู้บริหารการทำงานของบรรดาสมาชิกกว่า 20 ชีวิต ซึ่งมีทั้งคุณลุงคุณป้าที่แวะเวียนกันมาเรื่อยๆ บ้างก็เดินเท้า บ้างก็นั่งรถโดยสารของชุมชนที่สนนอัตราค่าบริการ 5 บาท มายังชมรมฯ แห่งนี้

“เขาฉลาดกันนะ หัวดีมาก ดูปุ๊บๆ ก็ทำเป็นแล้ว”

ป้าแมว ประธานชมรมผู้สูงอายุเขตหนองแขมวัย 68 ปี กล่าวถึงความสามารถของสมาชิกในกลุ่มของเธอด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมกับเล่าให้ฉันฟังถึงที่มาของชมรมฯ ที่เกิดขึ้นอย่างเรียบง่าย แต่มั่นคงว่า ชมรมนี้เริ่มต้นขึ้นจากการที่ป้าแมววิ่งออกกำลังกายรอบชุมชนตลาดหนองแขม จากนั้นก็มีเพื่อนๆ มาวิ่งด้วยกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทางเขตหนองแขมเห็นการรวมตัวดังกล่าวจึงคิดว่าคงจะเป็นการดีไม่น้อยหากได้ช่วยสนับสนุนคนกลุ่มนี้ จึงได้มีการชักชวนให้ป้าแมวร่วมเข้าอบรมกิจกรรมวิชาชีพต่างๆ จากนั้นป้าแมวก็จะนำความรู้ที่ได้มามาถ่ายทอดให้กับสมาชิกจนกลายมาเป็นชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็งดังเช่นทุกวันนี้

หลังจากเล่าประวัติขององค์กรให้ฟัง ป้าแมวก็คว้ากระเป๋าถือลายริ้วขาวดำซึ่งวางอยู่ใกล้มือเธอให้ฉันดู พร้อมกับถูกระเป๋าให้เห็นถึงความประณีตในการถักทอ

“ใบนี้ก็ถักกันเอง เป็นไหมมาคราเม่ โครงเราทำเองไม่ได้ก็ไปเอามาจากประเทศเกาหลีแล้วดึงตัวกระเป๋าออก เอาที่เราถักใส่เข้าไป เป็นการถักโครเชต์ ราคาสูง มีตั้งแต่ 1,300 1,600 1,800 ตามไซซ์กระเป๋า”

ป้าแมวอธิบายกระเป๋าใบดังกล่าวให้ฉันฟังด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจในชิ้นงานตรงหน้าที่ประกอบขึ้นมาจากแรงกายแรงใจและความละเอียดลออในการถักทอ ซึ่งแฝงไปด้วยขั้นตอนอันซับซ้อน

“มันทำยากจริงๆ บางคนทำแล้วเอาลงโครงกระเป๋าไม่ได้ก็มี ราคาเลยสูง แล้วไปดูสิทั้ง 71 ชุมชนไม่มีใครทำได้ เราทำได้ที่เดียว ราคาสูงหน่อย แต่ต้องลองมาทำดูแหละจะรู้ว่ามันไม่ง่ายเลย บางคนถักได้ แต่เอาเข้าโครงไม่ได้ กว่าจะได้มือไม้พังเลยทีเดียว”

ความยากลำบากรวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่เล่ามาไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของกระเป๋า แต่ยังทำให้เรารับรู้ได้ถึงความพยายามและความตั้งใจของบรรดาผู้สูงวัยที่มาช่วยกันรังสรรค์งานฝีมือเหล่านี้

ประธานชมรมหญิงคนเก่งยังเล่าให้ฟังต่อว่า นอกจากหารายได้แล้ว เธอและเพื่อนๆ ก็ยังมักชวนกันไปบำเพ็ญประโยชน์ให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการกวาดวัด หรือช่วยจัดกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ

ระยะเวลาที่ได้ใช้ร่วมกันวันละหลายชั่วโมงแม้จะเพียงแค่ 2 วันต่อสัปดาห์ในวันอังคารและพุธ แต่นั่นก็เพียงพอที่จะให้สมาชิกได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวในอดีตและปัจจุบันรวมถึงบรรยายภาพตัวเองในอนาคตได้อย่างกลมกล่อมและออกรส

การได้มาทำงานที่ชมรมจึงเหมือนกับการมาบ้านหลังที่ 2 หรือสำหรับบางคนอาจจะเหมือนได้กลับบ้านต่างจังหวัดที่จากมาก็ว่าได้

