ปี พ.ศ.๒๕๐๐
นายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรไทย คือ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขณะนั้นกำลังจะอายุ ๖๐ การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ถูกหนังสือพิมพ์รุมประณามว่าเป็นการเลือกตั้งที่ “สกปรก” ที่สุดในประวัติศาสตร์ เต็มไปด้วยการฉ้อฉลคดโกงทุกรูปแบบ
ท่านจอมพลแก้ต่างว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเลือกตั้งที่ “ไม่เรียบร้อย” พร้อมยกถ้อยคำของนายบิชอป (Max Waldo Schmidt Bishop)เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทย ที่เล่าให้ตนฟังว่า แม้แต่การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาก็ยังมีเหตุ “ไม่เรียบร้อย”เกิดขึ้นได้เหมือนกัน เช่นการแย่งชิงหีบบัตรเลือกตั้งที่ชิคาโก
คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ประชดท่านนายกฯ ในข้อเขียนขนาดสั้นของเขาว่า
“มันช่างสั่งช่างสอนกันดีจริงวะ เพราะคบกุ๊ยมะริกันยังงี้นี่เองถึงได้มาเสียคน มี ‘ชื่อเสียงที่ไม่เรียบร้อย’ เอาเมื่อตอนแก่จะเข้าโลง”
คำว่า “กุ๊ยมะริกัน” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของคดีอาญาด้วยข้อหาหมิ่นประมาทและดูหมิ่นผู้แทนของรัฐต่างประเทศ
ในห้องพิจารณาคดีวันนั้น มีผู้สนใจเข้าฟังอย่างเนืองแน่น ทั้งประชาชน นักศึกษา และนักข่าว
มีคนจำได้ว่านอกจากนักข่าวไทยแล้ว ยังมีนักข่าวต่างประเทศ ทั้งจาก อาซาฮีชิมบุน ของญี่ปุ่น ลอนดอนไทม์ ของอังกฤษ และผู้แทน นิวยอร์กไทมส์จากสหรัฐฯ
เสียงจ้อกแจ้กเงียบลงเมื่อผู้พิพากษาขึ้นนั่งบัลลังก์
นายตำรวจที่เป็นผู้ว่าคดีฝ่ายโจทก์ซักขึ้นเบาๆ แต่ได้ยินไปทั่วห้อง
“จำเลยเกิดที่ไหน ?” เพียงคำตอบแรกของนักหนังสือพิมพ์หนุ่มใหญ่เรียกเสียงฮาครืนทั่วห้องพิจารณาคดี
“ผมเกิดกลางแม่น้ำครับ”เขาตอบเสียงเรียบๆ
พระองค์เจ้าคำรบกับหม่อมแดงถ่ายภาพร่วมกับบุตรธิดาทุกคน
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สวมชุดกะลาสี นั่งหน้า
(ภาพ : หนังสือ โครงกระดูกในตู้)
คุณชาย
เช้าวันนั้น หากว่ามีเทวดาตนใดตื่นแต่เช้าตรู่แล้วเกิดกำหนดนึกขึ้นมาได้ว่าไม่มีอะไรจะทำ ตัดสินใจลองเหาะเหินเดินอากาศจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปทางเหนือของพระมหานคร โดยมิพักต้องกังวลว่าจะถูกเครื่องบินชน เพราะของอย่างว่านั้นลำแรกของโลกเพิ่งบินขึ้นพ้นพื้นดินมาได้เมื่อไม่กี่วันก่อน
หากเทวดาตนนั้นเหาะทวนกระแสแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่เบื่อหน่ายต่อภูมิประเทศที่ไม่มีอะไรจะดูเกินไปกว่าไร่นา บ้านเรือน วัด และฝูงควายประมาณหนึ่งร้อยเจ็ดสิบหรือหนึ่งร้อยแปดสิบกิโลเมตรด้วยระยะทางที่เทวดาเหาะ เทวดาตนนั้นจะมองเห็นวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดเคี้ยว ตรงหาดทรายริมตลิ่ง มีเรือจอดเทียบอยู่หลายลำ-ก็แค่นั้น ! ว่าแล้วเทวดาก็คงเหาะผ่านเลยไป เพราะดูๆ ก็ไม่มีอะไรต่างไปจากที่เห็นมาแล้วตลอดทาง
เทวดาตนนั้นจะเหาะต่อไปถึงไหนก็ไม่มีใครรู้ แต่เบื้องล่าง ในเรือที่จอดอยู่ใกล้วัดเสือข้าม ตำบลชีน้ำร้าย อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี บังเอิญมีเด็กทารกหัวโต หูกาง คลอดออกมาพอดี
มีคนจดไว้ว่า เวลาตกฟากของเขาคือโมงเช้ายี่สิบนาที (๐๗.๒๐ น.) วันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๔ ปีที่สองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรามหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
นายพันเอก พระองค์เจ้าคำรบ เพิ่งรับตำแหน่งแม่ทัพกองทัพที่ ๒ มณฑลพิษณุโลก ระหว่างทางขบวนเรือบรรทุกข้าวของและครอบครัวแวะจอดที่หาดทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถบเมืองอินทร์บุรี และหม่อมแดง ชายาในพระองค์เจ้าคำรบได้ให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง เป็นลูกคนที่ ๖ และลูกชายคนที่ ๓
สี่เดือนต่อมา สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชมารดาในรัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ที่มณฑลพิษณุโลก พระองค์เจ้าคำรบทรงนำพระโอรสองค์น้อยขึ้นถวายตัวและขอพระราชทานนาม
สมเด็จฯ ทรงอุ้มเด็กชายไว้ในวงพระกร เขาเอาแต่ร้องไห้หัวฟัดหัวเหวี่ยง ดิ้นชกไม้ชกมือไปมา ทรงเห็นขัน จึงตรัสว่า “อ้ายคนนี้ฤทธิ์มากนัก ! ให้มันชื่อ ‘คึกฤทธิ์’ เถอะ”
เขาจึงเป็นคนไทยคนแรกที่ใช้ชื่อนั้น
และจนถึงเดี๋ยวนี้ หากเรารู้จักใครที่ใช้ชื่อนี้อีก ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือบรรพชิต ย่อมรู้ได้ว่า ตั้งชื่อตาม หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่นเอง
ธรรมเนียมโบราณ คนที่จะเรียกนำหน้าชื่อว่า “คุณ” ได้ถ้าไม่ใช่ลูกขุนน้ำขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ก็ต้องเป็นหม่อมราชวงศ์ บางครั้งอาจระบุเพศไปด้วย ว่าเป็นหญิงหรือชาย ดังหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์นี้ หากเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการแล้วคนทั่วไปมักเรียกกันว่า “คุณชายคึกฤทธิ์”
คุณชายโตมากับพี่สาวคนใหญ่ คือ ม.ร.ว. บุญรับผู้ซึ่งเลี้ยงดูเขามาเหมือนลูก พี่คนนี้คือครูคนแรกที่สอนหนังสือไทยให้
การสอนของ ม.ร.ว. บุญรับ เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปในยุคนั้น คือครูใช้ไม้ก้านธูปชี้ตัวอักษรในหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ให้นักเรียนหัดอ่าน อ่านกันไป ฟาดกันไปจนน้ำตาของน้องเล็กหยดลงไปละลายสีก้านธูป ย้อมหน้ากระดาษทั้งเล่มให้กลายเป็นสีชมพู
โตขึ้นอีกหน่อยเขาถูกส่งเข้าเรียนภาคบังคับในโรงเรียนกุลสตรีวังหลังของแหม่มโคล์ (Miss Edna Sarah Cole) ที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด คุณชายจำได้ว่า ไม่ค่อยได้เรียนอะไรมากนัก เพราะอ่านออกเขียนได้อยู่แล้ว แต่วิชาสำคัญที่จะติดตัวไปจนตลอดชีวิต คือการถักไหมพรม ซึ่ง “เป็นวิชาที่ทำให้อบอุ่นอยู่เสมอ”
จากที่นั่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แต่ยังไม่ทันจบมัธยม ๘ ก็ถูกส่งตัวไปประเทศอังกฤษตามธรรมเนียมของลูกเจ้าลูกนายยุคนั้น และตามหลังพี่ชายสองคน คือ ม.ร.ว.เสนีย์ และ ม.ร.ว. ถ้วนเท่านึก ปราโมช ที่เดินทางไปเรียนก่อนหน้า
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สมัยเรียนหนังสือที่อังกฤษ (ภาพ : หนังสือ คึกฤทธิ์ ๖๐)
คุณชายคึกฤทธิ์ กับคุณหญิงพักตร์พริ้ง (ภาพ : หนังสือ คึกฤทธิ์ ๖๐)
หม่อมแบงก์
หลังจากชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่วิทยาลัยเทรนต์ เขาเข้าเรียนต่อที่ควีนส์คอลเลจ ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฝอร์ด เอ็ม อาร์ คูกริด (ตามสำเนียงฝรั่ง) เลือกเรียนปริญญาตรีในสาขา Modern Greats ซึ่งต้องเรียนวิชาหลัก ๓ วิชา อันได้แก่ ปรัชญา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์
เขาเคยถามโปรเฟสเซอร์ในสำนักนั้นระหว่างนั่งดื่มเบียร์กันในผับตามธรรมเนียมนักเรียนอังกฤษ ว่าไอเรียนวิชาอย่างนี้ จบไปแล้วจะทำมาหากินอะไรได้ละหรือ ท่านอาจารย์กรุณาตอบว่า จบแล้วไปเป็นอุปราชอินเดีย (Viceroy) ก็ยังไหว
เลื่องลือกันในหมู่เพื่อนนักเรียนไทยร่วมรุ่นว่าคุณชายเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องอย่างยิ่ง สอบได้คะแนนดีเกินหน้าเด็กฝรั่งในชั้นเรียนทุกครั้ง พูดกันถึงขนาดว่าเขามี Photographic Memory คือจดจำหนังสือที่อ่านไปแล้วได้เหมือนถ่ายรูปเก็บเข้าในสมอง
แต่เมื่อคุณชายกลับบ้านเมืองไทยพร้อมปริญญาตรีเกียรตินิยมในปี พ.ศ.๒๔๗๘
เป็นหนุ่มหล่อ สูงโปร่ง สมาร์ต วัย ๒๔ ปี
สยามก็ไม่ใช่ประเทศที่เขาเคยรู้จักเมื่อวัยเด็กอีกต่อไป
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ คณะราษฎรยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย และหม่อมแดง ปราโมช มารดาของเขาถึงแก่กรรมไปนานแล้ว แต่ทางบ้านไม่เคยบอกให้ทราบ เพราะกลัวเสียกำลังใจในการเล่าเรียน
ก่อนหน้านี้ โอกาสความก้าวหน้าในชีวิตของคนที่มีฐานะเช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ย่อมต้องมาจากการรับราชการ เพื่อเป็น “เจ้าคนนายคน” แต่ในสยามยุคใหม่ เชื้อพระวงศ์กลายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ในวงราชการ หลังจากรับราชการในกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ช่วงสั้นๆ เขาลาออกไปทำงานกับแบงก์สยามกัมมาจล(ต่อเมื่อสยามเปลื่ยนชื่อเป็นประเทศไทย ธนาคารนี้จึงมีชื่อใหม่ว่าธนาคารไทยพาณิชย์) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการชาวไทยคนแรกประจำสาขาลำปาง
ลำปางในปลายสุดของทศวรรษ ๒๔๗๐ คือศูนย์กลางการค้าของภาคเหนือ เป็นเสมือนอีกโลกหนึ่ง อีกประเทศหนึ่ง ป่ายังอุดมด้วยไม้สัก ในเมืองก็ขวักไขว่ไปด้วยนายห้างฝรั่งหลายชาติหลายภาษาที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้ หมอสอนศาสนา สาวลูกครึ่ง คนงานสารพัดเผ่า เจ้านายฝ่ายเหนือ พ่อค้าพม่า จีน ไทใหญ่ และ “พ่อเลี้ยง” ฝิ่นเถื่อน
สำนักงานลำปางของสยามกัมมาจลเป็นบ้านตึกแบบฝรั่งสองชั้นใหญ่โตอยู่นอกเมือง
ชั้นล่างใช้เป็นออฟฟิซธนาคาร ส่วนชั้นบนคือที่พำนักของผู้จัดการและครอบครัว
คุณชายคึกฤทธิ์พบภรรยาของเขาตั้งแต่ก่อนขึ้นมาลำปาง เขาเล่าว่า เจอเธอครั้งแรกตอนรถยนต์กำลังติดไฟแดง
เผอิญหันไปเห็นรูปถ่ายที่ขยายติดไว้หน้าร้านถ่ายรูป
เห็นครั้งแรกก็รัก หนที่สองก็รัก
ผ่านมาเห็นอยู่ทุกวันก็รักมากขึ้นทุกที
ม.ร.ว.พักตร์พริ้ง ธิดาหม่อมเจ้าทองฑีฆายุ ทองใหญ่ เป็นคนงามสมชื่อ หม่อมมารดาของเธอเป็นผู้ดีเก่าชาวรัสเซีย
และสาวลูกครึ่งคนนี้คือหนึ่งในสาวสวยที่สุดของกรุงเทพฯ ยุคนั้น
เมื่อรู้ว่าเธอคือใคร คุณชายจึงบุกไปทำความรู้จักมักคุ้นถึงวัง แล้วออกปากฝากรัก ทั้งคู่แต่งงานกันหลังจากนั้นไม่นาน ขณะนั้นเธออายุ ๒๐ ปี แล้วคุณหญิงพักตร์พริ้งก็ตาม “พี่ชาย” ที่เธอเรียกว่า “จิ๊ลิขา” ขึ้นไปนครลำปางด้วย
ช่วงชีวิตตอนนั้นเป็นเวลาแห่งวันชื่นคืนสุข คุณหญิงรับหน้าที่แม่บ้านเต็มตัว อุทิศเวลาทั้งหมดให้แก่ครอบครัว
ลูกชายหญิงทั้งสองคน คือ ม.ล.รองฤทธิ์ และ ม.ล.วิสุมิตรา ก็เกิดที่ลำปาง
เมื่อเวลาล่วงเลยมาอีกเกือบ ๗๐ ปี มีผู้ถามว่าถ้าพูดถึงคุณชายคึกฤทธิ์ คุณหญิงจะนึกถึงอะไร สิ่งแรกที่ผุดขึ้นในใจเธอ คือชีวิตที่ลำปาง
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นผู้จัดการแบงก์ที่ลำปางนานถึง ๖ ปี จน “อู้กำเมือง” ได้คล่อง สนิทสนมกับผู้คนทุกระดับ เรียกว่าจะพบ “หม่อมแบงก์” ได้ทั้งในงานคริสต์มาสที่คลับเฮ้าส์ของนายห้างฝรั่ง และในวงเหล้า ๒๘ ดีกรีช่วงวันสงกรานต์
ความ “กว้างขวาง” ของคุณชายอยู่ในระดับที่ว่า เมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นให้ได้ยินในค่ำคืนอันสงัดของลำปาง ถึงตอนเช้า ผู้จัดการตื่นขึ้นมา ถามว่าเมื่อคืนใครถูกยิง
ลูกน้องจะตอบว่า “คนของคุณชาย”
“แล้วใครยิง ?”
