ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, ประเวช ตันตราภิรมย์
บรรยากาศการเรียนในโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร
ในภาพเป็นห้องเรียนการสร้างขาเทียมภาคทฤษฎี
ซึ่งจะต้องนำศาสตร์ต่างๆ อาทิ กายวิภาคศาสตร์ ฟิสิกส์
วิทยาศาสตร์ วัสดุศาสตร์ มาบูรณาการเข้าด้วยกัน
กลางปี ๒๕๕๒
วันที่เราไปสังเกตการณ์การเรียนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง เราอุทานกับตัวเองว่า ชั้นเรียนนี้เป็นชั้นเรียนประหลาดที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่เคยเห็นมา
นักเรียนบางคนกำลังแต่งปูนปลาสเตอร์ บางคนนั่งดัดเหล็ก บางคนนั่งเย็บรองเท้า บางคนใส่หน้ากากป้องกันสะเก็ดลูกไฟ
และยังมีเครื่องจักรอีกจำนวนหนึ่ง
ฟังดูคล้ายโรงงานมากกว่าโรงเรียน
แต่ทั้งหมดนี้ผู้เรียนบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนระดับอุดมศึกษาหลักสูตร “กายอุปกรณ์ศาสตรบัณฑิต” ของโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงเรียนกายอุปกรณ์แห่งแรก และแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ริเริ่มผลิต “นักกายอุปกรณ์” (Prosthetist/Orthotist-นักประดิษฐ์อวัยวะเทียม) อย่างจริงจัง
หลักสูตรนี้ต้องเรียนหนักพอๆ กับแพทย์ คนที่เรียนจบจะประกอบอาชีพที่เมืองไทยขาดแคลนที่สุด ต้องทำงานใกล้ชิดผู้สูญเสียอวัยวะด้วยเครื่องมือและทักษะหลากหลาย ไม่ว่ากลศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ ฯลฯ ทั้งยังเรียกร้องความมีไหวพริบทางศิลปะเพื่อผลิต “อวัยวะเทียม” โดยมีจุดหมายสูงสุด คือ
คืนชีวิตที่สมบูรณ์ด้วยอวัยวะครบ ๓๒ ให้คนพิการอีกครั้ง
การทำงาน “ภาคปฏิบัติ” กับผู้ป่วยอาสาสมัคร ในวิชาว่าด้วยการสร้างขาเทียม
สิ่งที่ต้องทำคือการตรวจอวัยวะส่วนพิการอย่างละเอียดเพื่ออ่าน
“ข้อความ”(Message) ที่แพทย์ผู้ผ่าตัดบันทึกไว้บนอวัยวะชิ้นนั้น
และสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้ป่วยเพื่อที่การผลิตอวัยวะเทียม
จะดำเนินไปอย่างราบรื่นและเหมาะกับพวกเขามากที่สุด
นักกายอุปกรณ์ อาชีพใหม่จากโลกเก่า
เมื่อเห็นคนพิการทุพพลภาพ บ่อยครั้งเรามักมีคำอุทานถึงความ “สมประกอบ” ของร่างกายว่า “โชคดีเท่าไรแล้วที่เกิดมาครบ ๓๒” โดยสภาวะร่างกายครบ ๓๒ นั้นนับตามอวัยวะที่มองเห็นจากภายนอกประกอบด้วย
ดวงตา ๒ ข้าง
หู ๒ ข้าง
จมูก ๑ จมูก
ปาก ๑ ปาก
แขน ๒ ข้าง
ขา ๒ ข้าง
มือ ๒ ข้าง
นิ้วมือ ๑๐ นิ้ว
นิ้วเท้า ๑๐ นิ้ว
อวัยวะเหล่านี้เองทำให้กิจวัตรประจำวันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนเป็นไปอย่างราบรื่น
ทว่าถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งหายไป หรือเกิดบิดเบี้ยว คดงอ อ่อนแรง เรื่องง่ายๆ อย่างการแปรงฟันก็อาจกลายเป็นเรื่องเข็นครกขึ้นภูเขาในทันที
เมื่อเกิดความเจ็บป่วยดังกล่าว แพทย์จะส่งต่อไปยัง “นักกายอุปกรณ์”
“นักกายอุปกรณ์” ไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นอาชีพที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับแพทย์และพยาบาลด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา โดยทำหน้าที่ฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยที่มีปัญหาสูญเสียอวัยวะหรือ
มีอวัยวะภายนอกส่วนหนึ่งส่วนใดผิดปรกติ โดยพวกเขาทำหน้าที่สร้าง “กายอุปกรณ์เทียม” ทดแทนอวัยวะที่หายไป และสร้าง “กายอุปกรณ์เสริม” ช่วยให้อวัยวะผิดปรกติกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงปรกติอีกครั้ง
เท่าที่รับรู้กัน อาชีพนักกายอุปกรณ์เพิ่งปรากฏขึ้นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทว่าถ้ามองย้อนกลับไป แรงขับดันที่ทำให้เกิดอาชีพนี้มีมานานแล้วในสังคมมนุษย์
ราว ๑,๐๐๐ ปีก่อน เฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์กรีก บันทึกไว้ว่ามีทหารเปอร์เซียนายหนึ่งตัดเท้าเพื่อหลบหนีจากการเป็นเชลย หลังจากนั้นเขาแทนที่เท้าข้างที่ขาดด้วยอุปกรณ์ทำจากไม้ นั่นคือเรื่องราวของ “อวัยวะเทียม” ที่ปรากฏเป็นครั้งแรกในเอกสารทางประวัติศาสตร์
อีกกรณีหนึ่งคือ Götz von Berlichingen อัศวินเยอรมันในยุคกลางผู้สูญเสียแขนขวาจากสงคราม เขาสร้างแขนเทียมจากเหล็ก และทุกวันนี้แขนเทียมนั้นถูกเก็บรักษาไว้ในปราสาท Jagsthoundsen ในเยอรมนี
จะเห็นได้ว่าในประวัติศาสตร์อวัยวะเทียมมักถูกสร้างขึ้นจากวัตถุดิบและอุปกรณ์ง่ายๆ อาทิ ไม้ เหล็ก ฯลฯ โดยไม่มีหลักวิชาการแต่อย่างใด หากแต่ขึ้นกับความสร้างสรรค์และความพอใจของผู้สร้างเท่านั้น จนช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๕๐ เมื่อการแพทย์เจริญขึ้นจึงมีการพัฒนาหลักวิชาเรื่องอวัยวะเทียมอย่างจริงจัง
หมุดหมายสำคัญคือในปี ค.ศ. ๑๙๕๙ (พ.ศ. ๒๕๐๒) อาจารย์กลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พัฒนาเทคนิคการสร้างอวัยวะเทียมส่วนที่มีความต้องการมากที่สุดคือ “ขา” โดยใช้เบ้าพลาสติก (Plastic socket) ยึดส่วนขาที่เหลืออยู่ของคนไข้เข้ากับวัสดุที่ทำหน้าที่แทนหน้าแข้ง คือไม้เนื้ออ่อนซึ่งถูกขึ้นรูปให้เหมือนขา หน้าแข้งเทียมนี้จะไปต่อกับเท้าเทียม มีการหุ้มส่วนหน้าแข้งด้วยพลาสติกโพลีเอสเตอร์เรซิน (polyester resin) ขาเทียมแบบนี้ต่อมารู้จักกันในแวดวงวิชาการว่า “ขาเทียมแกนนอก” เนื่องจากน้ำหนักตัวคนไข้ที่ใช้ขาเทียมชนิดนี้จะถูกถ่ายลงไปรอบๆ ขา
ต่อมาจึงมีการพัฒนา “ขาเทียมแกนใน” ซึ่งมีวิธีการสร้างโดยสังเขปคือ สร้างเบ้าที่ยึดกับขาที่เหลือของคนไข้ด้วยพลาสติก จากนั้นต่อเข้ากับอุปกรณ์ปรับแนวที่เป็นท่ออะลูมิเนียม ท่ออะลูมิเนียมจะทำหน้าที่รับน้ำหนักแทนหน้าแข้ง จากนั้นติดตั้งเท้าเทียม อาจมีการนำฟองน้ำมาหุ้มกับส่วนหน้าแข้งเพื่อตกแต่งให้คล้ายขาจริงมากที่สุด ขาเทียมชนิดนี้รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “ขาเทียมแกนใน” เพราะขาเทียมแบบนี้ถ่ายน้ำหนักตัวคนไข้ลงสู่แกนหน้าแข้งที่เป็นอะลูมิเนียมซึ่งถูกซ่อนไว้ข้างใน ขาเทียมชนิดนี้สร้างได้เร็ว มีน้ำหนักเบา ต่อมายังกลายเป็นวิธีต้นแบบในการสร้างอวัยวะเทียมส่วนอื่นๆ ที่ใช้สอนในโรงเรียนกายอุปกรณ์ทั่วโลก
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของวงการวัสดุศาสตร์ยังทำให้ขาเทียมแกนในได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง อาทิ เมื่อพลาสติกถูกพัฒนาให้เบาและแข็งแรง นักกายอุปกรณ์ก็สร้างเบ้าที่ดีกว่าเดิมให้คนไข้ได้ เมื่อมีการนำอะลูมิเนียมที่เบาและแข็งแรงมาใช้เป็นแกนหน้าแข้งแทนวัสดุจำพวกไม้ นักกายอุปกรณ์ก็จะออกแบบขาเทียมที่เบากว่าเดิมได้
ตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๕๐ เป็นต้นมา ในโลกตะวันตกยังมีการพัฒนาอวัยวะเทียมส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากขาและแขน อาทิ เท้าเทียม ข้อเข่าเทียม และยังพัฒนา “กายอุปกรณ์เสริม” จำนวนมาก อาทิ เหล็กพยุงขา(Brace) สำหรับผู้มีปัญหาขาลีบเล็กและไม่มีแรง
ในเมืองไทยไม่มีบันทึกเกี่ยวกับการพัฒนางานด้านกายอุปกรณ์มากนัก เท่าที่ปรากฏข้อมูลคือปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่คนไทยป่วยเป็นโรคโปลิโอ (โรคนี้ทำให้ขาผิดรูปร่าง) จำนวนมาก
ปีนั้นมีแผนก “งานกายอุปกรณ์” เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อบริการประชาชน ถือเป็นครั้งแรกที่มีการตั้งแผนกนี้ในโรงพยาบาล แต่เนื่องจากยังไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญศาสตร์ด้านกายอุปกรณ์มากพอ การทำงานก็ยังเป็นไปในลักษณะเรียนรู้พร้อมกับทำงาน ประสิทธิภาพในการผลิตอุปกรณ์เทียมจึงยังไม่ดีนัก
ต้องรอถึงปี ๒๕๒๒ จึงมีการเปิด “โรงเรียนกายอุปกรณ์” ที่โรงพยาบาลเลิดสิน เพื่อผลิต “ช่างกายอุปกรณ์” ระดับอนุปริญญา อย่างไรก็ตามผ่านไป ๑๔ รุ่น โรงเรียนก็ต้องปิดตัวลงในปี ๒๕๓๗ เนื่องจากปัญหาด้านงบประมาณและความไม่พร้อม
ช่วงคาบเกี่ยวในปี ๒๕๓๔ ยังมีการตั้ง “ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ” หน่วยงานระดับกอง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำวิจัย ทำงานวิชาการ และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยและผู้พิการจากโรคต่างๆ โดยศูนย์สิรินธรฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) เปิดหลักสูตรกายอุปกรณ์ระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปกศ.สูง)-อนุปริญญา ในปี ๒๕๓๖ ใช้เวลาเรียน ๓ ปีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แต่เปิดสอนได้ ๕ รุ่นก็ต้องปิดตัวไปอีก
ต่อมาในปี ๒๕๔๕ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และมูลนิธินิปปอน (The Nippon Foundation) ก่อตั้ง “โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร” ขึ้นเพื่อผลิตนักกายอุปกรณ์ระดับปริญญาตรี โดยอยู่ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งนับถึงปัจจุบันก็ถือเป็นปีที่ ๙ ที่เปิดการเรียนการสอนมา
ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามเพื่อแก้ไขสภาวะที่สังคมไทยมีช่างกายอุปกรณ์/นักกายอุปกรณ์เพียง ๓๐๐ คน (ประเมินอย่างไม่เป็นทางการ) ในขณะที่มีผู้พิการถึง ๑.๘๗ ล้านคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, ๒๕๕๐) และคนพิการในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมากยังคงต้องทำอวัยวะเทียมใช้กันเองตามมีตามเกิด
รศ.พญ.กมลทิพย์ หาญผดุงกิจ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร เล่าว่านี่เป็นโรงเรียนผลิตนักกายอุปกรณ์แห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ที่สำคัญ นอกจากสอนบทเรียนทางเทคนิคแล้วยังต้องผลิตนักกายอุปกรณ์ที่เข้าใจและดูแลเพื่อนมนุษย์ผู้พิการได้อย่างแท้จริง
ปี ๑ ปูพื้น “นักกายอุปกรณ์”
วรลักษณ์ ปรากฏมงคล นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ สาขาวิชากายอุปกรณ์ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร
เรื่องราวสมัยเรียนปี ๑ ยังคงชัดเจนในความทรงจำของเธอ
เธอจำได้ว่าชีวิตนักศึกษาปี ๑ ก็ไม่ต่างจากอีกหลายคนที่ยังสับสนกับตัวเอง “เรียนสายวิทย์-คณิตมา สอบติดเพราะเลือกเป็นอันดับ ๓ ที่เลือกเพราะตอนเตรียมสอบเอนทรานซ์ค้นดูสถิติคะแนนแต่ละสาขาวิชา สาขาวิชากายอุปกรณ์ที่ขึ้นด้วยอักษร ก ปรากฏเป็นตัวแรก แรกๆ ก็รู้แค่เรียนเกี่ยวกับการรักษาคน ต้องออกแบบและผลิตอุปกรณ์บางอย่างเท่านั้น”
เธอพบว่าวิชาเรียนในปีแรกนั้นประกอบด้วยวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ อาทิ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ฯลฯ ที่ต้องลงเรียนเป็นปรกติเช่นเดียวกับสาขาวิชาอื่นๆ ในคณะแพทยศาสตร์ แต่สำหรับนักศึกษากายอุปกรณ์ วิชาพิเศษที่เพิ่มมาคือ “วิชาว่ายน้ำ วิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ วิชาเขียนแบบ วิชาที่สอนการใช้โปรแกรม AutoCAD (โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรับการออกแบบทางวิศวกรรม)
“แรกๆ ก็งงว่าทำไมต้องเรียนเพราะเป็นส่วนเกินจากวิชาพื้นฐาน เด็กปี ๑ คนอื่นมีเวลาว่างทำกิจกรรมแต่เราต้องเรียนวิชาเหล่านี้จนไม่มีเวลาว่าง ต่อมาถึงเข้าใจว่าวิชาว่ายน้ำเป็นการเตรียมความแข็งแรงของร่างกายเพราะเมื่อเรียนปีสูงขึ้น ต้องแต่งปูน แบกของ ยกเหล็ก ทำสารพัดอย่าง ส่วนวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ วิชาเขียนแบบ วิชาโปรแกรมออโตแคด ต้องใช้เพื่อออกแบบอุปกรณ์เทียม”
วิชาที่สำคัญที่สุดในปีแรกสำหรับเธอคือ “ศาสตร์ว่าด้วยกายอุปกรณ์เสริมและกายอุปกรณ์เทียม (Introduction to P&O)” ที่ว่าด้วยการทำความรู้จักกับศาสตร์และหน้าที่ของนักกายอุปกรณ์
