สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงานและถ่ายภาพ
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ถ่ายภาพร่วมกับคณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
เจ้าภาพงานมอบรางวัลศรีบูรพา ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในวันนักเขียน ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔
“นายวันชัยเป็นนักหนังสือพิมพ์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาตลอด เขาทำข่าว เขียนข่าว เผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างคนที่เข้าใจบริบทของสังคมไทย…นิตยสาร สารคดี ที่เขาเป็นบรรณาธิการจึงเป็นนิตยสารที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องมาโดยตลอด จนเป็นนิตยสารที่เป็นแบบอย่างได้…มีผลงานเขียนในฐานะคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ มติชน และหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ สะท้อนปัญหา เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยมาโดยตลอด สร้างสรรค์งานสารคดี มีผลงานรวมเล่มมาแล้ว ๒๔ เล่ม แต่ละเล่มโดดเด่นแตกต่างกันไป ล้วนแล้วแต่สำแดงความจริง ข้อเท็จจริง และความเป็นไปของสังคมและโลกให้ปรากฏ โดยมีกลวิธีในการเขียนที่สร้างชีวิตชีวาและสีสันให้แก่วงการสารคดีไทยได้ดียิ่ง…เป็นบรรณาธิการผู้บริหารอันดับต้น ๆ ขององค์กรผลิตสื่อที่มิใช่กระแสหลัก สามารถบริหาร กำหนดทิศทางให้องค์กรอยู่รอดได้โดยสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตจริงที่ต้องหารายได้มาหล่อเลี้ยงพนักงานกับเป้าหมายเชิงอุดมคติคือการเป็นสื่อที่สร้างองค์ความรู้และความน่าเชื่อถือให้แก่สังคมไทยได้เป็นอย่างดี”
คำประกาศเกียรติคุณ “รางวัลศรีบูรพา” ประจำปี ๒๕๕๔
สำหรับบรรณพิภพเมืองไทย “รางวัลศรีบูรพา” นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติยิ่ง ก่อตั้งขึ้นโดย “กองทุนศรีบูรพา” เพื่อรำลึกและเผยแพร่เกียรติประวัติของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” (พ.ศ. ๒๔๔๘ -๒๕๑๗) นักคิด นักเขียน นักประชาธิปไตย นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทยและของโลก ซึ่งจนทุกวันนี้ ชื่อ แนวคิด และผลงานของเขายังคงเป็นอมตะสำหรับชนรุ่นหลังผู้รักความเป็นธรรมและรักประชาธิปไตย
สิ่งที่ทำให้รางวัลศรีบูรพาแตกต่างจากรางวัลอื่นคือ คณะกรรมการจะพิจารณาคุณสมบัติผู้ได้รับรางวัลจากผลงานทั้งชีวิต (Lifetime Achievement) และผู้ได้รับรางวัลต้องสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าต่อสังคมและมนุษยชาติอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์สม่ำเสมอติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓๐ ปีจนถึงปัจจุบัน
ปี ๒๕๕๔ เมื่อคณะกรรมการกองทุนศรีบูรพาประกาศมอบรางวัลศรีบูรพาแก่ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ จึงเป็นปีที่พิเศษของวงการงานเขียนสารคดีเมืองไทย หากย้อนไปดูประวัติการมอบรางวัลนี้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เป็นต้นมา อาจจะกล่าวได้ว่านี่คือครั้งแรกที่นักเขียนสารคดีได้รับรางวัลศรีบูรพา ทั้งยังหมายความว่าสิ่งที่วันชัยพยายามทำผ่านงานสารคดีมาตลอดหลายสิบปีได้สร้างบางสิ่งไว้ให้คนรุ่นหลังและสังคมไทยไม่มากก็น้อย
ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ วันชัยคือหนึ่งในทีมงานร่วมก่อตั้งนิตยสาร สารคดี ซึ่งมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศผ่านงานเขียนและภาพถ่ายแนวสารคดี หลังจากนั้นเขาดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสารเล่มนี้มาถึง ๒๐ ปี ๙ เดือน (เมษายน ๒๕๓๓-มกราคม ๒๕๕๔) เขียนสารคดีทั้งสิ้น ๘๘ เรื่อง สัมภาษณ์บุคคล ๙๗ คน มีผลงานรวมเล่ม ๒๔ เล่ม ยังไม่นับคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ มติชน และ กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งหลายครั้งเปิดประเด็นที่มีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ให้สังคมไทยได้พิจารณา