“บางคนเขามาเพราะเหงา เข้ากรุงเทพฯ มาอยู่กับลูก ลูกทำงาน พอลูกมีหลานเขาก็เลี้ยงหลาน พอหลานโตพอจะไปโรงเรียนเขาก็ต้องกลับมาอยู่คนเดียวอีกรอบ อย่างรุ่งนั่นน่ะป่วยเป็นโรคเลือดต้องคอยถ่ายเลือด แต่ก็มาช่วยทำตรงนี้ แกเหงาซึมเศร้า อยู่บ้านก็เหงา กินข้าวไม่ได้ แต่พอมาที่นี่แฮปปี้ คุยกับคนนู้นคนนี้ กินข้าวได้ ลืมว่าตัวเองป่วยไปเลย จากอันไหนที่กินไม่เป็น เขาก็ได้ลองอะไรใหม่ๆ”

ป้าแมวพูดพลางชี้ไปที่สมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มผู้กำลังขะมักเขม้นกับการถักกระเป๋าที่เพิ่งจะขึ้นแพตเทิร์นใหม่ แม้งานในมือจะดูยากเย็น แต่ใบหน้าของ “ป้ารุ่ง” ก็ยังคงเปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม และมีเสียงหัวเราะจากการได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ในกลุ่มผู้สูงอายุคนอื่นอยู่เสมอ

“ป้าเป็นคนหาดใหญ่มาทำงานที่กรุงเทพฯ ก่อนจะมาตรงนี้เราเหงา เราไม่มีเพื่อน เกือบจะเป็นซึมเศร้าค่ะ ลูกๆ แต่งงานไปหมดแล้ว ไปอยู่ต่างประเทศ ช่วงนี้ติดโควิดก็ยังมาหาไม่ได้”

ป้ารุ่ง หญิงชราผมสั้นผิวสองสีวัย 68 ปี ยิ้มทักทายและแนะนำตัวคร่าวๆ กับฉันพร้อมบรรยายความภูมิใจที่เธอมีต่อป้าแมวและชมรมของเธอด้วยน้ำเสียงที่มั่นคงแข็งแรง แสดงให้เห็นถึงความผูกพันที่เธอมีต่อองค์กรของเธอเป็นอย่างมาก เหตุที่เธอรักชมรมนี้เป็นพิเศษคงเป็นเพราะทุกคนที่นี่ดีกับเธอ อย่างที่เธอเองก็ไม่อยากจะเชื่อว่าจะได้พบคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมีเมตตามากขนาดนี้

“พี่แมวเขาบอกว่ารุ่งมาเถอะ ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ มานั่งคุยมานั่งหัวเราะกินข้าวด้วยกัน สามีเราเพิ่งจะจากไป พี่แมวเขาก็ไม่อยากให้อยู่คนเดียว ก็ชวนมากินข้าวมานั่งเล่น มีที่ไหนเขาจะต้อนรับเราขนาดนี้ หาข้าวหาน้ำให้กินเหมือนคนในครอบครัว ใครมาจากไหนพี่แมวก็รับหมดจิตใจดีมากจริงๆ เวลามีคนป่วยแกก็ไปช่วยไปเยี่ยมถึงบ้าน เอาแพมเพิสไปให้ก็มี คนอยากได้เตียงผู้ป่วยแกก็หาไปให้ บางครั้งเราเรียกแกกินข้าว แกก็บอกไม่เอาๆ เดี๋ยวไป(ช่วย)ไม่ทัน”

คำชื่นชมยกย่องป้าแมวและชมรมฯ ไหลมาอย่างไม่ขาดสายจากปากของป้ารุ่ง แม้อายุจะไล่เลี่ยกัน แต่ด้วยความเคารพที่มีต่อป้าแมว เธอก็ยืนยันจะเรียกประธานชมรมฯ ของเธอว่า “พี่” เธอเสริมต่อว่าการมาทำงานทำให้เธอหายฟุ้งซ่านและหายทรมานจากความเหงา เพราะต้องใช้สมาธิในการทำงาน รวมไปถึงต้องเก็บแรงไว้เม้ามอยกับเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นป้าต๊ะ ผู้ที่ถักหมวกเก่งมากที่เธอเรียกว่าหัวกะทิ ป้ารจนาที่มีดีกรีเป็นมือหนึ่งในการแกะสลักขวดพลาสติกของชมรมฯ รวมถึงสมาชิกคนอื่นๆ อีกมากมายที่เล่าวันเดียวก็คงไม่หมด