วรลักษณ์บอกว่าวิชานี้ทำให้รู้จัก “กายอุปกรณ์” และรู้จักภารกิจของนักกายอุปกรณ์ “พูดให้เข้าใจง่ายคือ กายอุปกรณ์เทียมหมายถึงอวัยวะเทียมที่สร้างทดแทนอวัยวะจริง ไม่ว่าขาเทียม แขนเทียม มือเทียม ข้อต่อต่างๆ ที่ทำขึ้นแทนหัวเข่า ข้อศอกจริง ส่วนกายอุปกรณ์เสริมเป็นตัวช่วยอวัยวะที่ผิดปรกติให้กลับมาทำงานได้ใกล้เคียงปรกติมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์พวกแผ่นรองในรองเท้า เหล็กพยุงขา ที่ดัดหลัง เป็นต้น”
เธอยังได้เรียนรู้ว่าหน้าที่ของนักกายอุปกรณ์คือการ “รับไม้ต่อ” จากแพทย์ในการฟื้นฟูคนไข้ และหลักการออกแบบกายอุปกรณ์ทั้ง “เทียม” และ “เสริม” นั้นมีกฎสำคัญคือ หนึ่ง คนไข้ต้องใช้งานได้จริง (Function) สอง สวมใส่สบาย (Comfort) และสาม มีความสวยงาม (Cosmetic)
หลักการทั้งสามนี้จะถูกใช้ในบทเรียนชั้นปีที่สูงขึ้นเมื่อมีการฝึกปฏิบัติจริง นั่นคือทุกครั้งที่แพทย์ตัดขาคนไข้ แพทย์จะทิ้ง “ข้อความ” (message) ไว้ในตอขาส่วนที่เหลือของคนไข้เพื่อสื่อสารกับนักกายอุปกรณ์เสมอ อาทิ จำนวนปุ่มกระดูก จำนวนกล้ามเนื้อที่เหลือ ซึ่งต่อมานักกายอุปกรณ์จะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ในการสร้างกายอุปกรณ์ที่เหมาะที่สุดให้คนไข้ โดยที่คนไข้สวมแล้วต้องใช้ได้โดยไม่มีอาการแทรกซ้อน จึงจะถือเป็นการตอบโจทย์เรื่องการใช้งานได้จริงและสวมใส่สบาย ส่วนโจทย์ข้อสุดท้าย นักกายอุปกรณ์ต้องคิดให้ออกว่าทำอย่างไรอุปกรณ์เทียมจึงทำงานและมีรูปแบบกลมกลืนกับอวัยวะจริงที่สุด เพื่อให้คนไข้ใช้ชีวิตได้อย่างปรกติที่สุดในสังคมที่สาธารณูปโภคทั้งหลายถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับคนที่มีอวัยวะครบ ๓๒ เท่านั้น
ยังไม่นับวิธีสื่อสารกับคนไข้เพื่อวินิจฉัยอาการอันจะนำไปสู่การสร้างกายอุปกรณ์ประเภทต่างๆ ให้เหมาะกับคนไข้แต่ละคนที่มีลักษณะพิการเฉพาะตัวแตกต่างกันไป
การทดสอบเพื่อดูท่าทางการเดินของผู้พิการกับราวคู่อย่างละเอียด
เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การทดสอบนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญ
ที่นักกายอุปกรณ์บันทึกลงใน Assessment Sheet
เพื่อนำมาออกแบบอุปกรณ์เทียมให้เหมาะกับผู้ป่วยมากที่สุด
ปี ๒ ดิกชันนารี อาจารย์ใหญ่ และวิชาแรกของกายอุปกรณ์
เมื่อขึ้นชั้นปีที่ ๒ วรลักษณ์จำได้ว่าต้องหอบดิกชันนารีศัพท์การแพทย์เล่มโตเดินไปมาระหว่างตึกต่างๆ ในโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงที่เรียนอีกแห่งคือศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากปีการศึกษานี้ วิชาต่างๆ ล้วนต้องเรียนกับอาจารย์ชาวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก
นี่คือกำแพงที่เธอและเพื่อนๆ ต้องผ่านไปให้ได้ เพราะ “องค์ความรู้เรื่องกายอุปกรณ์และอาจารย์ส่วนมากมาจากต่างประเทศ ภาษาอังกฤษเป็นปัจจัยสำคัญ จะมีศัพท์ทางการแพทย์เต็มไปหมด ต้องเปิดดิกชันนารีมือระวิง” วรลักษณ์เล่า
วิชาเรียนในชั้นปีนี้เป็นวิชาด้านการแพทย์มากกว่าครึ่ง อาทิ วิชาว่าด้วยการทำงานของอวัยวะต่างๆ วิชาว่าด้วยโรคที่ส่งผลให้อวัยวะผิดปรกติหรือนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะ นอกนั้นคือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ สิทธิในการรับการรักษาของคนไข้
นอกจากนี้ยังมีวิชาที่ต้องเรียนกับ “อาจารย์ใหญ่” (ศพ) เช่นเดียวกับนักศึกษาแพทย์
“คนไม่ค่อยรู้ว่าเราได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ด้วย ปรกติคนที่ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ก่อนคือนักศึกษาแพทย์ เขาจะค่อยๆ เลาะอวัยวะทีละส่วนๆ ศึกษาระบบต่างๆ ในร่างกาย พอเลาะจนเหลือกล้ามเนื้อ ช่วงนั้นนักศึกษากายอุปกรณ์จะได้เข้าไปเรียนเรื่องกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบกระดูก เราต้องท่องจำและรู้จักระบบเหล่านี้ทั้งหมด แต่จะไม่ลึกเท่านักศึกษาแพทย์ ความรู้ตรงนี้จะเป็นฐานให้เราเรียนวิชากายอุปกรณ์ตัวอื่นต่อไป ถามว่ากลัวไหม ก็มีบ้าง แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียน”
วิชาด้านกายอุปกรณ์โดยตรงเริ่มต้นตั้งแต่เทอมแรกของปีนี้เช่นกัน โดยเริ่มจาก “อุปกรณ์เสริมเท้า” หรือแผ่นรองในรองเท้าและเหล็กพยุงขา ทั้งนี้โดยมีหลักการสร้างกายอุปกรณ์ที่ใช้งานได้จริง สวมใส่สบาย และสวยงาม เป็นพื้นฐานในการทำงาน พวกเขาจะจับคู่กันในห้องเรียน และใช้ “เท้าเพื่อน” เป็นต้นแบบในการทำแผ่นรองในรองเท้า
ธวัชชัย จันทร์สอาด นักกายอุปกรณ์และอาจารย์พิเศษโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร อธิบายว่า “โดยธรรมชาติทุกคนพิการแต่กำเนิด เท้า ๒ ข้างปรกติจะมีขนาดต่างกันเล็กน้อย อาจเป็นแต่กำเนิดหรือเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต แผ่นรองเป็นอุปกรณ์เสริมพื้นฐานที่ทุกคนควรใช้และมีความซับซ้อนน้อยที่สุด”
วรลักษณ์และเพื่อนๆ ได้ทดลองสร้างอุปกรณ์เสริมเป็นครั้งแรกโดยเริ่มจากฝึกดูลักษณะเท้า ออกแบบแผ่นรองสำหรับเท้าแต่ละข้าง ตัดวัสดุที่จะนำมาทำให้ได้ขนาด ใช้จักรเย็บผ้าเย็บตกแต่งแผ่นรองเท้าแล้วให้เพื่อนทดลองใช้ เมื่อทดลองดูแล้วใช้งานได้ดี ใส่เดินสบาย ก็จะตกแต่งให้ดีขึ้นโดยลงสีหรือบุลาย
บทเรียนนี้ทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่าอุปกรณ์เสริมแต่ละชิ้นล้วนถูกสร้างขึ้นให้เหมาะสมกับคนคนเดียว หรือเป็น “ผลิตภัณฑ์เฉพาะ” (Custom Made) เท่านั้น
เพราะความเป็น “Custom Made” นี้เองทำให้เราได้ยินอาจารย์ธวัชชัยพูดบ่อยๆ ในห้องว่า การสร้างกายอุปกรณ์เสริม “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เพราะ “นักกายอุปกรณ์ไม่มีทางรู้หรอกว่าคนไข้มีปัญหาแบบไหน มา ๑๐ คนก็มีปัญหา ๑๐ แบบ ต้องพลิกแพลงวิธีสร้างอุปกรณ์ไปเรื่อยๆ คนนี้อาจต้องใช้เหล็กพยุงขาที่มีข้อต่อแปลกๆ อีกคนอาจจะใช้แบบที่ธรรมดาที่สุดก็ได้”
ในชั้นปีนี้ยังมีวิชาที่ทำให้พวกเขาเริ่มสัมผัสกับโลกความจริงของนักกายอุปกรณ์