ต้นปี ๒๕๕๔ เขาผันตัวเองจากบทบาทบรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี ไปรับตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) เปลี่ยนแนวทางการทำสื่อจากนิตยสารไปสู่สื่อโทรทัศน์ แต่เขาก็ยังคงผลิตงานเขียนโดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
วันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ วันชัยกล่าวปาฐกถาในโอกาสรับรางวัลศรีบูรพาตอนหนึ่งว่า “ผมจำได้ดีเมื่อประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำสมัยฟองสบู่แตกราว ๑๐ กว่าปีก่อน หน้าข่าวสิ่งแวดล้อมของหนังสือพิมพ์หรือสื่อทีวีถูกลดพื้นที่ก่อนข่าวด้านอื่น นักข่าวสิ่งแวดล้อมหลายคนไม่ถูกย้ายไปอยู่ฝ่ายอื่นก็ถูกยกเลิกการจ้างงาน บรรณาธิการส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่า ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา เป็นพื้นฐานสำคัญในการรายงานข่าว ส่วนข่าวสิ่งแวดล้อมจะมีหรือไม่ก็ไม่มีนัยสำคัญ…
“แต่ยี่สิบกว่าปีในการเขียนหนังสือ ผมก็ยังเขียนงานเขียนด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด…ผมค้นพบตัวเองว่าชอบเขียนหนังสือ แม้ว่าจะยังเขียนได้ไม่ค่อยดี การค้นพบตัวเองเป็นสิ่งที่โชคดีมากกับชีวิต เมื่อ ๑๐ ปีก่อน ตอนที่ผมกับพรรคพวกมาเดินป่าที่เกาะแทสเมเนียเป็นเวลา ๒๐ วัน กลางป่าวันหนึ่งผมได้พบว่าความต้องการในชีวิตของผมมีอยู่ ๓ ประการด้วยกัน อย่างแรกคือการได้ทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก อย่างที่ ๒ คือการได้เดินทางไปทั่ว อย่างที่ ๓ คือการได้ช่วยเหลือคนรอบข้างตามกำลังของตัวเอง
“ผมหวังว่าชีวิตที่เหลือของผมจะเป็นเช่นนั้น การเขียนหนังสือเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องทำไปตลอดชีวิต และผมเชื่อมั่นว่า หากทุกคนในสังคมได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว ไม่ว่าเขาหรือเธอจะมีอาชีพหรืออยู่ในบทบาทอะไร สังคมไทยจะดีขึ้นอย่างแน่นอน”
ขณะที่อาจารย์และมิตรในแวดวงวรรณกรรมคนสำคัญอย่าง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยกล่าวถึงลูกศิษย์คนนี้ไว้ว่า “สำหรับลูกศิษย์ที่เคย ‘หนุ่ม’ นาม วันชัย ตัน นั้น ผมจำเขาได้ ๓ เรื่อง คือเขาเป็นนักเขียนและ บ.ก. สารคดี เขียนได้ทุกเรื่องที่เห็นและสัมผัส เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์และเป็น ‘นักกิจกรรม’ เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษที่สังคมไทยเคยมีอยู่ไม่น้อย และเคยมีความหวังกับ ‘คนหนุ่มสาว’ ประเภทนี้ เขามีอีกครึ่งหนึ่งที่เป็นตัว ‘เขาและเธอ’ ที่งดงามและผูกพันกับสภาพแวดล้อมกับนิเวศวิทยาของโลกมนุษย์ พืช และสัตว์”
และสิ่งที่ทำให้วันชัยได้รางวัลนี้น่าจะมาจาก “วาระพิเศษที่เขาและเธอมีไว้ในใจสำหรับสังคมและการเมืองรอบข้าง และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งของการลงมือจับปากกาของ วันชัย ตัน ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่ค่อยมีคนกล้าเขียน กล้าโต้แย้งนโยบายของรัฐ…”
เมื่อนักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนที่ ๒๓ คือ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อาจบอกให้เรารู้ว่า ท่ามกลางสื่อหลากประเภท งานสารคดีเป็นงานที่มีพลัง ทำประโยชน์และช่วยขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง เป็นพลังสร้างสรรค์สังคมไทยให้น่าอยู่มากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน