เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช และสุชาดา ลิมป์
วิดีโอ : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ธรรมเนียมของหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
มักจะมี “พระ-นาง” มาประทับรอยมือรอยเท้า
ดาวเด่นแต่ละดวงคัดสรรจากผู้ได้รับการจดจำเป็นตำนาน ซึ่งการที่ใครหรืออะไรสักอย่างจะอยู่ในฐานะนั้นย่อมต้องมีองค์ประกอบจากสิ่งที่ได้รับการสร้างอย่างมุ่งมั่น-ทุ่มเทจนเกิดการยอมรับ
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ถึงซีนของ เจษฎาภรณ์ ผลดี “ดาวดวงที่ ๑๘๙” ผู้สร้างปรากฏการณ์ให้ภาพยนตร์ “2499 อันธพาลครองเมือง” อยู่ในหัวใจคอหนังไทยยาวนานนับแต่เมษายน ๒๕๔๐ พารายได้ทะยานสู่ ๗๕ ล้านบาท แจ้งเกิดกลุ่มนักแสดงหน้าใหม่ รวมถึงผู้กำกับยอดฝีมือที่เพิ่งสร้างหนังเรื่องแรก
๒๓ ปีผ่านไป นานพอทำให้หลายเรื่องสำคัญบนโลกถูกลืม
แต่ “2499ฯ” และ “ติ๊ก-เจษฎาภรณ์” ยังทรงพลังพอให้ผู้คนจดจำบท “แดง ไบเล่”
ฟังฉากสำเร็จจาก “วิธีคิด” ที่กลืนเป็นหนึ่งเดียวของ “นักแสดงและผู้กำกับ” อดไม่ได้ที่จะแบ่งปันให้แฟนหนังร่วมรับรู้ “มุม” ของแวดวงภาพยนตร์ไทยที่ใครหลายคนอาจลืม “มอง”
นั่นทำให้ “อันธพาลครองเมือง” มีความหมายมากกว่าที่คิด
:: ชีวิตนอกสคริปต์ ::
กรอโลกภาพยนตร์ไทยย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐-๒๕๓๙
ยุคนั้นวัยรุ่นเป็นเป้าหมายของคนทำหนัง มีเรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่าง ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย, ปลื้ม, ฉลุย, บุญชูผู้น่ารัก, กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้ รวมถึงหนังผี บ้านผีปอบ จวบปลายทศวรรษคนไทยหันไปสนใจหนังมาตรฐานของฮ่องกงหรือฮอลลีวูด โรงหนังตามห้างในกรุงเทพฯ จึงเริ่มเข้าสู่ระบบมัลติเพล็กซ์ เด่นด้วยระบบเสียงและการฉายภาพที่ทันสมัยรองรับหนังฮอลลีวูดเพื่อสนองชีวิตแบบใหม่ของคนเมือง ทำให้จำนวนการสร้างหนังไทยลดลงเรื่อยๆ จากปี ๒๕๓๓ เคยมีภาพยนตร์ไทยฉายมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง ในปี ๒๕๓๙ กลับเหลือ ๓๐ เรื่อง จนเรียกว่าเป็นช่วง “ซบเซาของภาพยนตร์ไทย”
แต่แล้วเมื่อเริ่มต้นทศวรรษ ๔๐ ก็เกิดปรากฏการณ์ “Shock Cinema”
ทันที่ที่เมษายน ๒๕๔๐ ค่าย “ไท เอ็นเตอร์เท็นเมนต์” ส่งภาพยนตร์ “2499 อันธพาลครองเมือง” เข้าฉายก็เขย่าวงการด้วยความสำเร็จชนิดทำลายสถิติหนังไทยทุกเรื่องที่เคยมีด้วยรายได้ ๗๕ ล้านบาท
“มันทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปสิ้นเชิง เวลานั่งรถเมล์ไปเรียน เดินในมหาวิทยาลัย ทำอะไรก็มีคนคอยมอง มีคนเข้ามาขอลายเซ็น เวลานั้นผมรู้สึกใช้ชีวิตลำบาก ยังเคยคิดว่าพี่อุ๋ยไม่น่าเอาผมมาเล่นหนังเลย”
เจษฎาภรณ์ ผลดี พาย้อนความทรงจำวัยที่เติบโตมากับน้องชายในครอบครัวฐานะปานกลาง ได้ใช้ชีวิตเล่นสนุกแบบเด็กทั่วไปในละแวกบ้านสังคมเมืองที่ยังมีความเป็นธรรมชาติ