นั่นก็คือวิชาว่าด้วยการสร้างเหล็กพยุงขา (Brace)นอกจากจะได้เรียนบทเรียนทางทฤษฎีและหน้าที่ของอุปกรณ์เสริมชนิดนี้ว่าช่วยเหลือคนไข้ที่อวัยวะผิดปรกติด้วยแรงกระทำจากภายนอก (การดัด) เพื่อให้อวัยวะส่วนนั้นกลับสู่ภาวะใกล้เคียงปรกติมากที่สุดแล้ว นักศึกษายังได้เจอ “ของจริง” คือคนไข้ที่อาสามาเป็นแบบฝึกหัดให้พวกเขาฝึกวินิจฉัยอาการว่าควรสร้างกายอุปกรณ์แบบใด
นอกจากการพิจารณาความพิการจากภายนอกแล้ว การฝึกทักษะการสื่อสารกับคนไข้ก็ถือเป็นแบบฝึกหัดสำคัญ เพราะการพูดคุยคือทางเดียวที่จะวินิจฉัยอาการและรู้ว่าควรสร้างอุปกรณ์อะไรที่เหมาะสมที่สุดกับคนไข้
วรลักษณ์จำหลักการนี้ได้ดี ด้วยนี่คือหัวใจของการเรียนวิชากายอุปกรณ์
“หัวใจก็คือทำยังไงให้คนไข้เชื่อใจและตอบตรงความเป็นจริงที่สุด ตั้งแต่ตอนตรวจไปจนถึงขั้นทดลองใช้กายอุปกรณ์ ถ้าตรวจไม่ได้ก็ทำงานไม่ได้ หรือตรวจแล้วได้ข้อมูลคลาดเคลื่อน กายอุปกรณ์ที่ทำขึ้นมาก็อาจไม่ถูกใช้งาน หรือคนไข้ใช้แล้วเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น เกิดอาการกดเจ็บเพราะอุปกรณ์เทียมรัดแน่นเกินไป”
ชื่อ–อายุ–สาเหตุความผิดปรกติ–ประวัติการรักษาของแพทย์ย้อนหลัง ๕ ปี–ระยะเวลาที่พิการ–ประวัติการใช้กายอุปกรณ์เสริม–ลักษณะที่อยู่อาศัย คือข้อมูลชุดแรกที่ถูกจดลงใน Assessment Sheet
“เราต้องรับฟังคนไข้ว่าเขาเจออะไรมา บางคนเพิ่งผ่านอุบัติเหตุมา เล่าไปน้ำตาซึม เราต้องฟังและเข้าใจ แต่ไม่ใช่นั่งร้องไห้กับเขา”
ถัดจากข้อมูลชุดแรก ข้อมูลชุดที่ ๒ จะมาจากการตรวจสอบสถานภาพผู้ป่วย
“ช่วงตรวจคนไข้ ห้องเรียนจะถูกแปรสภาพเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ มีราวคู่ให้คนไข้จับขณะทดสอบเดินเพื่อป้องกันการหกล้ม มีเครื่องมือจำนวนมากที่ต้องใช้ในการตรวจ เช่น บรรทัดวัดองศา (Goniometer) สำหรับวัดองศาการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ลูกดิ่งสำหรับตรวจความสมดุล แผ่นตรวจเช็กความสูงกรณีขาสองข้างไม่เท่ากันเรายังดูเรื่องกล้ามเนื้อว่ามีกำลังเหลือแค่ไหน อาจให้ยกขาโดยเทียบระหว่างขาข้างที่ผิดปรกติกับข้างที่ปรกติ ดูท่าเดินทั้งแบบที่ใส่และไม่ใส่กายอุปกรณ์ จากนั้นในคาบเรียนต่อมาก็จะมีการหล่อแบบตอขาข้างที่ผิดปรกติของคนไข้”
การหล่อแบบตอขาจะเริ่มจาก “เข้าเฝือก” ขาข้างที่ผิดปรกติ เมื่อเฝือกแข็งตัวมันจะถูกตัดออกทันที และจะกลายเป็นแม่พิมพ์ในการหล่อแบบตอขาที่ทำจากปูนปลาสเตอร์ซึ่งมีขนาดเท่าขาคนไข้
ขั้นตอนนี้นักศึกษากายอุปกรณ์ต้องแปลงร่างเป็นช่างแต่งปูนและทำงานคลุกฝุ่นพักใหญ่ๆเพื่อให้ได้หุ่นตอขาสำหรับเป็นหุ่นต้นแบบประกอบการสร้างกายอุปกรณ์แทนการกักคนไข้ไว้ที่โรงพยาบาล โดยต้องทำให้หุ่นตอขาใกล้เคียงขาข้างที่ผิดปรกติมากที่สุด จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการผลิต “เบ้า” (Socket) ซึ่งทำหน้าที่เป็นปลอกสวมตอขาผู้ป่วย เป็นที่ลงน้ำหนักของขาข้างที่ผิดปรกติ และทำหน้าที่เป็นรยางค์เชื่อมท่อนขาที่ลีบเล็กเข้ากับเหล็กพยุงขา
ถึงตรงนี้พวกเขาต้องเปลี่ยนบทบาทจากช่างแต่งปูนมาเป็นวิศวกรในโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้องเปลี่ยนมาใส่ถุงมือกันความร้อน แว่นตานิรภัย ทำงานกับเครื่องกรอปูน เครื่องดูดอากาศ และตู้อบความร้อนสูง
เริ่มจากเอาพลาสติกทำเบ้าซึ่งส่งมาจากโรงงาน ลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมคล้ายฟิวเจอร์บอร์ดขนาดเล็ก อบในตู้อบความร้อนสูงเพื่อให้อ่อนตัวจนหุ้มเข้ากับหุ่นตอขาปูนได้ เมื่อพลาสติกเย็นลงก็จะได้เบ้าพลาสติกที่สวมเข้ากับตอขาคนไข้ได้พอดี หลังจากนี้ก็คือการขุดปูนปลาสเตอร์จากเบ้า และนำเบ้านั้นมาตกแต่งให้ได้ขนาด โดยมีข้อมูลจาก Assessment Sheet ทั้ง ๒ ชุดเป็นเข็มทิศ
จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการติดตั้งโครงเหล็กเข้ากับเบ้า “ระหว่างนี้ต้องดัดเหล็ก ทุบเหล็ก ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำให้มันเป็นรูปเป็นร่าง บางทีผู้ช่วยอาจารย์หรือเพื่อนๆ ก็มาช่วย แต่ส่วนมากอาจารย์เน้นให้ทำเองเพราะโลกการทำงานจริงเราจะไม่มีผู้ช่วยเลย” วรลักษณ์เล่า
กรณีเหล็กพยุงขา ศักยภาพที่จะปรับแก้ท่าเดินของคนไข้ให้กลับสู่ภาวะปรกติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะกายอุปกรณ์เสริมนอกจากปรับแก้การเดินแล้ว มันยังมีอีกบทบาทคือการรักษาในระยะยาวด้วย
เมื่อสร้างเสร็จก็จะเชิญคนไข้มาทดลองใช้อีกครั้ง จากนั้นจึงสรุปกรณีและทำเป็นรายงาน (Logbook)เสนอในการสอบต่อไป
อาจารย์กำลังอธิบายขั้นตอนเข้าเฝือกเพื่อทำหุ่นตอขา
ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกในการสร้างอุปกรณ์เทียมและอุปกรณ์เสริม
การตกแต่งตอขาจำลองที่มีลักษณะเหมือนขาจริงของคนไข้ซึ่งได้จาก
การเข้าเฝือกและใช้เฝือกนั้นเป็นแม่พิมพ์ในการหล่อหุ่นต่อขาขึ้นมา
การขึ้นเบ้าพลาสติกเพื่อสร้างเหล็กพยุงขา โดยมีหุ่นตอขา
ทำหน้าที่เป็นแบบแทนขาจริงของคนไข้
ปี ๓ กายอุปกรณ์ระดับกลางและรองเท้า
พอขึ้นปี ๓ เมื่อชั่วโมงเรียนส่วนใหญ่ย้ายมาที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี วรลักษณ์พบว่าการสร้างอุปกรณ์เทียมไม่ใช่เรื่องง่าย
เธอพบว่าเรื่องนี้มีโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้อวัยวะไร้ชีวิตทำงานร่วมกับอวัยวะมีชีวิตได้อย่างราบรื่น
ในความเป็นจริง ชั้นปีที่ ๓ มีหลายวิชาที่สอนการสร้างอุปกรณ์เทียมให้คนไข้ที่สูญเสียอวัยวะส่วนต่างๆ อาทิ แขน ขา เท้า ตามระดับความซับซ้อน วิชาที่น่าสนใจที่สุดในชั้นปีนี้คือการสร้างกายอุปกรณ์เทียมว่าด้วยเรื่องแขน
เราตามรุ่นน้องวรลักษณ์ไปเรียนวิชาหลักที่ว่าด้วย “แขน” ที่แบ่งเป็น ๓ ระดับการขาด คือ ใต้ศอก เหนือศอก และระดับศอก
ชั่วโมงเรียนนี้สอนว่าเรื่องแขนไม่ว่าจะขาดระดับใด นักศึกษากายอุปกรณ์ต้องเรียนรู้หลักการที่ว่า การสร้างแขนเทียมต้องคิดเรื่องการใช้งาน (function) เป็นสำคัญ
“ดูว่าคนไข้เอาไปทำอะไร ประกอบอาชีพแบบไหน เพราะแขนเทียมมี ๒ แบบ คือ สวยงาม (Cosmetic Type) แต่เคลื่อนไหวข้อต่างๆ ไม่ได้ กับอีกแบบคือแขนเทียมใช้งาน (Functional Type) ที่พวกเราเรียกเล่นๆ ว่าแขนกัปตันฮุก ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่มือเป็นรูปตะขอเปิดปิดใช้หยิบจับสิ่งของได้ ถ้าคนไข้เป็นเกษตรกรทำงานในไร่ในนาก็จะต้องใช้แขนเทียมที่ทำงานได้” วรลักษณ์อธิบาย
ไม่ต่างกับวิชาสร้างกายอุปกรณ์เทียมส่วนก่อนหน้านี้ วิชาสร้างแขนเทียมเริ่มด้วยภาคทฤษฎีว่าด้วยลักษณะการตัดขาดของแขน ชนิดของอุปกรณ์ที่ประกอบขึ้นเป็นแขนเทียม ชนิดวัสดุที่นำมาใช้งานได้
เมื่อถึงเวลาวินิจฉัยคนไข้อาสาสมัคร หลักการเรื่องสวมใส่สบาย (Comfort) ถูกให้ความสำคัญผ่านการตรวจ “ตอแขน” (ส่วนแขนที่เหลือจากการผ่าตัด) อย่างละเอียด เพื่ออ่าน “ข้อความ” (Message) ของแพทย์ที่ทิ้งไว้เป็นจำนวนปุ่มกระดูก ปริมาณกล้ามเนื้อแขนที่เหลืออยู่ และสภาพร่างกายทั่วไปของทั่วไป รายละเอียดทั้งหมดจะถูกบันทึกลง Assessment Sheet และจะกลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องใช้ระหว่างการหล่อแบบตอแขนของคนไข้
การสร้าง “ตอแขน” ขั้นตอนเป็นเช่นเดียวกันกับการสร้าง “ตอขา” ที่ผิดรูปในช่วงปี ๒ คือต้องเข้าเฝือกส่วนแขนที่เหลือ จากนั้นตัดเฝือกออกทันที นำเฝือกนั้นมาเป็นแม่พิมพ์สร้างตอแขนด้วยปูนปลาสเตอร์ เมื่อได้ตอแขนปูนปลาสเตอร์ ตอแขนจะโดนย้ายสู่ห้องแต่งปูน นักศึกษากายอุปกรณ์จะเปลี่ยนไปใส่ชุดกันเปื้อน มีผ้าปิดปาก นำพวกตะไบ ค้อน ฯลฯ จากกล่องเครื่องมือมาแต่งแขนปูนให้เหมือนแขนคนไข้ที่สุด โดยมี Assessment Sheet ที่บันทึกรายละเอียดต่างๆ ของผู้ป่วยเป็นคู่มือ
“ตอแขน” นี้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้าง “เบ้า” (Socket) ส่วนประกอบสำคัญของแขนเทียมซึ่งจะถูกสร้างขึ้นก่อนชิ้นส่วนอื่นๆ
เมื่อได้ตอแขนที่สมบูรณ์ งานถัดจากนั้นก็คือการ “อบพลาสติก” ที่จะนำมาทำ “เบ้า” นักศึกษากายอุปกรณ์จะใส่ถุงมือกันความร้อน สวมแว่นตานิรภัย นำพลาสติกเข้าสู่ตู้อบความร้อนสูงอีกครั้ง ไม่นานนัก พลาสติกก็ร้อนฉ่าจนอ่อนตัวคล้ายแผ่นแป้ง จากนั้นมันก็โดนหุ้มเข้ากับตอแขนปูน เมื่อพลาสติกเย็นลงก็ได้เบ้าพลาสติกที่สวมเข้ากับตอแขนคนไข้ได้พอดี
เบ้าพลาสติกนี้จะสวมให้คนไข้เพื่อทำหน้าที่เชื่อมท่อนแขนคนไข้กับส่วนอื่นๆ ของแขนเทียม คือ แขนเทียมท่อนบน ข้อศอกเทียม แขนเทียมท่อนล่าง ข้อมือเทียม และมือเทียม ถ้าเป็นแขนเทียมแบบใช้งาน มือเทียมจะเป็นแบบตะขอเปิดปิดได้ด้วยสายเคเบิล โดยมันจะทำงานเมื่อคนไข้งอแขนเข้าหาลำตัว
ถึงตรงนี้ “ต้องดัดเหล็ก ทุบเหล็ก ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทำให้อวัยวะเทียมชิ้นนั้นเป็นรูปเป็นร่างเหมือนเคย เหนื่อยเหมือนกันเพราะเราเป็นผู้หญิง” วรลักษณ์สรุปอีกครั้ง
สำหรับนักศึกษากายอุปกรณ์ ห้องเรียนที่เต็มไปด้วยชิ้นส่วนอวัยวะเทียมวางระเกะระกะ เสียงเครื่องจักร เสียงค้อนตอกเหล็ก หรือแม้กระทั่งเสียงเครื่องกรอพลาสติกขนาดยักษ์ จึงเป็นเรื่องปรกติ
ถึงตอนนี้ ความต่างของระดับที่แขนขาด คือขาดเหนือศอก ขาดระดับศอก และขาดต่ำกว่าข้อศอก จะแสดงตัวในช่วงนี้
การขาดเหนือศอก ความยากคือการวางตำแหน่งข้อศอกเทียมที่จะต้องทำให้เท่ากับแขนข้างที่ปรกติของคนไข้อีกข้างหนึ่งเพื่อความสมดุลของร่างกาย ต่อมาคือการวางองศาของแขนเทียม เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนเวลายืนตัวตรง แขนจะกางออกในระดับหนึ่ง เมื่อแขนข้างนั้นขาด การวางองศาของแขนเทียมที่กางออกจากลำตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องอ้างอิงจากแขนอีกข้างที่ยังปรกติ
ส่วนการขาดระดับศอก ความยากจะย้ายไปอยู่ที่การตั้งค่าของข้อศอกเทียม ในขณะที่การขาดระดับใต้ศอกนั้น ส่วนที่ยากที่สุดก็คือการตั้งองศาของข้อมือเทียม
ระหว่างนี้คือโมงยามแห่งความยุ่งยากว่าด้วยการคิดคำนวณองศา การตั้งศูนย์ถ่วง และการวางแนวอุปกรณ์เทียม ซึ่งมันจะทำงานได้จริงหรือไม่ คำตอบจะปรากฏในคาบเรียนถัดมาที่คนไข้อาสาสมัครกลับมารับแขนเทียมเพื่อทดลองใช้
อาจารย์ธวัชชัย จันทร์สอาด เล่าว่าขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการทดสอบว่าแขนเทียมนั้นใช้งานได้จริงหรือไม่
“เรายังต้องสอนเรื่องวิธีพันผ้ากับตอแขนก่อนจะสวมแขนเทียมด้วย เนื่องจากกล้ามเนื้อและชั้นไขมันคนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ช่วงหนึ่งเราอาจอ้วนขึ้น อีกช่วงหนึ่งเราอาจผอมลง ยกตัวอย่างถ้าพันผ้าแน่นเกินไป มันอาจจะไปกดกล้ามเนื้อตอแขนให้ยุบลงจนทำให้เวลาใส่แขนเทียมรู้สึกหลวมก็มี”
การแก้ไขอุปกรณ์จะเกิดขึ้นในกรณีที่คนไข้ทดลองใส่แล้วไม่สบาย มีปัญหาเรื่องขนาด น้ำหนัก ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปเพื่อให้อวัยวะเทียมอยู่ร่วมและทำงานร่วมกับอวัยวะอื่นๆ ได้อย่างราบรื่น
ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ไปก็จะเข้าสู่เรื่องของความสวยงาม (Cosmetic)
“บางทีก็กลายเป็นงานศิลปะ เพราะมีการวาดลวดลายลงไปบนแขน เช่นเดียวกับการวาดรูปหรือเขียนลงบนเฝือก คนไข้บางคนยังวัยรุ่น อยากจะได้แขนสีฉูดฉาดเพราะรู้สึกเป็นเรื่องเท่ ขณะที่ผู้ใหญ่อาจอยากได้แขนเทียมธรรมดาที่สีเรียบร้อย เพราะต้องไปทำงานและเข้าสังคม” อาจารย์ธวัชชัยเล่า
นักศึกษากายอุปกรณ์หลายคนบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ผ่อนคลายที่สุดหลังจากเคร่งเครียดกับงานประดิษฐ์ที่มีรายละเอียดมหาศาลมาตลอด
ความพิเศษในชั้นปีนี้อีกอย่างคือการออกนอกมหาวิทยาลัยไปเรียนทำรองเท้าช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน
วรลักษณ์บอกเราว่าการไปเรียนทำรองเท้า “เป็นประสบการณ์ที่แปลก ผู้ใหญ่ที่ไปเรียนก็มองว่าพวกนี้มาเรียนกันทำไม มีแต่เราที่รู้เหตุผล”
ในชั้นเรียนนั้นนักศึกษากายอุปกรณ์ต้องออกแบบรองเท้า เตรียมหนัง ไปจนถึงเย็บรองเท้าให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งวรลักษณ์เล่าประสบการณ์นี้ว่า “แม้ว่าเรียนจบเราจะได้รองเท้าที่ไม่ค่อยสมประกอบมาหลายคู่ติดตัวกลับบ้าน แต่ก็ทำให้เรารู้ว่าช่างทำรองเท้าคิดอย่างไร และสำคัญแค่ไหนในการออกแบบรองเท้าสักคู่หนึ่ง”
อาจารย์ธวัชชัยอธิบายเหตุผลว่า “รองเท้าเป็นกายอุปกรณ์เสริมระดับพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ทุกคนได้ใช้โดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าทบทวนดีๆ ทุกคนจะรู้ได้ว่ารองเท้าที่ราคาแพงจะใส่สบาย นั่นเพราะมีการออกแบบที่ดี ทางการแพทย์มีรองเท้าชนิดหนึ่งเรียก ‘Orthotics Shoes’ ไม่มีขาย ต้องสั่งทำเท่านั้น รองเท้าชนิดนี้จะถูกออกแบบให้เหมาะกับความบกพร่องของคนไข้แต่ละคน เช่นคนไข้รายหนึ่งมีฝ่าเท้าไม่เท่ากัน รองเท้าข้างหนึ่งก็ต้องเสริมความหนาตรงฝ่าเท้าโดยเฉพาะ อีกข้างก็เป็นรองเท้าปรกติ เป็นต้น ที่เราส่งนักศึกษาไปเรียนก็เพื่อให้รู้หลักการทำรองเท้า เพราะอีกหน่อยจะต้องเป็นผู้สั่งทำ การรู้เท่าๆ กับช่างทำรองเท้า พูดภาษาเดียวกับช่างทำรองเท้า เพื่อสั่งของให้ได้ตามที่ต้องการ ถือเป็นเรื่องจำเป็น”
นักศึกษากายอุปกรณ์กำลังสร้างแขนเทียม
ในห้องปฏิบัติการของโรงเรียนกายอุปกรณ์
เมื่อสร้างอุปกรณ์เทียมเสร็จ สิ่งที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้คือ
การทดสอบอุปกรณ์เทียมกับคนไข้ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญ
อีกขั้นตอนหนึ่งในการผลิตอุปกรณ์เทียม ถ้าคนไข้ใช้อุปกรณ์เทียมนั้นได้ดี
ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการตกแต่งอุปกรณ์เทียมชิ้นนั้น แต่ถ้ายังมีปัญหา
นักศึกษากายอุปกรณ์จะต้องนำอุปกรณ์เทียมไปปรับแต่ง
และนำมาทดสอบการใช้งานกับคนไข้อีกครั้ง
ปี ๔ กายอุปกรณ์ระดับสูงและงานภาคสนาม
เมื่อปิดเทอมฤดูร้อนของปี ๓ สิ้นสุดและห้องเรียนทำรองเท้าสิ้นสุด วรลักษณ์พบว่าวิชาเรียนในชั้นปีที่ ๔ ส่วนมากเป็นวิชาที่ว่าด้วยการสร้างอุปกรณ์เทียมและอุปกรณ์เสริมให้คนไข้แขนขาขาดระดับข้อเข่า/ข้อศอก ซึ่งเป็นกรณีซับซ้อนสำหรับนักกายอุปกรณ์มือใหม่
เช้าวันหนึ่ง เราตามเธอไปเรียนวิชาว่าด้วยอวัยวะข้อเท้า ข้อเข่า และสะโพก
ชั่วโมงที่เราเข้าไปฟังเป็นบทที่ว่าด้วยการทำขาเทียมสำหรับคนไข้ที่ถูกตัดขาระดับเข่า
ผู้ช่วยอาจารย์ในคาบนี้เล่าว่าวิชาที่เรามาฟังผ่านบทเรียนทฤษฎีมาแล้ว และกำลังเข้าสู่ภาคปฏิบัติซึ่งมีคนไข้อาสาสมัครมาให้นักศึกษาลองวินิจฉัยทั้งหมด ๕ คน
“ผมขาขาดจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ชนรถยนต์ ช่วงตัดขาใหม่ๆ แผลไม่หาย ขาเลยถูกตัดสั้นลงๆ จนเป็นอย่างที่เห็น ผมตกงานจากอุบัติเหตุครั้งนี้เพราะโรงงานไม่ให้ทำงานต่อ ทั้งที่ระบบงานก็เป็นระบบสายพาน ไม่ต้องเดินไปมา ทางโรงงานบอกว่ายอมเสียเงินเข้ากองทุนคนพิการดีกว่าจ้างคนพิการไว้ทำงาน” คนไข้อาสาสมัครรายหนึ่งระบายความอัดอั้นตันใจให้ฟัง
ระหว่างนั้นนักศึกษากายอุปกรณ์ขอให้เขายกขาขึ้นเพื่อตรวจกำลังกล้ามเนื้อและปุ่มกระดูกที่หลงเหลือจากการตัด และให้ลองเดินกับราวคู่ทั้งแบบใส่ขาเทียมและไม่ใส่ขาเทียมเพื่อวิเคราะห์ลักษณะการเดิน จากนั้นก็มีการวัดองศา ก่านจะสอบถามรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นเพื่อบันทึกลงใน Assessment Sheet
สำหรับเราคนไข้รายนี้ว่าน่าสงสารแล้ว แต่วรลักษณ์เล่าว่าเธอเคยเจอกรณีที่แย่กว่านั้น คือแขนขาดสองข้าง ขาขาดสองข้าง “คนเหล่านี้มีกำลังใจดีมากที่จะมีชีวิตอยู่ เราต้องคุยกับเขาโดยที่ต้องไม่เศร้าตามอารมณ์คนไข้เพราะจะทำงานไม่ได้ งานของเราคือหาอุปกรณ์ที่ทำให้เขากลับไปใช้ชีวิตอย่างปรกติมากที่สุด”
ภายหลังอาจารย์ธวัชชัยสรุปหลักทฤษฎีการสร้างขาเทียมเพื่อเราจะติดตามการเรียนตรงหน้าได้ทันว่า “วิชานี้เป็นการสร้างขาเทียมให้คนขาขาดในกรณีเดียว จริงๆ มีขาดอีกหลายกรณี ขั้นตอนในภาพรวมเป็นขั้นตอนปรกติคือ เมื่อเรียนทฤษฎีจบ นักศึกษาจะได้พบกับคนไข้อาสาสมัคร พวกเขาต้องอ่านข้อความที่แพทย์ทิ้งไว้ให้ในตอขา เช่นคนไข้มีประวัติการรักษาอย่างไร ประกอบอาชีพอะไร ถ้าคนไข้มีขาเทียมใช้อยู่แล้ว เขามีปัญหาอะไรกับอันเดิม ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยตัดสินใจว่าเราจะซ่อมขาเทียมเก่าของเขาหรือจะสร้างขาเทียมใหม่ให้”
ทั้งนี้ขาเทียมที่สอนให้นักศึกษากายอุปกรณ์สร้างนั้นเป็น “ขาเทียมแกนใน” (endoskeletal) ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือเบ้าพลาสติก แกนหน้าแข้งอะลูมิเนียม ข้อเข่าเทียม อุปกรณ์ปรับแนว ข้อเท้าเทียม และเท้าเทียม ขาเทียมชนิดนี้มีน้ำหนักเบา นำมาตกแต่งด้วยฟองน้ำให้มีลักษณะคล้ายขาปรกติได้
หลังตรวจคนไข้เสร็จในตอนเช้า บ่ายวันเดียวกันกระบวนการหล่อแบบตอขาเพื่อผลิตเบ้า (Socket) ก็เริ่มต้นขึ้น วรลักษณ์กับเพื่อนๆ เริ่มงานด้วยการเข้าเฝือกตอขาคนไข้ พอเฝือกแข็งตัวก็ตัดเฝือกออก หลังจากนั้นคนไข้ก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน ๒-๓ วันหลังจากนั้นเฝือกที่ถูกถอดออกมาจะถูกนำมาทำแม่พิมพ์ โดยเทปูนปลาสเตอร์ลงไป เมื่อปูนแข็งตัวและเฝือกถูกดึงออก ก็จะได้หุ่นปูนตอขาที่มีขนาดเท่าตอขาจริง
ถึงตรงนี้ก็เข้าสู่ขั้นตอนที่วรลักษณ์และเพื่อนๆต้องสวมวิญญาณนายช่างย้ายหุ่นตอขาเข้าห้องแต่งปูน สวมชุดกันเปื้อน ผ้าปิดจมูก ใส่หมวกคลุมผม สวมแว่นตานิรภัย ใช้เครื่องมือช่างสารพัดชนิดแต่งหุ่นตอขาท่ามกลางฝุ่นฟุ้งกระจาย เมื่อตกแต่งจนเป็นที่พอใจก็หิ้วหุ่นตอขาเข้าห้องอบพลาสติก นำแผ่นพลาสติกเข้าตู้อบจนพลาสติกอ่อนตัว จากนั้นจึงนำมาหุ้มหุ่นตอขา รอจนพลาสติกเย็นตัวก็ได้เบ้า แล้วเข้าสู่ขั้นตอนออกแรงขุดปูนปลาสเตอร์ออกจากเบ้าและนำไปประกอบกับส่วนอื่น อาทิ แกนหน้าแข้งอะลูมิเนียม ข้อเท้าเทียม เพื่อให้ขาเทียมเป็นรูปเป็นร่าง
เช่นเดียวกับการสร้างแขนเทียม ช่วงนี้คือระยะแห่งความยุ่งยาก พวกเขาต้องคำนวณองศาขาที่จะกางออกจากลำตัวคนไข้ ตั้งศูนย์ถ่วง ฯลฯ ซึ่งล้วนต้องอาศัยทักษะเชิงช่างและความเข้าใจทางชีวกลศาสตร์ทั้งสิ้น
