สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ์

ก่อนที่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะตีพิมพ์ หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน เมืองไทยคงอยู่ภายใต้บรรยากาศการหาเสียงของนักการเมืองพรรคต่าง ๆ ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔

อย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างรู้ดีว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยผ่านความรุนแรงทางการเมืองมาหลายครั้ง มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และองคาพยพทั้งหมดของสังคมนี้ยังคงขัดแย้งแบ่งขั้วอย่างรุนแรง

ดังนั้นแม้จะมีการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนออกมาแล้ว ทว่าบรรยากาศกลับตรงกันข้ามกับสิ่งที่ควรจะเป็นในประเทศประชาธิปไตย ด้วยคนในสังคมจำนวนมากต่างกำลังตั้งคำถามกับสถานการณ์บ้านเมือง

ในสื่อกระแสหลักแทบไม่มีการถกกันเรื่องนโยบายของพรรคการเมืองคู่แข่งขัน กลับมีการตั้งข้อสงสัยว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณีดาวเทียมไทยคม ๕ ประสบเหตุขัดข้องทางเทคนิคส่งผลให้ทีวีหลายช่อง “จอมืด” ช่วงปลายเดือนเมษายน ข่าวลือเรื่องรัฐประหารยิ่งแพร่สะพัด ขณะที่สงครามที่ชายแดนไทย-กัมพูชาก็เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย การชุมนุมของคนเสื้อสีต่าง ๆ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และที่น่าจับจ้องเป็นพิเศษคือการออกมา “ตบเท้า” ของทหาร ฯลฯ

ในสภาพเช่นนี้หลายคนคงเกิดคำถามว่า “การเลือกตั้ง” ยังเป็นคำตอบและเป็นทางออกให้แก่สังคมไทยได้หรือไม่ และการแข่งขันทางการเมืองท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้จะนำมาซึ่งความรุนแรงสักเพียงใด

หกปีก่อน ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นที่จับตามองในฐานะนักวิชาการรุ่นใหม่จากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน ๑๔ ตุลา” ซึ่งได้รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี ๒๕๔๕ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังได้รับรางวัล TTF AWARD ของมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๘ ถือเป็นงานวิชาการที่อธิบายเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้ดีที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน

ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายปีที่ผ่านมาเขาติดตามสถานการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิด และช่วงสองปีมานี้เขาอยู่ระหว่างทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) เรื่อง “ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในการเลือกตั้งของไทย” โดยเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทยซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ท่ามกลางกลิ่นอายรัฐประหารในบรรยากาศก่อนเลือกตั้ง สารคดี มีโอกาสสนทนากับอาจารย์ประจักษ์ว่าด้วยเรื่อง “เลือกตั้ง” และ “อนาคตสังคมไทยท่ามกลางความแตกแยกทางการเมือง”

ช่วงหนึ่งของการพูดคุย อาจารย์ประจักษ์บอกเราว่า หากมองประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ณ เวลานี้ สังคมไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อและเปราะบางมากที่สุดในประวัติศาสตร์

“ผมเกรงว่าจะมีชนชั้นนำบางส่วนที่คิดง่าย ๆ ว่าเพื่อประคองให้สังคมผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ได้อย่างราบรื่นต้องมีประชาธิปไตยให้น้อยที่สุด ซึ่งแนวทางนี้ผิดอย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้าม การประคองสังคมไทยในภาวะนี้ต้องเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้มากเพื่อไม่ให้คนลงไปใต้ดิน ถ้าเกิดรัฐประหารจะยิ่งทำให้การเมืองกระเพื่อมเพราะเท่ากับบอกคนทั้งสังคมว่าแม้แต่สถาบันรัฐสภาก็โดนปิดกั้น ระบอบเลือกตั้งก็โดนขวาง แรงกระเพื่อมจะแรงถึงระดับที่กลายเป็นสึนามิทางการเมืองได้ กระแสตะวันออกกลางภิวัตน์ในสังคมไทยจะมาเร็วและแรงกว่าที่ควรจะเป็น และกองทัพก็จะคุมไม่อยู่”

ลองฟังมุมมองและเหตุผลของนักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่คนนี้ว่า ทำไมการประคองสังคมไทยที่แตกแยกด้วยการ “มุ่งสู่การเลือกตั้ง” และ “เปิดพื้นที่ประชาธิปไตย” จึงเป็นกุญแจสำคัญในการฝ่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้

อยากให้อาจารย์วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองช่วงนี้ (ปลายเมษายน ๒๕๕๔) ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นการเลือกตั้งในสถานการณ์ไม่ปรกติเพราะสังคมไทยขัดแย้งและมีความตึงเครียดทางการเมืองสูงมาก ต้องไม่ลืมว่านอกจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาความขัดแย้งด้านชายแดนไทย-กัมพูชา และปัญหาอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้จะจัดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งที่สะสมมาหลายปี สังคมผ่านความรุนแรงและบอบช้ำมามาก รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังมีชนักติดหลังเรื่องที่มาและความชอบธรรมในการเป็นรัฐบาล ต่อเนื่องไปถึงบทบาทของรัฐบาลปัจจุบันที่เป็นคู่กรณีโดยตรงและมีส่วนรับผิดชอบในการใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในปี ๒๕๕๒ และ ๒๕๕๓ ฯลฯ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการเลือกตั้งที่ในทางวิชาการเรียกว่า การเลือกตั้งหลังความขัดแย้ง (post-conflict election) ซึ่งถ้าไม่มีการจัดการและเฝ้าระวังที่ดี ตัวการเลือกตั้งเองจะกลายเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงรอบใหม่

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกฝ่ายที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งล้วนมีเดิมพันสูง และรอบนี้ไม่ใช่แค่การแข่งระหว่างพรรคการเมืองในระบบ แต่มีสถาบันอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทในกระบวนการเลือกตั้งด้วย ซึ่งทำให้บรรยากาศก่อนหน้าการเลือกตั้งตึงเครียดเกินความจำเป็น ทั้งที่ลำพังการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ตึงเครียดอยู่แล้ว โดยเฉพาะการแสดงบทบาทของผู้นำกองทัพที่ออกมาให้สัมภาษณ์ตอบโต้ประเด็นทางการเมืองในลักษณะเกือบจะรายวันกับนักการเมือง พรรคการเมือง และนักวิชาการ รวมถึงการออกมาแสดงพลัง “ตบเท้า” ของหน่วยต่าง ๆ ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทเกินขอบเขตที่เหมาะสมสำหรับกองทัพในระบอบประชาธิปไตย และเสี่ยงต่อการที่กองทัพจะถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับพรรคการเมืองบางพรรค

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงน่าเป็นห่วงเพราะทุกฝ่ายเริ่มส่งสัญญาณว่า “แพ้ไม่ได้” ต้องชนะเพื่อจัดตั้งรัฐบาลและยึดอำนาจรัฐเท่านั้น ซึ่งความรู้สึกนี้อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยที่ควรเหลือพื้นที่ให้คนแพ้ และสำคัญมากที่คนแพ้ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ ในขณะที่คนชนะก็ต้องถ่อมตนกับชัยชนะที่ได้มาด้วย แต่ตอนนี้เกิดบรรยากาศที่ว่า ถ้าชนะก็ชนะหมด แพ้ก็เสียหมด ซึ่งตัวอย่างน่าสนใจที่เราควรพึงเก็บรับมาเป็นบทเรียนคือ การเลือกตั้งที่ล้มเหลวในไอวอรีโคสต์และไนจีเรียที่มีการใช้ความรุนแรงห้ำหั่นกันทั้งในระหว่างหาเสียงและหลังประกาศผลคะแนน เพราะทุกฝ่ายประกาศเลยว่า “จะไม่ยอมมีชีวิตอยู่เพื่อเห็นชัยชนะของอีกฝ่าย” บรรยากาศก็เลยเดือด การแข่งขันหาเสียงกลายเป็นเรื่องความเป็นความตาย นำไปสู่ภาวะไร้ระเบียบ รัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็ไม่มีความชอบธรรม บริหารประเทศไม่ได้ และบานปลายเป็นสงครามกลางเมือง ในทั้ง ๒ กรณี การเลือกตั้งที่ล้มเหลว (failed election) นำไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลว (failed state) ผมไม่อยากเห็นเมืองไทยพัฒนาไปสู่จุดนั้น

อาจารย์คิดว่าสังคมไทยจะจัดการเลือกตั้งท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งและปัญหาต่าง ๆ ได้หรือ
ทำได้และยิ่งต้องทำ หลายประเทศแตกแยกหนักกว่าเรา ผ่านการสู้รบเสียหายมากกว่าเราก็ยังจัดการเลือกตั้งได้อย่างเรียบร้อย เพราะเขาใช้กระบวนการเลือกตั้งนั่นแหละไปบรรเทาความขัดแย้งของคนในชาติ ความขัดแย้งแตกต่างเป็นเรื่องปรกติในสังคมประชาธิปไตย เนื่องจากมันเป็นระบอบที่ถูกออกแบบมาเพื่อบริหารความขัดแย้งอย่างสันติ ยิ่งมีความขัดแย้งแตกต่าง ยิ่งต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง การเลือกตั้งคือก้าวแรกในการแก้ปัญหาอย่างสันติ เป็นกลไกที่จะแสวงหาฉันทานุมัติจากสังคมไทยท่ามกลางความเห็นต่าง นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกทำ การเลือกตั้งก็เป็นกลไกที่ถูกออกแบบเพื่อจัดการปัญหานี้อยู่แล้ว คือสู้กันเปิดเผยบนเวทีภายใต้กติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ หาฉันทานุมัติกันใหม่ว่าในภาวะนี้ใครควรมีอำนาจบริหารประเทศ ความขัดแย้งแตกต่างหรือปัญหารุมเร้าไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่จัดการเลือกตั้ง สิ่งที่ต้องทำคือเตรียมจัดเลือกตั้งให้ดี ให้มีประสิทธิภาพ ให้โปร่งใส ให้ยุติธรรม ปราศจากความรุนแรง เพื่อให้รัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งมีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ

อาจารย์ประเมินสถานการณ์ความรุนแรงในการเลือกตั้งครั้งนี้ไว้แค่ไหน
เมื่อเดิมพันสูงก็จะแข่งขันอย่างดุเดือด เพราะต่างฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้ พรรคการเมืองใหญ่ ๒ พรรคต้องแย่งคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด ยิ่งเกินครึ่งยิ่งดีเพื่อการันตีว่าตัวเองจะได้ตั้งรัฐบาล ถ้าพรรคที่ได้คะแนนอันดับแรกได้คะแนนเสียงทิ้งห่างพรรคอันดับ ๒ มากเท่าไร ความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาลจะสูงขึ้น โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จากบทเรียนที่ผ่านมา (เมื่อครั้งยังเป็นพรรคพลังประชาชน) การได้ที่ ๑ ไม่พอ ต้องชนะขาดลอยหรือเกินครึ่ง ดังนั้นจะทุ่มเต็มที่ พรรคประชาธิปัตย์เองก็ต้องทุ่มเต็มที่เช่นกันถ้าต้องการหนีข้อครหาว่าได้คะแนนอันดับ ๒ แล้วจะไปแย่งจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นก็ต้องทำให้ได้ที่ ๑ ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลางจะเป็นตัวแปรสำคัญเพราะดูแล้วยากที่จะมีพรรคไหนชนะเด็ดขาด พรรคขนาดกลางจึงพยายามดิ้นรนให้ได้เสียงมากที่สุดเช่นกันเพื่อเพิ่มน้ำหนักต่อรองกับสองพรรคใหญ่ในการเข้าร่วมรัฐบาล จากประสบการณ์ในการทำวิจัย การแข่งขันจะดุเดือดไม่เท่ากันในทุกพื้นที่ ในระดับภาค ภาคที่มีการแข่งขันค่อนข้างต่ำเพราะจะมีพรรคใดพรรคหนึ่งชนะแน่ อาทิ ภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ชนะแบเบอร์ ภาคเหนือกับภาคอีสานตอนบนพรรคเพื่อไทยก็คงกวาดที่นั่ง ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีพรรคใดยึดกุมได้เด็ดขาดคือภาคตะวันตก ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง อีสานใต้ และภาคตะวันออก ถ้ากางแผนที่จะพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ช่วงตรงกลางของประเทศ จะเป็นสนามที่มีการแข่งขันรุนแรง และจะเป็นพื้นที่ชี้ขาดว่าใครจะได้จัดตั้งรัฐบาล อย่าลืมว่าพรรคขนาดกลางและเล็กปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์ที่การเมืองแบ่งขั้วระหว่างสองพรรคใหญ่โดยสร้างโมเดลเป็นพรรคประจำจังหวัดหรือภูมิภาค มีฐานเข้มแข็งเฉพาะจุด อาทิ ชาติไทยพัฒนามีฐานที่แข็งในจังหวัดภาคกลาง ภูมิใจไทยแข็งในอีสานใต้ ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินแข็งในโคราช พรรคพลังชลก็เน้นพื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่สองพรรคใหญ่ก็ไม่ได้เข้มแข็งมาก จึงยิ่งทำให้ต้องจับตาพื้นที่เหล่านี้เป็นพิเศษเพราะจะขับเคี่ยวกันสูสี ส่วนในระดับจังหวัด จังหวัดที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษจากสถิติที่รวบรวมมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี ๒๕๑๙-๒๕๕๐ พบว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยโดยมีสาเหตุหลายประการประกอบกัน ได้แก่ เชียงราย แพร่ กาญจนบุรี ราชบุรี โคราช บุรีรัมย์ ลพบุรี พิจิตร นครสวรรค์ ปราจีนบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา นราธิวาส และยะลา

ถามว่าประเมินความรุนแรงไว้แค่ไหน คงต้องเล่าว่าที่ผ่านมารูปแบบความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทยมีลักษณะฆ่าแบบเจาะจงเป้าหมาย ไม่เหวี่ยงแหประเภทวางระเบิดกราดยิงฝูงชน เรียกได้ว่าเป็น “Targeted violence” รูปแบบหลักคือการใช้อาวุธปืนลอบสังหารเฉพาะคู่กรณีที่เป็นผู้แข่งขันเพื่อตัดคะแนนเสียงหรือกำจัดคู่แข่ง โดยมักจะกำจัดหัวคะแนนฝีมือดีของคู่ต่อสู้ก่อนวันเลือกตั้งเพื่อทำให้คู่แข่งอ่อนกำลัง หรือฆ่าหัวคะแนนช่วงหลังการเลือกตั้งในรายที่เบี้ยวเงิน เป็นนกสองหัว หรือทำงานไม่เข้าเป้า การฆ่าผู้สมัครโดยตรงน้อยลงมากจนแทบจะไม่ปรากฏเพราะค่าใช้จ่ายสูง แถมเป็นเรื่องใหญ่เพราะตำรวจจะถูกกดดันมากเป็นพิเศษในการทำคดี รวมทั้งสื่อก็จะเกาะติด โอกาสในการถูกจับจึงสูงกว่าการฆ่าระดับหัวคะแนน เทียบกับในต่างประเทศอย่างฟิลิปปินส์เขายิงนักข่าว บางครั้งสังหารลูกและภรรยานักการเมืองซึ่งไม่รู้อีโหน่อีเหน่เพื่อข่มขู่ ในแอฟริกามีการใช้ความรุนแรงกับผู้สนับสนุนฝ่ายตรงข้าม เผาบ้านเรือน ข่มขู่ไม่ให้ไปเลือกตั้ง จัดกองกำลังชายฉกรรจ์ไปสังหารหมู่ผู้เลือกตั้งที่เลือกผู้สมัครฝั่งตรงกันข้าม สังหารคณะกรรมการการเลือกตั้ง บ้านเราไม่ได้มีลักษณะอย่างนั้น เป็นการจัดการความขัดแย้งระหว่างคนในแวดวงการเมืองด้วยกันไม่ได้ลามไปยังคนบริสุทธิ์ที่อยู่วงนอกแต่อย่างใด พูดง่าย ๆ ว่าเป็นความรุนแรงที่มีขอบเขตจำกัด

มองย้อนกลับไป ความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทยในแบบที่เราคุ้นเคยเริ่มมีตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ คือตั้งแต่การเลือกตั้งปี ๒๕๒๒ เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้นเป็นยุคเผด็จการ มีการเลือกตั้งแต่ไม่มีความรุนแรงในลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน เนื่องจากการเลือกตั้งสมัยนั้นไม่มีความหมายเพราะท้ายที่สุดคนที่เป็นนายกฯ คือทหาร ช่วงหลังเหตุการณ์ ๑๔ ต.ค.๒๕๑๖ -๖ ต.ค.๒๕๑๙ มีความรุนแรงในการเลือกตั้ง แต่เป็นความรุนแรงที่ทำโดยกลุ่มกุมอำนาจรัฐ คือ กองทัพ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และขบวนการฝ่ายขวากำจัดนักการเมืองปีกซ้าย รูปแบบความรุนแรงทางการเมืองจะเปลี่ยนไปตั้งแต่หลัง ๖ ตุลาฯ ลักษณะคือไม่มีใครผูกขาดความรุนแรงได้ ในการเลือกตั้งหลัง ๖ ตุลาฯ ความรุนแรงโดยรัฐไม่ใช่ตัวหลักแล้ว กลายเป็นความรุนแรงจากกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ คือกลุ่มนักการเมืองที่มีอิทธิพล พวกเจ้าพ่อที่มีมือปืนในสังกัด รวมถึงพวกธุรกิจมือปืนรับจ้างที่เริ่มเติบโตในสมัยนั้น แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนทั้งที่ยังรับราชการหรือออกจากราชการไปแล้วก็เข้าไปเกี่ยวพันโดยเป็นมือปืนรับจ้าง เป็นลูกน้องนักการเมือง คนเหล่านี้ไม่ได้สังหารใครในนามของรัฐ ไม่ได้รับคำสั่งจากเจ้านายในกรมกอง แต่ทำในนามส่วนตัวและรับคำสั่งจากเจ้านายที่เป็นนักการเมือง

ความรุนแรงระหว่างนักการเมืองด้วยกันในแบบที่เรารู้จักเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ เป็นต้นมา แต่ละครั้งมีผู้เสียชีวิต ๑๐-๒๐ ราย จำนวนค่อนข้างคงที่ จนถึงการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ และ ๒๕๔๘ ถือเป็นการเลือกตั้งที่มีความรุนแรงมากที่สุด ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง ๒๕-๓๐ ราย และมีเหตุรุนแรงประมาณ ๖๐-๗๐ กรณี โดยมีเหตุปัจจัยสำคัญหลายอย่างประกอบกันที่ทำให้การเลือกตั้ง ๒ ครั้งนั้นดุเดือดกว่าครั้งอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎกติกาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ซึ่งเปลี่ยนหลายอย่างและคนยังไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากเขตเดียวเรียงเบอร์เป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างยักษ์ใหญ่ทางการเมืองในหลายเขต จากที่แต่ก่อนหาเสียงหลบกันและแบ่งคะแนนได้ คือแม้ไม่ได้ที่ ๑ มาเป็นอันดับ ๒ หรือ ๓ ก็ยังได้เป็น ส.ส. แต่พอเป็นเขตเดียวเบอร์เดียวแพ้ก็สอบตกเลย อดเป็นผู้แทนไม่ว่าจะแพ้แค่หมื่นคะแนนหรือแพ้คะแนนเดียว มันเลยต้องแข่งกันเต็มที่เพราะสู้กันตัวต่อตัวแพ้ไม่ได้ ยิ่งในเขตไหนที่แบ่งเขตแล้วผู้สมัครแข็งกับแข็งมาเจอกันที่เขาเรียกว่าช้างชนช้าง ก็จะยิ่งดุเดือดแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน นอกจากกติกาที่เปลี่ยน ปัจจัยอื่นก็ได้แก่การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ ๆ ที่มีสรรพกำลังพร้อมทำให้สนามการเลือกตั้งแข่งขันกันเข้มข้นกว่าเดิม และที่สำคัญวิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐ ทำให้เดิมพันในการเลือกตั้งสูงขึ้นมาก เพราะมันหมายถึงการยึดอำนาจรัฐเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงของเศรษฐกิจมหภาคที่จะส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของกลุ่มทุนไทย ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้การแข่งขันมันแรงขึ้น

ส่วนการเลือกตั้งปี ๒๕๕๐ ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารครั้งล่าสุด จำนวนผู้เสียชีวิตและเหตุรุนแรงลดลงแต่ลดลงแบบไม่เป็นธรรมชาติ อย่าลืมว่าปี ๒๕๕๐ เราจัดเลือกตั้งโดยพื้นที่เกือบครึ่งประเทศอยู่ใต้กฎอัยการศึก ทหารยังควบคุมการเมืองอยู่ บรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตย มีการใช้อำนาจรัฐแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งและการหาเสียงด้วยวิธีการหลายอย่างเพื่อกำหนดผลการเลือกตั้งให้ออกมาในแบบที่ผู้กุมอำนาจรัฐพอใจ ฉะนั้นความรุนแรงที่ลดลงไม่ใช่เพราะประชาธิปไตยก้าวหน้าขึ้นหรือการจัดการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพขึ้น แต่เป็นเพราะกระบวนการเลือกตั้งถูกควบคุม ไม่ได้แข่งขันกันอย่างอิสระ ดังนั้นการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ถ้าไม่มีการแทรกแซงผมประเมินว่าความรุนแรงจะกลับมาอยู่ระดับเดียวกับการเลือกตั้งในปี ๒๕๔๔ และ ๒๕๔๘ แต่จะไม่รุนแรงในระดับใหญ่โตเหมือนต่างประเทศที่คนตายเป็นร้อยเป็นพัน เช่น ในฟิลิปปินส์เลือกตั้งแต่ละครั้งมีคนตายเฉลี่ย ๑๔๐-๑๕๐ คน ในเคนยาคนตายนับพันและไร้ที่อยู่อาศัยนับหมื่นคน สังคมไทยไม่ถึงขั้นนั้น ที่เลวร้ายสุดก็ไม่เคยเกิน ๔๐ ราย

สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือความรุนแรงที่จะสกัดไม่ให้มีการเลือกตั้งและความรุนแรงเพื่อล้มผลการเลือกตั้ง ซึ่งอันตรายต่อประชาธิปไตยมากกว่าความรุนแรงเพื่อเอาชนะคู่แข่งในการเลือกตั้ง กล่าวคือ ไม่ว่าหัวคะแนนหรือนักการเมืองยิงกัน เขาไม่ได้ต้องการล้มระบบเลือกตั้ง พูดได้ว่าทุกคนยังเคารพสถาบันการเลือกตั้งอยู่ แต่ใช้วิธีการผิดกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ แน่นอนว่าผิดและต้องช่วยกันแก้ไขและขจัดให้หมดไป แต่ความรุนแรงเพื่อสกัดไม่ให้มีการเลือกตั้งหรือเพื่อล้มผลการเลือกตั้งเมื่อพรรคการเมืองที่ได้ชัยชนะเป็นพรรคที่กองทัพหรือชนชั้นนำไม่ชอบ ด้วยรูปแบบคลาสสิกที่เรารู้จักดีคือทำรัฐประหาร รวมถึงการใช้ความรุนแรงโดยปลุกระดมฝูงชนหรือสร้างสงครามเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้เป็นการทำลายสถาบันการเลือกตั้งโดยตรงและทำให้สังคมไม่มีทางออก

อาจารย์มีความเห็นอย่างไรต่อกระแสข่าวรัฐประหารในช่วงก่อนเลือกตั้ง
การแสดงพลังของทหารและการให้สัมภาษณ์ในลักษณะแข็งกร้าวว่าพร้อมจะเคลื่อนกำลัง ทำให้การออกมาแถลงข่าวของผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมดก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ทำรัฐประหาร มีความน่าเชื่อถือลดลง อันที่จริงผมไม่เชื่อว่ารัฐประหารปี ๒๕๔๙ จะเป็นครั้งสุดท้าย เราไม่อาจประเมินโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารต่ำในประเทศที่มีรัฐประหารมาแล้วถึง ๑๘ ครั้ง มันเกิดขึ้นได้เสมอเพราะยังมีชนชั้นนำบางกลุ่มคิดว่ามันเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้การได้หรือจำเป็นต้องใช้ในภาวะฉุกเฉิน ยิ่งในระยะหลังภาคประชาสังคมบางส่วนเรียกร้องให้มีการรัฐประหารเสียเอง ความเสี่ยงที่จะมีการเคลื่อนรถถังออกมาจึงสูงขึ้นไปด้วย เพราะในโลกสมัยใหม่กองทัพไม่อาจทำรัฐประหารได้โดยลำพัง จำเป็นต้องมีกระแสสังคมรองรับมาให้อ้างอิง เนื่องจากตัววิธีการมันไม่มีความชอบธรรมในสายตาประชาคมโลก

ในทางรัฐศาสตร์นี่เป็นเครื่องมือโบราณมาก มันคือการใช้กำลังอำนาจดิบตัดสิน น่าเสียดายที่สังคมไทยยังมีคนคิดใช้เครื่องมือนี้ อย่างไรก็ตาม ในทางสถิติจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าปัจจุบันการรัฐประหารแทบสูญพันธุ์จากโลกแล้ว ที่ผ่านมาเวลาที่เฟื่องฟูที่สุดของการรัฐประหารทั่วโลกคือช่วงทศวรรษ ๒๕๐๐ -๒๕๑๐ มีรัฐประหารทั่วโลกเกือบ ๑๐๐ ครั้ง ทว่าตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมามีรัฐประหารแค่ ๑๘ ครั้ง ไทยคือหนึ่งในจำนวนนั้น และกลายเป็นกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยถดถอยอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจากการรัฐประหาร ถ้าเกิดอีกครั้งในปีนี้เท่ากับเรามีรัฐประหาร ๒ ครั้งในรอบ ๖ ปี (๒๕๔๙-๒๕๕๔) กลายเป็นประเทศที่มีรัฐประหารบ่อยที่สุดในโลกทันที เครดิตในสายตาประชาคมโลกก็จะตกต่ำจนเหลือศูนย์หรือติดลบจากที่แย่อยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าผู้นำกองทัพฉลาดต้องปล่อยให้มีการเลือกตั้ง เพราะกระแสสังคมเวลานี้ไม่มีใครตอบรับการรัฐประหารเลย โพลทุกสำนักชี้ให้เห็นว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารและต้องการให้มีการเลือกตั้งสูงกว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ทั้งนั้น ถ้าเราอ่านบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันชั้นนำตอนนี้ ไม่ว่าค่ายใดล้วนต้องการให้เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ยังไม่รวมการที่ตัวแทนรัฐบาลได้ชี้แจงทูตต่างประเทศแล้วว่าจะมีการเลือกตั้ง ไม่มีรัฐประหาร ถ้าเกิดรัฐประหารเราจะตอบสังคมโลกไม่ได้เลยและตอบคนในประเทศตัวเองไม่ได้ด้วย

ในกรณีเกิดรัฐประหารขึ้น อาจารย์ประเมินสถานการณ์ไว้อย่างไร
การรัฐประหารครั้งนี้จะนองเลือดที่สุด อันที่จริงการรัฐประหารปี ๒๕๔๙ นั้น แม้ไม่นองเลือดวันยึดอำนาจ แต่หลังจากนั้นความขัดแย้งก็ลุกลามขยายตัว เกิดความรุนแรงมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ ๔ ปีหลังมานี้เกิดความรุนแรงทางการเมืองจนนำมาสู่การสลายการชุมนุมที่มีประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ รัฐประหารปี ๒๕๔๙ จึงเป็นรัฐประหารที่รุนแรงเพราะทำให้สังคมแตกแยกร้าวลึก อย่าลืมว่าเรามีปัญหาสะสมอยู่มากมาย ถ้าเกิดรัฐประหารคราวนี้ปัญหาจะถูกซ้ำ ภาวะรัฐล้มเหลวจะเกิดขึ้นแน่นอน จากที่ก่อนหน้านี้รัฐไทยยังพอประคองตัวอยู่ได้แม้จะไร้เอกภาพ

ประสบการณ์ของประเทศที่มีรัฐประหารในระยะหลังชี้ให้เห็นว่ารัฐประหารนำไปสู่สงครามกลางเมือง การคอร์รัปชันที่เพิ่มสูงขึ้น และความตกต่ำทางเศรษฐกิจ สังคมไทยเวลานี้มีกลุ่มคนที่พร้อมต่อต้านอำนาจกองทัพและรัฐบาลที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร อาจถึงหลักล้านคน ฉะนั้นเราจะไม่เห็นฉากเก่า ๆ ที่ทหารยึดอำนาจแล้วมีคนยื่นดอกไม้ให้อีกแล้ว เราเลยจุดที่ว่าเมื่อมีรัฐบาลพลเรือนอ่อนแอ ทหารก็รัฐประหารตั้งรัฐบาลขึ้นมาโดยทุกคนสยบยอมมาไกลแล้ว การใช้เทคนิคปล่อยข่าวลือหรือขู่ว่าจะรัฐประหารเพื่อบีบให้ประชาชนกลัวก็ถูกใช้มากไปจนใช้ไม่ได้ผลอีก สังคมเราอยู่ในสภาวะที่เพดานความกลัวมันถูกยกออกไปแล้ว รูปธรรมคือหลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ ไม่นานก็เกิดกระแสต่อต้าน มีการรวมตัวกันจนถึงวันนี้และเข้มแข็งมากขึ้น อย่ามองแค่คนเสื้อแดง อย่าลืมว่าเวลานี้ไม่มีนักธุรกิจคนไหนอยากเห็นการรัฐประหาร คนชั้นกลางจำนวนหนึ่งก็ไม่พอใจ กระทั่งสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจไม่พอใจถ้าเกิดขึ้นช่วงนี้ เพราะเท่ากับล้มนายกฯ อภิสิทธิ์ ทีนี้จะใช้ข้ออ้างอะไรเพราะทุกครั้งที่ยึดอำนาจก็จะอ้างว่ารัฐบาลไม่จงรักภักดี สร้างความแตกแยก คอร์รัปชัน จะใช้ข้ออ้างนี้กับรัฐบาลที่ตนเองมีส่วนจัดตั้งมากับมือก็คงแปลกพิกล

ผมคิดว่าสังคมไทยเดินมาถึงจุดที่ไม่อาจแบกรับต้นทุนความเสียหายจากการรัฐประหารได้อีก ไม่ว่าจะรัฐประหารแบบเปิดเผยหรือแบบเงียบ การแทรกแซงเพื่อทำให้การเลือกตั้งสะดุดหยุดลง หรือการล้มผลการเลือกตั้งที่ประชาชนตัดสินใจเพียงเพราะผู้กุมอำนาจไม่พอใจผลการเลือกตั้งที่ออกมา จะทำให้สังคมไทยตกลงสู่ห้วงเหว กระทั่งอาจเกิดความรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้

มีความเห็นอย่างไรต่อการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรรู้อยู่แล้ว เป็นมารยาทพื้นฐานในวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่ควรเอาสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องในการเมือง ยิ่งเอามาหาเสียงยิ่งไม่ควร เพราะการโจมตีคนอื่นโดยใช้เรื่องนี้ไม่มีทางที่อีกฝ่ายจะแก้ข้อกล่าวหาได้ เรื่องสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยเป็นเรื่องของความศรัทธาเหมือนเรื่องศาสนาในหลายประเทศก็มีการห้ามนำประเด็นศาสนามาใช้เป็นประเด็นหาเสียง เพราะมันเป็นประเด็นที่แบ่งแยกคน ผลักคนไปอยู่ขั้วตรงข้ามในลักษณะไม่สร้างสรรค์ นอกจากพรรคการเมืองแล้วเรื่องนี้ควรครอบคลุมไปถึงกองทัพด้วย ไม่ให้หยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเป็นกฎระเบียบ เพราะเมื่อมีระเบียบมีบทลงโทษชัดเจน ผลคือมันจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย ทั้งยังอาจถูกนำไปใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อโจมตีคู่ต่อสู้จนถึงขั้นตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือยุบพรรค ยังไม่ต้องพูดถึงว่าการยุบพรรคก็ทำได้ง่ายอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๐) ยิ่งมีระเบียบนี้ออกมายิ่งทำให้แย่ลงไปอีก

