เรื่อง : ฐิตินันท์ ศรีสถิต

 


ภาพ : www.seanursery.com
  • โดยธรรมชาติ กาแฟเป็นพืชที่เติบโตดีภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ทว่าความต้องการผลผลิตที่เพิ่มขึ้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว เมื่อเจ้าของไร่จำนวนไม่น้อยหันมาปลูกกาแฟกลางแสงแดดในพื้นที่เปิดโล่งซึ่งตัดโค่นต้นไม้ออกทั้งหมด แทนที่จะปลูกกาแฟปะปนกับต้นไม้ใหญ่เช่นเดิม เพราะมันเติบโตเร็วกว่าการปลูกใต้ร่มเงา ผลกระทบลูกโซ่ที่ตามมาจากการหายไปของผืนป่ามากกว่า ๑ หมื่น ตารางกิโลเมตรในแถบอเมริกากลาง คือการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพครั้งใหญ่ของโลก
  • ข้อมูลจาก WWF ระบุว่า ในบรรดา ๕๐ ประเทศทั่วโลกที่มีอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าสูงสุดช่วงปี ค.ศ. ๑๙๙๐-๑๙๙๕ มีมากถึง ๓๗ ประเทศที่เป็นผลมาจากการทำไร่กาแฟ
  • ในไร่กาแฟใต้ร่มเงา ใบไม้ที่ร่วงหล่นจะทับถมและย่อยสลายกลายเป็นธาตุอาหารชั้นดีสำหรับต้นกาแฟ แต่กระบวนการนี้ ไม่เกิดขึ้นในไร่กาแฟกลางแสงแดด การใส่ปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะไนโตรเจนเพื่อบำรุงดินและกระตุ้นการเติบโตของต้นกาแฟจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
  • ไร่กาแฟกลางแสงแดดขาดแคลนความหลากหลายของพืชและสัตว์ รวมถึงจุลินทรีย์ เล็กๆ ในดินซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติช่วยควบคุมสมดุลทางนิเวศ จึงต้องพึ่งพาสารเคมีจำนวนมากในการป้องกันโรคและกำจัดแมลงศัตรูพืช นี่ไม่เพียงเป็นภาระต้นทุนที่เจ้าของไร่กาแฟต้องแบกรับ แต่ความเป็นพิษของมันยังแทรกซึมเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่อไปอีกนาน
  • ใช่ว่าการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาจะไม่มีผลกระทบเอาเสียเลย มันรบกวนธรรมชาติของผืนป่าเดิมอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการทำไร่กาแฟกลางแสงแดด ผืนดินที่มีต้นไม้อื่นขึ้นปะปนและปกคลุมด้วยเศษใบไม้ในไร่กาแฟแบบดั้งเดิมกักเก็บความชุ่มชื้นได้มากกว่า เอื้อต่อการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดินมากกว่า และมีอัตราการชะล้างพังทลายของหน้าดินน้อยกว่าผืนดินเปลือย
  • เรือนยอดของต้นไม้หลายระดับความสูงในไร่กาแฟใต้ร่มเงาเป็นแหล่งพักพิงสำคัญของนกนานาชนิด อาหารของพวกมันไม่ใช่ผลกาแฟ แต่เป็นน้ำหวานของดอกไม้ ลูกไม้อื่นๆ รวมถึงแมลงและหนอนที่อยู่ในระบบนิเวศขนาดย่อมนี้ ยิ่งมีต้นไม้มากชนิด ยิ่งดึงดูดให้นกหลายสายพันธุ์เข้ามาอาศัยและใช้ประโยชน์
  • ขั้นตอนหลังเก็บเกี่ยวจนถึงการคั่วจนออกมาเป็นเมล็ดกาแฟแห้ง ๑ ตัน ต้องใช้น้ำในปริมาณเฉลี่ย ๒๐,๙๘๗ ลูกบาศก์เมตร และเพื่อให้ได้กาแฟ ๑ ถ้วย ต้องใช้น้ำประมาณ ๑๔๐ ลิตร
  • ไร่กาแฟในประเทศยูกันดาอาจถึงคราวล่มสลายเพราะโลกร้อน สัญญาณเตือนปรากฏขึ้นตั้งแต่ประมาณ ๔-๕ ปีที่แล้ว จากภาวะแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรง ฤดูฝนที่มาถึงเร็วขึ้นแต่มีฝนตกแค่ช่วงสั้นๆ บวกกับการรับแสงอาทิตย์ที่มากเกินไป ทำให้เมล็ดกาแฟมีขนาดเล็ก ทั้งยังกระทบถึงปริมาณและคุณภาพของผลผลิต คาดการณ์กันว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของชั้นบรรยากาศสูงขึ้นอีก ๒ องศาเซลเซียส พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟของที่นี่จะลดลงเหลือเพียง ๑ ใน ๑๐ ของปัจจุบัน และอาจหมดไปภายใน ๒๐-๓๐ ปีข้างหน้า ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเคนยาและแทนซาเนียก็มีสิทธิ์ได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน
ลดแลกแจกแถม
  • พกแก้วหรือกระติกไปซื้อกาแฟสดที่ชงใหม่จากร้านค้า เพื่อลดการใช้แก้วกระดาษหรือแก้วพลาสติกที่มีอายุการใช้งานสั้น

จากภาพลำดับตามเข็มนาฬิกา (1) สัญลักษณ์รับรองการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาของศูนย์นกอพยพแห่งสมิทโซเนียน (Smithsonian Migratory Bird Center), (2) สัญลักษณ์รับรองผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements-IFOAM), (3) สัญลักษณ์รับรองการค้าที่เป็นธรรมของฝั่งอเมริกา, (4) สัญลักษณ์รับรองการค้าที่เป็นธรรมของฝั่งอังกฤษ
  • เลือกซื้อกาแฟไปชงเอง โดยเฉพาะกาแฟที่นำเข้าจากต่างประเทศ ลองมองหาสัญลักษณ์รับรอง “การค้าที่เป็นธรรม” “ผลผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์” หรือ “ปลูกภายใต้ร่มเงา”
  • แต่จะให้เยี่ยม อุดหนุนกาแฟที่ปลูกในบ้านเราดีกว่า เดี๋ยวนี้ไร่กาแฟบางแห่งในประเทศไทยหันมาปลูกกาแฟแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกันแล้วนะ ไม่ต้องขนส่งไกล แถมเงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ…มีทั้งอาราบิกาและโรบัสตาให้เลือกตามอัธยาศัย

ที่มา :
http://www.panda.org/what_we_do/footprint/agriculture/coffee/
http://www.news.nationalgeographic.com/news/2007/07/070724-uganda-coffee.html
http://www.ico.org/coffee_story.asp
http://www.coffeehabitat.com