“ผมมีเพื่อนบ้านเยอะ ชอบปั่นจักรยานไปเล่นผจญภัยกับเพื่อนแถวทุ่งหญ้า สวนรกร้าง โหนต้นไม้ กระโดดลงคลอง จับตั๊กแตนมาเลี้ยง เวลานั้นไม่ได้คิดหรอกว่าโตมาจะมีอาชีพนักแสดง”
แต่เหมือนชะตาลิขิตให้เป็น ตั้งแต่ช่วงเรียนประถมศึกษา
“ช่วง ป.๓ ได้งานโฆษณาแรกเป็นตัวประกอบให้รองเท้านักเรียนยี่ห้อหนึ่ง อีกทีก็ ม.๔ เล่นเป็นตัวประกอบเหมือนกัน ช่วงมัธยมปลายเวลาไปเรียนพิเศษมักมีโมเดลลิ่งมาขอเบอร์โทรศัพท์ ผมก็เรียนและรับงานโฆษณาไปด้วย เรียกว่ารู้จักโปรดักชั่นเฮ้าส์แทบทุกที่ตั้งแต่ลาดพร้าวยันเส้นสุขุมวิท โหนรถเมล์ไปแคสต์ทุกงาน ในสิบงานอาจได้มาสักงานหนึ่ง ถือเป็นค่าขนมในช่วงวัยนั้น”
กระทั่งเข้ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอุตสาหการ ก็ยังรับแต่งานโฆษณา จนวันหนึ่ง “บริษัท บัดดี้ ฟิล์ม แอนด์ วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด” ต้องการผลิตโฆษณาให้บริษัทเอเจนซี่แห่งหนึ่งจึงมองหานักแสดง โมเดลลิ่งที่เจษฎาภรณ์สังกัดอยู่จึงส่งเขาไป
และนั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชีวิตส่วนตัว-วงการหนังไทยไม่เหมือนเดิม
:: นักเจียระไนอัญมณี ::
หลังเลิกเรียน เด็กหนุ่มคนหนึ่งมานั่งรอแคสติ้งโฆษณาตามที่รับมอบหมาย
กลับมีฝ่ายแคสติ้งหนังของ “บริษัท บัดดี้ ฟิล์ม แอนด์ วิดีโอ โปรดักชั่น จำกัด” เข้ามาทาบทาม
“ผมปฏิเสธเขา ‘ไม่ครับ ผมมาแคสต์โฆษณา’ สักพักเขาก็กลับมาอีกบอกให้ลองหน่อยและให้บทมาอ่าน ผมก็อ่านยาวเลย ในวันเดียวกันนั้นจึงลองแคสต์ดู พอเสร็จผมยังถามทีมงานว่าแคสต์หนังแล้วผมจะได้แคสต์โฆษณาต่อหรือเปล่า ปรากฏว่าทีมแคสต์โฆษณาเขากลับหมดแล้ว”
สิ้นเสียงหัวเราะของหนุ่มนักแสดง นนทรีย์ นิมิบุตร เจ้าของบริษัทที่รับผลิตและกำกับภาพยนตร์โฆษณาให้กับบริษัทเอเจนซี่ต่างๆ แห่งนั้น ช่วยย้อนขยายสถานการณ์
“ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมเริ่มมองหานักแสดงภาพยนตร์ ‘2499ฯ’ จึงมีรูป แดง ไบเล่, ดำ เอสโซ่, ปุ๊ ระเบิดขวด ติดในห้องประชุมเพื่อจะหาคนที่มีลักษณะคล้ายพวกเขา วันหนึ่งตอนผมเดินมาจากห้องประชุมผ่านหน้าห้องแคสติ้งโฆษณาก็เห็นเด็กผู้ชายผมยาวประบ่า ใบหน้ามีสิว ใส่เหล็กดัดฟัน กำลังนั่งรอแคสติ้ง รอบแรกยังไม่สะดุดใจ พอเดินผ่านอีกรอบเขาเงยหน้าขึ้นพอดี จังหวะนั้นที่ผมรู้สึกว่านี่คือคนที่เราตามหา เขาคล้าย แดง ไบเล่ ในเรื่องของผิวขาว หน้าจีนนิดๆ แต่คมเข้มในแบบที่สมัยนั้นเรียกว่า ‘หน้าหยก’ ผมจึงบอกให้ลูกน้องไปชวนมาแคสต์หนัง ลูกน้องกลับมาบอกว่า ‘เขาไม่เล่นพี่ เขาจะรอแคสต์โฆษณาเบียร์’ ผมก็ให้ลูกน้องไปตื๊อเอาเรื่องย่อให้อ่าน สักพักก็เปลี่ยนเอาบทไปให้ บอกให้คิดดูก่อน สุดท้ายเขาก็ยอมแคสต์”
แม้ผ่านฉลุย ก็ใช่จะตอบตกลงทันที เมื่ออุ๋ย-นนทรีย์ยื่นเงื่อนไขตัดผม รักษาสิว ถอดเหล็กดัดฟัน
“หลังแคสต์เสร็จผมก็ปฏิเสธ ตอนอ่านบทรู้แล้วว่าต้องตัดผมและโกนหัว ตอนนั้นไว้ผมยาวเพราะอยากเป็นร็อก มีวงดนตรีกับเพื่อนชื่อ ‘โลกแคบ’ ชอบเล่นแนวเฮฟวี่ อยากโลดแล่นบนเวทีคอนเสิร์ต โมเดลลิ่งก็เกลี้ยกล่อมผมหลายครั้ง สุดท้ายผมใจอ่อนเพราะเขาบอกค่าตัวมาห้าหลักปลายๆ เวลานั้นถือว่ามากสำหรับผมที่ต้องโหนรถเมล์ไปแคสต์โฆษณาเป็นร้อยงานกว่าจะได้เงินจำนวนนั้น”