“คนของคุณชาย !”
หาเสียงที่เสาชิงช้า สมัยเริ่มเล่นการเมือง
(ภาพ : หนังสือ คึกฤทธิ์ ๖๐)
ท่านผู้อำนวยการฯ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งต่อวงสังคมชาวกรุงเมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในฐานะหนุ่มนักเรียนนอก นักการธนาคาร และนักพูดฝีปากกล้า (บางคนอาจเรียกว่า “ปากตะไกร”)เขากลับลงมารับราชการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพักหนึ่ง ก่อนตัดสินใจลาออกแล้วกระโจนเข้าสู่วงการเมืองเต็มตัว ร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แถมบางครั้งยังได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
สิ่งที่สร้างชื่อให้แก่คุณชายมากคือการลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ เพื่อประท้วงการที่สภาฯ ลงมติให้ผ่านร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ซึ่งขึ้นเงินเดือนให้แก่ ส.ส. โดยไม่มีเหตุอันควร กรณียกิจนี้ก่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ประชาชนมาก ถึงขนาดวันรุ่งขึ้นมีคนแห่กันมาหาถึงบ้าน บางคนถึงแก่มาขอปิดทอง แม้ทีแรกเขาจะบ่ายเบี่ยง อ้างว่าไม่ใช่ “หลวงพ่อโต” แต่สุดท้ายก็เสียอ้อนวอนไม่ได้
ทว่า หลังจากนั้นไม่นานเขากลับรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนจะลาออกมาอีกครั้งในเวลาไม่กี่วันต่อมา คราวนี้เขาให้คำอธิบายว่า ที่ยอมเข้าไปเป็นรัฐมนตรีนั้น ก็ด้วยหวังจะก่อความปั่นป่วนให้แก่รัฐบาลจนต้องยุบสภา แต่ทำไม่สำเร็จ
แต่แล้ว ชีวิตของนักการเมืองหนุ่มหน้าใหม่กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ เมื่อคุณหญิงพักตร์พริ้งขอแยกทางกับเขา อีกหลายสิบปีต่อมา เธอกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“หลังสงครามคุณชายตกต่ำมาก ไม่มีทั้งงาน ไม่มีทั้งเงิน ไม่มีทั้งบ้าน…ดิฉันเองมาจากครอบครัวที่อบอุ่นแน่นแฟ้น แต่งงานมาต้องอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ย้ายบ้าน ไม่ค่อยได้อยู่กับสามี เงินก็ไม่มี แล้วสามีก็เล่นการเมือง ซึ่งดิฉันไม่เห็นด้วย อย่างนี้ต้องแยกทางกัน…”
จากนั้นมาจนตลอดชีวิต เขาไม่เคยสนใจผู้หญิงคนไหนอีกเลย
หลังจากอยู่บนเวทีการเมืองมาได้ ๔ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๓ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์กลับตัดสินใจหันไปเล่นการเมืองนอกสภาแทน
ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ เขาเข้าบรรพชาอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับฉายา “ปาโมชฺชากโรภิกขุ” ซึ่งเจ้าตัวแปลว่า “ขอทานผู้ทำให้เกิดความรื่นเริงเอิ๊กอ๊ากทั่วๆ ไป” หลังจากลาสิกขาแล้วเขากับ สละ ลิขิตกุล เพื่อนนักหนังสือพิมพ์ร่วมกันก่อตั้งหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ขึ้น
ความตั้งใจแต่แรกของคุณชาย คือการสร้างหนังสือพิมพ์ที่ “ไม่เป็นพวกใครทั้งนั้น” นำเสนอข่าวตามความเป็นจริง ไม่ใส่สีใส่ไข่ ไม่ต้องแสดงความคิดเห็น รวมทั้งไม่ขายข้อความพาดหัวที่หวือหวา เรียกง่ายๆ คือหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ
สยามรัฐ ฉบับแรกออกวางตลาดในวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๓
และด้วยเหตุที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในฐานะนายทุนและผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ มีภาระต้องทำให้หน้ากระดาษแปดหน้าของหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่นี้เต็มทุกวัน เขาจึงต้องลงมือเขียนเองสารพัด ทั้งบทบรรณาธิการ คอลัมน์เบ็ดเตล็ด อย่างการตอบปัญหาประจำวันที่ผู้อ่านถามมา รวมถึงการเขียนนวนิยายเรื่องยาว อันเป็นของคู่กับหนังสือพิมพ์ไทยมาเนิ่นนาน
สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔
(ภาพ : หนังสือ นักหนังสือพิมพ์ชื่อคึกฤทธิ์)
แม่พลอย
ในบรรดานวนิยายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ สี่แผ่นดิน
สี่แผ่นดิน เริ่มต้นจากเรื่องที่เขียนลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ รายวัน ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๔-๒๔๙๕ นวนิยายเรื่องนี้พรรณนาชีวิตของแม่พลอย สาวชาววังตระกูลผู้ดีเก่า เธอเกิดในปี พ.ศ.๒๔๒๕ และถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๘๙ หรือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๘ “สี่แผ่นดิน” ที่ว่านี้จึงหมายความถึงชีวิตของเธอ ที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของชีวิตครอบครัว ตลอดจนถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในระหว่างช่วงสี่รัชกาลนั้น
ประสบการณ์ดังว่าของนางเอก สี่แผ่นดิน มีส่วนมาจากชีวิตจริงของเขา ที่วัยเด็กเคยติดตามหม่อมมารดาเข้าวัง ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับราชสำนักฝ่ายใน ผสมผเสกับเรื่องที่ได้เคยทูลถามจากเจ้านายฝ่ายในที่ยังทรงมีพระชนม์อยู่ ตลอดจนพระอนุวงศ์บางพระองค์ เช่นหม่อมเจ้าหญิงจงจิตรถนอม ดิศกุล
เขาเล่าว่า สี่แผ่นดิน นั้น เขียนแบบวันต่อวัน คือไม่มีการร่าง คำนำของผู้เขียนถึงกับบอกว่าเมื่อสร้างฉากหลังของเรื่อง และวางบุคลิกลักษณะของตัวละครไว้คร่าวๆ ในใจแล้ว บรรดาผู้คนในเรื่องกลับมีชีวิตจิตใจของตัวเองขึ้นมาจริงๆ “จนบางเวลาขณะที่เขียนอยู่นั้น เผลอไป เหมือนกับมีใครมากระซิบบอกให้เขียนอยู่ใกล้ๆ”
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างตัวละครเอกอย่าง “แม่พลอย” ให้มีชีวิตชีวา จนหลายคนสงสัยว่าอาจเป็นเรื่องจริง แม่พลอยกลายเป็นคนคุ้นเคยของผู้อ่านถึงขนาดลือกันว่า เมื่อเรื่องดำเนินไปจนถึงแม่พลอยได้แต่งงานกับคุณเปรม มหาดเล็กหนุ่ม แล้วตั้งครรภ์และเริ่มแพ้ท้อง พลันที่แม่พลอยออกปากบอกสามีผ่านหน้ากระดาษของ สยามรัฐ รายวันไปว่า “ถ้าจะให้ดี วานใครออกหามะม่วงดิบๆ ให้ฉันสักสองสามลูก ฉันอยากกินอะไรเปรี้ยวๆ เหลือเกิน…” วันรุ่งขึ้น แม้มิใช่ฤดู ก็มีผู้อ่านที่รู้สึกเป็นจริงเป็นจัง “เข้ามารับนับเป็นญาติโยมของแม่พลอย” เสียจนส่งมะม่วงขบเผาะ (บางเสียงเล่าว่าเป็นมะขามเปียก) มากำนัลเธอถึงที่โรงพิมพ์สยามรัฐ ถนนราชดำเนิน
สี่แผ่นดิน กลายเป็นนิยายที่คนอ่านติดกันงอมแงม และพลอยกลายเป็นตัวประกันไปด้วย
ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔ หลังความพยายามก่อรัฐประหารของกลุ่มทหารเรือ ที่ต่อมาเรียกกันว่า “กบฏแมนฮัตตัน” ล้มเหลว ทางรัฐบาลประกาศกฎอัยการศึก พร้อมกับมีนโยบายให้ตรวจข่าว (เซ็นเซอร์-censor) หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก่อนจะส่งโรงพิมพ์อย่างเข้มงวด
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่พอใจอย่างยิ่ง
เขาประกาศหยุดคอลัมน์ประจำที่เคยเขียนทั้งหมด รวมทั้ง สี่แผ่นดิน
พร้อมกันนั้น สยามรัฐ ประท้วงและประจานการตรวจข่าว ด้วยการหันไปลงข่าวที่ “ปราศจาก” การเมือง
ผู้ที่เสียเงิน ๕๐ สตางค์ ซื้อ สยามรัฐ รายวัน จะได้อ่านข่าวที่หาไม่ได้จากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นใด เช่นว่าต้นหมากที่หลังโรงพิมพ์มีกี่ต้น หน้าต่างตึกกระทรวงกลาโหมมีกี่บาน ทราบจำนวนเมฆคิวมูโลนิมบัสที่ลอยผ่านพระนครไปเมื่อวานนี้ หรือรู้กระทั่งว่าตุ๊กแกของไทย ร้องไม่เหมือนกับตุ๊กแกฝรั่งและตุ๊กแกไหหลำอย่างไรบ้าง
ข่าวพาดหัวหน้า ๑ ที่เป็นที่จดจำกันมากที่สุดของ สยามรัฐ ยุคนี้คือฉบับวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๔
รายงานข่าวด่วนจากคึกฤทธิ์
พระอาทิตย์ที่หัวหินขึ้นผิดทางกับศรีราชา
สงสัยพระอาทิตย์มี ๒ ดวง
เนื้อข่าวกล่าวว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางไปสังเกตการณ์ทางธรรมชาติวิทยาที่หัวหิน ค้นพบว่าอาจมีพระอาทิตย์มากกว่า ๑ ดวง เพราะที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี พระอาทิตย์ขึ้นจากภูเขา และตกในทะเล ต่างจากที่ชายหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่พระอาทิตย์กลับขึ้นจากทะเล แล้วตกไปทางภูเขาแทน แต่ยืนยันว่า ทั้งสองดวงนี้ เป็นดวงโต-กลม-ร้อน เหมือนกัน
กว่าที่หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ จะกลับคืนสู่ภาวะปรกติ ก็คือจนเมื่อรัฐบาลยุติการตรวจข่าวในเดือนถัดมา และยกเลิกกฎอัยการศึกในเดือนกันยายน รวมเวลาที่ “หลุดโลก” ไปร่วมสองเดือน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์รีบบรรณาการผู้อ่านด้วยคอลัมน์ประจำทั้งหมดดังเดิม รวมถึงตอนต่อของ สี่แผ่นดิน ที่แฟนๆ เฝ้ารอด้วยใจจดจ่อ
สี่แผ่นดิน รวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ได้มาเป็นหนังสือสองเล่มใหญ่ หนารวมกันถึง ๒,๒๒๔ หน้า
นับแต่นั้นมาก็มีการพิมพ์ซ้ำอีกนับสิบครั้ง จนเมื่อเริ่มมีกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย สี่แผ่นดิน ยังถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์เรื่องยาวอีกหลายรอบ
เรียกได้ว่าทุก ๑๐ ปี ต้องมีการสร้างสรรค์ฉบับประจำทศวรรษกันทีหนึ่ง
“หลวิชัย” คึกฤทธิ์(ขวา) กับ “คาวี” ประยูร
ในลิเกการกุศลของสมาคมหนังสือพิมพ์ไทย พ.ศ.๒๔๙๔ (ภาพ : หนังสือ คึกฤทธิ์ ๖๐)
ประยูร จรรยาวงษ์, อบ ไชยวสุ, คุณชายคึกฤทธิ์
และประหยัด ศ.นาคะนาท ไป “ถกเขมร”
(ภาพการ์ตูนฝีมือประยูร จรรยาวงษ์ ใน ถกเขมร)
แสดงละครเวที เสน่ห์พ่อแผน บทประพันธ์ของ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เอง ร่วมกับ สุพรรณ บูรณะพิมพ์
(ภาพ : หนังสือ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ราชินีแห่งการละคร)
ในกองถ่าย The Ugly American กับ มาร์ลอน แบรนโด
(ภาพ : หนังสือ คึกฤทธิ์ ๖๐)
พระเอกยี่เก
พี่อุส่าห์ดั้นด้ล..แม่เอ๋ย…มาหา
ได้เสียงคนอื่นหมื่นแสน
ไม่เท่าคะแนลน้องยา…”
ตั้งแต่เมื่อเริ่มเล่นการเมืองใหม่ๆ ระหว่างเดินหาเสียงแถวเทเวศร์ แม่ค้าข้าวแกงนางหนึ่งอายุราว ๕๐ ปราดเข้ามาหา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ บอกว่า “อิชั้นเคยได้ยินว่าคุณร้องยี่เกเพราะนัก ไหนลองแสดงไปทีรึ” เล่นเอาผู้สมัคร ส.ส. รายนี้ต้องร้องด้นสดขอคะแนนเสียงกันกลางตลาด
เมื่อพูดถึงละคร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ถือเป็นนักแสดงสมัครเล่นที่มีประสบการณ์คนหนึ่ง
ชีวิตนักแสดงของเขาเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อตามแม่เข้าวัง เขาเล่าว่าเคยไปแอบดูพระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) หัดโขนให้มหาดเล็ก เมื่อเจ้าคุณนัฏกาฯ รู้ว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร จึงถูกเรียกตัวไปหัดเป็นตัวนางด้วย เนื่องจากยังตัวเล็ก ก่อนจะเริ่มหัดโขนในเวลาต่อมา
ส่วน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช พี่ชายของเขาเล่าว่า ในวัยเด็ก คุณเสนีย์กับคุณถ้วนเท่านึก พี่ชายสองคนนั้นอายุมากกว่าคุณชายคึกฤทธิ์หลายปี ทางบ้านจึงเลี้ยงอย่างค่อนข้างปล่อย แต่คุณชายคึกฤทธิ์เด็กกว่ามาก เล่นด้วยกันไม่ได้ จึงโตมากับพวกผู้หญิง และเมื่อ “ไม่มีเด็กผู้ชายเล่นด้วยจึงรำละคอนเก่ง”
ภายหลังเมื่ออยู่ในวัยผู้ใหญ่แล้ว ม.ร.ว. คึกฤทธิ์หวนกลับมารื้อฟื้นทักษะด้านนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยได้ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี แม่ครูใหญ่ฝ่ายนาฏศิลป์ไทยในยุคนั้นมาช่วยฝึกหัด เขาเล่าว่า การฟ้อนรำหรือโขนนั้นเป็นทักษะการใช้ร่างกาย ในแง่หนึ่งจึงไม่ต่างกับการขี่จักรยาน คือเมื่อทำได้แล้วก็จะไม่มีวันลืมอีกเลย
บทบาทการแสดงของเขาที่ลือลั่นมาก คือลิเกกิตติมศักดิ์การกุศลเรื่อง “หลวิชัย-คาวี” หรือ “กลวิธีปราบยักษ์” หาเงินสร้างหอประชุมของสมาคมหนังสือพิมพ์ไทย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๔ คุณชายคึกฤทธิ์แสดงนำในบทหลวิชัย ร่วมกับคาวี ที่รับบทโดย ประยูร จรรยาวงษ์ นักเขียนการ์ตูนชื่อดังแห่งยุค พร้อมด้วย “ฮิวเมอริสต์” อบ ไชยวสุ ที่แสดงเป็นฤๅษี และ “นายรำคาญ” ประหยัด ศ. นาคะนาท แสดงเป็นท้าวมคธราช กษัตริย์ยักษ์
ลือกันว่าแม่ค้าทั้งตลาดท่าเตียน บางลำพู เทเวศร์ หัวลำโพง ปิดร้านยกพวกมาเชียร์ลิเกโรงนี้ ผู้ชมล้นหลามจนถึงขนาดไม่มีตั๋วขาย คนดูพังรั้วสนามหญ้าสมาคมพ่อค้าไทย สถานที่ตั้งวิกลิเกชั่วคราว เข้าไปดูกันให้สมอยาก
ในช่วงนั้น สี่สหายคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ครูอบ “นายรำคาญ” และ “ศุขเล็ก” ประยูร จรรยาวงษ์ เป็นกลุ่มเพื่อนสนิทที่รักใคร่กันมาก ชนิดไปไหนไปกัน การเดินทางไปเที่ยวนครวัด-นครธม-พนมเปญร่วมกันของทั้งสี่ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ คือที่มาของ ถกเขมร หนังสือชื่อดังอีกเล่มหนึ่งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยมีภาพประกอบหลักคือภาพลายเส้นการ์ตูน ฝีมือของ ประยูร จรรยาวงษ์ นั่นเอง
นอกจากละครไทย อย่างโขน ลิเก ละครนอก และละครแบบฝรั่ง เช่นละครเวทีและละครโทรทัศน์แล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้รับเชิญให้ไปร่วมแสดงภาพยนตร์กับดาราระดับซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูดอย่าง มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) ในภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American
ในภาพยนตร์เรื่องนั้นซึ่งสร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกัน แบรนโดรับบทเป็นเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศซารคาห์น (Sarkahn)ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศสมมุติแห่งนี้อันที่จริงเป็นอุปมาของเวียดนามหากแต่คนไทยมักสะกดให้ดูชินตาว่า สารขัณฑ์ แล้วต่อมาเลยพลอยใช้ชื่อนี้กลับมาเรียกประเทศของตัวเองในความหมายเชิงล้อเลียนว่าเป็นประเทศ “อะไรก็ไม่รู้” จนถึงเดี๋ยวนี้
ส่วน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์รับบทเป็นนายกรัฐมนตรีเกว็น ซาย (Kwen Sai) ของสารขัณฑ์ และนั่นคือครั้งแรกที่เขาได้เผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มาชูป้ายประท้วงล้อมทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ได้ยื่นหนังสือประท้วงให้แก่ทูตอเมริกัน ก่อนที่จะได้พบ “ของจริง” ในอีกสิบกว่าปีต่อมา
(ภาพ : หนังสือนักหนังสือพิมพ์ชื่อคึกฤทธิ์)
เมอซิเออร์ปูจอล
แต่แรกตั้ง สยามรัฐ มีคติพจน์ (motto) ภาษาบาลีปรากฏอยู่กับหัวหนังสือพิมพ์ว่า
นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ
พุทธภาษิตบทนี้แปลว่า พึงข่มคนที่ควรข่ม พึงยกย่องคนที่ควรยกย่อง
นี่แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นแนวทางที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สมาทานมาตลอดชีวิต
ด้วยความใกล้ชิดกับผู้คนในสังคมจากการทำงานหนังสือพิมพ์ ได้รู้เห็นความเคลื่อนไหวของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านชาวเมือง ทั้งการพบปะสนทนา หรือจากจดหมายผู้อ่านที่มีเข้ามาชนิด “กองพะเนินเทินทึก” ม.ร.ว. คึกฤทธิ์จึงเรียนรู้ที่จะประเมินการเคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำ
ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ เมื่อเขาเห็นว่าข่าวการเลือกตั้ง “สกปรก” ได้โหมกระพือให้ความเบื่อหน่ายที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลายเป็นความเคียดแค้นชิงชัง หน้า ๕ สยามรัฐ ยิ่งดุเดือดขึ้นเป็นลำดับ
การเหน็บแนมว่านายกฯ ว่าไปคบกับ “กุ๊ยมะริกัน” จนต้องถูกฟ้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องนี้
พร้อมๆ กับที่เขาปลุกเร้าอย่างต่อเนื่องให้ประชาชนร่วมมือกันต่อสู้โค่นล้มรัฐบาล เช่นว่า “ใครมีความคิดบ้าบิ่นอย่างผม ก็น่าจะได้หาทางรู้จักกันไว้เสียแต่บัดนี้ วันหลังจะได้กอดคอกันตายเพื่อบ้านเมืองของเรา” อันนำไปสู่การสร้างมติมหาชน รอรับการรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ ๑๖ กันยายน ปีเดียวกันนั้นเอง
ส่วนคดีหมิ่นประมาทเอกอัครราชทูตอเมริกันนั้น แม้คุณชายจะให้การว่า คำว่า “กุ๊ยมะริกัน” นั้น ไม่ได้หมายถึงท่านทูต แต่หมายถึงคนที่ไปแย่งหีบบัตรเลือกตั้งในชิคาโกต่างหาก ทว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตัดสินให้จำคุกเขาเป็นเวลา ๑ เดือน และปรับ ๕๐๐ บาท ส่วนศาลอุทธรณ์ตัดสินให้เสียเฉพาะค่าปรับเท่านั้น ก่อนหน้าที่ “การเมือง” จะปิดฉากคดีนี้ลงเมื่อคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ได้สั่งการให้ยุติคดีนี้ไป
ในเวลาไม่กี่ปี สยามรัฐ กลายเป็นสื่อกระแสหลักที่นิยมติดตามอ่านกันอย่างกว้างขวางในหมู่ปัญญาชนและชนชั้นกลาง ปี พ.ศ.๒๕๐๓ สำนักข่าวสารอเมริกัน (ยูซิส) เคยเก็บข้อมูลการใช้สื่อมวลชนของนักศึกษามหาวิทยาลัยในพระนคร ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ที่นักศึกษาอ่านมากที่สุด ถึงร้อยละ ๓๒ คือหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ
ถึงปี พ.ศ.๒๕๑๑ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เริ่มต้นงานเขียนชุดใหม่ใน สยามรัฐ คอลัมน์นี้ไม่มีชื่อเรียกโดยตรง มีเพียงลายเซ็น “คึกฤทธิ์” ที่คุ้นตากับภาพการ์ตูนรูปผู้เขียนอยู่บนสุด (ยุคหลังจึงเปลี่ยนเป็นภาพถ่ายครึ่งตัวหันข้าง) คนทั่วไปจึงอนุโลมเรียกกันตามเลขหน้าว่า หน้า ๕ สยามรัฐ
บทความชุดนี้ถือเป็นงานเขียนในหนังสือพิมพ์ที่ทรงพลังมากของ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นคอลัมน์ประจำวัน วิพากษ์วิจารณ์ข่าวคราวต่างๆ ที่อยู่ในกระแส เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการสรุปข่าวมาเล่าให้ฟัง พร้อมกับแสดงทัศนะวิจารณ์ของผู้เขียน หรือบางครั้งก็เป็นการเล่าเรื่องที่ผู้เขียนได้ประสบมา การเดินทางท่องเที่ยว เกร็ดประวัติศาสตร์ ตำรากับข้าว เขียนถึงหนังสือเล่มใหม่ที่มีผู้ส่งมาให้อ่าน หรือแม้แต่ประกาศความรันทดใจเมื่อ “หมาผมหาย”
อีกข้อหนึ่งที่โดดเด่นมากคือสไตล์การเขียน ที่คุณชายทดลองใช้วิธีการใหม่ สร้างความตื่นตาตื่นใจ ด้วยการตัดย่อหน้าถี่ๆ ใช้ประโยคขนาดสั้นเน้นประเด็น พร้อมกับการใช้ตัวหนังสือหลายแบบ (font) ให้มีขนาดใหญ่เล็กต่างๆ กัน กระทั่งกลายเป็น “ลายเซ็น” ที่จะติดตามเขาไปจนตลอดชีวิตรวมทั้งยังส่งอิทธิพลให้แก่นักเขียนนักหนังสือพิมพ์รุ่นหลังอีกหลายต่อหลายคน
ว่ากันว่าสมัยนั้นตามสภากาแฟยามเช้า เป็นต้องถามกันว่า อ่านหน้า ๕ สยามรัฐ แล้วหรือยัง ?
