เปลี่ยนเป็นเย็น
เรื่อง : หอยทากตัวนั้น


นาตาเลีย อัลเลน

“น้อยคนนักที่จะเข้าใจ หรือแม้แต่เชื่อในพลังของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ แต่นั่นเป็นพื้นฐานหลักการ
สร้างงานของนาตาเลีย” – แอนดี้ นิปอน ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ DKNY

คุณจ๋า

คนที่ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและโลก ไม่จำเป็นต้องผ่านประสบการณ์เหมือนกับ เนลสัน แมนเดลา และ อองซาน ซูจี เสมอไป

แถมยังไม่ต้องมีหน้าตาท่าทีแบบแม่ชีเทเรซาหรือคานธีด้วยก็ยังได้

นักฝันที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกอาจมีรูปลักษณ์เป็นเด็กเมื่อวานซืน ผิวสี ใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์ก เรียนจบมายังไม่ทันถึงสิบปี แต่งตัวเก่ง และทำงานเป็นนักออกแบบด้วยซ้ำ

นาตาเลีย อัลเลน (Natalia Allen) ไม่ถึงกับยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่ธรรมดา ไม่ได้ถูกเย้ยหยันเหยียดหยาม ไม่ชายขอบ แถมความคิดและการงานของเธอยังได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากวงการแฟชั่นและแบรนด์ชั้นนำของโลก ทั้งที่อายุยังไม่ถึง ๓๐

อัลเลนคิดว่าตัวเองเป็น “นักเล่นวินด์เซิร์ฟที่เปิดบริษัทออกแบบยามว่าง” มากกว่าจะเป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ผู้ทรงอิทธิพล

เธอเป็นนักออกแบบน้อยยิ่งกว่าน้อยที่ใส่ใจทำงานด้วยการเอาสุขภาพผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง บนพื้นฐานความสนใจและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกันได้อย่างกระจ่างแจ้ง

อัลเลนรู้ว่าสารเคมีมากกว่า ๘,๐๐๐ ชนิดถูกใช้เพื่อผลิตเสื้อผ้าที่ทุกคนใช้ รู้ว่าแรงงานตัดเย็บถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ รู้ว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นใช้น้ำสิ้นเปลืองเท่าไร และปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน

“ดีไซเนอร์ทั้งหลายอยู่แต่หน้าคอมฯ ไม่เคยเห็นว่างานออกแบบของตัวเองถูกผลิตออกมาอย่างไร” อัลเลนบอกว่าที่เธอเข้าใจปัญหาอันเกิดจากวงการแฟชั่นได้ก็เพราะใช้เวลาขลุกอยู่ในโรงงานผลิตเสื้อผ้า

เป็นคนที่ไม่ทอดธุระในเรื่องนี้ เพียง ๑ ปีหลังจากเรียนจบจากโรงเรียนดังอย่างพาร์สันส์ (Parsons the New School for Design) อัลเลนก็ก่อตั้ง “Design Futurist” รับวางคอนเซ็ปต์เสื้อผ้าในอนาคตให้แบรนด์ใหญ่อย่างเคลวินไคลน์ มาร์ค เจคอบ ดอนนา คาเร็น ไนกี้ DKNY ควิกซิลเวอร์ ดูปองต์ ฯลฯ

อัลเลนและดีไซน์ฟิวเจอริสต์ทุ่มเทค้นคว้าหาวัตถุดิบและเลือกเทคโนโลยีการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ติดต่อผู้ผลิต ตลอดจนทำการตลาดให้ลูกค้าใหญ่เหล่านั้นเสร็จสรรพ

ใครคิดว่าแฟชั่นสีเขียวจะจำกัดอยู่แค่ใยกัญชานั้น ต้องบอกว่าเชยแหลกลาญ แม้โดยพื้นนิสัย อัลเลนจะชอบใจเส้นใยออร์แกนิกและสีย้อมธรรมชาติ แต่เธอก็วิจัยและค้นคว้าหาเส้นใยธรรมชาติและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่กันน้ำ ระบายอากาศ และเป็นออร์แกนิก รวมทั้งวิธีการผลิตใหม่ๆ ทั้งที่ทันสมัยไฮเทค เช่น การตัดเย็บด้วยเลเซอร์ ใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบ (Computer-aided design–CAD) และแบบหวนกลับไปเสาะหา
ภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่นใช้ขี้ผึ้งแทนปิโตรเลียมเป็นวัสดุเพื่อระบายอากาศ ไปด้วยกัน

การค้นพบวัสดุและวิธีการผลิตเสื้อผ้าของเธอมาจากการทำงานหนัก อัลเลนเอาจริงเอาจังเพราะเอียนจัดกับการฟอกเขียวและเล่ห์กระเท่ห์ของวงการ แรงบันดาลใจของเธอมาจากความรักธรรมชาติและหลงใหลการตัดเย็บเสื้อผ้ามาแต่เด็ก ค่าที่อัลเลนจู้จี้เรื่องเสื้อผ้า จนแม่อ่อนใจต้องหาเข็มด้ายเป็นของขวัญวันเกิดให้เด็กช่างคิดช่างแก้ปัญหาหัดเย็บเสื้อเอาเอง พออายุ ๑๕ อัลเลนเลยตัดเย็บเสื้อให้ทุกคนในบ้านใส่ได้

ต้นทุนดีอย่างนี้ พอโตเป็นผู้ใหญ่ อัลเลนจึงทำเสื้อผ้าไฮเอนด์ ที่ไม่เพียงแต่มี “รอยตีนฝากโลก” ขนาดเล็กที่สุด แต่ยังได้คำชมเรื่องฝีไม้ลายมือจากลูกค้ารายใหญ่มากมาย (“นาตาเลียเป็นมืออาชีพที่มีประสบการณ์และสร้างสรรค์ มีชื่อเสียงมั่นคงในการจัดการแผนงานที่ซับซ้อนและสร้างผลงานที่เหนือกว่ามาตรฐาน”– บาร์เรตต์ เทสเทอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของควิกซิลเวอร์)

ด้วยการลงมือทำจริงและมองทุกสิ่งอย่างเชื่อมโยง อัลเลนจึงเห็นปัญหาในระบบการศึกษาวิชาออกแบบ เธอเคยเขียนวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า ทั้งที่ดีไซเนอร์มีอำนาจมีอิทธิพลมหาศาล พอๆ กับความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของมนุษย์และสร้างเศรษฐกิจของโลกอย่างยั่งยืน แต่การศึกษาปัจจุบันไม่มีการเรียนการสอนที่ทำให้นักออกแบบเหล่านี้เกิดความเข้าใจลึกซึ้งและทักษะการทำงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเลย

“ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า หนทางแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคือการให้การศึกษาแก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้า นี่เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค ด้วยความรับผิดชอบในการเลือกระหว่างของแย่มากกับแย่น้อย

“เกือบ ๑ ใน ๓ ของขยะทั่วอเมริกาเป็นบรรจุภัณฑ์…การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจึงต้องการการมีส่วนร่วมจากทั้งผู้บริโภคและดีไซเนอร์อย่างไม่ต้องสงสัย”

ฟังแล้วให้รู้สึกว่าการที่คนอย่างอัลเลนโผล่ออกมาจากระบบการศึกษาที่ไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องน่าทึ่งและน่าดีใจแท้ๆ

อัลเลนว่าหลายครั้งที่นโยบายสาธารณะและมหาวิทยาลัยเข้าใจผิดคิดว่าการส่งเสริมให้รีไซเคิลและใช้วัตถุดิบจากการรีไซเคิลเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ว่าการรีไซเคิลเป็นแค่การยืดอายุให้วัตถุดิบเท่านั้น ไม่ได้ช่วยป้องกันให้วัตถุดิบเหล่านั้นพ้นจากการเป็นขยะก่อมลพิษเลย ทุกครั้งที่ผลิตภัณฑ์ผ่านการรีไซเคิล มันจะสูญเสียคุณค่าและคุณภาพไปทุกที จนในที่สุด ของชิ้นนั้นจะรีไซเคิลอีกต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องถูกทิ้งในหลุมขยะ ก่อมลพิษต่ออากาศ น้ำ ดิน ซึ่งล้วนแต่เป็นของจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต

“สินค้าส่วนใหญ่สร้างมาให้หมดอายุอย่างรวดเร็วและก่อมลพิษแก่ผู้คน นิวยอร์กแค่เมืองเดียวใช้เงินวันละ ๑ ล้านเหรียญเพื่อขนขยะไปทิ้งที่หลุมฝังกลบ”

เธอคิดว่าเมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นทุกวัน และใครๆ ก็อยากได้อยากมีสินค้าจากตะวันตก ลำพังการใช้สารพิษให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างที่ทำกันไม่มีทางแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เป็นแค่การถ่วงเวลาให้คุณภาพอากาศ น้ำ และดินแย่ช้าลงเท่านั้น

การงานของดีไซเนอร์ในแง่การออกแบบและการผลิต จึงควรกระทำด้วยความตั้งใจดี อันเกิดได้ด้วยการศึกษา

“ดีไซเนอร์ทุกคนควรเข้าใจถึงความสำคัญ คุณค่า และความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของธรรมชาติ ดีไซเนอร์ทุกคนควรออกจากมหาวิทยาลัยด้วยความเข้าใจว่า มนุษย์ทั้งหลายมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อันน่าพึงปรารถนาและหาซื้อได้ ที่ถนอมสุขภาพของมนุษย์และของโลกด้วย พวกเขาต้องเข้าใจว่า จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อการบริโภคและการผลิตกระทำด้วยการทำลายล้าง”

ไม่ได้เอาแต่บ่น เอาแต่เรียกร้องสถาบันการศึกษาลูกเดียว ตัวอัลเลนเองยังออกเดินสายบรรยายเรื่องนี้ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่สวิตเซอร์แลนด์ จีน หรืออาหรับเอมิเรตส์ และอื่นๆ เปิดเวิร์กชอปเรื่อง “แฟชั่นที่ยั่งยืน”–ที่เธอบอกว่า “ยั่งยืน” ไม่ได้เป็นแค่คำเก๋ๆ แต่มันเป็นวิถีชีวิตด้วย ร่วมกับโรงเรียนศิลปะชั้นนำอย่างแพรตต์ (Pratt Institute) เพื่อเผยแพร่ความคิดเรื่องการปฏิวัติเขียวให้กระจายออกไป รวมทั้งเขียนเว็บ designfuturist.com และบล็อก nataliaallen.wordpress.com เสนอข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่ผู้บริโภคและแฟชั่นนิสต้าทั้งหลายพึงสังวรไว้

ปัจจุบัน เธอก็กำลังสร้างแบรนด์เสื้อผ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของตัวเองไปด้วย

ไม่น่าแปลกใจที่เด็กเมื่อวานซืนที่เคยถูกเรียกว่า “ยัยคนดำที่สร้างกระดานเล่นวินด์เซิร์ฟจากคอมพิวเตอร์ในภาควิชาแฟชั่น” สมัยเรียนหนังสือ จะกลายเป็นดีไซเนอร์ที่ได้รับรางวัลและการประกาศเกียรติคุณมากมายในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ “รางวัลดีไซเนอร์แห่งปี” ของพาร์สันส์ เป็นหนึ่งใน “สุดยอด ๒๕ ผู้หญิงด้านเทคโนโลยีที่ต้องจับตามอง” ของซิลิคอนวัลลีย์ หนึ่งใน “๑๐๐ สุดยอดคนสร้างสรรค์ในวงการธุรกิจ” ของนิตยสาร Fast Company และพาให้ดีไซน์ฟิวเจอริสต์ติดอันดับ “๑๐ ยอดธุรกิจสร้างสรรค์ขนาดเล็ก” ไปด้วย ทั้งยังได้รับเลือกจาก Utne’s Reader ให้เป็น “๑ ใน ๒๕ นักฝันผู้เปลี่ยนแปลงโลก” อีก นอกจากนี้ ปี ๒๐๐๙ เธอยังได้รางวัล “ผู้นำโลกรุ่นใหม่” ของเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ โทนี แบลร์ ก็เคยได้รับมาก่อนแล้วด้วย

ในวันอันสดใสของฤดูร้อนปีก่อน เธอทวีตข้อความว่า “การออกแบบจากหาดนี่มันวิเศษเสียจริง–จะให้ดี ต้องพักแล้วเล่นวินด์เซิร์ฟ” •