พระเอกหัวเราะ ผู้อำนวยการผลิตและกำกับภาพยนตร์ให้ข้อมูลเสริม
“แล้วเขาก็ไปฉีดยารักษาสิว กลับมาแบบหน้าใส ตัดผมดูดี ทีมงานทุกคนยิ่งเห็นพ้องว่าคนนี้ล่ะใช่”
ในยุคของหนังฟิล์ม ทุกวินาทีคือเม็ดเงิน
หนึ่งในกลยุทธของผู้กำกับจึงต้องให้นักแสดงเวิร์กช้อปอย่างหนักและซ้อมในห้องเล็กๆ ก่อนแสดงจริงเพื่อสร้างความพร้อมและแม่นยำให้มากที่สุด
“พี่อุ๋ยให้อ่านหนังสือเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมยุคนั้น ช่วยไกด์ให้จินตนาการย้อนอดีตว่าสิ่งที่ตัวละครคิด คำพูดต่างๆ การกระทำที่แสดงออก ความชอบ สังคม มันเป็นอย่างไร มีเวิร์กช้อปเยอะมากเพื่อให้เรียนรู้แบบค่อยๆ ซึมซับ พี่อุ๋ยให้นักแสดงที่เล่นเป็นนักเลงทุกคนพกปืน เป็นปืนลูกโม่ที่เลียนแบบของจริง น้ำหนักจริง เพื่อให้เราเข้าใจนักเลงในยุคที่พกปืนจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ผมจึงพกไปด้วยทุกที่โดยไม่บอกใครเลย ไปมหาวิทยาลัยก็พก ช่วงแรกตื่นเต้นมาก ใจเต้นแรง กังวลไปหมด กลัวจะโดนใคร จะถูกจับไหม ทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกครั้งแรกของคนที่พกปืน และต้องฝึกจับปืน คว้าปืนจากเอว เล็งปืน ทุกอย่างต้องทำได้จนเป็นเรื่องปรกติ พอเริ่มชินก็จับปืนได้คล่องเหมือนจับปากกาดินสอ สิ่งนี้ช่วยให้ผมถ่ายทอดฉากยิงออกมาดี”
เขาเผยทริกของฉากที่ผู้กำกับมือรางวัลยังออกปากชม
“นักเลงต้องพกปืนจนเป็นอวัยวะของร่างกาย ถ้านักแสดงไม่เคยพกถึงเวลาถ่ายหนังอาจรู้สึกมีอะไรค้ำเอวค้ำหลัง จึงให้พกติดตัวไว้ ๓ เดือน ถึงเวลาถ่ายจริงติ๊กยิงปืนโดยไม่กะพริบตาเลย ดวงตาเขาแข็ง สวยมาก โดยเฉพาะฉากที่อยู่ในรถแล้ววาดปืนออกมายิงผู้ใหญ่เต็กหน้าตลาด ฉากนั้นทรงพลังมาก มีคนนำรูปไปทำเสื้อขายด้วย ขณะที่ดำ เอสโซ่ คาแร็กเตอร์เหี้ยมๆ ยังหลับตาทุกครั้ง ในแก๊ง ‘2499ฯ’ นอกจาก หนุ่ม-อรรถพร ก็ไม่มีใครเป็นนักแสดงอาชีพ แต่สิ่งที่ช่วยพวกเขาคือสภาพแวดล้อม อย่างตัวละครหมู่เชียรเขาเล่นดีมากจึงส่งอารมณ์ให้นักแสดงใหม่ไปกับเขาด้วย หรือ ต๊อก-ศุภกรณ์ ก็มีความกวนๆ คล่องแคล่วสูง จึงช่วยรับ-ส่งบทกันได้สมบูรณ์แบบ เป็นผมเสียอีกที่ไม่ใช่ผู้กำกับที่ดีนัก ผมจะไม่สอนนักแสดงเยอะ แค่คุยกันนิดหน่อยที่เหลือก็ให้พวกเขาด้นไป ไม่อย่างนั้นเรื่องความสดจะหาย แล้วใช้วิธีทดลองไปด้วยกัน ด้วยความที่ผมอยู่ในแวดวงโฆษณามานานและ ‘2499ฯ’ เป็นหนังเรื่องแรกของผมจึงไม่มีกรอบของการทำหนังไทยมาก่อน ผมจึงทำในแบบที่ตนเองอยากทำ อยากสร้างรสชาติแปลกใหม่ให้หนังไทยในยุคนั้น”
หมายรวมถึงการสร้าง “ความเชื่อ” ให้ผู้ชมรู้สึกจริงกับตัวละคร โดยเลือกที่จะไม่ใช้กลุ่มนักแสดงนำเป็นผู้มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดภาพจำอื่นรบกวนอรรถรสการรับชม
ผู้กำกับปรายยิ้มเมื่อพูดถึงนักแสดงของเขา
“ตั้งแต่ตอนเวิร์กช้อปแล้วที่เราได้เห็นว่า ‘เพชรเม็ดงามของวงการเกิดขึ้นแล้ว’ แต่ผลที่ปรากฏกลับยิ่งใหญ่กว่า ติ๊กกลายเป็น ‘ไอคอน’ ของวงการภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น”
เจษฎาภรณ์ช่วยเสริม เด็กหนุ่มอย่างเขาต้องแบ่งเวลาสำหรับเรียน ถึงเวลาถ่ายหนังก็ต้องไป บางวันถ่ายเสร็จเช้าต้องเรียนต่อ ช่วงเข้ากองถ่ายที่ยังไม่มีคิวจึงได้ทำการบ้าน ขณะที่การเวิร์กช้อปก็ยังดำเนิน
“สำหรับผม ผู้กำกับคือส่วนสำคัญของความสบายใจในกองถ่าย เขาจำเป็นต้องเป็นผู้มีจิตวิทยาสูง นักแสดงแต่ละคนมีความต้องการคนละแบบ มีเงื่อนไขแตกต่าง ในเรื่องของการแสดงเขาจะต้องรับรู้ปัญหาของแต่ละคนและช่วยแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปด้วยดี นั่นคือความหมายของ ‘ผู้กำกับการแสดง’”
น้ำพักน้ำแรงและความมุ่งมั่นของพวกเขาไม่สูญเปล่า เมื่อเมษายน ๒๕๔๐ ปรากฏความรุ่งโรจน์ของ “2499 อันธพาลครองเมือง” ไม่เพียงแจ้งเกิดกลุ่มนักแสดงหน้าใหม่ รวมถึงผู้กำกับยอดฝีมือที่เพิ่งสร้างหนังเป็นเรื่องแรก ยังได้รับยกย่องจากนักวิจารณ์ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ “เปิดศักราชยุคใหม่ให้วงการบันเทิง”
และเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างได้มาตรฐานสากล เมื่อนำฉายในต่างประเทศจึงได้การยอมรับและรางวัลจากการประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ประเทศเบลเยียมกลับมา
เป็นทศวรรษทองที่น่าจดจำของวงการ ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเปลี่ยนแปลง
:: ดูโขนดูหนัง สะท้อนดูสังคม ::
บ่ายโมงของวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
คอหนังมารวมตัวที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมชม “2499 อันธพาลครองเมือง” อีกครั้ง
ความยาว ๑๐๔ นาที นั้นพาย้อนปี ๒๔๙๙ ผ่านรอยทรงจำ “เปี๊ยก วิสุทธิ์กษัตริย์” ยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกเบ่งบานใน “พระนคร” ตรอกไบเล่คือถิ่นอาศัยของ “แดง” ลูกโสเภณี หารายได้โดยตั้งตนเป็นหัวหน้าแก๊งนักเลงเก็บค่าคุ้มครอง และสร้างชื่อโดยสังหารเฮียหมานักเลงท้องถิ่นในงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ แดงสนิทกับ “แหลม” “เปี๊ยก” “ปุ๊” และ “ดำ” ขณะพวกเขาพากันเที่ยวงาน เจมส์ ดีน รำลึก ได้เจอ “วัลลภา” นักร้องสาวซึ่งเวลาต่อมาเป็นภรรยาแดงและกำเนิดซีนวรรคทอง “เป็นเมียเรา ต้องอดทน” จุดหักชาวแก็งเริ่มจากปุ๊ก่อเรื่องกับเพื่อนเปี๊ยก สถานการณ์แย่ลงเมื่อปุ๊ล่วงเกินวัลลภาเป็นชนวนบาดหมางให้แดงแตกกับปุ๊จนเกิดความรุนแรงครั้งใหญ่ที่ถนนสิบสามห้างย่านบางลำพูเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ จนปี ๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งปราบแก๊งอันธพาล แดงและเปี๊ยกไปพึ่ง “หมู่เชียร” ลูกพี่เก่าซึ่งกำลังเปิดคาสิโนที่อู่ตะเภารองรับทหารอเมริกันที่มารบในสงครามเวียดนาม ต่อมาแหลม ปุ๊ และดำก็ตามสมทบ ก่อนที่ปุ๊กับดำจะก่อเรื่องแล้วไปเข้าพวกกับ “ผู้ใหญ่เต็ก” คู่แข่งหมู่เชียรและยิงกำจัดหมู่เชียรจนธุรกิจล่มสลาย แดงและพวกเอาคืนโดยยิงผู้ใหญ่เต็กและพวกของปุ๊ที่กลางตลาดแล้วกลับพระนครไปหาแม่เพื่อจะบวชตามสัญญา ปุ๊กับดำยกพวกมาขวางเกิดการยิงผู้คนล้มตาย แดงเจ็บสาหัสและไม่ได้บวช หนีไปร่วมแก็งกับผู้ทรงอิทธิพลที่ชลบุรีก่อนจบชีวิตด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำในวัย ๒๔ ปี เช่นเดียวกับ เจมส์ ดีน บุรุษที่เขารัก
เมื่อหนังจบ “ติ๊ก-เจษฎาภรณ์” เผยตนหน้าจอเงินในทรงผมเสยปาดเจล เสื้อยืดสีขาวคลุมเชิ้ตพับแขนสีเดียวกัน คล้ายหนึ่งในภาพจำของ “แดง ไบเล่” ต่างเพียงไม่ได้คล้องสร้อยประดับจี้รูป เจมส์ ดีน
เป็นช่วงเวลาชุ่มฉ่ำหัวใจที่ผู้ชมจะได้ฟังเบื้องหลัง-แลกเปลี่ยนมุมคิดกับพระเอกที่พวกเขารัก
“ผมดู ‘2499ฯ’ ครั้งแรกปี ๒๕๔๐ ตอนดูหนังตัวอย่างยังคิดว่าเรื่องนี้จะดังหรือ ดาราเป็นใครก็ไม่รู้จักสักคน พอถึงเวลาเข้าโรงกลับเป็นหนังที่ได้ความนิยมสูงมาก ตอนนั้นผมดูด้วยความรู้สึกเป็นหนังแอ็กชั่น แต่พอดูอีกครั้งวันนี้เหมือนเป็นหนังสะท้อนปัญหาสังคมไทยสมัย ๒๔๙๙ ซึ่งวันนี้ก็ยังไม่ได้ลดลงเลย”
เมื่อผู้ชมคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต เจษฎาภรณ์ก็แลกเปลี่ยน
“ที่คนดู ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ ในช่วงเวลาที่แตกต่างแล้วยังรู้สึกต่อสังคมทั้งในเรื่องของการยกพวกตีกันหรือสภาพเศรษฐกิจในยุคนั้นว่าไม่ต่างกัน ก็เพราะมันเป็นรากของปัญหา สังคมไทยช่วงใกล้ๆ ปี ๒๕๔๐ ที่หนังออกฉายมีเหตุการณ์ร่วมสมัยกับเนื้อหายุค ๒๔๙๙ แม้แต่ในวันนี้ของปี ๒๕๖๓ ที่กลับมาดูแล้วยังรู้สึกอย่างนั้น ก็เพราะประเด็นเหล่านี้มันไม่เคยหายไปจากสังคม”
ผู้ชมบางคนเสริม แถวบ้านต่างจังหวัดเวลามีงานดนตรีของศิลปินแนวร็อกก็มักมีนักเลงเจ้าถิ่นตีกันเสมอ ไม่ต่างจากในฉากงาน เจมส์ ดีน รำลึก
ประเด็นนี้ชวนคิดต่อ อิทธิพลจากภาพยนตร์ที่คนมองว่าเท่และจดจำเป็นตำนาน มีข้อดีตรงได้ส่งต่อแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างให้คนอื่น เห็นสิ่งที่เขาทำแล้วส่งผลให้เราอยากออกไปทำอะไรได้อย่างนั้นบ้าง แต่แน่ล่ะว่าด้านลบก็ย่อมมี ถึงอย่างนั้นเมื่อได้ชื่อว่าเป็นตำนานแล้ว ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา
ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกต พระเอกยอดนิยมที่เคยมีภาพยนตร์ต่อเนื่องหายจากจอเงินไปนับแต่ปี ๒๕๕๕
“ผมเองก็รอโอกาสจากผู้กำกับอยู่ มันอาจเป็นเรื่องของความเหมาะสมจากหลายอย่าง เช่น ความต้องการของตลาดในแต่ละยุคสมัย ผู้ชมเวลานั้นมีความชอบอย่างไร ตลาดอาจต้องการกลุ่มนักแสดงวัยรุ่นมากขึ้นซึ่งวัยผมก็โตเกินกว่าที่เขาต้องการ หรือบางทีอาจเป็นเพราะยังไม่มีเนื้อหาหรือบทของภาพยนตร์ที่เขาเห็นว่าเหมาะสมกับผม ความจริงแล้วตัวนักแสดงไม่ใช่ผู้เลือก เราเป็นผู้ถูกเลือกต่างหาก”
เช่นเดียวกับการเป็นพระเอกในตำนาน ที่ไม่สามารถสร้างให้ตัวเอง แต่เกิดเพราะคนอื่นตั้งให้
ยังน่าสนใจสิ่งที่เขาตอบหญิงสาวผู้ส่งคำถามถึงบทบาทที่เขาอยากแสดง หากภาพยนตร์นั้นสามารถทำหน้าที่ปลุกการพัฒนาสังคมได้