หน้า ๕ สยามรัฐเต็มไปด้วยไหวพริบปฏิภาณและบ่อยครั้งแทรกสลับอยู่กับถ้อยคำประชดประชัน เสียดสี และเย้ยหยันแต่พร้อมกันนั้นเขาเป็นเหมือนเพื่อนสนิทผู้ทรงภูมิที่พร้อมเสมอในอันที่จะรับฟังทุกข์สุขในชีวิตก่อนจะปลอบประโลมด้วยความเข้าอกเข้าใจ และด้วยอารมณ์ขัน
เช่นเมื่อมีผู้อ่านที่ใช้นามแฝงว่า ส.ท. เขียนมาปรึกษาว่า มีปัญหาเรื่องการผายลมไม่เป็นเวล่ำเวลา ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน จนสร้างความอับอายและความเครียดขึ้นเหลือจะประมาณ คุณชายคึกฤทธิ์ตอบว่าคงต้องทำใจ พร้อมกับชี้ให้เห็นแง่งามว่าคนเรามีวิธีแสวงหาความสำราญจากอวัยวะเบื้องล่างได้อย่างไม่น่าเชื่อ เขายกตัวอย่างเมอซิเออร์ปูจอล (Joseph Pujol) นักแสดง “ตด” ชาวฝรั่งเศสสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ผู้มีอาชีพผายลมให้คนซื้อตั๋วเข้ามาฟัง
“การแสดงของนายปูจอลมีอยู่ชุดเดียว ไม่ได้เปลี่ยนเลยตลอดเวลายี่สิบปี
“นายปูจอลนุ่งกางเกงแพรดำแค่เข่า สวมเสื้อแดง เดินออกไปคำนับคนดูที่หน้าเวทีแล้วก็กล่าวว่า
“ ‘ท่านสุภาพสตรี ท่านสุภาพบุรุษ ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่จะเสนอต่อท่าน การแสดงตด…’
“แล้วนายปูจอลก็จะโก้งโค้งลงตดแบบต่างๆ ที่ไม่มีใครเคยได้ยินและไม่มีใครทำได้”
หรือเมื่อมีผู้อ่านเขียนมาปรึกษาปัญหาว่าหมูแพงควรทำกับข้าวอะไรที่ไม่ต้องใช้หมู สิ่งที่หน้า ๕ สยามรัฐ แนะนำคือให้กินอย่างอื่นแทน เช่นปูเค็ม ก่อนจะพรรณนาการตำน้ำพริกปูเค็ม “สูตรคุณชาย” เริ่มต้นด้วยการจุดธูปเทียน ตั้งนะโมสามจบ อธิษฐานนึกถึงคุณบิดามารดาและครูบาอาจารย์เสร็จแล้วให้เดินประทักษิณรอบครกสามรอบ ก่อนจะหยิบกระเทียมสามกำมือโยนลงครก โขลกๆๆๆ พร้อมเปิดแผ่นเสียงเพลงโหมโรงจากมหาอุปรากรเยอรมันให้ลั่นบ้าน ฯลฯ
ราวปี พ.ศ.๒๕๑๓ อัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียนซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เพิ่งเข้าเรียนเป็นนิสิตชั้นปีที่ ๑ ของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่าในวิชาการหนังสือพิมพ์ อาจารย์ผู้สอนถามในห้องว่า นิสิตอ่านหนังสือพิมพ์อะไรกันบ้าง แทบทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า อ่านหน้า ๕ สยามรัฐ
ตราสัญลักษณ์พรรคกิจสังคม ที่ออกแนว “สังคมนิยม” ด้วยรูปฟันเฟือง รวงข้าวและเคียว
หัวหน้าพรรคกิจสังคม ระหว่างหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๑๘
(ภาพ : หนังสือ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ ชีวิตและงาน)
ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ถ่ายภาพในชุดเต็มยศของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า
(ภาพ : หนังสือ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ ชีวิตและงาน)
ท่านนายกฯ
หลัง “วันมหาวิปโยค” วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ประเทศนี้ก็ไม่เหมือนเดิมไปอีกตลอดกาล
ตลอดช่วงเหตุการณ์นองเลือดนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เข้ารับการรักษาอาการโรคหัวใจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
๑๕ ตุลาคม หลังจากกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายกรัฐมนตรี จอมพล ถนอม กิตติขจร และครอบครัว เดินทางออกนอกประเทศ
พอดีกับที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์หายป่วย ลุกออกจากโรงพยาบาลมาได้
บางคนจึงพลอยสงสัยว่าเป็นอาการ “ป่วยการเมือง” เนื่องจากเขายังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะออกหัวออกก้อย หรือฝ่ายใดจะชนะกันแน่ การสงวนท่าทีจึงน่าจะปลอดภัยที่สุด
ในระยะสุญญากาศทางการเมืองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นไม่นานมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ๒,๓๔๗ คนจากหลากหลายสาขาอาชีพการประชุมสมัชชาแห่งชาติต้องใช้สถานที่อัฒจันทร์ที่นั่งคนดูของราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้ง และกลายเป็นที่มาของชื่อ “สภาสนามม้า”
ขั้นตอนต่อไปคือให้สมาชิกสมัชชาคัดเลือกกันเองอีกครั้งหนึ่งจนได้มาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่
ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นต้นมา ชื่อของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช “ติดโผ” ทุกครั้งในการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกวุฒิสภาตลอดช่วงรัฐบาลทหารที่สืบทอดอำนาจตั้งแต่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาจนถึงจอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อถึงยุคของสมัชชาแห่งชาติในปี พ.ศ.๒๕๑๖ เขาย่อมเป็น ๑ ใน ๒,๓๔๗ และ ๑ ใน ๒๙๙ คนที่ได้รับคัดเลือกเข้ามา รวมทั้งได้รับคะแนนเสียงให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาด้วย
มีคนจำได้ว่า ใต้แผ่นกระจกปูโต๊ะทำงานของคุณชายที่ สยามรัฐ เคยมีกระดาษคำทำนายของโหรการเมืองชื่อดัง ระบุไว้ว่า ดวงอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์นี้มีเกณฑ์จะได้เป็นใหญ่เป็นโตถึงนายกรัฐมนตรีและมีอีกหลายคนเชื่อว่า ตำแหน่งนี้เป็นสิ่งที่เขาปรารถนามาช้านานและในที่สุด โอกาสนั้นก็มาถึง
หลังจากทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราช-อาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๑๗ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ลาออกจากการเป็นประธานสภา ประกาศตนว่าพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี และตั้งพรรคการเมืองขึ้น ใช้ชื่อว่า “พรรคกิจสังคม” มีคำขวัญประจำพรรคว่า “เราทำได้”
พรรคของเขามีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Social Action Party หรือเรียกย่อๆ ว่า SAP กิจสังคมจึงถูกขนานนามในวงการเมืองไทยว่าพรรค “แสบ” ตลอดมา
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๑๘ พรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดคือพรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช วัย ๗๐ ปี จึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่แล้วสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเล็กต่างๆ กลับจับมือกันโหวตไม่อนุมัตินโยบายรัฐบาล ยังผลให้รัฐบาลของ “หม่อมพี่” ถึงกาลอวสานลงตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๑๗ จากนั้น ทุกสายตาจึงหันมาจับจ้อง “หม่อมน้อง” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคม ผู้สั่งสมบารมีมาหลายสิบปี
แต่ขณะนั้นพรรคกิจสังคมมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสภาเพียง ๑๘ เสียง จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ๒๖๙ ที่นั่ง รัฐบาลชุดที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงมีพรรคร่วมรัฐบาลมากเป็นประวัติการณ์ถึง ๑๒ พรรค และกลายเป็นตำนานของ “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ไปตลอดกาล
นโยบายแนว “ประชานิยม” เช่น รถเมล์ฟรี รักษาพยาบาลฟรี ค่าเล่าเรียนฟรี ประกันราคาพืชผล ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทว่า สิ่งที่ทำให้นายกฯ คนนี้เป็นที่จดจำสืบมาอีกยาวนาน คือ “เงินผัน” นโยบายเร่งด่วนด้วยการจัดสรรงบประมาณ ๒,๕๐๐ ล้านบาท มอบให้สภาตำบลทั่วประเทศใช้จ้างแรงงานท้องถิ่น ทำโครงการที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ เช่น สร้างถนน สร้างโรงเรียน ขุดคูคลอง ทำฝายเก็บน้ำ
เงินผัน ๒,๕๐๐ ล้านบาทในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เมื่อก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ ๓ บาท ถือเป็นเงินก้อนใหญ่ มีเสียงคัดค้าน เสียงตำหนินโยบายนี้มากมาย บ้างล้อเลียนว่าเป็น “เงินผลาญ” หรือ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” รวมทั้งได้รับข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน คุณชายโต้ข้อกล่าวหานั้นว่า “ถ้าจะพูดถึงคอรัปชั่น ผมยอมรับ มันมี ไม่ได้มากมายอะไร…ก็โครงการเงินผันนั้น ราษฎรมีโอกาสครั้งแรกตั้งแต่ตั้งเมืองไทยมา ที่จะได้คอรัปชั่นกับเขาบ้าง (ฮา)…”
ในเพลงลูกทุ่ง บทเพลงของชาวบ้านไทยซึ่งบันทึกความเคลื่อนไหวในสังคมไว้เสมอ เพลิน พรหมแดน ยั่วล้อ “เงินผัน” ของท่านนายกฯ ในเพลง “คึกลิด คิดลึก” ว่า
คึกลิดเป็นคนคิดลึก
กลางคืนดื่นดึกนั่งนึกนอนคิด
คิดช่วยคนยากคนจน
ให้สภาตำบลสร้างถนนเชื่อมติด
พวกเราก็ไปรับจ้าง (ซ้ำ)
ขุดคลองสร้างทางเอาสตางค์คึกลิด
(ถาม) เอ…นี่พวกเราจะตั้งชื่อคลองนี่ว่าคลองอะไรดี
(ตอบ หมู่) คลองคึกลิด
(ถาม) แล้วก็ถนนนี่ล่ะ
(ตอบ หมู่) ถนนคึกลิด
(ถาม) อืม…แล้วก็สะพานนี่ล่ะ
(ตอบ หมู่) สะพานคึกลิด
(ถาม) เอ…เดี๋ยวๆ นี่อะไรๆ ก็ทำหมดแล้วเนี่ย ก็แล้วปีหน้าจะมีอะไรให้เราทำอีกบ้างล่ะครับ
(ตอบ) มันจะไปยากอะไรล่ะครับ ปีหน้าก็ขุดถนนให้มันเป็นคลอง แล้วก็ถมคลองให้เป็นถนน
ทำกลับไปกลับมาได้ตั้งหลายครั้ง สบายมาก…
(ภาพ : หนังสือ เมื่อคึกฤทธิ์นั่งเมือง)
การ์ตูนของ อรุณ วัชระสวัสดิ์ ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ๘ เมษายน ๒๕๑๙
ประธานเหมา
ที่พำนักของท่านประธานอยู่ในพระราชวังหลวง กรุงปักกิ่ง
เมื่อเข้าประตูวังแล้ว รถจะแล่นผ่านอุทยานอันสงบร่มรื่น มีทหารยืนยามเฝ้าเป็นระยะ เมื่อรถจอดก็มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่มาต้อนรับ เจรจากันซุบซิบ สมกับเป็นสถานที่อันควรเคารพ
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยเดินนำหน้าคณะผู้ติดตาม ๓ คนเข้าไปยังห้องสมุด
เห็น “ท่าน” สวมเสื้อชุดสีเทานั่งอยู่
ความใหญ่โตของท่านปรากฏแก่ตาแก่ใจผู้มาเยือนในทันที ราวกับถูกอะไรตีเข้าที่หน้าผาก
ท่าน “ใหญ่” จริงๆ ใหญ่ด้วยขนาด ใหญ่ด้วยท่าทีที่นั่งตระหง่าน
คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าในภายหลังว่า รู้สึกเหมือนเดินเข้าไปพูดกับภูเขา
ประธานเหมาเจ๋อตงนั่งเต็มเก้าอี้นวม หลังพิงพนัก สองแขนพาดบนเท้าแขน
คุณชายคึกฤทธิ์วัย ๖๔ ลงนั่งเก้าอี้ฝั่งตรงข้ามแบบคนไทยเข้าหาผู้ใหญ่ คือเอาก้นแตะไว้เพียงขอบเก้าอี้ หลังไม่พิงพนัก มือสองข้างประสานกันไว้บนหน้าตักโดยอัตโนมัติ
“มาหาคอมมิวนิสต์ไม่กลัวหรือ ?” ขุนเขาทะมึนคำราม
“คนอื่นๆ ทั่วโลกเขาหาว่าผมเป็นผู้ร้ายฆ่าคน เป็นคนเลวที่สุด จะมาคบกับผมทำไม ?” ท่านประธานเปรยต่อ
“เอาอย่างนี้ก็แล้วกันครับ ท่านประธาน ผมเองก็ไม่ใช่คนวิเศษวิโสอะไร คนเขาว่าผมเป็นคนเลวก็มี เป็นคนที่ไม่ดีมากมายหลายอย่าง จนผมเองก็เหลือจดเหลือจำ เห็นจะพอคบกันได้กระมัง ?”
เจอมุกนี้ของท่านนายกฯ เข้าไป พลันภูเขาหัวเราะชอบใจพร้อมตบเท้าแขนเก้าอี้ปังๆ
สถานการณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ถือได้ว่าตึงเครียดอย่างยิ่ง
ภายในครึ่งแรกของเดือนเมษายน กัมพูชาและเวียดนามใต้ถูกกองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ายึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลายเป็นรัฐสังคมนิยมจนหมดสิ้น ขณะที่ราชอาณาจักรลาวก็ทำท่าจะล้มเป็นโดมิโนตัวต่อไป สหรัฐอเมริกา “มหามิตร” ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลระบอบเก่าของทั้งสามประเทศแตกพ่าย ฐานทัพสหรัฐฯ ที่มีอยู่ในประเทศไทยทยอยปิดตัวลงมาหลายปีแล้ว กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ถูกถอนทัพออกไปจนเกือบหมดสิ้น
สิ่งหนึ่งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ค่อนข้างแม่นยำเสมอ คือ “จังหวะ” เขามีทักษะอย่างดียิ่งในการจับกระแส ทำให้รู้ว่าจะต้องทำอะไร เมื่อใด
นี่จึงอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาเป็นนักเขียนที่มีฝีมือ
เป็นนักแสดงที่ได้รับคำชมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นบนเวที หรือในจอแก้ว จอเงิน
และในฐานะนักการเมือง เขาย่อมต้องรู้ว่าเมื่อใดควรทำสิ่งไหน
แต่ไหนแต่ไรมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แสดงทัศนะต่อต้านคอมมิวนิสต์เสมอ
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๔ สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนท่าที หันไปเปิดสัมพันธ์กับ “จีนแดง” หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ แต่คุณชายยังคงยืนกรานคัดค้านการที่ไทยจะเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์มาอีกหลายปี แต่แล้วเมื่อเขาเข้ามานั่งที่โต๊ะทำงานของนายกรัฐมนตรี ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ด้วยเงื่อนไขกดดันและกระแสความเคลื่อนไหวของโลกที่ไม่อาจทัดทานได้ คุณชายและรัฐบาลไทยจึงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาคเสียใหม่ ด้วยการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลปักกิ่ง
ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๘ ไม่กี่เดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงเดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และทำให้เขามีตำแหน่งแห่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี (และเชื้อพระวงศ์) คนแรกของไทยที่ได้เดินทางไป “จีนแดง” และเข้าพบกับท่านประธานเหมาแบบ “ตัวต่อตัว”
ตอนหนึ่งในระหว่าง ๕๘ นาทีที่ผู้นำทั้งสองประเทศพบปะสนทนากันนั้น ประธานเหมา “แหย่” แขกเมืองชาวไทยว่า ผู้นำต่างชาติที่มาพบกับท่านแล้ว กลับไปประเทศก็มีอันต้อง “พัง” ทุกราย พร้อมทั้งยกตัวอย่างนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจักรพรรดิเอธิโอเปีย
“มาพบผม ไม่กลัวพังบ้างหรือ ?”
คุณชายตอบด้วยอารมณ์ขันอย่างที่ท่านถนัดว่า ไหนๆ ก็มาแล้ว ถ้ามันจะ “พัง” เพราะได้พบท่านประธานก็ให้มันรู้กันไป
ตลอดช่วงที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นยุคเสรีภาพเฟื่องฟู มีการชุมนุมประท้วงของนักศึกษา ชาวนา กรรมกร ไม่เว้นแต่ละวัน มีทั้งการลอบสังหารและการปะทะกันของฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายขวาฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง ดังที่คุณชายบรรยายภายหลังว่า ในช่วงนั้น “ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทุกอย่าง แม้แต่จะไล่ขว้างระเบิดกันตามถนนหนทางก็ทำได้ นอกจากนี้ ผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎรก็มีอำนาจวาสนา จะไล่รัฐบาลออกเมื่อไรก็ได้…”
จะเป็นด้วยอาถรรพ์ประธานเหมา หรือคุณไสยการเมืองไทยก็แล้วแต่ เมื่อถึงเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๑๙ แรงเสียดทานจากฝักฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลทำให้เขาตัดสินใจยุบสภา หลังจากบริหารประเทศมาได้เพียง ๑๐ เดือน
ว่ากันว่า ผลสืบเนื่องจากนโยบายคบค้าสมาคมกับจีนแผ่นดินใหญ่นั้นเอง สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้แก่กองทัพซึ่งมองเห็นคอมมิวนิสต์ “จีนแดง” เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๙ ผลการเลือกตั้งในเขตดุสิต ที่รู้กันว่าเป็น “เขตทหาร” และเป็นฐานคะแนนเสียงดั้งเดิมของเขา ปรากฏว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีรักษาการ หัวหน้าพรรคกิจสังคม กลับต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูปให้แก่นักการเมืองหนุ่มหน้าใหม่ที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายขวาอย่างนายสมัคร สุนทรเวช ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนักเขียน สยามรัฐ
การ์ตูนล้อการเมืองของ อรุณ วัชระสวัสดิ์ ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ รายวัน ฉบับวันอังคารที่ ๘ เมษายน ๒๕๑๙ มีภาพนายสมัครจมูกโต ยืนเกร่อยู่หน้าเตาขนมครกที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นคนขาย พร้อมกับถามว่า “ขายยังไงจ๊ะ ?” เพราะก่อนหน้านั้น คุณชายเคยให้สัมภาษณ์ว่า หากไม่ได้รับเลือกตั้งจะไปขายขนมครก
หลังจากเขาพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาได้ไม่กี่เดือน เหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ถึงแก่อสัญกรรม ณ กรุงปักกิ่ง ในวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๙ ขณะมีอายุได้ ๘๒ ปี
ช่วงปี พ.ศ.๒๕๒๑ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์หันไปให้ความสนใจ
กับการปลูกไม้ดอกเมืองหนาวจนผู้ไปสัมภาษณ์มักใช้คำว่า
“แหวงดงแอฟริกันไวโอเล็ต” เข้าไปหา
(ภาพ : หนังสือ คึกฤทธิ์ ๖๐)
“ข่าวใหญ่” ช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๓๒
(หน้าปก มติชนสุดสัปดาห์ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๔๔๙
วันอาทิตย์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๒)
ชายชรา
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ในฐานะนักเขียนเกียรติยศเคยได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกกล่าวสุนทรกถาภาษาอังกฤษแก่ผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ เขากล่าวตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่ชายหนุ่มเจ้าโทสะอีกต่อไป…และขณะนี้ข้าพเจ้ากล่าวในฐานะชายแก่จิตใจไม่แน่นอน ที่เฝ้าดูเงาที่ทอดยาวในแสงตะวันเวลาบ่ายคล้อย กลางคืนจะมาเยือนข้าพเจ้าในไม่ช้า…”
แม้จะฟังดูเหมือนคำรำพึงของชายชราที่ปลดปลงแล้วกับชีวิต แต่ในความเป็นจริงก็รู้กันดีว่า ถึงเขาจะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ทว่า ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ก็ยังคงเป็นบุคคลสำคัญที่อยู่หลังฉากการเมืองไทยมาโดยตลอด นายกรัฐมนตรีหลายต่อหลายคนถัดจากเขามา ล้วนแต่ต้องอาศัยความสนับสนุนของคุณชายและพรรคกิจสังคม
แม้แต่การป่วยด้วยโรคปอดบวม (นิวมอเนีย-Pneumonia)ของเขาในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ ก็ยังถูกข่าวโทรทัศน์ช่อง ๗ สีนำเสนอไปในแง่มุมทางการเมือง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอาจเป็นการ “ป่วยการเมือง” เนื่องจากมีกระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างเขากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม ทั้งที่หากกล่าวโดยทางนิตินัย ชายชราพ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาสองสามปีแล้ว แต่ในทางพฤตินัย รู้กันดีว่าบารมีของเขายังเปี่ยมล้น
คืนวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ คุณชายปรากฏตัวในชุดนอนลายทางต่อหน้าผู้ชมทั้งประเทศ ในโทรทัศน์เกือบทุกช่อง
จากบนเตียงในโรงพยาบาล เขาตัดพ้อน้ำหูน้ำตาไหลด้วยความโกรธขึ้งและความน้อยอกน้อยใจ ว่าการกระทำของสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ ละเมิดจรรยาบรรณในวิชาชีพ และไร้ซึ่งสมบัติผู้ดีอย่างสิ้นเชิง ที่เอาอาการป่วยเจียนตายไปนำเสนอทุกคืน เพื่อให้เกิดความรู้สึกในทำนองว่าเป็นเพียง “ป่วยการเมือง”
มิหนำซ้ำ ในคืนที่ผ่านมายังละเมิดความเป็นส่วนตัว ด้วยการแพร่ภาพก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งของเขา ทั้งที่พยาบาลถือเดินเข้าไปในห้อง ๔๐๒ โรงพยาบาลสมิติเวช และที่ยังเหลืออยู่ในชามเมื่อกลับออกมา เพียงเพื่อจะดูว่าเขาป่วยแค่ไหน รับอาหารได้มากน้อยอย่างไร
ก่อนสรุปด้วยคำผรุสวาท ว่านี่เป็นการกระทำของ “กุ๊ย”
ชายชราประกาศกร้าวว่า ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้วจึงจะขอเสี่ยงบารมีให้รู้กันว่า “ใครจะอยู่ใครจะไป” ด้วยการเริ่มอดอาหารประท้วงตั้งแต่มื้อเช้าวันนี้ จนกว่าทางสถานีโทรทัศน์จะยอมรับผิด
พร้อมย้ำว่า “ไม่ต้องมาขออภัย เพราะไม่ให้อยู่แล้ว !”
หากแต่ข่าววงในยืนยันว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เป็นนักหนังสือพิมพ์มาหลายสิบปี ย่อมเข้าใจวิสัยการทำงานของสื่อมวลชนเป็นอย่างดี หากแต่สิ่งที่จุดประกายความโกรธเกรี้ยว คือเรื่องที่บังเอิญไปเข้าหูว่า ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล “ดร.ผมลอน” หัวหน้าฝ่ายข่าวของช่อง ๗ เตรียมทำวีดิทัศน์ประวัติชีวิตของคุณชายคึกฤทธิ์ ความยาว ๙ นาทีเอาไว้แล้ว เผื่อหาก “เกิดอะไรขึ้น” เมื่อถึงเวลาข่าวภาคค่ำของคืนวันนั้น นอกจากการรายงานข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของท่านอดีตนายกฯ ทางสถานีฯ จะได้มีสกู๊ปพิเศษออกอากาศต่อท้ายได้ทันที
เมื่อ ๓๐ ปีก่อนหน้า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์สร้างผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยหนังสือพิมพ์อย่างไร ย่อมเทียบเคียงได้ว่า ณ พ.ศ.นั้น ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ลาออกมาทำงานทีวี ก็คือผู้บุกเบิกยุคใหม่ของโทรทัศน์ไทย และเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างนั้น
หลังจากที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ประกาศดำเนินรอยตามมหาตมะคานธี พลันเกิดแรงกระเพื่อมไปทั่ว เสียงโทรศัพท์ในออฟฟิซของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ ดังระงมเกือบตลอดเวลา “ผู้ใหญ่” แทบหมดประเทศ ทั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ นักการเมืองระดับสูง และคนใหญ่คนโต ต่างผลัดกันส่งเสียงตามสายมาคาดคั้นให้ทางสถานีฯ ตัดสินใจทำ “อะไรบางอย่าง” ได้แล้ว
ดร.สมเกียรติ ทั้งในฐานะคนอ่านข่าว และผู้รับผิดชอบโดยตรงกับทีมข่าวช่อง ๗ สี ตัดสินใจนำเทปบันทึกภาพการแถลงข่าวทั้งน้ำตาของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ออกอากาศทั้งหมดในช่วง ๑๙.๔๕ น. ก่อนจะกล่าวฝากไปว่าหาก “ท่าน” เห็นว่าสิ่งที่ทางสถานีฯ ทำไปไม่เหมาะสม ก็ขอแสดงความเสียใจมา ณ ที่นี้
ทันใด ข่าวจากโรงพยาบาลแจ้งมาอย่างร้อนรนว่า “อาจารย์” ยังไม่ยอมรับประทานอาหารอยู่ดี เนื่องจากเห็นว่าไม่มีการยอมรับผิดใดๆ อย่างที่ต้องการ
เมื่อถึงเวลา ๒๐.๓๐ น. ดร. สมเกียรติตัดสินใจ “ถอย” ด้วยการประกาศผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ขอยุติการทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าว พร้อมกับยกเลิกการจัดทำรายการข่าวให้แก่ทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ ทั้งที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานกับทางสถานีได้เพียงเดือนครึ่ง
แต่ถึงตอนนั้น คุณชายปิดทีวีไปแล้ว
มีคนโทรศัพท์ไปแจ้งข่าวนี้กับเจ้าตัวที่โรงพยาบาล
ชายชราขอผัดว่า จะรอให้เห็นข่าวนี้กับตาตัวเองในหนังสือพิมพ์ฉบับวันรุ่งขึ้นก่อน
งามงอน
วันรุ่งขึ้น ๒๘ มีนาคม ดร. สมเกียรติ “บุก” โรงพยาบาลโดยมิได้นัดหมาย
๑๗.๔๕ น. ผู้ป่วยของห้อง ๔๐๒ กำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่บนเตียง
ผู้มาเยี่ยมเรียนท่านไปว่า เขาขอมาชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความเคารพ ว่ามิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความเสื่อมเสียใดๆ เพียงแต่ทำไปตามหน้าที่ของสื่อมวลชน
การเข้าพบวันนั้นกินเวลาเพียงไม่ถึงสองนาที
จบลงด้วยการที่คุณชายตัดบท “เราไม่มีอะไรกันแล้วนะ” แล้วหันหน้าไปอ่านหนังสือที่เปิดค้างไว้ต่อ
เพียงเท่านั้น อดีตอาจารย์หนุ่มใหญ่วัย ๔๐ ก็รู้แล้วว่าวันนี้ยังไม่ใช่วันของเขา
แม้จะอยู่ในวัยกว่า ๗๐ ปี ศาสตราจารย์พิเศษ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังอยู่ในฐานะที่ไม่ว่าจะเขียนอะไร พูดอะไร ก็ล้วน “เป็นข่าว” เพราะในละครการเมืองไทย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ออกโรงทั้งสองบทบาท คือเป็นทั้งตัวนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์
ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ เมื่อมี “ผู้หวังดี” ส่งแผนผังการปกครองรูปแบบใหม่ไปให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ที่ “นัยว่า” นายทหารระดับสูงผู้ได้รับอิทธิพลคอมมิวนิสต์มีดำริจะนำพาประเทศไทยให้เดินไปในทิศทางนี้ คอลัมน์ “ซอยสวนพลู” วิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด แล้วประกาศกร้าว
“คราวนี้ก็ได้เห็นกันแล้วว่าที่เขาพูดๆ กันนั้นจะออกมาในรูปใด
“แผนอุบาทว์นี้เป็นแผนคอมมิวนิสต์
“ใครจะมาออกรับว่าเป็นแผนของตน แล้วไปฟ้องร้องว่าผมใส่ความหมิ่นประมาท ผมก็จะสู้ความทุกศาล
“ไม่กลัวมึง จะบอกให้ตรงๆ”
คุณชายเคยโอ่ถึงตัวเองด้วยความภาคภูมิไว้ว่า “พูดไปจริงๆ ก็เกิดมาเป็นลูกเจ้าลูกนาย การศึกษาก็สูง พ่อแม่ก็เลี้ยงมาดี…” ดังนั้น คงมีไม่บ่อยครั้งนัก (หรืออาจไม่มีอีกแล้ว) ที่จะมีนักหนังสือพิมพ์ หรือ “สื่อ” ที่รู้อยู่แก่ใจว่า ตนเองนั้น “เหนือกว่า” นายกรัฐมนตรีหรือผู้บัญชาการเหล่าทัพในทุกทาง จนอาจประชดประชัน เหน็บแนม หรือก่นด่าอย่างไรก็ได้
เมื่อนิตยสาร ถนนหนังสือ สัมภาษณ์เขาในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ถึงตัวละครเอกใน สี่แผ่นดิน ที่เขาเขียนขึ้นเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อนว่า
“พลอยเป็นคนเชยมากนะครับ เป็นคนที่อยู่ในกรอบ ใจดี ถูกจับคลุมถุงชนแต่งงานก็หลงรักคุณเปรมได้…ทีนี้คนอ่านคนไทยปลื้มอกปลื้มใจเห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอยก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้น ยังไม่ได้ไปถึงไหนเลย คนอ่านส่วนมากก็เป็นคนระดับแม่พลอยเท่านั้น (หัวเราะ) โง่ฉิบหาย…”
ดูเผินๆ นี่คือการประณามผู้อ่านอย่างถึงที่สุด
หากแต่ถ้าอ่านอีกอย่างหนึ่ง ความหมายอีกชั้นของประโยคข้างบนนี้ อาจเป็นการ “ตีวัวกระทบคราด” เหน็บแนมไปยัง “คุณเปรม” อีกคนหนึ่ง คนที่ไม่ใช่พระยาบทมาลย์บำรุง สามีของแม่พลอย ใน สี่แผ่นดิน รวมถึงคนไทยซึ่งไปหลงปลาบปลื้มพลเอกเปรม ผู้กำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นปีที่ ๕ เสียได้
นายกรัฐมนตรีชายโสดคนนี้ ตกเป็น “เป้า” คำเหน็บแนมของคุณชายเสมอ โดยเฉพาะเรื่อง “อารมณ์บูด”
ครั้งหนึ่ง ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๓๑ เมื่อเครื่องบินที่จะต้องมารับนายกรัฐมนตรีของมิตรประเทศยุโรปมาถึงล่าช้ากว่ากำหนด ท่านนายกฯ ออกอาการหงุดหงิดและพาลไปอาละวาดเอากับเจ้าหน้าที่สุภาพสตรีของสายการบินแห่งชาติ แม้แต่รัฐมนตรีฯ คมนาคมและผู้บัญชาการทหารอากาศก็พลอยโดนหางเลขไปด้วย คุณชายเล่าข่าวนี้ที่อ่านจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษในคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” แล้วหยอดท้ายว่า “อ่านข่าวแล้วก็ได้แต่ตกตะลึงไปพักใหญ่ครับ คนอะไรไม่รู้ ยิ่งแก่ยิ่งงอน…”
ก่อนจะเสนอว่า ต่อไปใครจะตั้งชื่อรหัสให้ท่านนายกฯ ควรตั้งว่า “งามงอน” เป็นดีที่สุด
ในสายตาของลูกศิษย์ เขาคือ “มหาคุรุ”
(ภาพ : หนังสือ นักหนังสือพิมพ์ชื่อคึกฤทธิ์)
ศิลปินแห่งชาติ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเข้ารักษาตัวด้วยโรคปอดบวมอยู่ที่โรงพยาบาลสมิติเวชนั้น เขาเองคือผู้ตั้งชื่อโรงพยาบาลแห่งนั้น และพร้อมกัน เขายังเป็นผู้ก่อตั้งพรรคกิจสังคม เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การและเป็นนักเขียนคนสำคัญที่สุดของหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ
รวมทั้งยังเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘
อีกนัยหนึ่งคือเป็นศิลปินแห่งชาติรุ่นแรกสุด พร้อมกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ (ทัศนศิลป์) ครูมนตรี ตราโมท (ดนตรีไทย) และท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี (นาฏศิลป์)
ก่อนหน้าที่เขาจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติไม่นาน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เคยกล่าวถึงหนังสือของเขาว่า ทราบว่าเฉพาะในหอสมุดแห่งชาติ มีอยู่ประมาณ ๑๕๐ รายการ ส่วนที่อยู่ข้างนอก ไม่ทราบว่ามีอีกเท่าไหร่
แต่ในโลกปัจจุบัน นวนิยายหลายเล่มของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้รับคำวิจารณ์จากคนรุ่นใหม่ว่า “ดัดแปลง” มาจากหนังสือภาษาอังกฤษ โดยไม่ให้เครดิตกับต้นฉบับเดิมมีการระบุกันไปเลยด้วยซ้ำว่าเรื่องใดมาจากเล่มไหน
เช่น หลายชีวิต อันเป็นเรื่องราวของผู้คนร้อยพ่อพันแม่ ตั้งแต่พระเอกลิเก โจร โสเภณี ภิกษุ แพทย์ นักเขียน หม่อมเจ้า ฯลฯ ที่ต้องตายลงพร้อมกันเมื่อเรือเมล์โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาล่มลงกลางพายุฝน จากนั้นจึงย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาของชีวิตทั้งหลายก่อนจะต้องมาถึงจุดจบ นวนิยายเรื่องนี้ถูกหยิบยกไปเทียบเคียงกับ The Bridge of San Luis Rey ของ Thornton Wilder นักเขียนอเมริกัน ที่เริ่มต้นด้วยฉากอุบัติเหตุสะพานเชือกขาด ที่เมืองลิมา เปรู เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๑๔ (พ.ศ.๒๒๕๗–สมัยอยุธยาตอนปลาย) เหตุการณ์นั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตพร้อมกัน ๕ คน บาทหลวงรูปหนึ่งที่พบเห็นเหตุการณ์เกิดคำถามว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีวัตถุประสงค์ใดในการนี้ จึงลงมือสืบสวน ค้นคว้าหาความเป็นมาของบุคคลที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน ว่าเหตุใดจึงมามีอันให้ต้องข้ามสะพานแห่งนั้น ณ เวลาเดียวกัน