พูดถึงการปกป้องสถาบันฯ วิธีที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุดมิใช่ด้วยการออกกฎหมาย แต่คือการรักษาสถาบันฯ ให้เป็นสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมมากกว่าการเป็นสถาบันทางการเมือง ความพยายามหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของกลุ่มกบฏบวรเดชและฝ่ายรอยัลลิสต์ที่พยายามทำให้สถาบันฯ มีอำนาจทางการเมืองเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลับทำให้สถาบันฯ ตกอยู่ในสถานะลำบาก เฉกเช่นเดียวกับบทบาทสถานะของสถาบันฯ ในสถานการณ์หลัง ๑๔ ตุลา ๑๖ และ ๖ ตุลา ๑๙ ที่น่าเป็นห่วงจนกระทั่งนักคิดอย่าง ชัยอนันต์ สมุทวณิช ถึงกับแสดงความวิตกกังวลไว้ในหนังสือที่เขาแต่งร่วมกับ เดวิด มอเรลล์ เรื่อง Political Conflict in Thailand: Reform, Reaction, Revolution(๒๕๒๔) พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เคยให้ข้อคิดในประเด็นนี้ไว้อย่างลึกซึ้งว่า ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญที่สถาปนาขึ้นหลัง ๒๔๗๕ สถาบันกษัตริย์ผูกหัวใจและเป็นที่รักของประชาชนสูงเด่นขึ้นต่อเมื่อทรงเลิกว่าราชการแผ่นดินโดยตรง เลิกเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางการเมืองที่ให้คุณให้โทษนั่นเอง ทว่าในประวัติศาสตร์ระยะหลังมานี้ การปกป้องสถาบันฯ ของฝ่ายรอยัลลิสต์ในลักษณะที่สร้างความเป็นการเมืองให้สถาบันฯ และใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรง ท้ายที่สุดแล้วเป็นปฏิบัติการทางการเมืองที่ผู้กล่าวอ้างใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อให้ร้ายป้ายสีคู่ต่อสู้ทางการเมือง มากกว่าเป็นการปกป้องสถาบันฯ อย่างแท้จริง การกระทำเช่นนี้มีแต่จะสร้างปัญหาให้แก่สถานะและความนิยมที่ประชาชนมีต่อสถาบันฯ และเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

มีความเห็นอย่างไรต่อการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรณรงค์โหวตโน (Vote No) ไม่ลงคะแนนให้นักการเมืองคนใดด้วยเหตุผลเพื่อสั่งสอนนักการเมืองและนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ
โหวตโนเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ผู้เลือกตั้งทำได้ เพราะมันก็คือการแสดงออกโดยใช้สิทธิตามช่องทางของระบอบประชาธิปไตย ไม่ผิดกติกา ไม่ผิดกฎหมาย ยิ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายและชอบธรรมมากขึ้น ช่วยแสดงให้เห็นว่าทัศนะที่หลากหลายแม้จะไม่ชอบระบบการเมืองที่เป็นอยู่ก็ถูกแสดงออกผ่านกลไกในระบบ ไม่ต้องใช้ทางลัดอย่างการปิดประเทศหรือการเรียกร้องรัฐบาลพระราชทาน อย่างไรเสียโหวตโนยังดีกว่าล้มการเลือกตั้งจนไม่มีใครได้โหวต ปัญหาคือประสิทธิภาพของโหวตโนมันน้อย หนึ่ง คนกาช่องนี้ด้วยเหตุผลแตกต่างกัน เราไม่อาจเหมารวมได้ว่าเสียงโหวตโนทั้งหมดมีเจตนารมณ์ไปในทิศทางเดียวกัน คนอาจกาเพียงเพราะไม่ชอบผู้สมัครคนใดเลย หรืออาจไม่ชอบพรรคไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาปฏิเสธระบบรัฐสภาหรือปฏิเสธระบบเลือกตั้งที่มีอยู่ หรือเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปการเมืองของพันธมิตรฯ ยกตัวอย่างการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีคนกาโหวตโนในส่วนบัญชีเขตเลือกตั้งประมาณ ๑.๕ ล้านคน แต่โหวตโนในส่วนบัญชีปาร์ตี้ลิสต์มีน้อยกว่า คือ ๙ แสนกว่าคน หมายความว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหากับพรรคการเมือง แต่ไม่ถูกใจผู้สมัครที่พรรคส่งมาลงในเขตของเขา

สอง มันไม่มีกฎหมายรองรับในระบบของไทยว่าคะแนนโหวตโนนั้นถูกแปลงให้มีผลอะไรได้ สมมุติว่าถ้ามีกฎหมายระบุว่ามีคะแนนโหวตโนในเขตเลือกตั้งนั้นเกิน ๑๐ หรือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ นั่นจะทำให้โหวตโนมีความหมาย และอย่าลืมว่าคะแนนโหวตโนในเมืองไทยไม่เคยเยอะ แม้ว่าตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ การเลือกตั้งถูกกำหนดเป็นหน้าที่ ถ้าไม่ไปก็อาจเสียสิทธิบางอย่าง ทำให้คนจำนวนหนึ่งแม้ไม่ชอบใครแต่ไม่อยากเสียสิทธิก็ไปเลือกตั้ง ทำให้คะแนนในช่องโหวตโนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังน้อยเมื่อเทียบกับผู้ใช้สิทธิทั้งหมด คิดเป็น ๓-๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยกเว้นครั้งเดียวคือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๙ ซึ่งพรรคการเมืองหลัก ๆ ทั้งหมดบอยคอตการส่งผู้สมัครแข่งกับพรรคไทยรักไทย ทำให้มีคะแนนโหวตโน ๘.๔ ล้านคะแนน ซึ่งถ้าอิงจากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่ประชาธิปัตย์ได้ในการเลือกตั้งปี ๒๕๔๘ คาดว่าเป็นคะแนนพรรคประชาธิปัตย์ประมาณ ๗ ล้านคะแนน ที่เหลือคือคนที่โหวตโนจริงซึ่งก็ไม่เยอะ ในขณะที่ตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งสูงขึ้นเรื่อย ๆ การเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ มีผู้มาใช้สิทธิเกิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ สองครั้งหลังคือปี ๒๕๔๘ และ ๒๕๕๐ อยู่ที่ ๗๔-๗๕ เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะปี ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร จำนวนผู้ใช้สิทธิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ แสดงว่าคนต้องการการเลือกตั้ง และความล้มเหลวไม่เป็นท่าของรัฐบาลรัฐประหารคงเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้คนต้องการกลับไปหารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ครั้งนี้ถ้าไปดูโพลจะเห็นว่าประชาชนเกิน ๗๐ เปอร์เซ็นต์ตัดสินใจว่าจะไปเลือกตั้ง สมมุติว่าพันธมิตรฯ รณรงค์ได้ผลจนคะแนนโหวตโนได้สัก ๑ หรือ ๒ ล้านคะแนน แต่คนที่ไปใช้สิทธิอีกเกือบ ๓๐ ล้านคนเลือกพรรคอื่น ๆ มันก็จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก

แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าซึ่งผมคิดว่าโหวตโนมีประสิทธิภาพน้อย คือมันไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน มันเป็นแค่การใช้สิทธิเชิงปฏิเสธเพื่อส่งสารว่าไม่ชอบนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีอยู่ ซึ่งผมคิดว่าไม่มีใครไม่รู้ว่าคุณภาพของนักการเมืองไทยมีปัญหา ระบบการเมืองเรามีปัญหา มันเป็นสารที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว คำถามคือจะแก้กันอย่างไร โหวตโนมันไม่ได้ตอบ

กรณีพรรคการเมืองใหม่ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งและรณรงค์โหวตโนนั้น ผมคิดว่าน่าเสียดาย เพราะก่อนหน้านี้เขาปฏิเสธระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามาตลอด ถึงจุดหนึ่งตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ในสังคมไทยมีพรรคการเมืองที่มาจากมวลชนน้อย พรรคการเมืองใหม่เป็นโมเดลที่น่าสนใจ คือพัฒนาจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อพิสูจน์ตัวเองในระบบรัฐสภา มีการเชื่อมต่อการเมืองในและนอกสภา ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เรียกร้องกันอยู่นอกสภามีโอกาสแปรเป็นนโยบาย สิ่งนี้จะทำให้ระบบพรรคการเมืองและรัฐสภาเข้มแข็งและสะท้อนความเป็นตัวแทนประชาชนได้ดีขึ้น พรรคการเมืองในโลกตะวันตกก็ถือกำเนิดในลักษณะนี้ เช่นพัฒนามาจากขบวนการแรงงาน การมีมวลชนกับพรรคการเมืองทำงานคู่กันไม่ใช่เรื่องผิดปรกติ แต่คนมักเข้าใจผิด เช่น โจมตีว่าพรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดงจับมือเล่นการเมืองทั้งในและนอกสภา หรือช่วงหนึ่งโจมตีว่าพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวคู่ขนานกัน นี่เป็นเรื่องปรกติ ในโลกนี้พรรคการเมืองจำนวนมากมีมวลชนและมีการเคลื่อนไหวนอกสภาควบคู่ไปด้วย ที่ผมเสียดายแทนคือเอาเข้าจริงแล้วภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ถูกแก้ไขแล้ว พรรคการเมืองใหม่มีโอกาสได้ที่นั่งในสภามากขึ้น เพราะกลับมาใช้ระบบปาร์ตี้ลิสต์โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และยกเลิกเพดานขั้นต่ำว่าต้องได้คะแนนบัญชีรายชื่อไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕ จึงจะได้ที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ทำให้พรรคเล็กอย่างการเมืองใหม่ซึ่งอาจได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ราวร้อยละ ๒-๓ ก็จะมี ส.ส. สัก ๔-๕ คนไปสะท้อนปัญหาในสภา รวมถึงผลักดันการปฏิรูปการเมือง นี่จึงเป็นจังหวะก้าวที่น่าเสียดาย

