คนไทยทั่วไปคงไม่มีใครอุตริตั้งชื่อเด็กทารกแรกเกิดว่า “เทวทัต” แต่นามนี้เอง ในอินเดียยังใช้กันสืบต่อมาจนปัจจุบัน ในรูปคำที่สะกดด้วยอักษรโรมันว่า Devadutta/Devdutt เพราะถือเป็นมงคลนาม แปลว่า “อันเทวดาประทานแล้ว” ว่าง่ายๆ ก็คือเปรียบประดุจของขวัญจากเทพเจ้า
ทั้งที่เป็นคำอันไพเราะและมีความหมายดี แต่ในโลกพุทธศาสนาอย่างไทยๆ คำนี้กลับมีนัยเชิงลบ คือเท่ากับเป็นคนชั่วช้าเลวทราม จนกลายเป็นคำแช่งด่าในสำนวนไทยอย่างเก่าๆ ว่า “ขอให้ตกนรกใต้เถรเทวทัต” ด้วยเหตุที่ถือกันว่า “พระเทวทัต” ประกอบกรรมหนักหนาสาหัส คือละเมิด “อนันตริยกรรม” ถึงสองประการ ทั้งก่อ “สังฆเภท” ให้หมู่สงฆ์แตกแยก และกระทำให้พระพุทธองค์ห้อพระโลหิต (ห้อเลือด) จนเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วต้องลงไปใช้กรรมอยู่ในนรกชั้นต่ำสุดคืออเวจี
ว่าโดยประวัติของท่านเทวทัตเองก็มิใช่ชั่ว ด้วยมีกำเนิดเป็นเจ้าชาย ทั้งยังนับเป็นพระญาติใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า คือมีฐานะเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระนางพิมพา พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะ
เจ้าชายเทวทัตออกบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า และบำเพ็ญฌานจนบรรลุขั้น “โลกียอภิญญา” ขณะเดียวกันในพุทธประวัติก็กล่าวว่าพระเทวทัตรู้สึกว่าตนเองมิได้มีอะไรด้อยกว่าพระพุทธเจ้าเลย ทั้งชาติกำเนิด ทั้งสติปัญญา จึงหวังแข่งบารมีด้วยการใช้อภิญญาของตนแสดงปาฏิหาริย์ ชักจูงพระเจ้าอชาตศัตรูจนเลื่อมใส แล้วคบคิดกันวางแผนลอบปลงพระชนม์พระพุทธองค์เพื่อหวังขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขคณะสงฆ์แทน จนทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิตไปครั้งหนึ่ง รวมถึงก่อเรื่องสร้างความวุ่นวายในหมู่พระสาวก จนถึงระดับก่อ “สังฆเภท” คือทำให้หมู่สงฆ์แตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย
พุทธประวัติ (ซึ่งเล่าจากมุมมองฝ่ายพระสมณโคดม) เล่าว่าสุดท้ายเมื่อป่วยหนัก พระเทวทัตเกิดสำนึกผิด พยายามขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ยังไม่ทันได้พบก็กลับถูกธรณีสูบลงไปทั้งเป็น และด้วยผลแห่งกรรมชั่วระดับ “อนันตริยกรรม” ส่งผลให้ท่านต้องไปเกิดในอเวจีนรก และถูกลงทัณฑ์อย่างแสนสาหัส ทั้งหัวทั้งเท้าฝังติดอยู่กับผนังของกล่องเหล็ก ซ้ำยังถูกยึดตรึงกับผนังทุกด้านของกล่องเหล็กด้วยหลาวเหล็กที่ใหญ่เท่าต้นตาล แทงทะลุร่างกายจากบนลงล่าง จากหลังไปหน้า ข้างขวามาข้างซ้าย จนขยับเขยื้อนไม่ได้
พระไตรปิฎกพรรณนาไว้ดังนี้
“สรีระของเธอสูงประมาณ ๑๐๐ โยชน์ เกิดในก้นอเวจีซึ่งมีประมาณ ๓๐๐ โยชน์, ศีรษะสอดเข้าไปสู่แผ่นเหล็กในเบื้องบน จนถึงหมวกหู, เท้าทั้งสองจมแผ่นดินเหล็กลงไปข้างล่าง จนถึงข้อเท้า, หลาวเหล็กมีปริมาณเท่าลำตาลขนาดใหญ่ ออกจากฝา ด้านหลัง แทงกลางหลังทะลุหน้าอก ปักฝาด้านหน้า, อีกหลาวหนึ่ง ออกจากฝาด้านขวา แทงสีข้างเบื้องขวา ทะลุออกสีข้างเบื้องซ้าย ปักฝาด้านซ้าย, อีกหลาวหนึ่ง ออกจากแผ่นข้างบน แทงกระหม่อมทะลุออก ส่วนเบื้องต่ำ ปักลงสู่แผ่นดินเหล็ก”
เคยผ่านตาภาพวาดพระเทวทัตขณะตกจมอยู่ ณ ก้นบึ้งอเวจีบ้าง โดยเขียนไว้ปนๆ กับภาพนรกภูมิด้านหลังพระพุทธรูปประธานตามวัดต่างๆ เช่นที่วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ และแม้ไม่มีตัวอักษรจารึกบอกเล่าว่าเป็นภาพใคร ทว่าผู้พบเห็น ทั้งบรรพชิตและฆราวาสสมัยก่อน ผู้ซึ่งคุ้นเคยกับเรื่องราวพุทธประวัติ ย่อมรับรู้ได้ทันทีว่าเป็นภาพของเถรเทวทัต
ในภาพวาดนั้น ท่านยังคงศีรษะโล้นเหมือนพระสงฆ์และครองสบงอยู่ ด้วยว่าท่านมรณภาพไปขณะยังอยู่ในภิกขุภาวะ หากแต่ร่างกายก็ถูกเสียบตรึงด้วยหลาวเหล็กรอบตัวอย่างที่บรรยายไว้ในคัมภีร์
ถึงหากจะถูกประณามว่าผิดบาปชั่วเลวเพียงใด คัมภีร์ทางพุทธศาสนาก็ยืนยันด้วยว่าแม้ขณะนี้พระเทวทัตคงต้องชดใช้กรรมอยู่ในอเวจีนรกไปจนกว่าจะสิ้นกัป แต่ด้วยเหตุที่ขณะเมื่อท่านกำลังจะถูกธรณีสูบนั้น เกิดสำนึกผิด แล้วอธิษฐานถวายกระดูกคางบูชาพระพุทธองค์ (เนื่องจากร่างกายจมแผ่นดินลงไปจนถึงคางแล้ว) ด้วยกุศลอันนี้ ในอีกแสนกัลปข้างหน้า พระเทวทัตจะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า “อัฏฐิสสระ” (อัด-ถิด-สะ-ระ)