“ผมอยากเล่นบทของผู้ที่ไม่ปรกติ อย่างผู้พิการ ไม่ว่าจะบกพร่องด้านไหนก็ตาม อยากสะท้อนมุมสังคมปัจจุบันที่แทบไม่มีอะไรซัพพอร์ตผู้พิการเลย พวกเขาไม่ได้อยากเป็นภาระสังคม เขาอยากดูแลตนได้ แต่ที่ไม่สามารถทำได้เต็มที่เพราะสาธารณูปโภคที่มีไม่เอื้อประโยชน์ให้พวกเขาจริง”
บางคนถามถึงความต่างในฐานะพระเอกสองยุคที่ได้ถ่ายภาพยนตร์ทั้งในระบบฟิล์มและดิจิทัล
“สมัยที่ยังถ่ายด้วยฟิล์มผมถูกป้อนข้อมูลเสมอว่า ‘ฟิล์ม ๑ กลัก เท่ากับทอง ๑ บาท’ ซึ่งฟิล์มกลักหนึ่งมันถ่ายได้แค่ ๓-๔ นาทีเอง ผมไม่กล้าทำอะไรพลาดเลย ยิ่งตอนเล่น ‘2499ฯ’ ซึ่งเป็นเรื่องแรกด้วยถือว่ายากและทำให้ผมเกร็งมาก ถ้าผู้ชมดูอย่างลึกซึ้งจะเห็นว่านักแสดงทุกคนเล่นดีหมดแต่ผมเล่นแข็งมาก พี่อุ๋ยเคยบอกว่าตอนแคสติ้งผมทำได้ดีมาก ก็แน่ล่ะ ตอนนั้นผมไม่มีภาวะกดดันอะไร แต่พออยู่ในกองถ่ายมันมีไฟ มีกล้อง มีทีมงานทุกคนรอดูความสำเร็จของเราอยู่ ยิ่งเป็นกล้องฟิล์มทุกวินาทีที่รันไปมันคือเม็ดเงินก็ยิ่งเกิดอาการกล้าๆ กลัวๆ มีช่วงหนึ่งที่ผมหายจากการแสดงหนังไปเล่นละครแล้วกลับมาอีกทีในยุคที่ถ่ายหนังกันด้วยกล้องดิจิทัลแล้ว สำหรับนักแสดงผมว่าการถ่ายที่บรรจุลงเมมโมรีการ์ดย่อมสบายใจกว่าฟิล์ม และกระบวนการทำงานก็รวดเร็วมากขึ้น แสดงผลลัพธ์ต่างๆ ได้ไวขึ้น สามารถตัดต่อนำไปใช้งานได้เลย”
ยังมีหลากคำถามน่าสนใจในช่วงเวลาจำกัด และหลายคำตอบก็สร้างความประทับใจให้แฟนหนังไม่แพ้ช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้พวกเขาถ่ายรูป-ขอลายเซ็นเป็นที่ระลึก สิ่งที่หลายคนเตรียมมาอวดพระเอกในตำนานของเขาไม่ได้มีแค่ใบปิดโฆษณาภาพยนตร์ “2499 อันธพาลครองเมือง” ยังมีนิตยสารเก่าๆ ที่พระเอกของพวกเขาถ่ายขึ้นปกในช่วงที่เป็น “ยุคทอง” ของนักเลงตรอกไบเล่-ขวัญใจมหาชน
ถ้าคนที่จะเป็นตำนานต้องมีพลังมหาศาลในตัวรุนแรงพอที่ทำให้คนจำนวนมากรักได้
แฟนคลับที่อยู่ตรงหน้าก็คงไม่ได้รัก แดง ไบเล่
แต่รัก เจษฎาภรณ์ ผลดี ในบทของ แดง ไบเล่
:: “ตำนาน” อมตะแห่ง “ลานดารา” ::
หนึ่งในพื้นที่สำคัญของหอภาพยนตร์คือ “ลานดารา”
ทำขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญแวดวงภาพยนตร์
ในรอบปีจะมีนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์คุณภาพในระดับเป็นที่ยอมรับของสังคมมาจารึกรอยพิมพ์มือ-เท้าและลายเซ็นไว้เป็นอนุสรณ์บนลานซีเมนต์หน้า “โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา” ซึ่งมีต้นแบบจากโรงละครไชนีส เธียเตอร์ (Grauman’s Chinese Theatre) สุดอลังการบนถนน Hollywood Boulevard ที่ออกแบบพื้นด้านหน้าของโรงละครให้เต็มไปด้วยรอยประทับของนักแสดงฮอลลีวูด
เวลานี้ เจษฎาภรณ์ ผลดี เจ้าของรางวัลไทยแลนด์ บล็อกบัสเตอร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์อวอร์ด สาขานักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม ในปี ๒๕๔๐ จากภาพยนตร์ “2499 อันธพาลครองเมือง” กำลังประทับรอยมือ-เท้าตน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่แฟนภาพยนตร์ได้รำลึกถึงตลอดกาล ท่ามกลางวงล้อมผู้คนที่มาเป็นสักขีพยาน