ไผ่แดง นวนิยายว่าด้วยหมู่บ้านชาวนาเล็กๆ ห่างไกลในชนบทภาคกลาง เมื่อมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่าง แกว่น แก่นกำจร ชาวนาหัวเอียงซ้าย กับสมภารกร่างแห่งวัดไผ่แดง เพื่อนรักวัยเยาว์ โดยมี “หลวงพ่อ” พระประธานในโบสถ์ คอยส่งเสียงพูดคุย ซักถาม โต้แย้ง หรือเหน็บแนมสมภารกร่างเป็นระยะๆ หลายฉากหลายตอนใกล้เคียงอย่างยิ่งกับ The Little World of Don Camillo ของนักเขียนอิตาลี เพียงแต่เปลี่ยนฉากเป็นเมืองชนบทอิตาลีตอนเหนือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเปลี่ยนตัวละครเป็นนายกเทศมนตรีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ บาทหลวงคาทอลิก กับรูปพระเยซูบนไม้กางเขนในโบสถ์แทน
หรือ กาเหว่าที่บางเพลง นวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องเดียวของคุณชายคึกฤทธิ์ ว่าด้วยมนุษย์ต่างดาวมา “ฝาก” ตัวอ่อนไว้ในร่างของผู้หญิง ๒๑๔ คนที่กิ่งอำเภอบางเพลง ทั้งสาวแก่แม่ม่ายและยายชี เมื่อคืนวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ เรื่องนี้มีคู่แฝดเป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง The Midwich Cuckoos ของ John Wyndham ซึ่งต่อมาถูกสร้างเป็นภาพยนตร์อีกสองครั้งในชื่อ Village of the Damned
ทว่าถ้าย้อนถอยหลังกลับไปจากโลกปัจจุบัน เมืองไทยยุคเมื่อศตวรรษก่อน จนมาถึงเมื่อยี่สิบปีมานี้ เรื่องลิขสิทธิ์ไม่เคยเป็นประเด็นสำคัญ ในหมู่นักดนตรีการนำเอาทำนองเพลงฝรั่งมาใส่เนื้อร้องภาษาไทยเป็นเรื่องปรกติ บ่อยครั้งที่เอามาหมดกระทั่งการเรียบเรียงเสียงประสาน ตลอดจนเนื้อความของคำร้อง
ส่วนแวดวงนักเขียนไทย ก็มีทั้งการ “แปล” และ “แปลง” ต้นฉบับนวนิยายภาษาอังกฤษเป็นพากย์ไทยกันอย่างแพร่หลาย บางรายอาจบอกให้ผู้อ่านทราบ แต่ก็มีอีกมากที่ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องแจ้งที่มาที่ไป
ตลอดชีวิตนักหนังสือพิมพ์ คุณชายคึกฤทธิ์วางตัวเองไว้ในฐานะ “ตัวกลาง” หรือ “ข้อต่อ” ที่เชื่อมโยงคนไทยกับโลกภายนอก เขาคือพหูสูต ในความหมายของผู้ที่อ่านมาก ฟังมาก รู้มาก จึงเก็บความจากแหล่งข่าว หรือเรียบเรียงหนังสือภาษาต่างประเทศ นำเอาสถานการณ์จากทั่วโลก มาเล่าให้คนอื่นๆ ในเมืองไทยฟัง เพื่อให้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเรื่องราวนั้นได้รับรู้โลก เสริมด้วยมุมมองส่วนตัวของคุณชาย
คนไทยนั้น ไม่ว่ายุคใดสมัยใด ก็อยากรู้อยากเห็นเรื่องของชาวบ้าน และชอบให้คนมาเล่าเรื่องให้ฟัง
ถึงขนาดมีสำนวนโบราณว่า “เจ๊กตื่นไฟ ไทยตื่นข่าว”
จึงสมควรถือได้ว่าเขาเป็นบรรพชนของ “นักเล่าข่าว” ที่มีอยู่เกลื่อนกล่นในทุกวันนี้
และด้วยทักษะอย่างเดียวกัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยังมีบทบาทสำคัญในการนำเอาความเป็นไทยไปสู่โลกภายนอก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ ไปทรงเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรปในปี พ.ศ.๒๕๐๓ เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นทีมประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าไปให้สัมภาษณ์แก่สื่อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย และคอยตามเสด็จตลอดการเดินทาง
นับแต่นั้นมา เขาจึงกลายเป็น “เอเยนต์” ในการอธิบายความลุ่มลึกของอารยธรรมไทยให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกถึงขนาดที่เจ้าตัวเล่าไว้เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ว่า “ทุกวันนี้มีแต่ฝรั่งโทรศัพท์มาขอพบวันละหลายๆ คน เป็นนักหนังสือพิมพ์บ้าง นักวิทยุบ้าง โทรทัศน์บ้าง และนักอะไรต่ออะไร ตลอดจนนักท่องเที่ยว มาถึงเมืองไทยก็ต้องมาพบผมราวกับว่าผมเป็นพระนอนวัดโพธิ์ ครั้นจะยอมให้พบหมดทุกคน ก็เห็นจะไม่ต้องทำมาหากินกัน บางคนปฏิเสธขอตัวไปอย่างสุภาพก็ไม่ยอม คงดื้อดึงจะพบให้ได้ บางทีก็บุกมาถึงบ้าน ต้องนั่งให้สัมภาษณ์กันทั้งที่นุ่งผ้าขาวม้าอยู่ น่ากลุ้มใจเต็มที”
ดังนั้น ความสำเร็จสูงสุดอย่างหนึ่งของคุณชายคึกฤทธิ์ แท้จริงแล้ว คือการเป็น “ผู้เล่าเรื่อง”
เขามีพร้อมทุกอย่างสำหรับการนั้น
รองพื้นด้วยความชำนาญภาษาต่างประเทศ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และภาษาบาลี
ผนวกด้วยโอกาสเข้าถึงข้อมูลล่าสุดได้มากกว่าคนไทยทั่วไป
สอดไส้ภูมิรู้ทั้งในอารยธรรมทั้งฝ่ายตะวันตกตะวันออก ประกอบกับความสนใจพิเศษในเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม พุทธศาสนา นาฏศิลป์ รวมทั้งเรื่องอาหารการกิน
คลุกเคล้ากับอุดมการณ์และทัศนะส่วนตัวแบบหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์
ก่อนจะชุบเคลือบด้วยกลวิธีการเขียนการพูด และภาษาที่ดีเยี่ยมเป็นขั้นตอนสุดท้าย
เขาทำเช่นนี้มาตั้งแต่นิยายเรื่องแรกของเขา ในปี พ.ศ.๒๔๙๓
คึกฤทธิ์เล่าเรื่องสามก๊กใหม่จากมุมมองของเขา ด้วยชื่อเรื่อง สามก๊ก ฉบับนายทุน เพื่อล้อเลียน สามก๊ก ฉบับวณิพก ของยาขอบ โดยจับตอนว่าด้วย “โจโฉ นายกรัฐมนตรีตลอดกาล” เพื่อเสียดสีนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้รับฉายาทำนองเดียวกันนั้น
เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ ตำนานหนังสือสามก๊ก (พ.ศ.๒๔๖๖) ทรงปรารภไว้ว่า “หนังสือสามก๊กนั้นแต่งดีจริง แต่ผู้แต่งเป็นพวกเล่าปี่…ถ้าหากพวกโจโฉแต่งสามก๊ก ก็อาจดำเนินความในเรื่องสามก๊กให้ผู้อ่านเข้าใจกลับกันไปได้ ว่าโจโฉเป็นผู้ทำนุบำรุงแผ่นดิน ฝ่ายเล่าปี่เป็นผู้คิดร้าย” สิ่งที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ทำใน “โจโฉ นายกรัฐมนตรีตลอดกาล” คือการลองเล่าเรื่องสามก๊กจากมุมของฝ่ายโจโฉบ้าง
หนังสือทั้งนิยายและสารคดีต่างประเทศของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์อีกหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ฮวนนั้ง ซูสีไทเฮา ฝรั่งศักดินา พม่าเสียเมือง ยิว ฉากญี่ปุ่น ล้วนมีหนังสือภาษาอังกฤษเป็นจุดเริ่มต้น โดยคุณชายมักใช้วิธีเดียวกัน คือเก็บความมาเล่าไว้ สลับด้วยการแสดงทัศนะ หรืออธิบายความเพิ่มเติมไปตามอัตโนมัติ บ่อยครั้งมักแทรกเรื่องการเมืองร่วมสมัย หรือการเหน็บแนมเหตุการณ์ ตลอดจน “ใครบางคน” ที่ผู้อ่านร่วมยุคย่อมรู้กันดีโดยไม่ต้องอธิบาย
บ้านซอยสวนพลูในปัจจุบันคือบ้านเรือนไทยกลางสวนสวย
ท่ามกลางวงล้อมของหมู่ตึกทะมึน (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์)
บุคคลสำคัญของโลก
“ฉันอยู่มานานเต็มที คุณเปรม…ได้เห็นอะไรที่ไม่นึกว่าจะเห็น และไม่อยากจะเห็น…ฉันอยู่มาถึงสี่แผ่นดินแล้ว คุณเปรม…สี่แผ่นดิน…นานหนักหนา…ฉันเหนื่อยเต็มที เหนื่อยจะขาดใจ…คนสี่แผ่นดินนั้นแก่เกินไปกระมัง หรือว่าฉันจะเหนื่อยเพราะเรื่องอื่นก็ไม่รู้…สี่แผ่นดิน…”
๑๐.๕๘ น. วันจันทร์ที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๘ ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นปีที่ ๕๐ ในรัชกาลปัจจุบัน ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรมที่โรงพยาบาลสมิติเวช สิริอายุได้ ๘๔ ปี นับรวมชีวิตของเขาได้สี่แผ่นดินเช่นเดียวกับแม่พลอย ผู้ซึ่งถึงแก่กรรมที่บ้านคลองบางหลวงไปเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙
สิบหกปีก่อนหน้า ในปี พ.ศ.๒๕๒๔ เคยมีผู้อ่านเขียนจดหมายถึงคุณชาย ปรารภว่า “ขอให้คุณเขียนหนังสือไปนานๆ รักษาตัวให้ดี ถ้าไม่มีคุณสักคนแล้ว เมืองไทยคงจะเหงามากทีเดียว” จดหมายฉบับนั้นเร้าอารมณ์ให้เขาฉวยเอาการ์ดแต่งงานของลูกศิษย์ที่อยู่ใกล้มือมาพลิกด้านหลัง เขียนกลอนตอบไว้ว่า
มันจะผิดแปลกไปที่ไหนนั่น
ทิวาวารยังจะแจ้งแสงตะวัน
ยามราตรีมีพระจันทร์กระจ่างตา ไก่จะยังขานขับรับอุทัย
ฝนจะพรำร่ำไปในพรรษา
คลื่นจะยังกระทบฝั่งไม่สร่างซา
สกุณายังจะร้องระงมไพร
ลมจะพัดชายเขาเหมือนเก่าก่อน
ถึงหน้าร้อนไม้จะออกดอกไสว
เข้าหน้าหนาวหนุ่มสาวจะเร้าใจ
ให้ฝันใฝ่ในสวาสดิ์ไม่คลาดคลา
ประเวณียังจะอยู่คู่ฟ้าดิน
ไม่สุดสิ้นในความเสน่หา
คนที่รักคึกฤทธิ์อย่าคิดระอา
เพียงนึกถึงก็จะมาอยู่ข้างกาย
คอยเข้าปลอบประโลมใจในยามทุกข์
เมื่อมีสุขก็จะร่วมอารมณ์หมาย
เมื่อรักแล้วไหนจะขาดสวาสดิ์วาย
ถึงตัวตายใจยังชิดมวลมิตรเอย
โดยสรุปก็คือจะมีหรือไม่มีคึกฤทธิ์ โลกก็คงยังหมุนต่อไปตามเดิมนั่นแหละ ไม่ต้องไปทำอะไรหรอก
คุณชายอาจนึกไม่ถึงว่า ในอีกหลายปีต่อมา เมื่อโลกนี้ไม่มีคนชื่อ คึกฤทธิ์ ปราโมช แล้ว รัฐบาลจะเสนอชื่อเขาให้องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO-ยูเนสโก) ประกาศยกย่องให้เป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาล จะมีทั้งแสตมป์ที่ออกในวาระสำคัญนี้ถึง ๔ ดวง เกิดหน่วยงานและสถานที่ของ “สถาบันคึกฤทธิ์” อย่างเป็นหลักเป็นฐาน มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่งเขียนหนังสือในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซที่เพิ่งเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ รวมกับบรรดาบุคคลสำคัญของโลก
ภายในปีนี้ ผู้ชมชาวไทยคงได้มีโอกาสดูทั้ง สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัลละครเพลงฟอร์มยักษ์ในการอำนวยการและการกำกับการแสดงของ “บอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ และภาพยนตร์ อุโมงค์ผาเมือง ฝีมือ “หม่อมน้อย” ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ใช้บทละคร “ราโชมอน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แต่เปลี่ยนจากฉากญี่ปุ่นโบราณให้เป็นล้านนายุคดึกดำบรรพ์แทน
รวมทั้งยังแว่วมาว่าอีกไม่ช้าไม่นาน จะมี ซูสีไทเฮา เดอะมิวสิคัล ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากนวนิยายของคุณชาย ประพันธ์เพลงโดย สุรุจ ปรีดารัตน์ รวมทั้งมีการวางตัวให้ “น้ำมนต์” ธีรนัยน์ ณ หนองคาย นักร้องและนางเอกละครเพลงผู้มีชื่อเสียงรับบทนำไว้แล้วล่วงหน้า
นับแต่วันคล้ายวันเกิดคุณชายในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ ไปอีก ๑ ปีเต็มคงจะยังมีอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นเนื่องด้วยวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