เวลานี้พูดกันมากว่าหลังเลือกตั้ง พรรคที่มีคะแนนอันดับ ๑ อาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลเสมอไป
การเลือกตั้งครั้งนี้มีความประหลาดพิสดารหลายอย่าง เรื่องหนึ่งคือมีการวิเคราะห์ตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่าพรรคใดจะมาอันดับ ๑ แต่ก็เชื่อว่าพรรคที่มาเป็นอันดับ ๒ จะได้จัดตั้งรัฐบาลซึ่งถ้าผลมันถูกล็อกไว้ล่วงหน้าอย่างนี้จริงก็แสดงว่าเราไม่มีประชาธิปไตยที่แท้จริง และการเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะมีความหมายน้อย ผมเองเชื่อเหมือนนักวิเคราะห์ท่านอื่น ๆ ว่าสถานการณ์นี้มีสิทธิ์เกิดขึ้นเพราะการเมืองไทยอยู่ในภาวะไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ เราแข่งกันภายใต้บรรยากาศสองศูนย์อำนาจประจันหน้ากัน คือศูนย์อำนาจที่อิงอยู่กับการแข่งขันภายใต้สถาบันการเลือกตั้ง กับอีกศูนย์อำนาจหนึ่งที่อยู่นอกระบบการเลือกตั้ง ที่ไม่ยอมเข้ามาแข่งขันภายใต้กติกาแต่พร้อมจะแทรกแซงการแข่งขันเสมอ คอยเฝ้าดูตัวละครในระบบแข่งกัน ถ้าผลเป็นที่น่าพอใจก็ปล่อย ถ้าไม่เป็นที่น่าพอใจก็แทรกแซง กดดันให้ตั้งรัฐบาลในรูปแบบที่ตนพอใจ ซึ่งนี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย ถ้าไม่แก้ปมนี้การเลือกตั้งก็ไม่มีความหมายเท่าไหร่

อันที่จริงแม้กฎหมายไม่มีระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่าพรรคอันดับ ๑ มีสิทธิ์ตั้งรัฐบาลก่อน เพียงแค่ใครรวมเสียงได้เกินครึ่งก็จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่มันเป็นมารยาททางการเมือง ที่ผ่านมาพรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ สมัยคุณชวน หลีกภัย ก็รักษามารยาทนี้เคร่งครัด สมัยปี ๒๕๓๘ แพ้พรรคชาติไทย ๖ เสียงก็ยอมเป็นฝ่ายค้าน ปี ๒๕๓๙ แพ้ความหวังใหม่เฉียดฉิวแค่ ๒ เสียงก็ไม่จัดตั้งรัฐบาลแข่ง ซึ่งช่วยทำให้การเมืองราบรื่นไม่วุ่นวาย ครั้งนี้ผมคิดว่าถ้ามีการละเมิดมารยาททางการเมืองก็จะวุ่นวายน่าดูเพราะสังคมเฝ้าจับตาดูอยู่ โดยเฉพาะกรณีที่คะแนนระหว่างพรรคที่ได้ที่ ๑ กับ ๒ ห่างกันมาก สมมุติชนะห่าง ๗๐-๘๐ คะแนน แล้วพรรคอันดับ ๑ ไม่ได้ตั้งรัฐบาลอาจเกิดกระแสความไม่พอใจ ฉะนั้นคงต้องรอดูว่า หนึ่ง ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ชนะห่างกันแค่ไหน สอง ผลการให้ใบเหลืองใบแดงเป็นอย่างไร ถ้าการจัดการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ว่าฝ่ายไหนก็จะไม่มีความชอบธรรมสักเท่าไรในการประท้วงผลการเลือกตั้ง แต่ถ้ามีอะไรไม่โปร่งใส ชวนให้เคลือบแคลงได้มาก เช่นการนับคะแนนหรือการให้ใบเหลืองใบแดงเอียงฝ่ายหนึ่งมากเกินไป จะยุ่งแน่ ความรุนแรงในการเลือกตั้งในหลายประเทศ เช่น อิหร่าน เคนยา ไนจีเรียก็เกิดหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งสร้างความกังขาให้ฝ่ายที่แพ้เพราะมีเหตุอันชวนให้เชื่อได้ว่ามีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น ฉะนั้นถ้าอยากป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงหลังการเลือกตั้งก็ต้องจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสและยุติธรรมที่สุด หลังเลือกตั้ง การตั้งรัฐบาลต้องเป็นเรื่องระหว่างพรรคการเมืองด้วยกันโดยไม่มีอำนาจอื่นแทรกแซง เพราะถ้าแทรกแซงมันคงปิดลำบาก คนจับจ้องกันไม่คลาดสายตา คิดดูว่าครั้งที่แล้วนักข่าวยังรู้ว่ามีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ถ้าทำอีกก็ยากที่คนจะไม่รู้ และครั้งนี้คนจะไม่ยอมรับ

ส่วนโอกาสของพรรคการเมืองหน้าใหม่ กรณีคุณปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ คิดว่าโอกาสน้อย ดูเป็นการเปิดตัวเพื่อให้รู้จักและชิมลางเพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้ามากกว่า เพราะการจัดตั้งพรรคเพียง ๑ เดือนก่อนเลือกตั้งนั้นยากจะได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ แถมฐานเสียงสำคัญก็น่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้นต้องแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยที่มีคะแนนเสียงหนาแน่นอยู่แล้ว ตัวแปรสำคัญในการตั้งรัฐบาลจึงน่าจะอยู่ที่พรรคขนาดกลาง คือ ชาติไทย ภูมิใจไทย และชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

วิเคราะห์ดูแล้วรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็จะเป็นรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพอยู่เช่นเดิม เพราะไม่น่าจะมีพรรคใดชนะได้เสียงข้างมากเด็ดขาดจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว จึงมีโอกาสสูงที่สังคมไทยจะยังคงอยู่กับวังวนแบบเก่าหลังการเลือกตั้งปี ๒๕๕๐ ที่รัฐบาลจะง่อนแง่นบริหารประเทศไม่ได้ เนื่องจากต้องเผชิญทั้งการประท้วงกดดันจากภายนอกและการต่อรองผลประโยชน์อย่างดุเดือดภายในรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งภาวะเช่นนี้เป็นมรดกตกทอดจากรัฐประหารปี ๒๕๔๙ และรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไขระดับโครงสร้าง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพิ่มอำนาจสถาบันตุลาการ ทำให้ระบบราชการมีอำนาจทางการเมืองโดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน วุฒิสภาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเพราะครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง เราเลยได้ข้าราชการเกษียณ ตุลาการ ชนชั้นนำปีกอนุรักษนิยม ผู้มีสายสัมพันธ์กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้ามาเต็มสภา ถ้าบอกว่าสมัย ส.ว.เลือกตั้ง ส่วนมากก็พวกพ้องนักการเมือง ต้องถามกลับว่าการแต่งตั้งไม่มีการใช้ระบบพวกพ้องหรือ อย่างน้อยผมคิดว่าการกำหนดให้มีการเลือกตั้งทำให้มีการแข่งขันมากกว่า ถ้ากลับไปดูสถิติจะเห็นว่า ส.ว.จากระบบเลือกตั้งนำมาซึ่งตัวแทนที่หลากหลายกว่า ลองดูรายชื่อ ส.ว.เลือกตั้งชุดแรก เวลานั้นเราได้กลุ่มคนที่มีคุณภาพจำนวนหนึ่งเข้าสู่สภา แต่ในสภาพวุฒิสภาแต่งตั้งครึ่งหนึ่งเช่นปัจจุบัน ไม่ว่าพรรคการเมืองใดเป็นรัฐบาลก็ตามจะถูกกำกับด้วยสภาสูงที่มีแนวโน้มว่าจะรักษาผลประโยชน์ให้แก่ชนชั้นนำจำนวนหนึ่งเท่านั้น

หากดูแนวโน้มทั่วโลก ระบบที่ผู้แทนมาจากการแต่งตั้งกำลังลดลงเรื่อย ๆ แต่ไทยกำลังสวนทางกับแนวโน้มนี้ บวกกับกระบวนการทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ ด้วยการยุบพรรคและตัดสิทธินักการเมือง ทำให้นักการเมืองที่พอจะมีคุณภาพจำนวนมากหลุดไปจากระบบ ปัจจุบันเราจึงอยู่กับนักการเมืองที่เป็นตัวสำรอง รุ่น ๒ รุ่น ๓ และระบบมุ้ง ระบบพรรคการเมืองที่แตกกระจัดกระจายเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยแบบการเมืองไทยสมัยก่อน ๒๕๔๐ ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐสภาอ่อนแอ และรัฐบาลก็ขาดเสถียรภาพ แล้วเราก็มานั่งบ่นเรื่องคุณภาพของนักการเมือง รวมถึงพานเกลียดระบอบประชาธิปไตย โดยลืมไปว่าอคติที่มีต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองที่สุดโต่งเกินไปนั่นแหละทำลายโอกาสที่ระบบรัฐสภาจะพัฒนาไปข้างหน้า สังคมไทยทำลายตัวเองและทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง

น่าเสียดายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๕๐ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำอย่างเป็นระบบหรือพยายามแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนี้เลย แค่เปลี่ยนระบบเขตเลือกตั้งและการแบ่งสัดส่วนระหว่างปาร์ตี้ลิสต์กับ ส.ส.เขตเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการต่อรองประนีประนอมกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ที่อยากเพิ่มสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วประชาธิปัตย์ได้คะแนนพรรคเกือบจะเท่ากับพลังประชาชน ได้มาถึง ๓๓ ที่นั่ง แพ้พลังประชาชนไปแค่ที่นั่งเดียวเท่านั้น ในขณะที่แพ้เยอะมากในส่วน ส.ส.เขต ส่วนพรรคขนาดกลางและเล็กที่ร่วมรัฐบาลอยู่ก็ต้องการเปลี่ยนจากระบบเขตเดียวหลายคนไปเป็นเขตเดียวคนเดียว เพราะคิดว่าจะทำให้พอเบียดสอดแทรกเข้ามาได้มากขึ้น ระบบหนึ่งเขตใหญ่หลายคนทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย เพราะเขตกว้างหาเสียงยาก ขายตัวบุคคลลำบาก ต้องใช้ทุนเยอะและความเป็นพรรคเข้าช่วย บวกกับผู้สมัครของพรรคเล็กจำนวนมากมีฐานมาจากนักการเมืองท้องถิ่นที่มีคะแนนหนาแน่นเฉพาะจุด เช่นเป็น ส.จ.คุมอำเภอ ๒-๓ อำเภอ ถ้าเขตเล็กเขาชนได้และมั่นใจว่าชนะ การแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้จึงมีจุดประสงค์แคบ ๆ เพียงแค่เพิ่มที่นั่งให้พรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น แต่ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องเสถียรภาพและประสิทธิภาพของระบบการเมืองโดยรวม