“จริงๆ แล้วในความสำเร็จของภาพยนตร์ไม่ได้มีแค่ผมที่เป็นตัวนำแสดงหรือพี่อุ๋ยที่เป็นผู้กำกับ ยังมีบริษัทไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ พี่วิสูตร พูลวรลักษณ์ ผู้อำนวยการสร้าง พี่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้เขียนบท ไปจนฝ่ายแคสติ้ง เพื่อนนักแสดงอีกจำนวนมาก รวมถึงทีมงานเบื้องหลังทั้งแต่งหน้า ทำผม สวัสดิการ คนขับรถตู้ที่รับ-ส่งผมไปเรียน ไปทำงาน กลับบ้าน ทุกคนล้วนมีส่วนสำคัญในความสำเร็จและทำให้ชีวิตผมมีวันนี้”
ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ดาวดวงที่ ๑๘๙ เล่าไว้ก่อนหน้า ครั้งได้รับคำชมเชยจากผู้ชื่นชอบผลงาน
บรรยากาศไทยมุงตรงหน้า คงไม่ต่างจากฝรั่งผมทองมุงดาวจรัสแสงที่ปรากฏบนถนนฮอลลีวูด บูเลอวาร์ด เพื่อสัมผัสเสน่ห์ของวงการมายาในถิ่นอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันที่โด่งดังเป็นตำนาน
ชวนนึกถึงอีกคำถามเมื่อครู่จากผู้ชมที่ส่งถึงพระเอกว่ารู้สึกอย่างไรครั้งที่เขาได้ “Go Inter”
“ความจริงแล้วตั้งแต่ภาพยนตร์ ‘2499ฯ’ หรือ ‘สตรีเหล็ก’ ก็มีฉายที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะฮ่องกง จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ยุโรปก็มี และได้รับรางวัลต่างๆ ผมจึงมีโอกาสเดินสายโปรโมทในต่างประเทศบ่อยๆ แต่สำหรับการร่วมงานแสดงกับต่างชาติ ‘THE EYE 2’ ถือเป็นเรื่องแรก มีนางเอก ๒ คน คือ ซูฉี และยูจินเนีย หยวน กำกับโดยออกไซด์ และแดนนี่ แปง มาถ่ายทำที่เมืองไทย ผมได้เรียนรู้ความประหลาดนิดหนึ่งเวลาที่เราจะเข้าบทกับนักแสดง บทของผมคือภาษาไทย พอผมพูดไทยไป ซูฉีจะพูดจีนมา ผมก็ตอบไทยกลับ ทำแบบนี้ตลอดเรื่อง ตอนที่ยังไม่ค่อยชินผมรู้สึกว่ามันดูปลอม แต่พอเริ่มชินก็เข้าใจการทำงานว่า อ๋อ มันก็ต้องเป็นไปแบบนี้ล่ะ แล้วเดี๋ยวเขาจะนำไปพากย์ทับอีกทีหนึ่ง เป็นการทำงานที่ใช้เวลารวดเร็วมากตั้งแต่ผมเคยแสดงหนังมา น่าจะไม่ถึง ๑๐ คิว ก็เสร็จหนึ่งเรื่องแล้ว ผมรู้สึกว่าออกไซด์เป็นผู้กำกับที่มหัศจรรย์มาก เขามีทุกอย่างอยู่ในหัวหมด รวมไปถึงกระบวนการตัดต่อในอนาคต ดังนั้นแต่ละซีนที่เล่นไปเราไม่จำเป็นต้องเล่นเต็มซีน เขาเอาแค่นี้แล้วเปลี่ยนซีน เพราะเขาตัดต่อเสร็จแล้วในหัว ทุกอย่างจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว”
ดาวดวงที่ ๑๘๙ ของหอภาพยนตร์เล่าถึงผู้กำกับไทยที่เขาประทับใจ
“ในแง่ของกระบวนการทำงานผมคิดว่าการกำกับไม่แตกต่างกัน แต่จะต่างไปที่ลักษณะนิสัยของผู้กำกับแต่ละคน ตอนผมเล่นภาพยนตร์เรื่อง ‘คนป่วนสายฟ้า’ ผู้กำกับ อุดม อุดมโรจน์ มักจะมีไอเดียแปลกๆ จนบางทีผมก็คิดไม่ถึงว่าทำแบบนั้นได้ด้วยหรือ แต่เขาบอกว่าไม่มีอะไรที่มันตายตัว หรืออย่างอาบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผมได้เจอเขาในภาพยนตร์เรื่อง ‘สตางค์’ เป็นหนังฟอร์มใหญ่ที่รวมนักแสดงทั่วฟ้าเมืองไทยเวลานั้น เขาเป็นผู้กำกับที่ทำงานแบบไม่มีช่วงพักเลย ตั้งแต่เช้ายันมืด และจากมืดจนเช้า ผมทึ่งมากว่าเขาทำได้อย่างไรในขณะที่นักแสดงยังสามารถไปพักไปหลับได้แม้จะ ๑-๒ ชั่วโมง”