“ดีที่สุดเลยที่ได้มาอยู่ที่นี่ เราโชคดีที่สุดที่ได้เจอพี่แมวและได้อยู่ที่หนองแขม คนเรามันต้องอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนไม่ว่าจะยากดีมีจน หนูได้ไปโรงพักเก่ามาไหมล่ะคะ นั่นน่ะเวลามีงานเราก็เอาของไปขาย ช่วยกันดูแล พี่แมวยังอนุญาตให้แม่ค้าในตลาดมาขายด้วยเลยแม้เขาจะไม่ได้เป็นสมาชิกชมรมฯ เราพึ่งพากันทั้งชุมชน ใครเดือดร้อนเราก็ช่วยเหลือ เราต้องใจกว้างไปใจกว้างมากันนะลูก”

เธอทิ้งท้ายว่าการมาอยู่ที่ชมรมนี้ทำให้เธอเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้สูงอายุคนอื่นๆ ว่ายังมีความสามารถ เธอไม่ได้รู้สึกถูกทิ้งขว้างหรือถูกลืม อีกทั้งการทำงานยังทำให้เธอรับรู้ถึงศักยภาพของเธอและเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เสื่อมไปตามอายุเลย

“ดีใจที่เขายังเห็นพวกเราอยู่ ไม่ได้ทิ้งไว้ข้างหลัง เราโชคดีมาก ความอบอุ่นเรามีเยอะมาก เราพูดดีคิดดีต่อกันมันทำให้ชมรมและชุมชนเราเข้มแข็ง ถ้าหนูว่างๆ ก็กลับมาได้นะคะ”

ป้ารุ่งกอดฉันก่อนจะแยกย้ายกันไปรับประทานอาหารกลางวันที่ป้าแมวกำลังจัดเตรียมอยู่ เสียงช้อนส้อมกระทบกันดังมาจากด้านหลังครัว ไม่นานป้าแมวก็ออกมาพร้อมกับหม้อแกงไก่ที่ส่งกลิ่นหอมไปทั่วทั้งชมรมฯ ปากร้องเรียกให้ทุกคนมารับประทานร่วมกัน อาหารมื้อนี้อบอวลไปด้วยความสุขอย่างบอกไม่ถูก เพราะความอร่อยของอาหาร หรือเพราะพลังบวกจากป้าๆ หรืออาจจะเพราะสองอย่างนี้ก็ไม่อาจบรรยายได้

เมื่ออิ่มท้องและถึงเวลาที่ต้องกลับ ฉันและคณะได้ร่ำลาบรรดาคุณป้าคุณลุง ป้ารุ่งเดินมาหาฉัน พร้อมอวยพรก่อนจากกัน

“ขอให้หนูเจอแต่คนดีๆ นะลูก”

เราสวมกอดกันอีกครั้งและร่ำลากันอย่างจริงจัง คำลาที่ประทับอยู่ในใจฉันจนบัดนี้ทำให้อดคิดไม่ได้เลยว่าป้ารุ่งมีความสุขมากแค่ไหนที่ได้มาอยู่ที่นี่ มากจนหวังว่าฉันจะได้พบกับมิตรภาพดีๆ แบบที่เธอเองได้รับมา

การได้มาพบปะพูดคุยกับคุณลุงคุณป้าจากชมรมผู้สูงอายุทำให้ฉันได้เข้าใจแล้วว่าอายุที่มากขึ้นไม่ได้ทำให้ศักยภาพเราลดลง และนอกเหนือจากความเข้าใจซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ชรายังมีที่ทางในสังคมและไม่กลายเป็นคนชายขอบด้วยอายุซึ่งเป็นตัวแปรที่ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คงเป็นชุมชนแห่งนี้ที่มองเห็นถึงความสำคัญและไม่ทิ้งขว้างพวกเขา ทั้งยังสร้างคุณค่าและดึงความสามารถที่พร้อมจะพัฒนาสังคมออกมาเสมอ เช่นนี้แล้วหากจะกล่าวว่าชุมชนตลาดหนองแขมทำให้เราหมดห่วงถึงชะตาชีวิตในภายภาคหน้าของผู้สูงอายุก็คงจะได้ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้น “ที่นี่” ที่ชุมชนตลาดหนองแขมแห่งนี้ ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างประจักษ์แล้วว่า aging society ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลสำหรับคนในพื้นที่นี้เลย

เพราะการเป็นคนแก่มิได้หมายความว่าความสามารถของพวกเขาจะแปรผกผันกับตัวเลขที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เสียหน่อย