ถ้าเช่นนั้นการเลือกตั้งยังเป็นทางออกของสังคมไทยในภาวะดังกล่าวได้หรือ
การเลือกตั้งไม่ใช่ยาวิเศษที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง แต่คือประตูบานหนึ่งที่สังคมประชาธิปไตยมี เป็นกลไกแก้ปัญหาอย่างสันติ ให้คนไม่ต้องลุกมาเข่นฆ่ากัน ผ่านประตูบานนี้ไปต้องทำอะไรอีกมากเพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมม มันไม่ได้จบที่การเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่เปิดโอกาสให้การเลือกตั้งได้ทำงาน เท่ากับเราปิดประตู สังคมจะวิ่งเข้าสู่ทางตัน ผมยังมองไม่เห็นว่าฝ่ายคัดค้านกระบวนการเลือกตั้งจะเสนอทางออกอะไรที่เป็นรูปธรรม ถ้าแต่งตั้งก็ยิ่งสร้างวิกฤต ในภาวะที่สังคมตื่นตัวทางการเมืองระดับนี้ วิธีการสืบทอดอำนาจใด ๆ ต้องเคารพการมีส่วนร่วมและความเสมอภาคของคนอย่างยิ่ง การแต่งตั้งมันตอบโจทย์นี้ไม่ได้ อย่างน้อยในคูหาเลือกตั้งเรามี ๑ เสียงเท่ากัน มีสิทธิเลือกคนที่รักพรรคที่ชอบ หรือกระทั่งโหวตโนอย่างที่บอกไปแล้วก็ได้ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นทางออกที่เราต้องช่วยผลักดันให้มันเกิดขึ้น เพราะจะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีศักยภาพที่จะหาทางออกร่วมกันอย่างสันติได้ อย่าลืมว่าอย่างไรภายในสิ้นปีรัฐบาลปัจจุบันก็จะครบวาระอยู่แล้ว ฉะนั้นการเลือกตั้งก็จะต้องเกิดขึ้นวันยังค่ำ เราต้องช่วยกันก้าวไปข้างหน้าเพราะสังคมไทยสะสมปัญหาหมักหมมไว้ให้ต้องแก้ไขอีกมากมาย การแสวงหาฉันทานุมัติทางการเมืองร่วมกันเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ

สำหรับความหวาดกลัวว่าการเลือกตั้งจะรุนแรง ผมคิดว่าไม่ควรกังวลเกินกว่าเหตุ เพราะอย่างที่ชี้ให้เห็นแล้วว่าแม้ความรุนแรงยังมีอยู่ในการเลือกตั้งของไทย ก็เป็นความรุนแรงในรูปแบบและระดับที่ควบคุมและป้องกันได้ถ้าสังคมตื่นตัวและมีการเฝ้าระวังที่ดี อินโดนีเซียที่มีความหลากหลายทางศาสนาเชื้อชาติและอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมายาวนานยังจัดการเลือกตั้งได้อย่างสงบเรียบร้อย เพราะทุกฝ่ายร่วมมือกันเต็มที่จนทำให้คนที่คิดจะใช้ความรุนแรงไม่อาจขยับทำอะไรได้ อย่าลืมว่าถึงไม่มีการเลือกตั้งสังคมไทยก็เผชิญกับความรุนแรงอยู่แล้วในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา ที่มีการปะทะกันระหว่างขบวนการประชาชน ระหว่างประชาชนกับรัฐ การสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงจนมีคนบาดเจ็บล้มตายในหลายเหตุการณ์ การวางระเบิดในที่สาธารณะจนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อและประชาชนอกสั่นขวัญแขวน การลอบสังหารผู้นำและบุคคลสำคัญฝ่ายต่าง ๆ จนไม่มีใครรู้สึกว่าชีวิตมีความปลอดภัยอีกต่อไป ต้องใส่เสื้อกันกระสุนนั่งรถหุ้มเกราะ ความรุนแรงเหล่านี้เป็นความรุนแรงที่ไร้ระเบียบทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าใด ๆ ทางการเมือง การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจะช่วยพาเราออกจากวงจรของความรุนแรงที่ไร้เหตุผลนี้

หลายคนกังวลว่าบ้านเรามีการซื้อเสียงและใช้เงินในการเลือกตั้งจำนวนมาก ทำให้การเลือกตั้งไม่สะท้อนเจตจำนงแท้จริงของประชาชนและจะยิ่งก่อปัญหามากขึ้น
ผมเคยเขียนบทความ “นิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท มายาคติและอคติของนักรัฐศาสตร์ไทย” เพื่ออธิบายว่ามายาคติที่ใหญ่ที่สุดในการเมืองไทย คือความเชื่อที่ว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นโง่ คิดเองไม่เป็น ตกอยู่ภายใต้เงินและการครอบงำเบ็ดเสร็จของนักการเมือง แล้วก็สรุปว่านี่คือมะเร็งของระบอบประชาธิปไตยไทย เชื่อว่านักการเมืองเลวบวกกับผู้เลือกตั้งในชนบทที่โลภโมโทสันและถูกหลอกทำให้การเลือกตั้งสกปรก และประชาธิปไตยไม่มีความหมาย มีนักแสดงและนักพูดที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งถึงกับเปรียบเปรยว่าผู้เลือกตั้งชนบทของไทยนั้นเป็นลิงบาบูน

นี่คือมายาคติที่ยากจะรื้อถอน และตราบใดที่ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองยังไม่เปลี่ยนความคิดนี้ สังคมไทยก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขลำบาก มีแต่จะสะสมอคติจนพอกพูนไปเรื่อย ๆ สร้างความบาดหมางร้าวลึกลงทุกที ๆ เนื่องจากไปดูถูกศักดิ์ศรีและสติปัญญาของคนในชาติเดียวกัน ช่องว่างทางความรับรู้ความเข้าใจนี้เป็นช่องว่างที่ใหญ่ที่สุดในทัศนะผม ใหญ่กว่าช่องว่างทางรายได้ที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศพูดถึงด้วยซ้ำ และเป็นช่องว่างที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยตกหล่ม ทำให้เราอยู่ในวงจรอุบาทว์เพราะชุดความคิดนี้โจมตีการเลือกตั้งอย่างสาดเสียเทเสียเกินความเป็นจริง และหันไปเห็นว่าทางลัดนอกระบบที่ไม่ต้องจัดการเลือกตั้งเป็นทางออกของสังคมไทย ผมเรียกว่านิทานเพราะไม่ได้อยู่บนความจริง เป็นการเล่าและเชื่อต่อกันมา ในขณะที่ข้อมูลจากงานวิจัยทั้งของไทยและต่างประเทศจำนวนมากในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าชนบทไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และการเลือกตั้งของไทยก็มีพลวัตใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาชนบทไทยเปลี่ยนไปด้วยกระบวนการสำคัญ ๒ ประการคือ การพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนทำให้เกิดกลุ่มชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้นในชนบท คนชนบทเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตรมากขึ้น มีรายได้มากขึ้นจนหลุดพ้นจากสภาวะความยากจน การเลื่อนฐานะความเป็นอยู่นี้นำไปสู่ความตื่นตัวทางการเมืองและทัศนคติทางการเมืองที่เปลี่ยนไป มีความต้องการใหม่ ๆ ไม่ต่างจากชนชั้นกลางในเมือง รับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ไวต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น บวกกับการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นที่ทำให้มีการเลือกตั้งโดยตรงตั้งแต่ระดับ อบต. เทศบาล อบจ. ปีละหลายครั้ง คนชนบทจึงคุ้นเคยกับการหาเสียง การต่อรองทางการเมือง และผลประโยชน์ที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมของการเลือกตั้ง เช่นถ้าคุณเลือกผู้สมัคร อบต. ที่ทำงานเก่ง ชาวบ้านพบเลยว่าคุณภาพชีวิตในตำบลพวกเขาเปลี่ยนไปมีบริการสาธารณสุขดีขึ้น ลูกหลานได้รับบริการทางการศึกษาที่ดีขึ้น ถนนหนทางดีขึ้น มีการพัฒนาแหล่งน้ำเข้ามาในหมู่บ้าน พูดง่าย ๆ ว่าประชาธิปไตยมันเดินมาหาเขา เขาเรียนรู้มันจากประสบการณ์ตรง และรู้ว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตัดสินใจทางการเมืองของเขามีความหมายจริง ๆ ข้อมูลเชิงประจักษ์จากการวิจัยในพื้นที่พบว่าการเมืองท้องถิ่นมีพลวัตมาก นายก อบต. กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์สอบตกสมัยสอง หายากมาก ๆ ที่ใครจะผูกขาดอำนาจได้ถ้าคุณไม่มีผลงานหรือเอาแต่โกงกินหาประโยชน์อย่างเดียว ถามว่านักการเมืองโกงมีไหม มีแน่นอน แต่คนเหล่านี้ถูกขจัดไป อาจจะชนะรอบแรกแต่ก็มีคนใหม่ ๆ เสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือกตลอดเวลา

ฉะนั้นมันมีพลวัต มีนักการเมืองท้องถิ่นเก่ง ๆ เยอะแยะเต็มไปหมดในทุกจังหวัดที่มีผลงานน่าทึ่งในการพัฒนาท้องถิ่นของตนคนกรุงเทพฯ ไม่เห็นสิ่งเหล่านี้เพราะสื่อนำเสนอแต่ข่าวการโกงและสนใจเฉพาะเวลานักการเมืองท้องถิ่นยิงกัน ทั้งที่จริงแล้วคนชนบทอาจจะตื่นตัวและรู้จักใช้สิทธิทางการเมืองที่ตนเองมีได้ฉลาดกว่าคนกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ เพราะเขาขาดโอกาส เขาอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบมากมานาน ฉะนั้นเขาต้องดิ้นรนเสาะแสวงหาช่องทางต่าง ๆ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้ตัวเอง เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต และการเลือกตั้งก็เป็นช่องทางหนึ่งไม่ว่าจะระดับชาติหรือท้องถิ่น ผมทำวิจัยในหลายจังหวัดยังทึ่งในวิธีคิดของพวกเขา มีการเลือกผู้สมัครจากคนละกลุ่มคนละพรรคเพื่อคานอำนาจกัน ระดับเทศบาลเลือกพรรคหนึ่ง แต่พอเป็นระดับ ส.ส. ก็เลือกอีกพรรคหนึ่ง เพื่อไม่ให้ใครผูกขาดอำนาจในพื้นที่เบ็ดเสร็จจนไม่ต้องสนใจเสียงของผู้เลือกตั้ง หรือในระดับ ส.ส. ก็มีการแบ่งคะแนนเลือกผู้สมัคร ส.ส. เขตจากพรรคหนึ่งเพราะทุ่มเททำงานหนักในพื้นที่ แต่กาบัญชีรายชื่อให้อีกพรรคหนึ่งเพราะต้องการให้พรรคนั้นที่เขาเห็นว่ามีนโยบายดีกว่าได้เป็นรัฐบาล จะเห็นว่ามีการใช้วิจารณญาณอย่างดีในการเลือก ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องดิ้นรนมากนัก เพราะไม่ว่าพรรคใดจะมาเป็นรัฐบาลหรือได้เสียงข้างมากในกรุงเทพฯ ก็ต้องมีนโยบายที่ตอบสนองชีวิตความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ไม่มีนักการเมืองคนไหนกล้าออกนโยบายทำร้ายผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ อีกทั้งคนกรุงเทพฯ ก็ส่งเสียงได้ดังกว่าใครเพื่อนผ่านสื่อมวลชนและช่องทางอีกมากมาย พวกเขาจึงไม่ต้องแคร์การเลือกตั้งเท่าไร นี่จึงเป็นเหตุอธิบายว่าทำไมคนกรุงเทพฯ ใช้สิทธิเลือกตั้งต่ำมาก ไม่ว่าจะระดับ ส.ก. ส.ข. หรือ ส.ส. ข้อมูลจากการเลือกตั้ง ๒๐ กว่าครั้งที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ จังหวัดที่คนใช้สิทธิน้อยที่สุด ครองแชมป์ถึง ๗ ครั้ง ก่อนหน้าปี ๒๕๔๐ คนกรุงเทพฯ ไปใช้สิทธิโดยเฉลี่ยต่ำกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์มาตลอด ผมจึงมองไม่เห็นว่าคนในเมืองหลวงมีความชอบธรรมอะไรที่จะไปดูถูกดูแคลนการใช้สิทธิเลือกตั้งของคนชนบท มิหนำซ้ำยังมีงานวิจัยใหม่ ๆ ที่ศึกษาพฤติกรรมเลือกตั้งของคนกรุงแล้วพบว่าคนกรุงจำนวนมากก็ตัดสินใจลงคะแนนโดยดูตัวบุคคล ไม่ได้ศึกษานโยบายลึกซึ้ง จำนวนมากเลือกตามพ่อแม่ ตามเพื่อนแนะนำ บ้างเลือกตามการชักจูงของหัวคะแนน บ้างก็เลือกตามกระแส เบื่อพรรคนี้ก็หันไปเลือกอีกพรรคหนึ่งโดยไม่เกี่ยวกับผลงาน จะเห็นว่าไม่มีพรรคไหนครองใจคนกรุงเทพฯ ได้นาน จากที่เคยนิยมประชากรไทย เปลี่ยนเป็นประชาธิปัตย์ เปลี่ยนเป็นพลังธรรม กลับไปประชาธิปัตย์ แล้วก็ไทยรักไทย แล้วก็กลับมาประชาธิปัตย์ ดังนั้นคงต้องเลิกมองอะไรเป็นขาวดำ เป็นพระเอกผู้ร้าย มันไม่มีแล้วสิ่งที่เรียกว่าสองนคราประชาธิปไตย อย่าไปมองง่าย ๆ ว่าคนกรุงฉลาด มีการศึกษาดีกว่า เลือกผู้สมัครตามนโยบาย ไม่เลือกเพราะตัวบุคคล แล้วก็ดูแคลนว่าคนชนบทโง่ให้คนอื่นจูงจมูก มันไม่มีแล้วครับนิทานอีสปแบบนี้ยิ่งเล่าต่อไปก็ยิ่งทำให้เราเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมน้อยลงเรื่อย ๆ

ในที่นี้ขอหยิบยกผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าซึ่งวิจัยพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยทั่วประเทศในการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ และ ๒๕๔๘ ทั้งสำรวจด้วยแบบสอบถามและการลงภาคสนามเก็บข้อมูลเชิงลึกในหลายจังหวัด พบว่า หนึ่ง คนไทยตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ สอง คนมีความรู้เกี่ยวกับการเมืองดีขึ้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารหลายช่องทาง สาม เกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์เห็นว่าการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ สี่ นโยบายทางการเมืองของผู้สมัครเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ประชาชนไปลงคะแนนเลือกตั้ง และประการสุดท้าย ปัจจัยที่มีอิทธิพลในการเลือกผู้สมัครมีหลายปัจจัยประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นความซื่อสัตย์ ความสามารถในการทำงาน ประสบการณ์ทางการเมือง ศักยภาพในการช่วยเหลือคนในชุมชน การให้ของกำนัลหรือเงินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แถมอยู่ในปัจจัยท้าย ๆ ที่ไม่สำคัญเท่าไร

ฉะนั้นที่พูดกันว่ามีการจ่ายเงินและรับเงินในการเลือกตั้ง มีแน่ ปฏิเสธไม่ได้ แต่เงินเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งไม่ใช่ตัวชี้ขาด มีสถิติที่ชี้ให้เห็นว่าผู้สมัครหลายรายใช้เงินมากกว่าคู่แข่ง ซื้อเสียงต่อหัวแพงกว่า กลับพ่ายแพ้ ผมพบว่าหลายพื้นที่ถ้าผู้สมัครห่างเหินพื้นที่ ไม่ขยันสร้างผลงาน เอาแต่ขนเงินไปอย่างเดียว แพ้ตลอด ดังนั้นประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่ามีการใช้เงินเข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือกตั้ง แต่เราต้องถามว่าเงินทำงานอย่างไรในการเลือกตั้งมากกว่า ทุกวันนี้ผู้สมัครคนหนึ่งจะชนะการเลือกตั้งได้ต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะกว่านั้นมาก เรื่องซื้อเสียงก็มีพลวัตในตัวมันเอง คนจำนวนมากมีคนที่ตนจะเลือกอยู่ในใจ เงินทำหน้าที่เป็นสินน้ำใจมากกว่า ทุกพรรคแจกหมด ไม่แจกจะโดนหาว่าไม่มีน้ำใจหรือขี้ตืด แต่คนรับนั้นมีการตัดสินใจเป็นของตัวเองโดยดูจากหลายองค์ประกอบ

ในความรู้สึกของคนจำนวนมาก การรับเงินผิดกฎหมายเลือกตั้งและไม่ควรแม้แต่คิดจะรับด้วยซ้ำ
ในอุดมคติ สิ่งที่คุณพูดนั้นดีที่สุด แต่ต้องอย่าลืมว่าการเลือกตั้งนั้นโดยเนื้อแท้แล้วมันคือการแลกเปลี่ยนคะแนนเสียงที่ทุกคนมีในมือกับผลประโยชน์ที่พรรคการเมืองเสนอมาให้ ซึ่งอาจจะมาในรูปของนโยบาย โครงการ หรือตัวเงิน ที่อุดมคติที่สุดคือแลกคะแนนกับนโยบาย แต่ในสังคมที่การพัฒนาเหลื่อมล้ำมาก บางครั้งคุณก็ต้องแลกมันกับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ หากเราตัดสินคนจากพฤติกรรมโดด ๆ โดยตัดขาดจากบริบทแวดล้อมรอบตัวเขาในทางเศรษฐกิจการเมือง ก็จะไม่ทำให้เราเข้าใจอะไรเลย คนกรุงเทพฯ ไม่ต้องอยู่ในสภาพขาดแคลนทางวัตถุทำให้พิจารณาถึงเรื่องอื่น แต่การที่คนชนบทสักคนหนึ่งในร้อยเอ็ดจะเลือกผู้สมัครที่เสนอว่าจะพัฒนาแหล่งน้ำหรือตัดถนนให้เขา มันเป็นเรื่องที่แสนจะเข้าใจได้ คนกรุงเทพฯ ไม่ได้มีศีลธรรมสูงส่งกว่าเพียงเพราะไม่รับเงินในการเลือกตั้ง และคนชนบทก็ไม่ได้กลายเป็นอาชญากรหรือคนใจบาปหยาบช้าเพียงเพราะรับเงินในการเลือกตั้งการประณามคนอื่นแบบนั้นมันง่ายเกินไป ในประเทศที่มีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ระหว่างเมืองกับชนบทที่เลวร้ายติดอันดับโลกอย่างสังคมไทย เราต้องเข้าใจการซื้อเสียงจากมุมเศรษฐศาสตร์การเมือง ไม่ใช่มุมศีลธรรม อย่าลืมว่าคนกรุงก็โดนชักจูงด้วยอะไรที่เป็นรูปธรรมเช่นกัน โครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ เช่นการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าที่ทุกพรรคใช้หาเสียงกับคนกรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างจากการตัดถนนในหมู่บ้านหรอก แล้วนโยบายประชานิยมในระยะหลังของทุกพรรคก็คือการแจกเงินนั่นแหละ เพียงแต่ไม่ได้แจกตอนเลือกตั้ง เส้นแบ่งระหว่างการบอกว่าไปเลือกเพราะนโยบายกับเพราะเงินจึงเริ่มเบลอ ๆ นั่นคือคนคนหนึ่งเลือกผู้สมัครโดยดูจากอะไรหลายอย่าง เราจึงไม่อาจแยกพฤติกรรมการรับเงินออกมาโดด ๆ แล้วประณามคนอื่นได้

น่าเสียดายว่าการเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี ๒๕๔๙ นั้นการแข่งขันเรื่องนโยบายถดถอยลงมากเพราะพรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอ พรรคการเมืองจำนวนมากกลับไปหาเสียงด้วยรูปแบบเก่าคือชูตัวบุคคล เสนอผลตอบแทนเฉพาะหน้า จะเห็นเลยว่ารอบนี้นโยบายแต่ละพรรคล้วนประชานิยมเหมือนกันหมด และท่ามกลางความไร้เสถียรภาพทางการเมืองทำให้แต่ละพรรคไม่มานั่งคิดเรื่องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะมัวแต่ต้องคิดว่าจะรักษาตัวรอดอย่างไรในสถานการณ์ระยะสั้นและไม่ให้ถูกล้างแค้นจากฝ่ายตรงข้าม ยิ่งพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กยิ่งไม่ต้องพูดถึง กลับไปใช้วิธีการหาเสียงแบบเก่า เสนอวิสัยทัศน์ในระดับจังหวัดหรืออย่างมากก็ระดับภาค แต่ไม่มีนโยบายระดับประเทศว่าจะผลักดันประเทศไปในทิศทางใด เพราะเป้าหมายสำคัญสุดคือให้ได้เสียงในพื้นที่ตัวเอง ๑๐-๒๐ เสียงก็พอต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาลได้แล้ว โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ จึงมีผลในทางอ้อมให้เกิดการคอร์รัปชันในรูปแบบบุฟเฟต์คาบิเนตแบบเก่า ๆ

รัฐบาลหลังเลือกตั้งควรทำอะไรเป็นภารกิจแรก
ไม่ว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลก็คงลำบาก โจทย์จะยากมาก คนเป็นนายกรัฐมนตรีจะเปลืองตัวเพราะปัญหามากมายเหลือเกิน ทั้งปัญหาข้าวยากหมากแพง ปัญหาความมั่นคง ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนอื่นคือการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ถ้าไม่มีสิ่งนี้ก็ยากจะแก้ปัญหาอื่นได้ลุล่วง ที่ผ่านมาเราสนใจเรื่องนี้น้อยเกินไป รัฐบาลที่บริหารประเทศได้มีประสิทธิภาพต้องมีเสถียรภาพทางการเมืองก่อน จะสร้างเสถียรภาพได้ก็ต้องดึงตัวละครทุกฝ่ายเข้ามาเจรจา ต้องปรับระบอบการเมือง และต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองที่ผนวกคนทุกกลุ่มเข้ามาเป็นหุ้นส่วนอำนาจ ไม่ใช่ปิดพื้นที่การเมืองแล้วกีดกันคนออกไป เหลือแต่กลุ่มผลประโยชน์แคบ ๆ ไม่กี่กลุ่ม มันต้องมีคนเสียอำนาจไปบ้างในกระบวนการต่อรองทางการเมือง เพราะถ้าไม่มีใครยอมเสียอะไรเลยเราก็ต้องห้ำหั่นกันอย่างนี้ต่อไปไม่รู้จบ

โจทย์อีกประการที่สำคัญมากคือจะสะสางเหตุการณ์รุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่างไร การค้นหาความจริงและการสถาปนาความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสียจะทำอย่างไร ที่ละเลยไม่ได้คือการปฏิรูประบบยุติธรรมให้คนรู้สึกเสมอภาคทางกฎหมาย ถ้าคนยังเชื่อว่าสังคมนี้ไม่เสมอภาคทางกฎหมายก็ยากจะเกิดความสงบ จะทำเรื่องนี้ต้องดำเนินแนวทางปรองดองและยึดหลักนิติรัฐ ถ้าไล่ล่าอีกฝ่ายเรื่องจะไม่จบ รัฐบาลหลังเลือกตั้งต้องทำความจริงและความยุติธรรมให้ปรากฏ การนิรโทษกรรมไม่ควรทำแบบเหวี่ยงแหต้องทำสำหรับผู้บริสุทธิ์จำนวนหนึ่งในคดีการเมือง และคดีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนคดีอาญาต้องว่าไปตามกระบวนการ บทเรียนทั่วโลกบอกเราว่าการเหวี่ยงแหนิรโทษกรรมไม่ใช่การปรองดองที่แท้จริง เพราะจะสร้างวัฒนธรรมแห่งการลอยนวลที่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับความผิดที่ก่อขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุกับประชาชนและผู้ชุมนุมไม่ว่ากลุ่มใดที่ใช้ความรุนแรงจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ความยุติธรรมที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ใช่ความยุติธรรมของผู้ชนะ ที่ผ่านมาการสร้างความยุติธรรมในสังคมไทยเป็นศูนย์มาตลอดทั้งที่ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ ๆ มาหลายครั้ง เทียบกับสังคมอื่นเรามีสถิติแย่มาก ประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศเขายังนำตัวอดีตผู้นำมาลงโทษได้ หรือมีกระบวนการแสวงหาความจริงที่รอบด้าน แต่ของเราไม่มีเลยตั้งแต่เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ พ้นจากประเด็นเหล่านี้โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้ชนชั้นนำนอกระบบเลือกตั้งยอมเล่นตามกติกา ตราบใดที่สองศูนย์อำนาจเผชิญหน้ากันหลังเลือกตั้งความวุ่นวายก็จะไม่จบลงแน่นอน

เป็นเรื่องปรกติหรือไม่ที่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยต้องผ่านช่วงเวลายากลำบากและความรุนแรงเช่นนี้
ประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยมั่นคงแล้วจะไม่เกิดความวุ่นวายแบบนี้ เวลานี้หลายคนอาจตั้งคำถามกับระบอบประชาธิปไตยว่ามาพร้อมกับภาวะไร้เสถียรภาพ แต่จริง ๆ แล้วประชาธิปไตยก็เอื้ออำนวยให้เกิดเสถียรภาพได้ และเป็น “เสถียรภาพในระยะยาว” กว่าระบอบเผด็จการเพราะเคารพสิทธิพลเมือง ในประเทศที่คล้ายเราคือมีรัฐบาลผสมอย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น การเมืองมั่นคงเพราะทุกคนเล่นตามกติกา ระบบนี้ไม่มีผู้แพ้และผู้ชนะตลอดกาล เทียบกับหลายประเทศที่เป็นเผด็จการดูภายนอกมั่นคงแต่จริง ๆ ไม่ยั่งยืนเพราะมันกดคนทั้งสังคมเอาไว้มีแต่รอวันระเบิด เห็นได้ชัดคือประเทศในตะวันออกกลางซึ่งผู้นำครองอำนาจมายาวนานล้มติดต่อกันเป็นโดมิโนอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ กระแสโลกยุคปัจจุบันไม่มีผู้กุมอำนาจคนใดปิดกั้นพลังของคนนับล้านในประเทศได้นาน สงครามกลางเมืองมักเกิดในประเทศเผด็จการมากกว่าประเทศประชาธิปไตยเพราะประชาธิปไตยยอมให้พื้นที่คนทุกกลุ่มส่งเสียงบอกกล่าวความทุกข์ร้อนได้ภายใต้กติกาที่ยอมรับร่วมกัน ประชาธิปไตยมันจึงไม่เรียบร้อยหรอก มันอึกทึกครึกโครม มันร้อน ๆ หนาว ๆ แต่มันจะไม่มีระเบิดนิวเคลียร์

ที่ผ่านมาสังคมไทยเก่งในการสร้างปมปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่าแก้ปัญหา คนจำนวนมากพยายามหาทางออกนอกกติกา พยายามหาทางลัด แต่จริง ๆ แล้วทางลัดนั้นไม่มีหรอก มีแต่ลัดออกไปเพื่อไปเจอทางตัน บางทีผมอยากให้สังคมไทยลองกลับมาใช้วิธีง่าย ๆ ไม่ต้องพิสดาร แก้ปัญหาเหมือนนานาอารยประเทศคือตัดสินกันที่การกลับไปหาประชาชน ให้คนทั้งประเทศแสดงเจตจำนงว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรผ่านการเลือกตั้ง แล้วก็ยอมรับการตัดสินใจของประชาชน การรวมกลุ่มกดดันทางการเมืองยังคงทำได้ภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในระยะยาว ประชาธิปไตยที่มั่นคงจะลดความรุนแรงทางการเมืองเพราะมีพื้นที่มากมายให้คนกลุ่มต่าง ๆ ถ้าปิดพื้นที่เหล่านี้คนจะหันไปใช้วิธีนอกกติกา คิดดูดี ๆ ว่าเป้าหมายประการหนึ่งของความรุนแรงไม่ว่าจะโดยกลุ่มกบฏหรือขบวนการก่อการร้ายคืออะไร มันก็คือการส่งเสียงของคนกลุ่มหนึ่งว่าพวกเขาคิดอย่างไร เช่นการขับเครื่องบินไปชนตึกเพื่อจะบอกว่าไม่ชอบพฤติกรรมของสหรัฐอเมริกา แต่มันเป็นการส่งเสียงที่มีราคาแพงและคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น สู้หาทางให้คนได้ระบายความทุกข์ร้อนแบบสันติบนพื้นที่สาธารณะอย่างเปิดเผยไม่ดีกว่าหรือ สถานการณ์ของไทยตอนนี้มีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงได้ง่ายเพราะพื้นที่ทางการเมืองโดนปิดไปเรื่อย ๆ

ผมเกรงว่าจะมีชนชั้นนำบางส่วนที่คิดง่าย ๆ ว่าเพื่อประคองให้สังคมผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ได้อย่างราบรื่นต้องมีประชาธิปไตยให้น้อยที่สุด ซึ่งแนวทางนี้ผิดอย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้าม การประคองสังคมไทยในภาวะนี้ต้องเปิดพื้นที่ประชาธิปไตยให้มากเพื่อไม่ให้คนลงไปใต้ดิน ถ้าเกิดรัฐประหารจะยิ่งทำให้การเมืองกระเพื่อมเพราะเท่ากับบอกคนทั้งสังคมว่าแม้แต่สถาบันรัฐสภาก็โดนปิดกั้น ระบอบเลือกตั้งก็โดนขวาง แรงกระเพื่อมจะแรงถึงระดับที่กลายเป็นสึนามิทางการเมืองได้ กระแสตะวันออกกลางภิวัตน์ในสังคมไทยจะมาเร็วและแรงกว่าที่ควรจะเป็น และกองทัพก็จะคุมไม่อยู่

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ควรทำอย่างไร
ออกไปเลือกตั้งให้มากที่สุด ไม่ว่าคุณจะชอบพรรคใด กลุ่มการเมืองไหน สีอะไร เพราะนี่คือช่องทางที่จะบอกว่าสังคมไทยยังหาทางออกร่วมกันได้อย่างสันติผ่านระบอบประชาธิปไตย เราไม่รู้หรอกว่าจะมีการยึดอำนาจหรือล้มการเลือกตั้งด้วยเครื่องมือพิสดารต่าง ๆ หรือไม่ แต่การออกไปเลือกตั้งให้มากที่สุด ยิ่งเกิน ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ได้ยิ่งดี เท่ากับส่งสัญญาณที่หนักแน่นว่าสังคมไทยต้องการแก้ปัญหาด้วยวิถีทางในระบอบประชาธิปไตย และทำให้คนที่คิดจะล้มกระดานต้องคิดหนัก ยิ่งใช้สิทธิเลือกตั้งมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้รัฐบาลชุดใหม่มีความชอบธรรมมากขึ้นเท่านั้นเพราะมีฐานอ้างอิงกับเสียงส่วนใหญ่ ฉะนั้นถ้าอยากได้พรรคใดเป็นรัฐบาลก็ขอให้เทคะแนนเสียงให้ชัดเจน จะช่วยลดปัญหาความวุ่นวายในการจัดตั้งรัฐบาล ป้องกันการแทรกแซงจากอำนาจพิเศษ แต่อยากฝากให้ทำใจด้วยว่าพรรคที่ตัวเองเลือกอาจจะแพ้ซึ่งถ้าแพ้ก็ควรยอมรับผล ครั้งหน้าเอาใหม่ มองการเลือกตั้งให้เป็นเรื่องของการเมืองที่ผลัดกันแพ้ชนะ ผมชอบใจคำพูดของนักเขียนไนจีเรียคนหนึ่งที่ออกมาพูดกับคนในชาติตัวเองก่อนการเลือกตั้งว่า ไม่ว่าฝ่ายไหนจะแพ้ อย่าทำให้ประเทศแพ้ไปด้วย เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจากกลุ่มใด จะฉุดสังคมไทยลงสู่ห้วงเหว ความข้อนี้อยากจะฝากถึงผู้กุมอำนาจประเทศไทยด้วยว่าไม่ควรแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ เพราะมันล้าสมัยและไม่ได้ผลแล้ว ควรเคารพการตัดสินใจของประชาชนถ้าผลการเลือกตั้งออกมาในทิศทางตรงข้ามกับที่คาดหวัง และเรียนรู้ที่จะอยู่กับรัฐบาลที่ตนเองอาจจะไม่ชอบใจ เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวที่คนไทยทุกคนจะไม่ต้องพ่ายแพ้ไปด้วยกัน

ขอขอบคุณ : คุณวิรพา อังกูรทัศนียรัตน์, คุณวรุณพร พูพงศ์