เพราะการเป็นตำนานมันเกิดจากการที่ใครสักคนลงมือทำอะไรสักอย่าง โดยไม่สนใจว่าใครจะคิดอย่างไร และไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้ใครยอมรับ แต่ต้องมุ่งมั่นและทำในสิ่งที่ตนเชื่ออย่างสุดใจ ถ้ามันดีจริงสักวันต้องมีคนเห็น ในวันที่ยังมีลมหายใจ ชื่อของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล จึงมักเข้ารับรางวัลพระสุรัสวดี รางวัลสุพรรณหงส์ และรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ในฐานะ “ผู้กำกับยอดเยี่ยม” เสมอ ซึ่งบนโลกนี้ก็มีหลายคนที่เสียชีวิตไปโดยไม่รู้ว่าเบื้องหลังชีวิตของเขาได้กลายเป็นตำนานแล้ว
แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังไม่เพียงพอให้ภาพลักษณ์ของภาพยนตร์ไทยดูสากล
หากคนทำภาพยนตร์ยังต้องผลิตงานสร้างสรรค์ในกรอบความเป็นไทย
“ในฐานะที่ผมอยู่วงการบันเทิงมา ๒๓ ปี น่าจะพอเป็นตัวแทนใครหลายคนที่ได้เห็นอยู่เสมอว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่นั่นเป็นเรื่องของนวัตกรรม ส่วนสิ่งที่สำคัญกว่าและผมคิดว่าวงการบันเทิงไทยต้องมีคือ ‘เสรีภาพ’ ภาพยนตร์ก็คือช่องทางการสื่อสารหนึ่ง ซึ่งการสื่อสารควรต้องมีหลายรูปแบบที่ไม่จำกัดว่าแบบไหนทำได้ อย่างไรไม่ให้ทำ ผู้กำกับแต่ละคนอาจมีมุมมองในเรื่องเดียวกันที่ไม่เหมือนกันก็ได้ มันก็คือเสน่ห์ของวงการนี้ไม่ใช่หรือ”
เขาว่าในยุคของการแข่งขันเต็มขั้นของพาณิชย์ศิลป์ โดยมีกระแสโลกเป็นตัวกำหนดรสนิยม
การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทยภายใต้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต้องพัฒนาเช่นกัน
“ตอนที่ผมเข้าวงการใหม่ๆ ผมก็ได้ยินเรื่องกระบวนการเซ็นเซอร์แล้วว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผมอยู่ในวงการบันเทิงมาสองทศวรรษแล้ว ข้อจำกัดเหล่านั้นก็ยังเหมือนเดิม ถ้าเราฝันอยากเห็นผลผลิตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก้าวไปไกลกว่าในประเทศ มีคุณภาพ และสนุกมากพอที่จะแข่งขันกับจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ก็ไม่ควรมีกระบวนการเซ็นเซอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ภาพยนตร์คือศิลปะ และเป็นเครดิตของคนทำงาน หากศิลปินถูกจำกัดกรอบความคิดด้วยข้อห้ามต่างๆ ความคิดสร้างสรรค์ย่อมไม่บรรเจิด ดีหรือไม่ ชอบหรือเปล่า ควรเปิดโอกาสให้คนดูเป็นผู้ตัดสิน”
วันที่วงการบันเทิงไทยมีนักแสดงหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกวันพร้อมกลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่
เจษฎาภรณ์ ผลดี ยังคงเป็นดาวเด่นดวงที่ได้รับความนิยมฐานะ “พระเอกแห่งยุคสมัย”
และอนาคต…รอยพิมพ์บนผืนปูนจะทำหน้าที่ส่งต่อความรู้ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย