นับจากวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ ที่ภาพภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว สึนามิ ติดตามด้วยอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ปรากฏสู่สายตาคนทั่วโลก แต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ สำหรับผู้สูญเสีย คือวันคืนอันปวดร้าว สำหรับผู้เฝ้ามอง คือความรู้สึกสลดและห่วงใย
สารคดี ฉบับนี้จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละด้าน
บันทึกคนไทยในญี่ปุ่น ขณะที่โลกภายนอกรับรู้แต่แง่มุมอันเลวร้าย แต่ความจริงเกิดอะไรขึ้นภายในประเทศญี่ปุ่น ปากคำจากคนไทยที่ใช้ชีวิตเผชิญหน้าสถานการณ์อยู่ที่นั่น และคนไทยที่เดินทางเข้าไปติดตามข่าว จะบอกเล่าความเป็นไปและแง่มุมที่เราไม่เคยรับรู้มาก่อน
เมืองร้าง ภาพถ่ายสารคดีชุดพิเศษ โดยช่างภาพคนไทย หนึ่งในช่างภาพไม่กี่คนของโลกที่เข้าไปจนถึงเขตอพยพ ๒๐ กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ ซึ่งเกิดการระเบิดและปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกสู่สภาพแวดล้อม
วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะไดอิชิ บทสรุปอุบัติภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศว่า “เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในสงครามโลกครั้งที่ ๒” และทำให้พลังงานนิวเคลียร์กลับมาเป็นข้อถกเถียงทั่วโลก พร้อมกับการทบทวนถึงความเหมาะสมของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองไทย
Hope for/from Japan ความหวังในห้วงวิกฤต สู้ต่อไป… พยายามเข้า… คำพูดที่คุ้นเคยในวัฒนธรรมญี่ปุ่น กลายเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยให้คนญี่ปุ่นหยัดยืนท่ามกลางสภาวะอันเลวร้ายได้อย่างไร และเราคนไทย เรียนรู้อะไรจากคนญี่ปุ่นได้บ้าง
แผ่นดินไหวและรอยเลื่อนมีพลังในไทย สำรวจ ๑๓ รอยเลื่อนมีพลังที่มีพลานุภาพสั่นสะเทือนแผ่นดินไทยนับจากเหนือจรดใต้ อันเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศนับพันครั้ง ปัจจุบันด้วยวิทยาการซึ่งคำนวณหาขนาดและตรวจวัดตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวได้อย่างแม่นยำ ก็ยิ่งตอกย้ำว่าภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวไม่ใช่สิ่งไกลตัวคนไทยอย่างที่เคยคิด และเมื่อมนุษย์ยังไม่อาจพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหว อะไรคือมาตรการรับมือภัยพิบัตินี้ได้ดีที่สุด
ในวิกฤตและความสูญเสีย จากแผ่นดินไหว สึนามิ ถึงนิวเคลียร์
คือบทเรียนสำคัญที่ต้องเรียนรู้ สู่อนาคตที่เราต้องเลือกและเตรียมพร้อม