อาจารย์ธวัชชัยอธิบายให้ฟังภายหลังว่ากรณีขาขาดแบบตัดผ่านข้อเข่าที่เห็น มีข้อดีคือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการควบคุมตอขายังมีเหลือมาก และยังมีลูกสะบ้าเหลือ ทำให้เวลาใส่ขาเทียมไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องการลงน้ำหนัก
“นึกถึงเวลาเราคุกเข่าแล้วใช้เข่าเดิน คนที่ขาขาดช่วงเข่ามีสภาพคล้ายๆ กัน กรณีนี้ออกแบบเบ้าพลาสติกให้คนไข้ใส่สบายที่สุดเป็นหลัก ส่วนกรณีขาดระดับเหนือเข่า นักกายอุปกรณ์ต้องคำนึงถึงน้ำหนักที่จะทิ้งลงเบ้าพลาสติก เพราะปลายกระดูกที่เหลืออยู่จะรับน้ำหนักไม่ได้ กรณีสุดท้ายคือขาดระดับใต้เข่าที่จะยุ่งยากในการออกแบบเบ้าให้สวมใส่สบาย เพราะร่างกายเราตั้งแต่ส่วนหัวเข่าลงมามีกระดูกหลายชิ้น มีแนวเส้นประสาทเยอะ มีความละเอียดอ่อนต่อการบาดเจ็บเมื่อใส่ขาเทียม แต่ข้อดีของการขาดแบบนี้คือเหลือเอ็นสะบ้าที่รับน้ำหนักได้”
คาบเรียนถัดมา คนไข้ทั้ง ๕ คนก็มารับขาเทียมข้างดังกล่าว โดยทดลองสวมและเดินจริงๆ ท่ามกลางการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดของอาจารย์และนักศึกษากายอุปกรณ์
“เราจะพยายามบอกคนไข้ให้พูดหรืออธิบายถ้ารู้สึกเจ็บ เขาต้องไม่กลัวที่จะบอกว่ารู้สึกอย่างไร ใส่แล้วแน่น ใส่แล้วเจ็บหรือไม่ หนักเกินไปหรือไม่ เพราะถ้าไม่พูดแล้วเอาไปใช้ก็จะอันตรายกับตัวเขาเอง” อาจารย์ธวัชชัยกล่าวระหว่างชั่วโมงทดสอบขาเทียมที่เพิ่งสร้างเสร็จ
ในชั่วโมงทดสอบ คนไข้รายหนึ่งบ่นว่าเดินไม่ค่อยสะดวก ซึ่งหลังจากตรวจสอบอุปกรณ์แล้วก็พบว่าขาเทียมที่ใส่นั้นยาวกว่าขาข้างที่ปรกติเล็กน้อย ดังนั้นการบ้านที่นักศึกษากายอุปกรณ์กลุ่มที่รับผิดชอบคนไข้รายนี้ต้องทำก็คือการนำขาเทียมข้างนั้นไปปรับแก้อีกครั้ง
ส่วนขาเทียมข้างที่ไม่มีปัญหาก็จะถูกนำเข้าสู่ขั้นตอนการตกแต่งให้สวยงามตามความต้องการของผู้ใช้
บทเรียนวิชานี้สิ้นสุดด้วยการนำเสนออาการคนไข้ที่พบและนำเสนอแนวทางการรักษารูปแบบต่างๆ ต่อหน้าคณะอาจารย์ที่มาทำการประเมินความเข้าใจในชั่วโมงสุดท้าย ทั้งนี้ยังไม่นับการสอบปลายภาคที่จะมีการนำ “เคส” คนไข้ที่ต้องการกายอุปกรณ์รูปแบบต่างๆ มาเป็นโจทย์ให้แก้
อาจารย์ธวัชชัยบอกว่าภาพที่เราเห็นในห้องเรียนจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่มีการสนทนาอย่างใกล้ชิดและความไว้วางใจกันระหว่างคนไข้กับนักกายอุปกรณ์
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการซ้อม
หลายสัปดาห์ต่อมา เราติดตามนักศึกษาปี ๔ กลุ่มหนึ่งไปเรียนที่ตึกกายอุปกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช ในวิชา Clinical Experience หรือวิชาฝึกงาน
วิชานี้นักศึกษากายอุปกรณ์จะถูกแยกกลุ่มไปฝึกงานตามโรงพยาบาลต่างๆ ในเครือข่ายของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเพื่อสัมผัสสนามจริง โดยต้องทำงานร่วมกับแพทย์ คนไข้ และนักกายอุปกรณ์มืออาชีพที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด
ที่โรงพยาบาลศิริราช เราพบว่านักกายอุปกรณ์ที่นี่ทำงานแยกกับแพทย์เป็นสัดส่วน โดยตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ของวันทำการ แพทย์จะทยอยส่งคนไข้มาให้นักกายอุปกรณ์เป็นระยะไปจนถึงช่วงเย็น
เราตามเด็กชายวัย ๑๑ ปีคนหนึ่งที่ป่วยเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่กำเนิดและถูกแพทย์ส่งตัวมาให้นักกายอุปกรณ์เนื่องจากเหล็กพยุงขาอันเดิมรัดขามากเกินไป
เด็กชายมาที่ห้องปฏิบัติการตึกกายอุปกรณ์พร้อมแฟ้มประวัติ ผู้ปกครองจะได้รับคำถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตและอาการทั่วไปของเด็กชาย จากนั้นเด็กชายจะถูกตรวจสภาพขาและสภาพร่างกาย
แม่เด็กชายเล่าว่าพาลูกมาหานักกายอุปกรณ์ครั้งสุดท้ายเมื่อปลายปี ๒๕๕๑ เด็กชายไม่ได้กลัวการมาหานักกายอุปกรณ์เพราะการมาโรงพยาบาลกลายเป็นเรื่องปรกติสำหรับเขา “เขาเป็นแบบนี้ตั้งแต่เกิด ตั้งแต่คลอดเขาดิฉันก็ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อจะดูแลเขาได้อย่างเต็มที่ นักกายอุปกรณ์เหล่านี้ก็เหมือนพระมาโปรด เพราะเขาช่วยให้น้องใช้ชีวิตที่โรงเรียนได้ใกล้เคียงกับคนปรกติมากที่สุด”
ปลา นักศึกษากายอุปกรณ์ผู้ดูแลเด็กชายเล่าว่า อาการไม่มีอะไรน่าห่วง เพียงแต่เด็กคนนี้ต้องการอุปกรณ์เสริมคือเหล็กพยุงขา (Brace) อันใหม่เนื่องจากส่วนสูงเพิ่มขึ้นตามวัยเท่านั้น
“เดี๋ยวพี่จะเข้าเฝือก อาจจะร้อนๆ หน่อยนะครับตอนที่เฝือกเริ่มจะแข็งตัว” ปลาบอกเด็กชาย
หลังจากนั้นขั้นตอนการสร้างอุปกรณ์เสริมก็เริ่มขึ้นโดยเด็กชายต้องถูกเข้าเฝือกขาข้างที่มีปัญหาเพื่อสร้างแม่พิมพ์หล่อแบบตอขา สำหรับเด็กชายคนนี้ ปลาต้องเข้าเฝือกถึง ๒ ครั้งเนื่องจากเฝือกที่ได้ครั้งแรกนั้น นักกายอุปกรณ์มืออาชีพที่ดูแลเด็กชายพบว่าขนาดของมันยังคลาดเคลื่อนกับขาจริงของเด็กชายอยู่เล็กน้อย
“ทำให้เต็มที่เลยค่ะ แม่รู้ว่าน้องๆ เพิ่งลงสนาม แต่อีกหน่อยลูกก็ต้องพึ่งพาน้องๆ นี่แหละ” แม่เด็กเอ่ย ทำให้บรรยากาศเป็นกันเองมากขึ้นตลอดการทำงาน
ราวเที่ยง เมื่อเฝือกอันที่ ๒ ถูกตรวจสอบว่าสมบูรณ์ เด็กชายก็ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านพร้อมนัดหมายให้มารับเหล็กพยุงขาในสัปดาห์ถัดไป
หลังจากนี้ปลาต้องผลิตกายอุปกรณ์เสริมที่เหมาะสมกับเด็กชายออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งถ้าเด็กชายทดสอบแล้วพบว่าทำงานได้ดี เขาก็จะนำกลับไปใช้งานได้ทันที และจนกว่าร่างกายจะเติบโตขึ้นอีก
เรื่องของเด็กชายทำให้เรานึกถึงคำพูดอาจารย์ธวัชชัยที่ว่า “นักกายอุปกรณ์บางทีก็มีสถานะไม่ต่างจากช่างประจำตัวคนไข้ ถ้าเขามั่นใจนักกายอุปกรณ์คนไหน เขาก็จะกลับมาหานักกายอุปกรณ์คนนั้นอีกเมื่อมีปัญหา อุปกรณ์เทียมและอุปกรณ์เสริมล้วนมีอายุงาน ทำให้คนไข้บางรายเราต้องดูแลนานหลายสิบปี”
การฝึกงานกินเวลาราวเดือนครึ่ง ก่อนที่นักศึกษากายอุปกรณ์จะถูกส่งไปฝึกงานกับหน่วยงานนอกมหาวิทยาลัยที่พวกเขาจะเป็นผู้เลือกเอง อาทิมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งออกพื้นที่ให้บริการทำขาเทียมแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุกปี หรือโรงพยาบาลที่มีแผนกกายอุปกรณ์โดยเฉพาะ
การฝึกงานภาคสนามทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยจะดำเนินไปตลอดช่วงเทอม ๒ ของชั้นปี ๔ ก่อนที่นักศึกษากายอุปกรณ์จะเรียนจบไปทำงานในสนามจริงโดยมีใบประกอบโรคศิลป์ซึ่งออกโดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นการรับรอง
“ชีวิตตลอด ๔ ปีก็ใช่จะมีแต่เรื่องเรียน ความที่แต่ละชั้นปีมีไม่ถึง ๒๐ คน ทั้งโรงเรียนมีไม่ถึง ๑๐๐ คน ต้องเรียนแยกกับคณะอื่น รุ่นพี่รุ่นน้องรู้จักกันหมด เราก็สนุกสนานกัน ทะเลาะกันบ้างตามประสา แม้ว่าจะไม่ค่อยมีเวลาไปทำกิจกรรมร่วมกับคณะอื่นๆ มากเท่าไรนักก็ตาม ถ้าให้สรุปก็คือคนที่เลือกวิชานี้อาจไม่อยากเป็นแพทย์หรือหมอฟัน แต่ก็ชอบเรื่องการรักษาคนและสนใจเทคโนโลยีใหม่ๆ
“การเรียนสาขานี้ทำให้รู้บทบาทนักกายอุปกรณ์ว่าคล้ายช่างที่ต้องทำงานกับแพทย์ เป็นช่างที่ต่างกับช่างทั่วไปคือมีความรู้เรื่องร่างกายมนุษย์และหลักการทางวิทยาศาสตร์ ต้องมีความเป็นแพทย์เพราะต้องตรวจคนไข้ ต้องเป็นนักจิตวิทยาเพราะต้องทำให้คนไข้ไว้ใจ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างอุปกรณ์ที่เหมาะกับคนไข้ที่สุด กำไรที่เห็นได้ชัดคือวิชาช่างที่ติดตัวมาด้วย เรียกว่าถ้าไม่ยึดอาชีพนักกายอุปกรณ์ก็ทำรองเท้าขายหรือไปทำกิจการรับเหมาได้โดยไม่ขัดเขิน คนเรียนจบส่วนมากก็ไปเรียนต่อในระดับที่สูงมากขึ้น บางคนก็ไปทำงานตามโรงพยาบาลหรือมูลนิธิขาเทียมฯ ที่เชียงใหม่” วรลักษณ์สรุปชีวิตการเรียนตลอด ๔ ปีให้ฟัง
และผู้ที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ห้องเรียนเหล่านี้จะมีแค่ปีละไม่เกิน ๒๐ คนเท่านั้น
ในชั้นปี ๔ นักศึกษากายอุปกรณ์จะถูกส่งไปฝึกงานตาม
สถานพยาบาลต่างๆ ที่มีส่วนงานกายอุปกรณ์ โดยต้องทำงาน
ร่วมกับนักกายอุปกรณ์ในการตรวจและสร้างอุปกรณ์เทียม
และอุปกรณ์เสริมให้แก่ผู้ป่วยที่มารับการรักษา
อนาคตของโรงเรียนกายอุปกรณ์
“ตอนนี้เรารับคนเรียนได้แค่ปีละไม่เกิน ๒๐ คน เนื่องจากความจำกัดด้านงบประมาณและอุปกรณ์การเรียน การเติบโตเป็นคณะยังเป็นเรื่องของอนาคต ตอนนี้เราพยายามปรับหลักสูตรและนำเด็กที่เรียบจบกลับมาทำงานให้โรงเรียนเพื่อทดแทนอาจารย์ต่างชาติที่ค่าจ้างสูง ลูกศิษย์ของเราส่วนหนึ่งไปเรียนต่อด้านที่เกี่ยวข้องเช่นสาขาวิศวกรรมฟื้นฟูที่ทำงานด้านการสร้างกายอุปกรณ์ในระดับลึกขึ้นอีก” รศ.พญ.กมลทิพย์ หาญผดุงกิจ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร เล่าถึงอนาคตของภาควิชาที่ผลิตนักกายอุปกรณ์มาแล้ว ๕ รุ่น
ปัจจุบันองค์กร International Society for Prosthetics and Orthotics (ISPO) ซึ่งดูแลมาตรฐานการผลิตนักกายอุปกรณ์ทั่วโลก ประเมินว่าหลักสูตรของโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรนั้นผ่านมาตรฐาน Category 1 (CAT1) อันเป็นมาตรฐานระดับสูงสุดซึ่งทำให้นักกายอุปกรณ์ที่เรียนจบจากที่นี่เดินทางไปทำงานได้ทุกแห่งในโลก
อาจารย์ธวัชชัยชี้ว่ามีไม่กี่แห่งที่ได้การรับรองระดับนี้ แต่เขาก็สะท้อนว่ายังมีงานที่ผู้บริหารโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรต้องทำอีกมาก
“ผมเคยเรียนในโรงเรียนกายอุปกรณ์ที่โรงพยาบาลเลิดสิน ๒ ปี ก่อนที่จะไปเรียนต่อสาขานี้ในต่างประเทศ สมัยก่อนวิชานี้สอนในลักษณะงานช่าง คือเป็นภาคปฏิบัติเสียมาก ไม่มีการฝึกวินิจฉัยผู้ป่วย เรียนจบแล้วทำงานทันทีโดยขาดความเข้าใจทางทฤษฎี ต้องอาศัยครูพักลักจำจากหมอเรื่องระบบกล้ามเนื้อและศัพท์ภาษาอังกฤษยากๆ อาชีพนี้จึงถูกมองว่ามีระดับต่ำกว่านักกายภาพบำบัด แต่พอเป็นหนึ่งในสาขาของคณะแพทยศาสตร์ เน้นสอนทฤษฎีเข้มข้น ทำให้นักกายอุปกรณ์มีความรู้และคุยภาษาเดียวกับแพทย์ ถือเป็นการยกระดับอาชีพ แต่จุดอ่อนกลายเป็นว่าเมื่อเรียนจบทักษะปฏิบัติงานจะยังไม่เชี่ยวชาญเท่านักกายอุปกรณ์ที่มีประสบการณ์ เรื่องนี้ต้องอาศัยเวลา
“ตอนนี้ถ้ามีอะไรที่อยากให้ทำก็คงเป็นเรื่องการกระจายบุคลากรลงไปทำงานในสนามจริง เพราะที่ผ่านมานอกจากคนที่เรียนต่อแล้ว เราดึงเด็กเรียนเก่งมาเป็นผู้ช่วยอาจารย์เยอะ จึงน่าเสียดายว่าสังคมวงกว้างยังไม่เห็นศักยภาพบุคลากรที่เราผลิตออกมา และสำหรับคนที่ลงไปทำงานจริง สิ่งสำคัญที่ผมคงต้องฝากคือการเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรให้คนไข้เชื่อใจและไว้ใจว่าเราพยายามทำงานเพื่อพวกเขาอย่างเต็มที่โดยคิดถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้เป็นอันดับแรก”
เราอาจนิยามนักกายอุปกรณ์ที่อาจารย์ธวัชชัยเล่าว่าเป็น “นักกายอุปกรณ์ที่มีหัวใจ”
อันหมายถึงนักกายอุปกรณ์ที่มีความเป็นนักจิตวิทยา ซึ่งแสดงออกโดยการเข้าอกเข้าใจคนไข้
มีความเป็นแพทย์ ซึ่งแสดงออกผ่านการวินิจฉัยอาการอย่างเชี่ยวชาญ
มีความเป็นช่าง ซึ่งแสดงออกผ่านทางความคิดสร้างสรรค์และประดิษฐ์สร้างอุปกรณ์
มีความเป็นจิตรกร ซึ่งแสดงออกผ่านการทำให้อุปกรณ์นั้นกลมกลืนกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
และนักกายอุปกรณ์ที่มีหัวใจก็ย่อมต้องผ่านโรงเรียนที่ดี
ซึ่งคณาจารย์ในโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรทุกคนก็ประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น
ขอขอบคุณ
คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, คุณธวัชชัย จันทร์สอาด, รศ. พญ. กมลทิพย์ หาญผดุงกิจ, คุณวรลักษณ์ ปรากฏมงคล, คุณธนธัช จรัสรุ่งโอฬาร, คุณพิชญะ ระโยธี, คุณผณิตา คงสุข, คุณภาสธรณ์ สันธนะพันธ์
โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ, มูลนิธินิปปอน