แต่พร้อมกันนั้น เมื่อถึงวันนี้ หลายสิ่งที่คุณชายสร้างไว้ บ้างล่มสลายไปตามกาลแล้ว บางสิ่งยังเหลือแต่ชื่อ ขณะที่อีกหลายอย่างยังคงได้รับการสืบสานต่อมา
โครงการหนังสือแนวสารานุกรมชุด “ลักษณะไทย” ของธนาคารกรุงเทพที่คุณชายเป็นผู้ริเริ่ม พร้อมรับตำแหน่งบรรณาธิการคนแรกและร่วมเขียนให้ในบางหัวข้อ จากเดิมที่มีกำหนดออกในวาระ ๒๐๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ ยังคงดำเนินการต่อมาจนออกได้ครบชุด ๔ เล่ม ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ หรือสิบกว่าปีหลังจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ถึงแก่อสัญกรรม
เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี หลายต่อหลายเล่มที่มีลายเซ็น “คึกฤทธิ์ ปราโมช” บนหน้าปก ยังคงตีพิมพ์ซ้ำอยู่นับครั้งไม่ถ้วน ขณะที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ อันเป็นแดนเกิดของผลงานเหล่านั้นแม้จะยังคงเปิดดำเนินการอยู่ในสำนักงานริมถนราชดำเนินกลางออฟฟิซดั้งเดิมตั้งแต่ยุคก่อตั้ง แต่ก็สูญเสียฐานะของ “สื่อหลัก” ไปเนิ่นนานแล้ว
ศิษย์เก่าจากชายคา สยามรัฐ มากหน้าหลายตากลายเป็นบุคคลสำคัญของประเทศในวงการนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักการเมืองรุ่นต่อๆ มา นับแต่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์, ขรรค์ชัย บุนปาน,สุจิตต์ วงษ์เทศ, สุทธิชัย หยุ่น, เสถียร จันทิมาธร, สมัคร สุนทรเวช, วีระ มุสิกพงศ์ ฯลฯ
พรรคกิจสังคม แม้จะยังอยู่แต่ก็กลายเป็นพรรคขนาดเล็กที่มีจำนวน ส.ส. เพียงหยิบมือ
ส่วนบ้านซอยสวนพลูได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ประเภทบ้านพักอาศัยของบุคคลสำคัญ ทั้งยังได้รับการรักษาไว้ในสภาพดี เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวเพื่อระลึกถึงเจ้าของบ้านผู้ล่วงลับ พร้อมกันนั้น ทายาทยังเปิดให้สาธารณชนได้ใช้ประโยชน์ตามสมควร ที่นั่นจึงกลายเป็นฉากหลังให้แก่งานแต่งงานระดับหรูของเมืองกรุงอีกแห่งหนึ่ง
แต่เมื่อมี “ดอกไม้” ย่อมมี “ก้อนอิฐ” เป็นของคู่กัน
ต้นปี พ.ศ.๒๕๕๒ ส. ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามนักวิจารณ์สังคมเขียนจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการที่รัฐบาลไทยเสนอชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ให้ยูเนสโกประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลก บางตอนประณามว่า “สี่แผ่นดิน นั้นเป็นนวนิยายที่ใช้ล้างสมองให้คนเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของเลว ราชาธิปไตยเป็นของวิเศษ ชาติวุฒิสำคัญยิ่งกว่าคุณวุฒิของสามัญชนคนธรรมดา…ทั้งนี้มิไยต้องเอ่ยถึงว่า ไผ่แดง ก็ดี กาเหว่าที่บางเพลง ก็ดี แม้จน ฮวนนั้ง และ ซูสีไทเฮา ก็ล้วนลอกเลียนเอามาจากฝรั่งอย่างหน้าด้านๆ อีกด้วย ในวงวรรณกรรมสากล ถือว่านี่คือการขโมยหรือปล้นสะดมมาเลยทีเดียว แล้วบุคคลเช่นนี้ละหรือที่ควรเป็นบุคคลสำคัญของโลก ยังการที่เขาดูถูกสาธารณรัฐประชาชนลาว โดยกล่าวหาว่าเลวร้ายและล้าหลัง จนถึงจะข้ามไปเผาเวียงจันทน์ด้วยแล้วนี่มิเป็นการสร้างความอหังการอย่างผิดๆ ให้นักอ่านไทย ในกระแสชาตินิยมดอกหรือ”
ประเด็นหลังที่อาจารย์สุลักษณ์กล่าวถึงนี้ คือ ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ เมื่อปัญหาการสู้รบชายแดนไทย-ลาว ที่บ้านร่มเกล้า จังหวัดพิษณุโลก ยุติลงไม่นาน คอลัมน์ซอยสวนพลูพูดถึงข่าวผู้นำทางทหารของลาวที่เดินทางมาเยือนไทยและวิจารณ์การทูตแบบ “ตีสองหน้า” ของลาว ก่อนจะสรุปว่า “เชื่อผมเถอะครับ เมืองเวียงจันทน์นั้น ถ้าไม่เผาให้หมดไป เรื่องไม่มีหมดหรอก”
ทัศนะชาตินิยมสุดขั้วทำนองนี้อาจถูกอกถูกใจคนบางกลุ่มบางเครือข่ายในปัจจุบัน แต่ก็พึงใช้ความพิเคราะห์ว่ายังเป็นเรื่องเหมาะควรในโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ หรือไม่
เช่นเดียวกับที่ใน ถกเขมร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ยืนยันหนักแน่นในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ว่า “เราเชื่อว่าพวกขอมโบราณนั้นคงจะไม่ใช่เขมรทุกวันนี้เป็นแน่ เราเชื่อไม่ได้เลยว่าคนที่นุ่งกางเกงในถอดเสื้อมีผ้าขาวม้าคล้องคอ เที่ยวขายมีดด้ามเขาอีเก้งและหน้าไม้ให้แก่นักท่องเที่ยวตามโบราณสถานนั้น จะสืบเชื้อสายมาจากคนที่ออกแบบและก่อสร้างปราสาทหินเหล่านั้นขึ้นมา…”
ก่อนจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า “ตามความเห็นของเรา เขมรก็เป็นเขมรไทยก็เป็นไทย และขอมก็เป็นขอม เป็นคนอีกชาติหนึ่งเผ่าหนึ่งที่เคยปกครองทั้งเมืองไทยและเมืองเขมรแต่บัดนี้สาบสูญไปแล้ว”
ไม่น่าเชื่อว่า เกือบหกสิบปีต่อมา เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างในภูมิภาคเปลี่ยนไปจากเดิมจนหมดสิ้น ถกเขมร จะยังเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญของคนไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ผู้คน และวัฒนธรรมกัมพูชา ซ้ำร้าย คนไทยทั่วไปดูจะพอใจที่จะรู้และเชื่ออยู่เพียงเท่านั้น ดังนั้น ทัศนะของคุณชายจึงยังถูกสื่อไทยนำมาพูดซ้ำอยู่เสมอๆ เมื่อมีการกล่าวอ้างถึงเรื่องปราสาทหิน โดยเฉพาะเรื่องปราสาทพระวิหาร
กรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร หรือที่กัมพูชาเรียกว่า “เปรี๊ยะวิเฮียร์” นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย
ตั้งแต่เริ่มมีข้อขัดแย้งและกัมพูชานำคดีขึ้นสู่ศาลโลกในต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เคยเขียนกลอนแปดประณามไว้ ขึ้นต้นว่า
“สัปดาห์นี้มีเรื่องความเมืองใหญ่
ไทยถูกฟ้องขับไล่ขึ้นโรงศาล
เคยเป็นเรื่องโต้เถียงกันมานาน
ที่ยอดเขาพระวิหารรู้ทั่วกัน”
ก่อนที่จะกล่าวต่อว่าที่ผ่านมา ไทยเห็นว่าเขมรเพิ่งได้รับเอกราช ยังอ่อนด้อย ไม่อยากถือสาหาความ แตเขมรกลับกำเริบเสิบสาน ก่อนจะกล่าวลำเลิกขึ้นไปถึงต้นราชวงศ์กษัตริย์กัมพูชาปัจจุบัน ว่าที่เป็นใหญ่ขึ้นมาได้ก็ด้วยการชุบเลี้ยงของไทย แต่มาบัดนี้ ลูกหลานกลับเนรคุณเสียแล้ว ฯลฯ
ไม่น่าเชื่อเช่นกันว่า กลอนชิ้นนี้ที่แต่งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๒ จะยังถูกอกถูกใจคนร่วมสมัยในอีกครึ่งศตวรรษต่อมา ถึงขนาดถูกนำมา “แชร์” กันอย่างแพร่หลายทางอินเทอร์เน็ต ช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๕๔ จนทำให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยรู้จักชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้มักคุ้นและปลาบปลื้มกับเขา ผ่านทาง “กลอนด่าเขมร” เป็นครั้งแรก
ในการอภิปรายที่หอสมุดแห่งชาติราวปี พ.ศ.๒๕๑๘
เคยมีคนถามเขา “ถ้าแม่พลอยยังมีชีวิตอยู่มาจนทุกวันนี้ จะเป็นอย่างไร”
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ตอบว่า “ก็คงไปเป็นลูกเสือชาวบ้าน…นั่นละ…แม่พลอย…”
ถึง พ.ศ.นี้ ในวาระครบ ๑๐๐ ปีวันเกิดของเขา ผู้ซึ่งรัฐบาลไทยเสนอชื่อให้ยูเนสโกประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลก หากมีใครถามขึ้นว่า “ถ้าคุณคึกฤทธิ์ยังอยู่ จะว่าอย่างไร”
ผู้เขียนบทความเรื่องนี้คงไม่กล้าตอบเพียงแต่สงสัยว่าคุณชายอาจย้อนให้ว่ายูเนสโกเป็นใคร ถึงจะมาเที่ยวชี้ว่าคนโน้นคนนี้สำคัญหรือไม่สำคัญ
ก็หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นคนสำคัญอยู่แล้ว !
ขอขอบพระคุณ
คุณอรุณ วัชระสวัสดิ์, ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล, บริษัท บ้านหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช จำกัด, คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, ห้องสมุดศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอขอบคุณ
คุณกฤช เหลือลมัย คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว คุณนิรมล มูนจินดา ผศ. ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คุณพนิตศรณ์ บุญตั้งวิชาวงศ์ คุณวิชญดา ทองแดง คุณวาดฝัน คุณาวงศ์ คุณสมหญิง ศรีวัฒนพงศ์ คุณ “สองขา” อาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คุณสุภาภรณ์ อัษฏมงคล สำหรับข้อมูล ความคิดเห็น และข้อวิจารณ์ฉบับร่างของบทความเรื่องนี้
หมายเหตุ
สำหรับคนที่รักใคร่นับถือ หรือลูกศิษย์ของคุณชายคึกฤทธิ์ ย่อมรู้สึกว่าบทความนี้ยังพูดถึงคุณงามความดี ความยิ่งใหญ่ ความเป็นปราชญ์ ความเป็นศิลปิน หรือคุณูปการของท่านต่อระบอบประชาธิปไตยไทยได้ไม่หมดจด รวมทั้งยังมีน้ำเสียงที่ดูจะไม่มีความเคารพท่านผู้วายชนม์เท่าที่ควร
ขณะที่ผู้ซึ่งมิได้ชื่นชอบ หรือไม่รักใคร่ไยดี ก็คงแคลงใจว่านี่คือบทความสรรเสริญเยินยอหรืออย่างไร เหตุใดจึงไม่กล่าวถึงความกลับกลอกมักใหญ่ใฝ่สูง หรือการประจบประแจงผู้มีอำนาจของเขาให้มากกว่านี้
แน่นอนว่าทั้งสองสิ่งล้วนไม่อาจกระทำได้ครบถ้วนรอบด้านภายในบทความที่มีความยาวเพียงเท่านี้ วัตถุประสงค์ในเบื้องต้นของผู้เขียนบทความนี้ มีอยู่เพียงสองอย่าง
อย่างหนึ่ง คือเขียนสำหรับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน
คนที่ผ่านยุคของ “เงินผัน” คนที่เคยอ่านเรื่อง “มอม” ในหนังสือเรียนภาษาไทยรวมทั้งคุ้นหน้ากับคุณชายคึกฤทธิ์ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์
สำหรับ “พวกเรา”ข้อเขียนชิ้นนี้อาจนำพาไปสู่วันวัยที่ผ่านพ้นไปนานแล้วอีกครั้ง ตลอดจนพานอาจนึกไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่ผู้เขียนละไว้อีกหลายอย่าง
แต่สำหรับคนรุ่นหลังลงมา รุ่น “เด็ก” ที่อายุ ๓๐ ลงไป
หวังว่า บทความเรื่องนี้จะได้แนะนำให้คุณๆ ได้รู้จักกับบุคคลหนึ่งคนซึ่งเคยมีชีวิต มีบทบาทมากมาย อยู่บนแผ่นดินเดียวกันนี้ บุคคลผู้ซึ่งไม่เหมือนใคร และอาจไม่มีใครเหมือนเขาได้อีกแล้ว
และหากข้อเขียนนี้จะกระตุ้นให้เกิดอยากรู้อยากเห็นอยากอ่านหนังสือของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยขึ้นมาบ้าง
เพียงเท่านี้ก็ต้องถือว่า เป็นความสำเร็จของผู้เขียนในฐานะ “คนเขียนหนังสือ”